๑-๒ สิ่งที่ควรรู้ ควรศึกษา

ในช่วงใกล้นี้เรากำลังจะสอบบาลีสนามหลวงกัน
ใครที่กำลังจะสอบก็ให้ตั้งใจดูหนังสือให้ดี อย่าให้ใจซัดส่ายไปที่อื่น
แล้วก็อย่าลืมว่า การสอบทุกครั้งเป็นเพียงเครื่องพิสูจน์ว่า เรามีความเข้าใจในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากน้อยเพียงไร
การที่จะศึกษาตำรับตำรา… อย่างไรก็ตาม ให้ศึกษาเพื่อที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจต่อพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนการสอบได้เป็นผลพลอยได้เท่านั้น
ให้มุ่งประเด็นนี้เป็นสำคัญ

ขอให้มีความสุขและสนุกต่อการศึกษา ศึกษาด้วยความเคารพ เหมือนอยู่ต่อหน้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะหากว่าไม่มีพระองค์ท่าน คำสอนนี้ก็ไม่มี ถ้าไม่มีคำสอน เราก็จะดำเนินชีวิตไม่ถูกต้อง
คำสอน จึงเป็นประหนึ่งแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ต้องศึกษาด้วยความเคารพ
อย่างเพื่อนต่างศาสนิกของเรา เวลาที่เขาจะอ่านคัมภีร์เขาต้องกราบ ต้องยกมือไหว้ และ
เก็บคัมภีร์ไว้บนที่สูง
ร่ำเรียนศึกษาเหมือนอยู่ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า เหมือนสิ่งนั้นคือพระผู้เป็นเจ้าทีเดียว
ของเราก็ควรจะเป็นเช่นนี้
จะอ่านตำรับตำราพระธรรมวินัยที่ไหนก็แล้วแต่
จะอยู่คนเดียวหรือจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ก็ให้ศึกษาด้วยความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ได้ศึกษา
เพื่อที่ว่าเราจะได้นำมาสั่งสอนตัวของเราเอง
มาฝึกฝนอบรมตัวของเราให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง
จะได้หลุดพ้นเช่นเดียวกับพระพุทธองค์

ส่วนหนังสืออื่นที่อ่านแล้วทำให้ใจของเราเร่าร้อนกระสับกระส่าย ทุรนทุราย ฟุ้งซ่าน จิตไม่ตั้งมั่น ไม่บริสุทธิ์
ผุดผ่อง ไม่เป็นเหตุให้เข้าถึงธรรมกาย
ให้ลูกทุกรูปพึงเว้น เพราะมันไม่เกิดประโยชน์อันใด
แต่ถ้าจะศึกษาเพื่อเป็นความรู้รอบตัว ก็ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา คุ้มครองตัวเองให้ดี ให้รอดปลอดภัยจากความเร่าร้อน
ให้ลูกหมั่นระลึกเสมอว่า เมื่อเราเข้ามาสู่ในเพศภาวะนี้ นั่นหมายถึงว่า เราจะตัดสินใจศึกษาพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
ก็ต้องทำให้ได้อย่างที่ตั้งใจไว้
ศึกษาในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แตกฉานทั้งหมดเสียก่อน
สิ่งที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องพระธรรมวินัยยังมีอีกมาก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
เรียนกันวันละขันธ์ หมดชีวิตก็ยังเรียนไม่หมด
พระธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า เป็นความรู้แค่เหมือนใบไม้ที่อยู่ในกำมือ ใบไม้ที่อยู่นอกกำมือนั้นเต็มป่าประดู่ลาย ยังจะต้องศึกษากันอีกเยอะแยะ
เพราะฉะนั้นเมื่อตัดสินใจเดินในเส้นทางสายนี้แล้ว
ให้เราลองเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการศึกษากันอย่างแท้จริง โดยไม่มีห่วง อาลัยอาวรณ์ หรือกังวลเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น จึงจะศึกษาให้แจ่มแจ้งกันได้

การที่เอาใจไปศึกษาเรื่องอื่นมันก็ทำให้เสียเวลาของชีวิตไปเปล่าๆ
เพราะเรื่องพระธรรมวินัย เรายังไม่ค่อยรู้แจ้งกันอย่างเต็มที่เลย
ให้ศึกษากันให้ดี
พระอาจารย์ก็ดี รุ่นพี่ก็ดี ช่วยกันถ่ายทอดให้รุ่นน้อง ช่วยกันติว ต้องให้ทุกรูปทุกคนทำความเข้าใจกันให้ได้อย่างแตกฉาน
จนกระทั่งผลปรากฏออกมาว่าเข้าใจแจ่มแจ้งดี คือการสอบได้หมดยกชั้น ไม่มีตกหล่นเลยแม้แต่รูปเดียว อย่างนี้จึงจะใช้ได้
เพราะฉะนั้น ให้ลูกทุกรูปตั้งใจกันอย่างเต็มที่ เอาชีวิตเป็นเดิมพันต่อการสร้างบารมี
แล้วเราจะได้เอาบุญนี้เป็นเครื่องสนับสนุนให้เราไปถึงที่สุดแห่งธรรมได้

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
วันที่ วันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐
ที่มา
หนังสือ ผ้าสีสุดท้าย
อ่านในรูปแบบ EBook ที่นี่

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *