อานิสงส์ต้อนรับดี

อานิสงส์ต้อนรับดี (พระเจ้าปเสนทิโกศลกับคุณสมบัติของทานบดีที่ดี)

     การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะพระธรรมกายมี อยู่แล้วในตัว ของมนุษย์ทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนภาษาไหน ศาสนาไหน หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเข้าถึงได้ทั้งนั้น วิธีที่ จะทำให้เกิดสันติภาพแก่ โลก เราจะต้องเริ่มต้นจากตัวเราก่อน โดยการสร้างสันติสุขภายในให้บังเกิดขึ้น ฝึกใจของเราให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึง พระธรรมกายภายใน เมื่อเข้าถึงแล้ว ความสุข ความบริสุทธิ์ ความเบิก บาน ก็จะแผ่ขยายออกไป กลั่นบรรยากาศและทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ให้ สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแผ่คลุมไปทั่วทั้งโลก เมื่อ ความแตกต่างหมดไป สันติสุขทั้งภายนอกและภายในก็จะบังเกิดขึ้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ในคาถาธรรมบทว่า
     “ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ เหล่านี้ คือเขาต้อนรับด้วยความพอใจ อภิวาทด้วยความพอใจ ให้อาสนะด้วยความพอใจ ไม่ซ่อนของที่มี อยู่ เมื่อของมีมาก ก็ให้มาก เมื่อมีของประณีต ก็ให้ของประณีต ให้โดยเคารพ ไม่ให้โดยไม่เคารพ เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เมื่อกล่าวธรรมอยู่ เขาก็ยินดีในธรรมเทศนา ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ เหล่านี้แล ภิกษุยังไม่เข้าไป ก็ควรเข้าไป และครั้นเข้าไปแล้ว ก็ควรนั่ง ใกล้”

     การต้อนรับปฏิสันถารเป็นคุณธรรมประการหนึ่งในคารวธรรมที่พระบรมศาสดาทรง ยกย่องว่า เป็นเหตุแห่งความ สุขและความเจริญ การต้อนรับด้วยการแสดงน้ำใสใจจริงและมีไมตรีจิตนี้ เป็นการช่วยลดช่องว่างความเคอะเขินของผู้มาเยือน ความไม่เข้าใจซึ่งกันและ กันที่อาจค้างคาใจมาก่อน ก็จะพลอยมลายหายสูญไปด้วย เพราะเราได้แบ่งปัน ความสุขให้กับทุกๆ คนที่มาเยือนบ้านของเราด้วยความยินดี พระ บรมศาสดาทรงให้ข้อสังเกตแก่ภิกษุสงฆ์ผู้จำเป็นจะต้องเข้าไปในตระกูล ว่า บ้านไหนมีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธา มีความเต็มใจในการต้อนรับแขกแค่ไหน พระองค์ทรง แนะนำเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

     * ในสมัยพุทธกาล มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชรภายในพระราชมณเฑียร ทรงทอด พระเนตรเห็นภิกษุสงฆ์หลายพันรูป ซึ่งกำลังเดินทางไปรับภัตตาหารใน คฤหาสน์ของมหา เศรษฐีประจำเมือง คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จูฬอนาถบิณฑิก เศรษฐี วิสาขามหาอุบาสิกา และพระนางสุปปวาสา จึงตรัสถาม พวกราชบุรุษว่า “พระคุณเจ้าจะพากันไปไหน” เมื่อทราบว่า ภิกษุสองพันรูปไปรับภัตตาหาร ซึ่งมีเจ้าภาพคอยถวายเป็นประจำในคฤหาสน์ของอนาถบิ ณฑิกเศรษฐีทุกวัน ภิกษุอีก ๕๐๐ รูป ไปรับบาตรที่คฤหาสน์ของจูฬอนาถบิ ณฑิกเศรษฐีเป็นประจำ ส่วนในคฤหาสน์ของนางวิสาขามหาอุบาสิกาและนาง สุปปวาสา ก็เช่นเดียวกัน จึงเกิดกุศลจิตศรัทธา อยากได้บุญจากการถวายสังฆทานบ้าง

     ครั้นดำริเช่นนั้นแล้ว จึงเสด็จไปที่วิหารนิมนต์พระบรมศาสดา พร้อมทั้งภิกษุพันรูป ถวายทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองถึง ๗ วัน ในวันที่ ๗ พอถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ก็ทูลนิมนต์ให้พระ พุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ทรงรับภิกษาของพระองค์เป็นประจำ พระบรมศาสดาจึง ตรัสว่า “มหาบพิตร ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่รับภิกษาประจำในที่แห่ง
เดียว เพราะว่ามหาชน หวังการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

    พระราชาจึงทูลว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์ ได้โปรดส่งภิกษุรูปหนึ่งไปเป็นประจำเถิด พระพุทธเจ้าข้า”   พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมอบหน้าที่นี้ให้พระอานนท์เถระ ที่จะต้องนำคณะสงฆ์ ๕๐๐ รูป เข้าไปรับภัตตาหารในพระราชมณเฑียรเป็นประจำ เมื่อพระราชาได้สดับเช่นนั้น ก็ทรงปลาบปลื้มพระทัยมาก ที่คณะสงฆ์จะไปเป็น เนื้อนาบุญให้ทุกวัน แต่เนื่องจากพระราชาทรงมีราชกรณียกิจมาก จึงถวายทานด้วยพระองค์เองเพียง ๗ วัน พอวันที่ ๘ พระราชามัวแต่ทรงราช กิจเพลิน เลยลืมจัดอาหารถวายพระภิกษุ

     ธรรมเนียมในราชตระกูลอย่างหนึ่ง ก็คือ เมื่อพระราชาไม่ทรงรับสั่ง พวกราชบุรุษก็จะไม่ปูลาดอาสนะ หรือนิมนต์ภิกษุ สงฆ์ให้นั่งแล้วอังคาส ฝ่ายภิกษุสงฆ์เมื่อไม่ได้รับการต้อน รับ ก็เลยพากันหลีกไปเสียหลายรูป ในวันที่ ๒ พระ ราชาก็ยังทรงลืมอีก คราวนี้ ภิกษุสงฆ์จำนวนมาก พากันกลับไป ก่อน แม้ในวันที่ ๓ พระราชาก็ยังลืมอีกเช่นเคย คราวนี้ ภิกษุสงฆ์ทุกรูปได้ไปบิณฑบาตเสียที่อื่นจนหมด เหลือเพียงพระ อานนท์เถระรูปเดียวเท่านั้น

     เมื่อพระราชาระลึกได้ก็รีบเสด็จไปเตรียมถวายภัตตาหาร ครั้นทอดพระเนตรเห็นภัตตาหารที่จัดเตรียมถวายเหลือ มากมาย แต่ไม่ทรงเห็นภิกษุสงฆ์ จึงตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าทั้ง หลายมิได้มาหรือ” ก็สดับว่า “พระอานนท์เถระมารูปเดียวเท่านั้น” จึงไม่พอพระทัยต่อคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก จึงเสด็จไปฟ้องพระบรมศาสดาว่า “ภิกษุ ๕๐๐ รูปไม่ให้ความสำคัญต่อหม่อมฉันเลย พระเจ้าข้า”

     พระบรมศาสดาทรงแก้ต่างให้พระภิกษุสงฆ์ว่า “มหาบพิตร สาวกของอาตมภาพ ไม่มีความคุ้นเคยกับพระองค์ เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย จักไม่ไปแล้ว” จากนั้นจึงทรงรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ มาประชุมกัน พร้อมกับแนะนำลักษณะของตระกูลที่ควรเข้าไปและไม่ควรเข้าไป อีกทั้งเป็นการสอนพระราชาทางอ้อมด้วยว่าพระองค์ไม่ได้มีคุณสมบัติของทานบดี ที่ภิกษุ ควรเข้าไปเลย ทรงให้ข้อสังเกตเอาไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ ภิกษุยังไม่เข้าไปแล้ว ก็ไม่ควรเข้าไป และครั้นเข้าไปแล้ว ก็ ไม่ควรนั่งใกล้ ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ คือ เจ้าภาพไม่ต้อนรับด้วยความพอใจ ไม่อภิวาทด้วยความพอใจ ไม่ให้อาสนะ ด้วยความพอใจ ซ่อนของที่มีอยู่เอาไว้ เมื่อของมีอยู่มาก ก็ให้แต่น้อย ให้ของที่ เศร้าหมอง ให้โดยไม่เคารพ ไม่เข้ามาฟังธรรม เมื่อแสดงธรรมอยู่ เขาก็ไม่ ยินดี ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลทีประกอบด้วยองค์ ๙ เหล่านี้ แล ภิกษุยังไม่เข้าไปแล้ว ก็ไม่ควรเข้าไป และครั้นเข้าไปแล้ว ก็ ไม่ควรนั่งใกล้

     ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ ที่ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ควรเข้าไป และเมื่อเข้าไปแล้ว ก็ควรนั่งใกล้ คือเจ้าภาพต้อนรับ อภิวาท ถวายอาสนะด้วยความเต็มใจ ไม่ซ่อนของที่มีอยู่ มีของมากก็ให้ ของมาก เมื่อมีของประณีต ก็ให้ของประณีต ให้โดยเคารพ เข้า ไปนั่งใกล้ เพื่อฟังธรรม เมื่อพระแสดงธรรมอยู่ เจ้าภาพก็ยินดีในการฟังธรรม ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ เหล่านี้แล ภิกษุยังไม่เข้าไป ก็ควรเข้าไป และ ครั้นเข้าไปแล้ว ก็ควรนั่งใกล้

     เราจะเห็นว่า ถ้าเราอยากให้พระภิกษุท่านมาโปรดเราถึงบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล ที่จะได้สั่งสมบุญให้กับตนเองให้ ยิ่งขึ้นไป ก็ต้องทำให้ถูกหลักวิชชา คือต้องต้อนรับท่านด้วยความปีติยินดี ยิ้มแย้มแจ่ม ใส กราบไหว้ด้วยความเคารพ ถวายอาสนะที่นั่งที่เหมาะสม เมื่อ ของมีมาก ก็ถวายของมาก เมื่อมีของประณีต ก็ถวายของประณีต ถวายโดย เคารพ เพราะอานิสงส์นี้จะทำให้เราได้เกิดในตระกูลสูง มีสมบัติให้ใช้สอยไม่ขาดมือ ของ กินของใช้ก็จะประณีต

     เมื่อพระท่านฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก่อนจะรับพรพระ เป็นภาษาบาลี ก็อาราธนาท่านเทศน์ให้พวกเราฟัง ถ้า กล่าวคำอาราธนาธรรมเป็นภาษาบาลีไม่ได้ ก็กล่าวนิมนต์เป็นภาษาไทยนั่น แหละ จากนั้น ก็ตั้งใจฟังธรรมให้ดี เพราะพระท่านกำลังให้ธรรมทานเป็น ปฏิการคุณในวัตถุทานที่เราได้ถวายไว้ดี แล้ว การฟังธรรมยังถือว่าเป็นมงคล อันสูงสุดอีกด้วย นี่เป็นทางมาแห่งบุญใหญ่ของเรา อีกทั้งจะทำให้เป็นที่รักของ มนุษย์และเทวดาทั้ง หลาย เหล่าเทวาที่มาฟังธรรม ก็ลงปกป้องคุ้มครองรักษา บ้านของเรา ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข พระภิกษุที่มาเป็นเนื้อนาบุญให้กับเรา ท่านก็จะเมตตาแนะนำธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้ง ทำให้ใจของเราเบิกบานแช่มชื่น อยู่ในบุญ เมื่อคราวนั่งธรรมะ ใจของเราจะละเอียดอ่อน หยุดนิ่งได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้อย่างง่ายดายสะดวกสบายกันทุกคน

* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๑๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/11813
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *