เสียงสะท้อน

๑๖. เสียงสะท้อน
หลวงพ่อดีใจที่เกิดการตื่นตัวเรื่องการปรับปรุงการคณะสงฆ์ให้เคร่งครัดในธรรมวินัย มีนโยบายจะคัดอลัชชีออก เหลือแต่ลัชชี คือ พระดี ๆ เอาไว้ แต่วิธีการตรงนี้ต่างหากที่จะต้องพิจารณา ถ้าทำแบบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ มีแต่ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อย่างนี้ดีมากเลย แต่จะได้หรือเปล่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ควรนำไปพินิจพิจารณา

พระเณรทั่วประเทศ จริง ๆ ท่านมีเชื้อแห่งความดีอยู่ มีบารมีที่มาเป็นนักบวช แต่ว่าขาดการศึกษา แล้วก็รอโอกาสที่จะได้ศึกษาคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะศึกษาเองบางทีแม้มีตำรา แต่ขาดผู้รู้ไปสอน ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเรียนรู้นั้นถูกหรือผิด

เพราะฉะนั้นระหว่างรอคอยผู้ที่จะมาสอน ท่านก็ทำอย่างอื่นไปก่อน ก่อสร้างบ้าง สงเคราะห์โลกบ้าง ดูหมอบ้าง เป็นหมอดู หมอยา ทำน้ำมนต์ แจกของขลัง ทำโน่นทำนี่ทำอะไรสารพัดเรื่อยไป วัตถุประสงค์ก็เพื่อรักษาศรัทธาญาติโยม เพราะกำลังรอคอยผู้มีบุญที่มีภูมิรู้ภูมิธรรมสูงไปสั่งสอนอบรมอยู่

เพราะฉะนั้นแทนที่จะคัดอลัชชีออกจากลัชชี ซึ่งมันคัดยากนะ ใช้วิธีผลิตครูไปสอนเลย ครูที่จะไปสอนจะต้องทำตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครบถ้วนบริบูรณ์ เป็นต้นบุญต้นแบบ อุดมไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา หรืออย่างน้อยก็แจ่มแจ้งในระดับหนึ่ง มีข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทาที่น่าเคารพ น่าเลื่อมใส ไม่สูบบุหรี่ ไม่เคี้ยวหมาก ไม่อะไรต่ออะไรต่าง ๆ เอาครูอย่างนี้แหละไปสอน ซึ่งท่านอยากเรียนกันนะ

ผู้ที่จะเก็บรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระภิกษุสามเณร เราจะต้องทำนุบำรุงกัน เพราะฉะนั้นแทนที่จะมาลิดรอนให้เรียวลง ควรจะฟื้นฟูกำลังรบหลักให้ตื่นตัวขึ้นมาเป็นพระภิกษุสามเณรในอุดมคติ ย้อนยุคไปสู่สมัยพุทธกาล นำคำสอนดั้งเดิมมาสอน เพราะถ้าท่านไม่มีเชื้อบุญเก่า มาบวชไม่ได้

แม้แต่ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังพระชนม์ชีพอยู่ ก็ยังมีภิกษุที่ประพฤตินอกรีตนอกรอยหลายกลุ่ม ในสมัยนั้นพวกฉัพพัคคีย์ มี ๖ รูป ชอบก่อรื่องใหม่ ๆ ไปเรื่อย เหมือนเด็ก ๆ คือ พอเทศน์เรื่องนี้ ห้ามเรื่องนี้ท่านก็ไม่ทำ แต่หาเรื่องใหม่ นี่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยจับสึกเลย ท่านอบรม อบ แปลว่า ทำให้หอม รมก็ทำให้ติด เอาความหอมไปรมให้ติด หอมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา

อย่าไปจับท่านสึกเลย เราสร้างครูขึ้นมา ๗๐ กว่าจังหวัด จังหวัดละ ๕ รูป ก็ ๓๐๐ กว่ารูปแค่นั้น ๕ รูปก็สอนกันไป แล้วก็หมุนเวียนท่านมาเรียน ทุกตำบล อำเภอ จังหวัด พระในแต่ละจังหวัดของตัวมีอะไรบ้างก็เอามาอบรมสั่งสอนกันไป เปิดคัมภีร์กันเลยว่า อย่างนี้ไม่ควรทำ อย่างนี้ควรทำ แล้วก็พาท่านมาปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อเคยไปอยู่ปริวาสที่วัด ๆ หนึ่ง ตรงนั้นจะเรียกว่า ตลาดนัดพระธุดงค์ เป็นซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ทีเดียว พระภิกษุวัดต่าง ๆ เดินธุดงค์กันมา มาถึงก็มาร่วมชุมนุมอยู่ในอารามหลังนั้น แยกกันเป็นกลุ่ม ๆ ไปตามรสนิยม กลุ่มไหนชอบหมอดูก็จะไปรวมกัน กลุ่มไหนชอบหมอยาก็มารวมกัน กลุ่มไหนชอบของขลัง กลุ่มไหนชอบเหล็กไหลก็มารวมกัน กลุ่มไหนรักธรรมปฏิบัติก็จะมารวมกันเป็นกลุ่ม ๆ แล้วก็คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันไป หลวงพ่อก็ไปทุกกลุ่ม ชอบไปนั่งฟังดู กลุ่มนี้เขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้

ดูท่านก็มีความรักกันดีนะ คือ ท่านจะอะไรก็แล้วแต่ พอถึงเวลาก็มาอยู่ปริวาสกรรม คือ หาเวลามาทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นกับตัว ที่ตัวยังสงสัยว่า อาจจะไม่บริสุทธิ์ อาจจะพลาดพลั้งไป ตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดเอาไว้ ก็มากลับเนื้อกลับตัวกันใหม่

แล้วพอถึงเวลาสวดมนต์นี่น่ารักมากเลย แต่ละกลุ่มท่านจะสามัคคีกัน สวดมนต์เสร็จแล้วเจ้าสำนักท่านก็จะเปิดพระไตรปิฎกอ่านให้ฟัง อ่านได้วรรคหนึ่งก็สอนไป หลวงพ่อยังประทับใจมาจนกระทั่งบัดนี้ ๒๐ กว่าปีแล้วยังไม่ลืมเลย

เพราะฉะนั้นอย่าไปจับท่านสึกเลย กว่าจะบวชยาก พระไม่ต้องไปจับสึกหรอก คิดสึกทุกวันอยู่แล้ว จริง ๆ นะ แต่ญาติโยมที่มีโอกาส คือ เป็นผู้ชาย อยากจะบวชไม่ทุกวันหรอก เพราะฉะนั้นเราอย่าไปจับท่านสึก จับสอนดีกว่า เพราะผู้ที่มาบวชอยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนา ท่านอยากจะเรียนรู้ มันขาดการเรียน ถ้าจับสอนได้จะสนุกกันใหญ่เลย พระพุทธศาสนาจะได้กำลังรบหลัก กองทัพธรรมที่มีความรอบรู้ มีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงาม เพราะท่านมีเชื้อสายอยู่แล้ว

ให้ทำตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำ แล้วจะวิเศษเลย อบรมจนกระทั่งพระดีน้อยก็ดีเพิ่มขึ้น กระทั่งดีมาก ในสมัยพุทธกาลมีหลาย ๆ รูปน่าจับสึก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีวิธีสอน บอกไม่ใช่ดื้อเฉพาะชาตินี้ ชาติโน้นก็เคยดื้อมาแล้ว ชาติโน้นแค่ดื้อดึง แต่ว่ามันคุ้น ๆ เลยดื้อด้าน เพราะฉะนั้นเอาดื้อด้านออกแล้วมาให้เป็นพระดี แล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด นี่มีตัวอย่างอย่างนี้มากมายในพระไตรปิฎก

ประชากรเพิ่มขึ้นแต่พระลดลง มันไม่สมดุลกัน ประชากรเกิดมากขึ้น ชาวพุทธมาก ชาวโลกมาก พระภิกษุสามเณรก็ต้องมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย จึงจะสมดุลกัน
วันจันทร์ที่ ๑๒ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
ชีวิตสมณะ..ที่สุดของชีวิตในสังสารวัฏ
www.dhamma01.com/book/7
๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *