สมณะ…ชีวิตที่พรากจากกาม

๒. สมณะ…ชีวิตที่พรากจากกาม

เมื่อบวชมาแล้วต้องระวังเรื่องกาม เรื่องของกามนั้น มีทั้งคุณและโทษ เมื่อมนุษย์หมดโอกาสจะเกิดแบบโอปปาติกะแล้ว มนุษย์ก็ต้องแสวงหาทางมาเกิดด้วยวิธีการอื่น เพราะอย่างไรมนุษย์ก็ต้องมาเกิด จะมาเกิดในกระบอกไม้ไผ่ก็ไม่ได้ หรือจะเกิดในฟองไข่ในเหงื่อไคล ก็ไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ จำเป็นต้องหาทางเกิดให้ได้ ก็มีวิถีทาง คือ เกิดในครรภ์มารดา ซึ่งการเกิดอย่างนี้ก็ต้องอาศัยการบริโภคกามอย่างมีเหตุผล และถือเป็นหน้าที่อันสูงส่งที่จะประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบของพ่อแม่ลูกให้ถูกส่วน เพื่อให้กำเนิดกายมนุษย์ขึ้นมาใหม่ นี่ก็เป็นส่วนแห่งคุณของกามในตอนที่มนุษย์หมดสมัยที่จะเกิดแบบโอปปาติกะ

การเกิดในครรภ์มารดายุคเริ่มแรกสะอาดเกลี้ยงเกลากว่าในสมัยปัจจุบันมาก คือพ่อกับแม่เมื่อถึงฤดูกาลที่จะมีมนุษย์มาเกิดก็จะเกิดผูกสมัครรักใคร่กัน แล้วก็แบ่งปันชีวิตให้ซึ่งกันและกัน โดยจะก่อกำเนิดชีวิตใหม่ ถ้าหากยังไม่ถึงเวลา ก็อยู่ด้วยกันเหมือนเพื่อน ไม่มีความคิดกำหนัดยินดีที่จะเข้าหากัน เมื่อพ่อแม่ลูกมาประจวบเหมาะก็บังเกิดขึ้น เวลาคลอดลูกก็ง่าย สบาย ไม่เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน เหมือนเข้าห้องน้ำถ่ายหนักถ่ายเบาอย่างนั้น

เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วก็ช่วยกันเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกอย่างดี ให้รู้เป้าหมายการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ว่าเกิดมามีวัตถุประสงค์อะไร สิ่งอะไรที่ควรทำไม่ควรทำ จนกระทั่งลูกสามารถทรงจำ ศึกษาฝึกฝนและดำรงชีพยืนหยัดอยู่ในโลกนี้ได้ แล้วก็แยกย้ายกันไป พ่อกับแม่ก็ไปถือศีลภาวนาแสวงหาหนทางสวรรค์กัน คุณของกามก็มีเท่านี้

แต่เมื่อมนุษย์มีกิเลสอาสวะมากขึ้นเรื่อย ๆ ความกำหนัดยินดีในกามราคะมีมากกว่าปกติจนทนไม่ไหว มนุษย์จำนวนมากกระทำสิ่งที่ผิดปกติมากจนแก้ไม่ไหว จนกระทั่งสิ่งที่ผิดปกติก็กลายเป็นถูกปกติ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดากันไป และการหมุนเวียนในวัฏฏะ การใช้วิบากกรรมก็เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นเรื่อยมาเลย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กามราคะมีคุณน้อยนิดเดียวแต่มีโทษมาก อุปมาเหมือนสุนัขแทะกระดูก คือสุนัข ก็คาบกระดูกมาแทะ ๆ ไม่ได้อร่อยอะไร อร่อยน้ำลายตัวเอง อิ่มก็ไม่อิ่ม

อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนไม้ยังชุ่มอยู่ในน้ำ เอามาสีไฟกัน สีอย่างไรก็ไม่เกิดไฟ หรือไม้เปียกเอามาไว้บนฝั่ง เอามาสีกันไฟก็ไม่เกิด เหมือนนักบวชกายพรากจากกาม แต่ใจยังไม่พราก ก็เหมือนไม้ที่เปียก จะทำความเพียรแค่ไหนก็ไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องเป็นไม้แห้งที่นำมาไว้บนฝั่ง คือ พรากทั้งกายและใจ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี ทำความเพียรแล้วจึงจะบังเกิดมรรคผลขึ้นมา ผู้เห็นภัยในวัฏสงสารก็มาบวช ผู้กำลังจะหมดกรรมก็อยู่เป็นโสด

กามเป็นของหยาบ เป็นเหตุให้สร้างบ้านเรือน ถ้าคิดเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว ก็อยากอยู่ร่วมกัน เมื่ออยู่ร่วมกันจะไปอยู่ในป่า ในเขา ในถ้ำก็ไม่ได้ ต้องหาที่ทางสร้างบ้าน สร้างเรือน เริ่มมีค่าใช้จ่าย เครื่องกังวลก็ตามมา มีปัญหา มีแรงกดดันตามมาสารพัด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค คือ การประกอบตนให้หมกมุ่นในกามทั้งหลาย

หีโน เป็นธรรมอันเลว

คมฺโม เป็นของชาวบ้าน

โปถุชฺชนิโก เป็นของปุถุชน

อะนะริโย ไม่ใช่ของพระอริยะ

อะนัตถะสัญหิโต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

ชาวโลกที่ยังมีกิเลสหนา ปัญญาหยาบ แล้วก็มีความผูกพันอาลัยอาวรณ์กัน ไม่เกิดประโยชน์อะไร สู้เดินออกจากกามไม่ได้ ออกจากกามแล้วเดินตามขันธ์ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ชีวิตของนักบวชเป็นชีวิตที่พรากจากกาม มีศีลมีธรรมประจำใจ เป็นชีวิตที่ปลอดโปร่ง อารมณ์ที่ข้องอยู่ในกามแม้มีอยู่ก็ไม่สนใจ เมื่อไม่ให้ความสำคัญก็ไม่มีความหมายอะไร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เดี๋ยวก็เสื่อมสลายไป ทำเฉย ๆ นิ่ง ๆ รู้แล้วไม่ชี้ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ผ่านไปถึงอารมณ์ที่ประณีตมากกว่า คือ อารมณ์ที่จะเข้าถึงธรรม ที่ปลอดกังวลทุกอย่าง อารมณ์ตรงนี้แหละเป็นอารมณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ปรารถนาจะทำพระนิพพานให้แจ้ง คือ ใจพรากออกจากกาม
วันจันทร์ ที่ ๑๙ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
ชีวิตสมณะ..ที่สุดของชีวิตในสังสารวัฏ
www.dhamma01.com/book/7
๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *