อานิสงส์ถวายผลพุทรา

อานิสงส์ถวายผลพุทรา (พระคยากัสสปะเถระ)

     บัณฑิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคตก็ตาม จะมีลักษณะเด่นอยู่อย่างที่เหมือนกันคือ รักในการสั่งสมบุญ จะไม่มองข้ามบุญเล็กบุญน้อย มองว่าทุกบุญมีความสำคัญต่อตัวเอง จะเป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบัน ประโยชน์ในสัมปรายภพ และประโยชน์อย่างสูงสุดคือการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน  แล้วรีบขวนขวายตั้งใจสร้างบุญอย่างเต็มที่  

     บางครั้งแม้วัตถุทานจะไม่พร้อม แต่เมื่อถึงคราวมีเนื้อนาบุญมาอยู่ตรงหน้า  อย่างน้อยที่สุดก็ทำความศรัทธาเลื่อมใสให้บังเกิดขึ้นภายในใจ  มองลึกเข้าไปว่า ท่านเป็นอู่แห่งทะเลบุญที่ควรจะเอาบุญกับท่านให้เต็มที่ ทั้งบุญหยาบบุญละเอียด ก็ทำให้เต็มที่  จนกระทั่งวันที่เรารู้ด้วยตัวของเราเองว่า กิเลสทั้งหลายไม่สามารถจะมาครอบงำใจของเราได้แล้ว  วันนั้นแหละจะเป็นวันแห่งชัยชนะของเรา  แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น เราก็ต้องเริ่มทำวันนี้ให้ดีเสียก่อนและทำอย่างสมํ่าเสมอ  ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา  อย่างที่บัณฑิตทั้งหลายท่านทำกัน

มีวาระแห่งธรรมภาษิตที่มาใน ขุททกนิกายเถราปทาน ว่า
     “เราไม่เห็นวัตถุใดๆ ที่เราจะหามาถวายได้ เราได้เห็นผลพุทราที่สุกแล้วเพียงอย่างเดียว แล้วได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เรายินดี ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี  แล้วได้ถวายผลพุทราสุกแด่พระองค์ผู้เป็นเนื้อนาบุญ  เป็นนักปราชญ์ด้วยใจอันผ่องใส  ในกัปนี้เอง  เพราะเราได้ถวายผลพุทราสุกใด  ในกาลนั้น  ด้วยการถวายผลพุทราสุกนั้น  เราไม่รู้จักทุคติเลย  นี้เป็นผลแห่งการถวายผลพุทรา  เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว  คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว”

     ผลของการกระทำความดีอาจจะผลิดอกออกผลช้าบ้างในบางครั้ง  ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้  เมื่อเรารดนํ้าพรวนดินที่โคนต้น  ดอกและผลย่อมปรากฏที่ปลาย แต่กว่าจะเห็นผลเช่นนั้น ไม่ใช่อาศัยเวลาเพียงแค่วันสองวัน  ต้นไม้บางชนิดต้องรอเวลาเป็นปี  สองสามปี หรือมากกว่านั้น  ผลของการทำบุญก็เช่นเดียวกัน  แต่ถ้าเป็นบุญใหญ่ที่ทำถูกเนื้อนาบุญแล้ว  ผลของบุญนั้นก็ย่อมที่จะบันดาลผลได้อย่างรวดเร็ว และเป็นบุญศักดิ์สิทธิ์  ที่สามารถอำนวยความสุขความสำเร็จทั้งปวงให้เกิดขึ้นในปัจจุบันชาติและชาติต่อๆ ไปได้  จนกระทั่งปราบมารประหารกิเลสให้หมดสิ้นไป เข้าสู่พระนิพพานได้ในที่สุด  เหมือนตัวอย่างของหลายๆ ท่านที่เคยมีมาแล้วในอดีต  

     * อย่างเช่นพระคยากัสสปะเถระที่ท่านได้บำเพ็ญกุศลผลบุญอันยิ่งใหญ่กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ มาแล้ว  และได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพชาติที่ท่านได้เวียนว่ายตายเกิด ในกัปที่ ๓๑  แต่กัปนี้ไป ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี  ท่านได้บังเกิดในตระกูลเศรษฐี พอบรรลุนิติภาวะแล้ว เนื่องจากท่านมีอัธยาศัยปรารถนาอยากจะออกจากทุกข์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสละเพศฆราวาสที่แสนจะคับแคบออกบวชเป็นดาบส  สร้างอาศรมอยู่ในป่า มีผลไม้ในป่าเป็นอาหาร  

     สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปตามลำพัง พระองค์ได้เสด็จไปใกล้ๆ อาศรมของดาบส  พอดาบสนั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็มีความศรัทธาเต็มเปี่ยม  ด้วยใจที่เลื่อมใส จึงเข้าไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ท่านได้ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ สถานที่อันสมควร คอยดูเวลาอันเหมาะสมอยู่  จากนั้นก็น้อมผลพุทราอันโอชารสเข้าไปถวายแด่พระบรมศาสดา ด้วยบุญกรรมอันนั้น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ท่านได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น ไม่เคยพลัดตกไปสู่อบายภูมิเลย

     ในพุทธุปบาทกาลนี้ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์  ครั้นเจริญวัยแล้ว ก็มีอัธยาศัยที่จะออกจากทุกข์เหมือนอย่างภพชาติก่อนๆ ท่านจึงออกบวชเป็นดาบสอยู่ร่วมกับหมู่ดาบสอีก ๒๐๐ องค์  ท่านได้สร้างสถานที่พักใกล้แม่นํ้าคยา  เพราะเหตุที่อยู่ใกล้แม่นํ้าคยา และด้วยอำนาจนามสกุลอันเป็นของตระกูลที่ว่ากัสสปะ  จึงทำให้ท่านมีสมญานามว่า  คยากัสสปะ  ต่อมาเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามาโปรด และได้ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรโปรดท่านและเหล่าดาบสทั้งหลาย ซึ่งมีเนื้อความโดยย่อว่า สิ่งทั้งหลายเป็นของร้อน ร้อนด้วยไฟคือราคะ โทสะ โมหะ  ถ้าดับไฟเหล่านี้ได้จะเป็นผู้สงบเย็น  

     หลังจากที่ท่านฟังโอวาทอันเป็นดุจนํ้าอมฤตธรรมชโลมใจ ซึ่งสมบูรณ์ไปด้วยอรรถและพยัญชนะเช่นนั้นแล้ว และด้วยกุศลผลบุญที่ท่านเคยบำเพ็ญมาในอดีตบวกกับบุญในปัจจุบัน  จึงทำให้ท่านสามารถทำใจหยุดใจนิ่ง ได้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์ในที่สุด  จากนั้นก็ได้ระลึกชาติหนหลังย้อนไปดูคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างเอาไว้อันเป็นเหตุที่ทำให้ได้บรรลุธรรม  เมื่อดูแล้วก็เกิดความปีติโสมนัสใจเป็นอย่างมาก จึงได้ประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาในกาลก่อนว่า

     “เมื่อครั้งที่เราเป็นดาบสครองหนังเสือเหลืองมีเครื่องหาบ ได้เที่ยวหาผลไม้ ได้นำเอาผลพุทราสุกมายังอาศรม  ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงพระองค์เดียว ทรงแผ่พระรัศมีตลอดกาลทั้งสิ้น เสด็จมาโปรดยังอาศรมของเรา  เราได้ยังจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว  ได้ถวายบังคมพระพุทธองค์ ผู้มีวัตรอันงมงาม ประคองอัญชลีประณมด้วยมือทั้งสอง ถวายผลพุทราแด่พระพุทธเจ้า ในกัปที่ ๓๑ แต่กัปนี้  เราได้ถวายผลไม้ใดไว้ ในคราวแต่นั้นมา เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายทานเพียงเล็กน้อย  เราได้เผากิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ  อยู่อย่างผู้ที่สงบเย็นเป็นอิสระ เราเป็นผู้มาดีแล้ว  คำสอนของพระพุทธเจ้า  เราได้กระทำเสร็จแล้ว  ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ จรณะ ๑๕ เป็นต้น และคำสอนของพระพุทธองค์  เราได้รู้ทั่วถึงแล้ว กิจอย่างอื่นที่จะทำให้ยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว”

     เราจะเห็นว่า  ผลของการกระทำของวันนี้จะกลายไปเป็นอดีตของวันข้างหน้า การกระทำในชาตินี้ก็จะเป็นอดีตของชาติต่อๆ ไปเช่นเดียวกัน  ชีวิตของเราเปรียบเสมือนอุปกรณ์ที่ให้บุญและบาปทำงาน  เราอยากให้ตัวเราเป็นอย่างไร ก็ต้องเลือกปฏิบัติบนเส้นทางของชีวิต  เพราะเส้นทางนั้นมีอยู่เพียงแค่สองทางเท่านั้น คือดีและชั่ว  บุญและบาปเป็นต้น  เราในฐานะตัวแทนของฝ่ายบุญ  ถ้ามีบุญกุศลอันใดที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งต่อตัวเราและคนทั้งโลกแล้ว  บุญกุศลอันนั้นสมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำให้มาก เพราะอย่างน้อยตัวก็เป็นผู้ได้รับก่อนเป็นอันดับแรก  ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ เราจะหาพระอรหันต์ได้ยาก  แต่ก็ไม่ใช่ว่าหมดหนทางของการสร้างบุญบารมี  เราต้องเป็นเหมือนบัณฑิตที่ฉลาดในการสร้างบุญ  บุญไหนที่เราคิดตริตรองดูแล้วว่าเป็นบุญใหญ่ เนื้อนาบุญที่มารับทานของเรานั้นก็เป็นผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ถูกต้องร่องรอยพระพุทธศาสนา  ดำเนินตามรอยบาทของพระบรมศาสดาแล้ว  ผู้นั้นแหละคือเนื้อนาบุญอันประเสริฐ ที่ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า

     อย่างท่านพระคยากัสสปะเถระ เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าเป็นใคร แต่เพราะท่านเป็นบัณฑิต คิดจะเอาบุญกับผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ จึงได้ทำใจให้เลื่อมใส  แล้วน้อมผลพุทราไปถวายแด่พระพุทธองค์ ด้วยผลแห่งทานบารมีที่ท่านได้ทำในครั้งนั้น จึงมีผลานิสงส์ยิ่งใหญ่ ส่งผลให้ท่านได้บรรลุกรณียกิจอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา  อันเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา  ฉะนั้นสิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อนได้ทำไปเช่นไร เราก็ควรศึกษาและดำเนินตามแบบอย่าง  โดยเฉพาะเรื่องของการทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา  ควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องหมั่นทำกันให้มากๆ และทำกันให้สมํ่าเสมอ  แล้วผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ก็จะบังเกิดกับเรา

* มก. เล่ม ๗๒ หน้า ๔๕๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/11795
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *