วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก สติกับสบาย

สติ สบาย อีกทั้ง สม่ำเสมอ
คือทแกล้วสามเกลอ ทหารแก้ว
หากทำอย่างนี้เจอ ธรรมแน่
จิตพร่างสว่างแพร้ว มั่นแล้วกลางกาย
โดย…ตะวันธรรม

เมื่อเราได้กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ หลับพอสบายๆ คล้ายๆ กับเรานอนหลับ
อย่าไปบีบหัวตาอย่ากดลูกนัยน์ตา
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย

ความสบายนี้เป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม สติกับสบายจะต้องไปคู่กัน
ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมด้วยวิธีการอย่างไร จะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม หลักมีอยู่ว่าจะต้องให้สติกับสบายไปคู่กัน

สติ จะต้องระลึกนึกถึงสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำสั่งสอน
ถ้าของหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านให้กำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงใสกับบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง จะต้องไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง
อย่างนี้เรียกว่า มีสติ
แต่วิธีการกำหนดสตินั้นต้องทำอย่างสบายๆ
ตรงนี้สำคัญ อย่าฟังผ่านกันนะ

สติกับสบายทั้งสองจะต้องไปคู่กันตลอดเส้นทาง
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงที่หมายปลายทาง
ถ้าไปด้วยกันเมื่อไรจะทำให้ใจเราหยุดนิ่งได้ง่าย
และหลังจากใจหยุดแล้วก็จะเข้าถึงดวงธรรมภายใน หลักก็มีอยู่อย่างนี้
อย่านั่งแบบขุ่นมัวเร่าร้อนหรือนั่งแบบฮึดฮัด อย่างนี้ไม่ได้ผล
จะต้องทำอารมณ์ให้สบายๆ

สำหรับท่านั่งที่กล่าวไปเบื้องต้นนั้น เป็นท่านั่งมาตรฐานของการปฏิบัติธรรม
ซึ่งหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านถอดแบบมาจากผู้รู้ภายใน คือ พระธรรมกายภายในนั่นเอง

พระธรรมกายภายในเป็นผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลาย
ท่านมีปกตินั่งอย่างนี้ คือ นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้าย โดยเฉพาะนิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
ตรงนี้สำคัญนะ
แล้วถ้าเราดึงฝ่ามือทั้งสองให้ชิดติดลำตัวได้กายจะตั้งตรงทีเดียว
นี่คือท่านั่งมาตรฐาน เป็นท่านั่งที่สมบูรณ์ เป็นท่านั่งที่เราควรจะศึกษาเอาไว้ให้ดี

แต่ในแง่การปฏิบัติจริงๆ ที่บ้านเราจะนั่งท่าไหนก็ได้ให้อยู่ในอิริยาบถที่สบาย
จะนั่งพิงข้างฝา นั่งห้อยเท้า หรือนั่งพับเพียบก็ได้
ให้มีความรู้สึกว่าร่างกายสบาย แล้วก็กำหนดสติกับสบายไปคู่กัน
แล้วก็สำรวจตรวจตราดูว่า มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเราเกร็งมั้ย
สังเกตดู ตรวจตราดูให้ดี

วิธีปรับใจให้สบาย
เมื่อร่างกายอยู่ในท่าที่ถูกส่วนแล้ว ต่อจากนี้ก็ปรับใจของเราให้สบายๆ
ใจจะสบายได้มีวิธีคิดในเรื่องสบายอยู่หลายวิธี
พระพุทธเจ้าท่านแนะนำสั่งสอนมีอยู่ถึง ๑๐ วิธี เขาเรียกว่า อนุสติ ๑๐
* ตั้งแต่พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นต้น
คือถ้าใจคิดอย่างนั้นแล้วอารมณ์สบายปลอดโปร่ง นั่นเป็นวิธีการหนึ่ง

บางท่านอาจจะนึกถึงธรรมชาติทำให้อารมณ์รู้สึกสบาย ปลอดโปร่ง
มีอารมณ์อยากจะนั่งทำภาวนา อยากจะทำใจให้หยุดนิ่ง อย่างนี้ก็มี

แต่วิธีลัดที่สุดก็คือ ทำใจให้ว่างๆ นิ่งเฉยๆ
ทำตัวประหนึ่งว่า เราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีพันธะผูกพันกับเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องธุรกิจการงาน หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ทำเป็นเหมือนกับว่าเราอยู่คนเดียวในโลกจริงๆ หรือสมมติตัวเราอยู่กลางอวกาศโล่งๆ
—————

* อนุสติ ๑๐ คือ ๑. พุทธานุสสติ – ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ๒. ธัมมานุสสติ – ระลึกถึงคุณ
พระธรรม ๓. สังฆานุสสติ – ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ๔. สีลานุสสติ – ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
๕. จาคานุสสติ – ระลึกถึงทานที่ตนบริจาค ๖. เทวตานุสสติ – ระลึกถึงคุณที่ท ำให้คนเป็น
เทวดา ๗. มรณัสสติ – ระลึกถึงความตาย ๘. กายคตาสติ – ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่า
ไม่งาม ๙. อานาปานสติ – ก ำหนดลมหายใจเข้าออก ๑๐ . อุปสมานุสสติ – ระลึกถึงธรรม
เป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือ นิพพาน

ไม่มีสรรพสัตว์สรรพสิ่ง คน สัตว์ สิ่งของไม่มี อย่างนี้เป็นทางลัดที่จะทำให้ใจเราปลอดโปร่งสบาย

คำว่า “สบาย” ของหลวงพ่อในที่นี้
สบายเบื้องต้นก็คือ รู้สึกเฉยๆ ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า อทุกขมสุข
(อะ-ทุก-ขะ-มะ-สุก) คือ จะเรียกว่าสุขก็ไม่เชิง ทุกข์ก็ไม่ใช่ ในเบื้องต้นมันอยู่ในสภาพที่เฉยๆ แล้วเราก็ทำใจว่างๆ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้า
สอนว่า ให้มองโลกนี้ให้ว่างเปล่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของ
ใจว่างๆนิ่งๆ นี่คือความหมายของคำว่า สบายของหลวงพ่อในเบื้องต้น

แล้วเราก็อาศัยจุดนี้แหละ จุดที่เรารักษาใจที่เป็นกลางๆ ว่างๆ โล่งๆ นิ่งๆ เฉยๆ
ถ้าเรารักษาอารมณ์นี้ให้สม่ำเสมอ ด้วยใจที่เยือกเย็น ไม่เร่งร้อน เร่งรีบ
ประคองอารมณ์นี้ต่อไปเรื่อยๆ ในตำแหน่งที่ใจเราตั้งมั่นแล้วรู้สึกว่า สบาย ปลอดโปร่ง มีความรู้สึกพึงพอใจกับอารมณ์ชนิดนี้ ความรู้สึกชนิดนี้
ไม่ช้าเราจะเข้าถึงจุดแห่งความสบายที่แท้จริง ซึ่งจะมีความรู้สึกที่แตกต่างจากคำว่าสบาย ในเบื้องต้นของหลวงพ่อ

เพราะฉะนั้นคำว่า “สบาย” คำเดียวกัน แต่ปริมาณแห่งความสบายนั้นมันจะไม่เท่ากัน ตั้งแต่สบายในระดับมีปริมาณน้อย จนกระทั่งมีปริมาณเพิ่มพูนขึ้น
ดังนั้นตอนนี้เราแสวงหาอารมณ์สบายกันเสียก่อนโดยการทำใจให้ว่างๆ นิ่งๆ โล่งๆ เฉยๆ เหมือนอยู่กลางอวกาศ
เมื่ออารมณ์เราสบายและมีสติ เดี๋ยวเราคอยดูนะ สิ่งที่เราเคยคิดว่ามันยาก มันจะกลายเป็นของง่ายสำหรับเรา

ธรรมะภายใน
ธรรมะเราเคยได้ยินได้ฟังว่าเป็นเรื่องลึกซึ้ง ยากต่อการเข้าถึง จะต้องใช้ความเพียรกันอย่างอุกฤษฏ์ ต้องไปอยู่ในสถานที่ที่แตกต่างจากบ้านเรือนของเราจึงจะเข้าถึง นั่นคือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันมา
แต่เดี๋ยวนี้เราจับหลักได้แล้ว เราจะได้ยินสิ่งที่แปลกออกไป นั่นคือ ธรรมะแม้เป็นของลึกซึ้งแต่ก็เข้าถึงได้อย่างง่ายๆ ด้วยวิธีการง่ายๆ โดยการกำหนดสติกับสบาย

คำว่า “ธรรมะ” แปลได้หลายอย่าง
ในตำราพระพุทธศาสนามีผู้รวบรวมความหมายได้กว่า ๕๐ ความหมาย แต่ส่วนใหญ่มักจะมาลงว่า
ธรรมะ คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความถูกต้องดีงาม

บางแห่งกล่าวถึงลักษณะทีเดียวว่า ธรรมะนั้นมีลักษณะเป็นดวงกลมๆ ใสๆ
บางท่านได้กล่าวถึงธรรมะก็คือธรรมกาย เป็นองค์พระใสๆ ใสเหมือนเพชร ตั้งอยู่ภายในกายของเรา
เมื่อใจเราสบาย ใจเราก็จะหยุดนิ่งได้อย่างง่ายๆ
พอหยุดนิ่งแล้วเราก็จะเข้าถึงธรรมอย่างนี้

หลวงปู่วัดปากน้ำท่านค้นพบไปเจอ “ดวงธรรมภายใน”
ซึ่งตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
ธรรมเบื้องต้นนั้นจะเป็นดวงใสบริสุทธิ์ กลมรอบตัว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน

และท่านก็ค้นพบว่า เมื่อใจหยุดนิ่งอย่างสบายๆ ที่กลางดวงธรรมนั้น
ไม่ช้าก็จะเข้าถึงกายภายในต่างๆ ที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เข้าไป
กายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์
กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายรูปพรหม กายธรรมซ้อนในกลางกายอรูปพรหม
ซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างนี้เข้าไปตามลำดับ

กายทั้งหมดเหล่านี้มีอยู่แล้วภายใน ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ เข้าไป
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราสร้างหรือสมมติกันขึ้นมา
เมื่อไรเราทำใจให้หยุดนิ่งเฉยๆ อย่างสบายๆ และต่อเนื่อง เราก็จะเห็นอย่างนี้
ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามในโลก จะเป็นชาติไหน ภาษาไหน แม้มีความเป็นอยู่แตกต่างกัน แต่ภายในนั้นเหมือนกัน

ธรรมะทั้งหมดนี้มีอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราไปทำให้มันเกิดขึ้นมา
เมื่อใจของเราหยุดไปถึงไหน มีความละเอียดเท่าเทียมกับสิ่งที่มีอยู่ในภายในนั้นแล้ว เราก็จะเห็นสิ่งนั้นปรากฏขึ้น

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเรามีเพียงทำใจของเราให้หยุด ให้นิ่งให้เฉยๆ อย่างสบายๆ ด้วยใจที่ใสเยือกเย็น
ให้อารมณ์สม่ำเสมอต่อเนื่องกันไป
ไม่ช้าเราก็จะเข้าถึง
อาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา หนังสือง่ายแต่ลึก 1 บทที่ 2 www.dhamma01.com

1 thought on “วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก สติกับสบาย”

  1. นิติ+นามสุวรรณ

    น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับธรรมทาน
    ทรงคุณค่าจากพระอาจารย์ด้วยครับ
    สาธุ สาธุ สาธุครับ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *