นั่งสมาธิแล้วฟุ้ง

ธรรมทายาทหญิง :

เวลานั่งสมาธิลูกจะเป็นคนคิดมาก
จะนิ่งสงบภายในเวลาแค่ ๑ – ๒ นาที นอกนั้นก็ฟุ้งค่ะ

หลวงพ่อ :

ต้องนั่งสม่ำเสมอทุกวัน ต้องมีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง
ชั่วโมงกลางเยอะ ๆ
มีพระธรรมทายาท ท่านถามหลวงพ่อว่า ตอนหลวงพ่อนั่ง
ใหม่ ๆ เป็นอย่างไรบ้าง หลวงพ่อก็บอกว่า นั่งใหม่ ๆ ก็เมื่อย นั่งมืด
นั่งฟุ้ง นั่งหลับ นั่งท้อ นั่งน้อยใจในโชควาสนาบารมี นั่งไปด้วยก็บ่น
ไปด้วย ก็เป็นอย่างที่ลูก ๆ เป็นนั่นแหละ ไม่ใช่ของอัศจรรย์หรือของ
แปลก หรือเราเป็นคนเดียว แต่ตอนนั้นหลวงพ่อเข้าใจว่า หลวงพ่อ
เป็นคนเดียวในโลก ก็บ่นรำพึงกับคุณยาย คุณยายก็ให้กำลังใจ
ให้คำแนะนำ ก็ทำความเพียรไปเรื่อย ๆ แต่มันก็ไม่ได้ผล เพราะ
ตอนนั้นอยากได้มาก ๆ มาได้ผลตอนที่ปลงตกแล้ว
ตอนนั้นปี พ.ศ. ๒๕๐๖ หลวงพ่อยังแข็งแรง มาเรียนธรรมะ
กับคุณยาย แรงยังดี ก็เลยใช้แรงอย่างเดียว ไม่ได้ใช้ปัญญา ปัญญา
ก็มีเท่าตอนนี้ แต่ตอนนั้นเอามาใช้น้อยกว่าตอนนี้ ก็นั่งปฏิบัติไป
ท่านบอกว่า “ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ” ไม่เข้าใจท่านนะ
ไม่รู้เรื่อง เราก็นึกว่าเราใจเย็นแล้ว แต่จริง ๆ แล้ว ยังเย็นไม่พอ
ตอนนั้นที่อยากได้มาก เพราะไปนั่งดูคุณยายท่านรับแขก
แขกก็มาทุกวันเลย แขกก็ถามคุณยาย คำถามก็จะวนเวียนเกี่ยวกับ
เรื่องนรกสวรรค์อยู่ตลอดเวลา พ่อตาย แม่ตาย ปู่ย่าตายายตาย
แล้วไปอยู่ไหน ให้คุมบุญไปให้ คุณยายท่านฟัง ท่านก็นั่งเฉย ๆ นั่ง
หลับตานิ่ง ๆ สัก ๕ นาที ประมาณนั้น เดี๋ยวท่านก็ตอบมาแล้ว ตายไป
แล้วเป็นนู่น เป็นนี่ ไปอยู่ในนรกก็มี สวรรค์ก็มี ถ้าไปนรกมักจะค้าน
“ไม่จริงตอนมีชีวิตอยู่สร้างบุญอย่างนั้นอย่างนี้” คุณยายท่านบอก
“ก็เพิ่งมาสร้างน่ะสิ สร้างสิ่งที่ไม่ดีในสมัยโน้น ทำกรรมอย่างนั้น
อย่างนี้” แขกที่มาเขาก็ทบทวนย้อนหลัง “เอ้อ เป็นอย่างนั้นจริง”
ท่านก็หลับตาพูดไปธรรมดาอย่างนี้ แต่ถ้าหากบอกว่า “ไปสวรรค์”
รู้สึกเขาร่าเริง ปลื้มปีติกันนะ
ได้ฟังอย่างนี้ทุกครั้งที่หลวงพ่อไปกราบยาย ตอนแรก
ตื่นเต้น อยากฟัง ตอนหลังก็อยากจะได้อย่างนั้นบ้าง พอชักคุ้นชิน
เอ๊ะ! มันเป็นเรื่องปกติของยาย หรือบางคนมากราบ ไม่เคยเจอกัน
เลย พอเงยหน้า คุณยายท่านก็ทัก “คุณเลิกเล่นม้าเสียนะ” ก็ตกใจ
เขาชอบเล่นม้าจริง ๆ นั่นแหละ ก็จะเจออย่างนี้จนชิน ยายท่านก็
พูดธรรมดา ไม่ได้ตื่นเต้น
ตอนหลังก็อยากจะเป็นอย่างยาย อยากได้อย่างยาย
ตอนนี้แหละ ไปทำความเพียร นั่งปวดหัว ปวดลูกนัยน์ตา ยิ่งนั่ง
ยิ่งไม่มีความสุขเลย ปวดไปหมด เพราะอยากจะได้อย่างนั้น
ในที่สุดก็ล้มเหลว ทั้งมืด ทั้งเมื่อย ทั้งมึน ปวดหัว คุณยายท่านก็บอก
“คุณค่อย ๆ ทำนะ ใจเย็น ๆ เดี๋ยวก็จะค่อย ๆ ดีเอง”
และวันที่ได้ผล วันนั้นปลงตก ไม่เห็นอะไรก็ไม่เอาแล้ว
ไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น อยากจะนั่งเฉย ๆ พอนั่งนิ่ง ๆ สบาย
ไม่คาดหวัง ไม่อยากได้อะไรทั้งสิ้นเลย มันมีจังหวะหนึ่ง สบายมากเลย
แล้วมัน ปึ๊บ จิตรวมวูบลงไปเลย พอถึงจุดตรงนั้น ความโล่ง โปร่ง
เบา สบาย ความสว่าง อะไรต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น เป็นขั้นตอนไป
เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า ความคิดมันเยอะแยะอย่างนี้
จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงธรรมที่มีอยู่แล้วในตัวไหม ไม่เป็น
อุปสรรคนะ
เรายังคุ้นอยู่กับสิ่งนั้น พอเรามาฝึกความไม่คิด เราไม่คุ้น
เราก็ต้องอนุญาตให้มันคิดบ้าง ให้มันผ่านเข้ามา อย่าไปรำคาญ
อย่าไปขับไล่ความคิดนั้น มันเป็นกระบวนการหนึ่งของการคลาย
ความคิด การพัฒนาของใจที่จะเดินทางไปสู่จุดแห่งความสงบ จะ
ต้องผ่านกระบวนการสับสนวุ่นวายทางความคิดไปก่อน จากคิดมาก
ไปคิดน้อย จากคิดน้อยก็คิดบ้าง จากคิดบ้างก็ไม่ค่อยจะคิดเท่าไร
และในที่สุดจะหยุดนิ่งไปเอง
ถ้าหากเรามีฉันทะ มีความปรารถนา รักที่จะฝึกฝนอบรมใจ
ไม่ช้าเราก็จะสมหวัง
เพราะฉะนั้น ความคิดที่เยอะแยะไม่เป็นอุปสรรคอะไรเลย
เดี๋ยวมันก็หมดไป มันเป็นกระบวนการหนึ่งในการที่จะพัฒนาใจ
ไปสู่ความไม่คิด มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น
เมื่อลูกหญิงกลับไปบ้าน พยายามนั่งทุกวัน หลับบ้าง
ตื่นบ้าง ฟุ้งบ้าง ช่างมัน พอเมื่อยเราก็ขยับ ง่วงเราก็หลับ ฟุ้งก็ลืมตา
แล้วก็ว่ากันใหม่ ทำอย่างนี้ เดี๋ยวจะสมหวัง
๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
คำตอบคุณครูไม่ใหญ่ เล่ม ๑
https://www.dhamma01.com/book/48
๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *