อานิสงส์ขอน้อยให้มาก

อานิสงส์ขอน้อยให้มาก (การตั้งความปรารถนาของพระธัมมทินนาเถรีเอตทัคคะด้านธรรมกถึก )

     จุดมุหมายสูงสุดในการสร้างบารมี คือ การทำกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ จะบริสุทธิ์ได้ต้องทำใจหยุดในหยุดตรงกลางของกลางพระธรรมกายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าไปถึงที่สุดของกลาง  ตรงนี้เป็นจุดหมายที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายได้ แต่กว่าจะเข้าถึงตรงนี้ได้ ก็ต้องอาศัยบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ กอปรกับความเพียรอันกลั่นกล้า ไม่ท้อแท้ใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม  สักวันหนึ่งเราจะสมปรารถนา เข้าถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ได้เสวยเอกันตบรมสุข

มีวาระแห่งภาษิตที่ปรากฏอยู่ใน ขุททกนิกาย เถรีคาถา ความว่า
“ฉนฺทชาตา อวสายี        มนสา จ ผุฏฺฐา  สิยา
กาเมสุ อปฺปฏิพทฺธจิตฺตา     อุทฺธํโสตาติ วุจฺจติ

      ผู้ที่เกิดฉันทะมีที่สุด พึงถูกต้องพระนิพพานด้วยใจ ผู้ที่มีจิตไม่ปฏิพัทธ์ในกามทั้งหลายท่านเรียกว่า มีกระแสในเบื้องบน”

      ผู้ที่มีใจสูงส่งมุ่งตรงต่อพระนิพพานอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเรียกว่ามีจิตตกกระแสของพระนิพพาน ถ้าจิตใจยังหมกมุ่นอยู่กับเบญจกามคุณ ก็ไม่สามารถถอนตนขึ้นจากหล่ม เพื่อย่างขึ้นสู่พระนิพพานอันเป็นแดนเกษมได้  ผู้ที่จะเข้าถึงพระนิพพานต้องรักในการสร้างบารมี และต้องรักในการทำความบริสุทธิ์หยุดนิ่งอย่างต่อเนื่อง มาหลายภพหลายชาติ จนกระทั่งเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยแห่งพระนิพพานฝังแน่นอยู่ในขันธสันดาน

     พระคาถาที่ได้นำมากล่าวข้างต้น เป็นคาถาที่พระอรหันตเถรีรูปหนึ่ง ที่ท่านมีประวัติในการสร้างบารมีที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่างมาก  ประวัติการสร้างบารมีของท่านน่าศึกษามาก ก่อนจะเล่าเรื่องในอดีต ขอเล่าประวัติในสมัยพุทธกาลก่อน  * ในภพชาตินี้ท่านได้บังเกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ มีชื่อว่าธัมมทินนา พอเจริญวัยขึ้นเป็นหญิง ที่มีรูปร่างสวยงามมาก สมบูรณ์ด้วยลักษณะของหญิงแม่เรือน  ครั้นเข้าสู่วัยที่เหมาะจะมีสามี  มารดาบิดาได้มอบเธอให้วิสาขเศรษฐี  วิสาขเศรษฐีท่านนี้ก็เป็นผู้ที่รักบุญ มีศรัทธาในพระศาสนามาก จะเดินทางไปฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอไม่เคยขาดเลย

    อยู่มาวันหนึ่ง วิสาขเศรษฐีได้ไปวิหารตามปกติของตน ในวันนั้น พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาด้วยพระองค์เอง  มหาอุบาสกได้ส่งจิตไปตามกระแสพระดำรัส สามารถทำใจหยุดใจนิ่งเข้าถึงกายธรรมอนาคามี เป็นพระอนาคามีบุคคล ตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่างได้ แล้วท่านก็เดินทางกลับไปเรือน เมื่อขึ้นปราสาท ก็ไม่จับข้อมือที่นางธัมมทินนาผู้ยืนหัวบันไดยื่นให้  แม้เมื่อบริโภคอาหารก็บริโภคเงียบๆ ทำให้นางใคร่ครวญดูว่าตนเองได้ทำผิดใจสามีหรือเปล่า  ด้วยความสงสัยจึงถามว่า

     “ทำไมวันนี้พี่จึงไม่ยอมจับน้องเลย แม้แต่ตอนทานข้าวด้วยกัน ก็ไม่ยอมพูดกับน้องสักคำ น้องมีความผิดอะไรหรือ”  มหาอุบาสกวิสาขเศรษฐีกล่าวว่า “แม่ธัมมทินนา เธอไม่มีความผิดอะไรเลย  ตั้งแต่วันนี้ไป ฉันไม่ควรถูกต้องกายหญิง และไม่ควรทำความมัวเมาในอาหาร ฉันมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ถ้าเธอต้องการ จงอยู่ในเรือนนี้แหละ ถ้าไม่ปรารถนา ก็จงถือเอาทรัพย์เท่าที่เธอต้องการ กลับบ้านเธอเถิด”

     เมื่อได้ฟังอย่างนั้น แทนที่จะตัดพ้อต่อว่า นางก็นึกอนุโมทนาอยู่ในใจ เพราะเธอนางเองก็มีความต้องการที่จะสลัดออกจากกองทุกข์อยู่ลึกๆ  ครั้นได้โอกาสจึงกล่าวว่า “ข้าแต่พี่ท่าน ฉันจะไม่กลืนอาเจียนที่ท่านคายไว้ ท่านโปรดอนุญาตให้ฉันบวชเถิด”  วิสาขเศรษฐีกล่าวว่า “สาธุ ธัมมทินนา หากเธอต้องการที่จะออกบวช พี่ก็ขออนุโมทนาพี่จะสนับสนุนการบวชของเธอ”

     พอพูดอย่างนี้แล้ว ก็เอาวอทองส่งนางไปสำนักภิกษุณี เมื่อนางธัมมทินนาบวชแล้ว ได้เรียนกัมมัฏฐานในสำนักภิกษุณีเพียงสองสามวัน แล้วปรารถนาที่จะปลีกวิเวก จึงไปหาอุปัชฌาย์อาจารย์ ได้ขอคำปรึกษาว่า “ข้าแต่แม่เจ้าทั้งหลาย ใจของดิฉันไม่ชอบที่ไม่สงบ ดิฉันจะหาที่ที่มีความสงบเงียบเพื่อปฏิบัติธรรม ขอท่านโปรดอนุเคราะห์หาที่สงบให้หน่อยเถิด”  พวกภิกษุณีพาเธอไปอยู่ที่อาวาสใกล้บ้าน ที่มีความสงบวิเวก เธอปฏิบัติธรรมไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

     ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พระธัมมทินนาเถรีคิดว่า ใจของเราหมดกิเลสแล้ว เราจักอยู่ทำอะไรในที่นี้ เราจักไปกรุงราชคฤห์ถวายบังคมพระศาสดา และพวกญาติของเราซึ่งมีจำนวนมากจักกระทำบุญ จึงกลับมากรุงราชคฤห์กับภิกษุณีสงฆ์  มหาอุบาสกวิสาขะทราบว่าพระธัมมทินนาเถรีมาเยี่ยม  ก็ประสงค์ที่จะทดลองการตรัสรู้ของพระเถรี ได้ถามปัญหาเรื่องเบญจขันธ์ซึ่งเป็นภูมิธรรมของพระอริยเจ้า พระธัมมทินนาเถรีได้วิสัชนาปัญหาตามที่ถาม เหมือนเอามีดคมกริบตัดก้านบัว ทำให้มหาอุบาสกสิ้นสงสัย

     วิสาขมหาอุบาสกได้ไปกราบทูลนัยแห่งคำถาม และคำตอบทั้งหมด แด่พระศาสดา พระศาสดาทรงสรรเสริญพระเถรีนั้นด้วยพระพุทธพจน์ว่า ภิกษุณีธัมมทินนาเป็นบัณฑิต แล้วทรงประกาศตั้งพระเถรีในตำแหน่งเอตทัคคะด้านธรรมกถึก นี้ก็เป็นเรื่องราวของพระเถรีผู้ทรงภูมิธรรมในภพชาตินี้ แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ ท่านมีอดีตที่น่าศึกษามาก  ประวัติการสร้างบารมีของท่าน เกิดขึ้นในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ตอนนั้น ท่านเกิดเป็นคนจน ต้องทำงานรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ มีชีวิตที่ลำบากมาก แต่ถึงกระนั้นก็เป็นผู้ที่รักบุญ ได้อาศัยคนอื่นเขาเลี้ยงชีพอยู่ในกรุงหังสวดี

     ในวันหนึ่ง พระสุชาตเถระผู้เป็นอัครสาวกของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้ออกจากวิหารไปบิณฑบาต เวลานั้นเธอเดินถือหม้อไปตักน้ำ เห็นพระเถระแล้วเกิดความเลื่อมใส ได้ถวายขนมด้วยมือของตน  ท่านรับและนั่งฉันตรงนั้นเอง  จากนั้นได้นำท่านไปที่บ้าน ได้ถวายโภชนะแด่ท่าน  อยู่มาวันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงประกาศตั้งภิกษุณีผู้เป็นธรรมกถึก ในตำแหน่งเอตทัคคะ มีความปรารถนาที่จะได้อย่างนั้น จึงนิมนต์พระสุคตพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ถวายมหาทานตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นเหมือนกัน

     คราวนั้น พระผู้มีพระภาคได้พยากรณ์ว่า “นางผู้เจริญผู้ยินดีบำรุงเรากับพระสงฆ์สาวก บุญที่เธอทำจักติดตามเธอไปทุกภพ เธอจงยินดีเถิด เธอจักได้ผลตามปรารถนา นับกัปนี้ไปแสนกัป พระศาสดาผู้สมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช มีพระนามว่าโคตมะ  จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก  เธอจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น แล้วจะสมความปรารถนา  ผลแห่งบุญที่ได้ถวายทาน ที่มีการบูชาสักการะแด่พระอัครสาวกผู้ออกจากนิโรธ และถวายมหาทาน ผลบุญนั้นจะส่งผลให้ไปบังเกิดในเทวโลก  ครั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว จะท่องเที่ยวอยู่ในเทวดา และมนุษย์เท่านั้น”

     ต่อมาในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปุสสะ เธอได้อยู่ในเรือนคนงานของพี่ชายต่างมารดาของพระศาสดา มีนิสัยที่แปลกจากคนอื่น  คือ เมื่อสามีสั่งว่า “เธอจงให้หนึ่งส่วนนะ”  นางก็มักจะถวายเกินเป็นสองส่วน ทำให้ได้บุญเป็นอันมาก บุญก็ส่งผลให้เข้าถึงโลกสวรรค์อยู่ยาวนาน จนมาถึงยุคของพระกัสสปพุทธเจ้า เธอก็ได้มาบังเกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากิงกิ ซึ่งท่านมีพี่น้องร่วมพระอุทรเดียวกัน ๗ องค์ คือ พระธิดาสมณี สมณคุตตา ภิกขุนี  ภิกขุทาสิกา ธรรมา  สุธรรมา  และนางสังฆทาสี  เธอเป็นคนที่ ๖ ชื่อว่า สุธรรมา  ทุกคนเป็นผู้ยินดีบันเทิงใจในการบำรุงพระพุทธเจ้า  ครั้นละโลกแล้วก็ได้ไปเสวยสุขในสวรรค์  ต่อมาได้มาเป็นพระเขมาเถรี  พระอุบลวรรณาเถรี  พระปฏาจาราเถรี  พระกุณฑลเกสีเถรี  พระกิสาโคตมีเถรี ส่วนคนที่ ๖ คือตัวท่าน และคนสุดท้ายเป็นวิสาขามหาอุบาสิกา

     เมื่อเธอได้ฟังธรรมของพระพิชิตมาร  ก็ปรารถนาอยากจะบรรพชา แต่พระชนกไม่ทรงอนุญาต จึงตัดสินใจประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เป็นกุมารี อยู่ถึงสองหมื่นปี หลังจากที่ละจากโลกในภพชาตินั้น ก็ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และในภพชาติสุดท้ายก็มาเกิดในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่ง ในที่สุดก็ได้ออกบวช บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์อย่างที่ได้เล่ามาในข้างต้น

     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ประวัติการสร้างบารมีของท่านค่อนข้างราบรื่น เพราะท่านได้สั่งสมบุญมาตลอดทุกภพทุกชาติ ไม่ประมาทเหมือนชาวโลกทั่วไป เป็นสิ่งที่เราน่านำไปปฏิบัติตาม เพราะผู้ที่รักในการสั่งสมบุญนี้ ไม่ใช่ว่าจะทำเพียงภพชาติเดียวและเลิกรากันไป  แต่ว่าต้องทำต่อเนื่องกันหลายภพหลายชาติ ทำจนเป็นอุปนิสัย เมื่อสร้างบุญด้วยใจที่เบิกบานก็ตั้งความปรารถนา อยากเป็นอะไร อยากได้อะไรที่เกื้อกูลต่อการสร้างบารมี  ก็ตั้งจิตอธิษฐานเอาอย่างนั้น  เพราะบุญสามารถทำให้เราสมหวังดังใจได้ทุกอย่าง

* มก. เล่ม ๕๔ หน้า ๒๗

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/11829
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *