อานิสงส์ถวายอาหารบิณฑบาต

อานิสงส์ถวายอาหารบิณฑบาต (อภิรูปนันทาเถรี ผู้รักสวยรักงาม บรรลุอรหันต์ด้วยอสุภภาวนา)

     การเจริญสมาธิภาวนาเป็นภารกิจหลักของตัวเรา และมนุษย์ทุกๆ คนในโลก ที่จะต้องฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ถ้าเราหยุดใจได้สนิท หยุดในหยุดลงตรงกลางของกลางธรรมภายในไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าไปถึงที่สุดของกลาง คือ พระธรรมกายที่ละเอียดที่สุด ก็จะยิ่งเพิ่มพูนความบริสุทธิ์บริบูรณ์ขึ้นทุกๆ วัน การทำอย่างนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักของเรานักสร้างบารมีทั้งหลาย ที่เกิดมาสร้างบารมี ในใจของเราจะต้องมีความมุ่งมั่น ที่จะทำตนให้เข้าไปถึงกายธรรมภายใน ดังนั้น ให้ขยันหมั่นเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นการสั่งสมบุญบารมีของเรา ให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมกันให้ดี

     มีวาระแห่งพระภาษิตที่ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย เถรีคาถา ความว่า
     “ดูก่อนนันทา เธอจงเห็นร่างกายอันกระดูก ๓๐๐ ท่อน ยกขึ้นแล้ว อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาดเปื่อยเน่า จงอบรมจิตให้ตั้งมั่น มีอารมณ์เดียว ด้วยอสุภภาวนา อนึ่ง เธอจงอบรมจิตอันหานิมิตมิได้ ละเสียซึ่งอนุสัยคือมานะ เพราะการละมานะได้นั้น เธอจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป”

     พระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับสาวิกาท่านหนึ่ง ให้รู้แจ้งเห็นจริงถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสังขารร่างกาย เพื่อที่จะคลายความยึดมั่นถือมั่น  มุ่งเข้าสู่ภายใน ทำตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส เข้าถึงกายธรรมอรหัตที่เที่ยงแท้ถาวร เมื่อเข้าถึงอย่างนี้ได้ก็เท่ากับว่า ชีวิตได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นชีวิตที่ปลอดภัยจากอาสวกิเลสทั้งหลาย เมื่อคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายแล้ว ก็เท่ากับว่า ได้ยืนอยู่บนปากทางแห่งความหลุดพ้น

     พระคาถาที่นำมากล่าวข้างต้นนี้ พระศาสดาตรัสกับพระเถรีรูปหนึ่ง มีนามว่า อภิรูปนันทาเถรี ท่านเป็นผู้ที่มีรูปโฉมงดงาม เกิดในตระกูลศากยะ ในที่สุดก็ได้ออกบวชแล้วบรรลุธรรม ชีวประวัติของท่านน่าสนใจ ท่านได้สร้างบารมีมายาวนานในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าในอดีตหลายพระองค์วันนี้ ขอย้อนเรื่องราวที่น่าศึกษาของพระเถรีรูปนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพราะอุปนิสัยดั้งเดิมท่าน เป็นผู้ที่เกรงกลัวต่อบาป เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า วิปัสสี

     * ในยุคนั้น พระธรรมได้แผ่ขยายไปทั่วชมพูทวีป มหาชนที่ได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่างก็พากันเห็นภัยในวัฏสงสาร จึงสร้างบารมีอย่างเต็มที่  ในยุคนั้น พระเถรีได้เกิดเป็นมเหสีของพระราชาทรงพระนามว่า อรุณราชราชา เมื่อพระนางได้ยินกิตติศัพท์ของพระศาสดา ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ปรารถนาที่จะฟังธรรม  ในวันหนึ่ง หลังจากว่างจากพระกรณียกิจแล้ว  พระมเหสีก็ตัดสินใจเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อบาปคิดว่า

     เราเป็นมเหสีของพระราชา มีหลายๆ ครั้งที่ต้องพิพากษาผู้ที่มีความผิด บางคนก็รับสั่งให้ประหารชีวิต เป็นการสร้างกรรมคือปาณาติบาต เรามาฟังธรรมในวันนี้ ได้ข้อคิดมากมาย ชีวิตหลังความตายนี้ยาวนาน และน่ากลัวเหลือเกิน ในบางครั้งตัวของเราเองก็มีส่วนในการพิพากษานั้นด้วย  ในฐานะที่เป็นพระมเหสีแม้จะมีคนเคารพเกรงใจ แต่หากเราละจากโลกนี้ไปแล้ว  นายนิรยบาลที่พระศาสดากล่าวถึงนั้น ไม่มีความเกรงใจผู้ที่สร้างบาปอกุศลเลย เราไม่ควรประมาทในชีวิต ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเราควรจะสร้างบุญบารมี เพราะขณะนี้บุญกุศลที่พอจะถือเอาติดตัวไปได้เราไม่ได้ทำไว้เลย

     ครั้นดำริอย่างนี้แล้ว ก็รีบเดินทางเข้าเฝ้าพระสวามีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ หม่อมฉันต้องการที่จะสร้างบุญ  ขอพระองค์โปรดประทานโอกาส ในการสร้างบุญให้แก่หม่อมฉันด้วยเถิดเพคะ ขอเพียงสมณะรูปเดียวก็ได้ หม่อมฉันจักถวายภัตตาหาร”  พระราชาทราบความต้องการของพระมเหสีก็ทรงอนุญาต  ได้ประทานสมณะผู้อบรมอินทรีย์แก่พระมเหสีนั้นตามความต้องการ

     พระมเหสีดีใจอย่างมาก รีบกระวีกระวาดรับบาตรของท่านเอาภัตตาหารอย่างประณีตใส่จนเต็ม ได้ถวายผ้าคู่หนึ่งซึ่งมีราคาตั้งพันให้ท่านครอง นับจากนั้นเป็นต้นมา ก็ได้สร้างบุญด้วยการถวายบิณฑบาตไม่เคยขาดเลย จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคเจ้าดับขันธปรินิพพาน พระนางก็ได้กระบูชาพระเจดีย์ ตั้งฉัตรทองที่ประดับด้วยรัตนะไว้หน้าพระเจดีย์ เพื่อเป็นพุทธบูชา พระนางได้สร้างบารมีจนกระทั่งละจากโลกนี้ไป

     ด้วยกุศลกรรมที่ทำไว้นั้น ได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เป็นมเหสีของจอมเทพ ๑,๐๐๐ องค์  เมื่อกลับลงมาเกิด ก็ได้เป็นมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๑,๐๐๐ ชาติ ต่อจากนั้นก็ได้เกิดเป็นมเหสีของพระราชาประเทศราช นับภพนับชาติไม่ถ้วน โดยพระนางไม่รู้จักทุคติเลย นี้ก็เป็นบุญพิเศษที่เกิดจากการถวายบิณฑบาตทุกวัน และยังทำให้ท่านมีผิวพรรณเหมือนดอกบัว เป็นหญิงงามน่าดูน่าชมอย่างยิ่ง

     จนกระทั่งมาถึงสมัยพุทธกาลนี้ ได้ลงมาบังเกิดในครรภ์พระอัครมเหสีของเจ้าศากยพระนามว่า เขมกะ ในกรุงกบิลพัสดุ์ เธอมีชื่อว่า นันทา มีรูปงามน่าสวยงาม จึงได้รู้กันทั่วไปว่า อภิรูปนันทา  เมื่อเธอเจริญวัยขึ้น ศากยกุมารผู้เป็นคนรักยิ่งของพระนางได้สิ้นพระชนม์ในวันหมั้นนั่นเอง  พระชนกชนนีจึงให้เธอบวช ทั้งๆ ที่พระนางไม่อยากจะบวช แต่ด้วยความเกรงใจพระชนกชนนี จึงออกบวชในสำนักของนางภิกษุณี

     ภิกษุณีอภิรูปนันทานั้นแม้บวชแล้ว ก็ยังมีนิสัยฆราวาส ยังรักสวยงาม ไม่ยอมเดินทางเข้าไปเฝ้าพระศาสดา เพราะกลัวพระศาสดาจะเทศนาเกี่ยวกับเรื่องสังขารร่างกาย ทรงกลัวพระพุทธองค์ตำหนิติเตียนรูป แม้พระศาสดาก็ทรงรอคอยจนญาณของเธอแก่กล้า จึงทรงรับกับสั่งพระมหาปชาบดีว่า ภิกษุณีทั้งหลายจงมารับโอวาทตามลำดับเมื่อถึงวาระของตน พระนางนันทาก็ไม่ยอมไป กลับส่งภิกษุณีรูปอื่นไปแทน

     พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสั่งกำชับอีกว่า “เมื่อถึงวาระ ภิกษุณีพึงไปด้วยตนเอง ไม่พึงส่งรูปอื่นมาแทน” พระเถรีจึงไม่อาจละเมิดคำสั่งของพระศาสดาได้ จึงไปปฏิบัติบำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย เมื่อไปถึงก็ไม่ยอมเข้าใกล้ ได้หลบไปนั่งอยู่ข้างหลัง เพราะกลัวว่า พระศาสดาจะทักและติเตียนเรื่องที่ตนเองยึดติดในความสวยความงาม

     พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของพระเถรี จึงเนรมิตรูปหญิงงามคนหนึ่งด้วยฤทธิ์ ที่มีรูปสวยกว่าพระเถรีหลายเท่านัก หญิงงามนั้นมีวัยตั้งแต่วัยรุ่น วัยกลางคน วัยชรา จนกระทั่งถึงวัยแก่หง่อมไปตามลำดับ พระเถรีดูภาพนั้น ภายในใจก็เกิดความคิดว่า รูปที่เราเห็นของทุกผู้คน ไม่มีความเที่ยงแท้ถาวรเลย แม้แต่สังขารร่างกายของตัวเราก็มีวันต้องเสื่อมไป

     เมื่อพระศาสดาแสดงรูปเนรมิตให้พระเถรีเห็นอย่างนั้นแล้ว บุญในตัวของท่านเองที่ได้สั่งสมมายาวนานก็ตามมาทัน จิตของพระเถรีก็สงบระงับจากความยึดมั่นในสังขารของตนเอง พระศาสดาจึงตรัสแก่พระเถรีว่า  “ดูก่อนนันทา เธอจงเห็นร่างกายอันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาดเปื่อยเน่า จงอบรมจิตอันตั้งมั่นมีอารมณ์เดียวด้วยอสุภภาวนา อนึ่ง เธอจงอบรมจิตให้หานิมิตมิได้ ละเสียซึ่งอนุสัยคือมานะ เพราะการละมานะได้นั้น เธอจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป” พอพระศาสดาแสดงธรรมจบลง พระอภิรูปนันทาเถรี ก็ได้บรรลุพระอรหัต

     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า บุญที่เราสร้างไว้ในอดีต ได้ติดตามคํ้าจุนเราในทุกที่ทุกสถาน  ผู้ที่ประสบความสำเร็จในบั้นปลายของชีวิต ล้วนมีเบื้องหลัง คือบุญกุศลทั้งสิ้น ดังพระเถรีรูปนี้ แม้เพียงแค่ผลบุญที่เกิดจากการถวายบิณฑบาตพระรูปเดียว ยังส่งผลให้ท่านได้เข้าถึงจุดสูงสุดของชีวิต  ดังนั้น พวกเราทุกคนอย่าดูเบาในการทำบุญตักบาตร ให้ทำกันอย่างปีติเบิกบานในบุญ ใครที่ทำอยู่แล้วก็ขออนุโมทนา แต่คนไหนที่ยังไม่ค่อยได้ใส่บาตรพระ ก็เริ่มทำกันได้แล้วจะได้เป็นทางมาแห่งบุญของพวกเราทุกคน

* มก. เล่ม ๕๔ หน้า ๔๓
 

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/11911
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *