อานิสงส์ถวายน้ำอ้อย

อานิสงส์ถวายน้ำอ้อย (สุธัมมาเทพบุตรอดีตคนเฝ้าไร่อ้อย)

     โลกใบนี้เป็นอาณาจักรแห่งความรู้ ที่คอยให้มนุษย์มาศึกษาค้นคว้า ใครจะศึกษาวิชาใด มากน้อยขนาดไหนก็ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าการศึกษา ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตเสมอ เพียงแต่ว่าจะมีสักกี่คนที่รู้ว่า สุดยอดของวิชาความรู้มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือวิชาความจริงของชีวิต เป็นวิชาที่หากใครยังไม่ได้มาศึกษา ต้องถือว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมานั้น ว่างเปล่าจากประโยชน์ ทั้งประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในสัมปรายภพ เป็นชีวิตที่น่าเสียดายที่สุด วิชาความจริงของชีวิต คือการประพฤติธรรม ฝึกใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน อันจะนำมาซึ่งปัญญาที่สว่างไสว และใจที่เปี่ยมด้วยพลังเปี่ยมด้วยความสุข วิชาของชีวิตเป็นวิชาที่เราต้องใส่ใจขวนขวายเรียนรู้ให้ได้เป็นอันดับรก เพราะวิชานี้ คือวิชาเพื่อการดับทุกข์นั่นเอง หากมีวิชานี้ติดตัวไป ย่อมปลอดภัยทั้งภัยในปัจจุบันและภัยในสังสารวัฏอย่างแน่นอน

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย เถรคาถา ว่า
“อโมฆํ ทิวสํ กยิรา      อปฺเปน พหุเกน วา
ยํ ยํ วิวหเต รตฺติ        ตทูนนฺตสฺส ชีวิตํฯ
 
     ควรทำวันและคืนไม่ให้เปล่าประโยชน์ จะน้อยหรือมากก็ตาม เพราะวันคืนผ่านบุคคลใดไปแล้ว ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมพร่องจากประโยชน์นั้น”

     เวลาในชีวิตของมนุษย์นั้นมีอยู่จำกัด เมื่อหมดแล้วก็หมดเลย ไม่มีการต่อเวลา ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เราไม่รู้ว่าเวลาจะหมดลงเมื่อไร ยังมีสิ่งต่างๆอีกมากมายที่เราคิดอยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องรีบทำนั่นคือ การบำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อม เหมือนดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสเตือนพระภิกษุสงฆ์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

     ประโยชน์ตนนั้นมีอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน คือประโยชน์ในปัจจุบัน ได้แก่การบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาให้ถึงพร้อม ประโยชน์ในสัมปรายภพในสุคติภูมิ คือเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วให้ได้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ และเมื่อถึงเวลาก็ลงมาเกิดเพื่อสร้างบารมีกันต่อในเมืองมนุษย์ ส่วนประโยชน์อย่างยิ่งนั้นคือ การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฉะนั้นเมื่อบำเพ็ญประโยชน์ตนได้ดีแล้ว ต้องบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นด้วย ด้วยการชักชวนกันให้มาทำความดี ทั้งให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา เหมือนกับในสมัยพุทธกาล ที่คนเฝ้าไร่อ้อยได้บำเพ็ญประโยชน์ตนด้วยการสร้างเสนาสนะถวายพระอรหันต์ เมื่อละจากโลกไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเทวดา แล้วยังได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย

     * เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ ได้มีพระอรหันต์เถระ ๓ รูป เข้าจำพรรษาที่วัดใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ครั้นออกพรรษาและปวารณาแล้ว จึงออกเดินทางเพื่อจะไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ระหว่างทางใกล้จะถึงเมืองราชคฤห์ได้เดินผ่านไร่อ้อยของพราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่ง ซึ่งตอนที่ไปถึงเป็นเวลาเย็นพอดี จึงเข้าไปถามคนเฝ้าไร่อ้อยว่า “พ่อหนุ่ม ถ้าอาตมาเดินทางต่อไป วันนี้จะถึงกรุงราชคฤห์ไหม” คนเฝ้าไร่อ้อยได้เรียนให้ทราบว่า “ไม่ถึงหรอกขอรับ กรุงราชคฤห์อยู่ห่างจากที่นี้อีกประมาณครึ่งโยชน์ นิมนต์พระคุณเจ้าพักอยู่ที่นี้ก่อนก็ได้ พรุ่งนี้ค่อยเดินทางต่อ”  เมื่อพระเถระทั้งสามได้ฟังแล้วจึงถามว่า “พ่อหนุ่ม ที่นี่มีที่ไหนพอจะพักได้บ้างล่ะ” คนเฝ้าไร่อ้อยเรียนว่า “ไม่มีขอรับ แต่ไม่เป็นไร กระผมจะจัดที่พักถวายพระคุณเจ้าทั้งสามเอง”

     จากนั้นคนเฝ้าไร่อ้อยได้ทำที่พักชั่วคราวเป็นมณฑปกิ่งไม้มุงด้วยใบอ้อย พื้นปูด้วยฟางถวายพระเถระองค์แรก จากนั้นได้นำอ้อยสามลำมาผูกเป็นไม้สามเส้า แล้วมุงด้วยหญ้าและปูพื้นด้วยหญ้า ถวายพระเถระองค์ที่สอง หลังที่สามทำด้วยไม้สองสามท่อนที่มีอยู่ในกระท่อมของตน และเอากิ่งไม้มาทำเป็นเสาคลุมด้วยจีวร ทำเป็นกลดถวายแด่พระเถระองค์ที่สาม

     ฝ่ายพราหมณ์เจ้าของไร่เดินสวนทางกับพระเถระทั้งสามพอดี เมื่อเห็นพระเถระถืออ้อยองค์ละลำ จึงถามว่า “ท่านได้อ้อยมาจากไหน” เมื่อพระเถระตอบว่า “คนเฝ้าอ้อยถวายพวกอาตมา” พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิฟังแล้วจึงโกรธมาก รีบเดินไปไต่ถามคนเฝ้าอ้อยว่าได้ถวายลำอ้อยพระไปจริงหรือเปล่า เมื่อคนเฝ้าไร่อ้อยยอมรับ ด้วยความโมโห จึงใช้ท่อนไม้ฟาดศีรษะของคนเฝ้าไร่อ้อยอย่างแรง ทำให้เขาเสียชีวิตทันที ด้วยความที่คนเฝ้าไร่อ้อยกำลังปีติอยู่ในบุญ เมื่อตายแล้วจึงได้ไปบังเกิดในสุธัมมาเทวสภา มีช้างพลายทิพย์ตัวใหญ่ขาวปลอดเป็นยานพาหนะ

     เมื่อบิดามารดาและญาติมิตรทราบข่าวการตายของเขาจึงรีบพากันไปยังสถานที่เกิดเหตุ ส่วนพวกชาวบ้านได้มาร่วมชุมนุมฌาปนกิจร่างของเขา ณ ที่ตรงนั้นเอง และในขณะนั้นเทพบุตรใหม่ ได้ขี่ช้างทิพย์ที่เกิดด้วยบุญญานุภาพของตน แวดล้อมด้วยหมู่เทพที่ประโคมดนตรีอันไพเราะเสนาะโสต ลงมาจากเทวโลก พร้อมกับบริวารเป็นอันมาก มาลอยอยู่ในอากาศให้ที่ประชุมนั้นได้เห็น

     ที่ประชุมนั้นมีอุบาสกคนหนึ่ง ได้ถามเทพบุตรว่า “ท่านทำบุญอะไรมา ถึงมีช้างเผือกเป็นยานทิพย์ มีดนตรีประโคมกึกก้องอยู่ในอากาศ ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกะ” เทพบุตรตอบว่า “เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกะ แต่เราเป็นเทพบุตรในบรรดาเหล่าเทพที่ชื่อว่า สุธัมมา”

     อุบาสกถามต่ออีกว่า “พวกเทพสุธัมมา เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้ทำกรรมอะไรเอาไว้ ถึงได้เข้าถึงความเป็นสหายของเทพสุธัมมา” เทพบุตรได้ตอบว่า “ผู้ใดถวายมณฑปอ้อย มณฑปหญ้า และมณฑปผ้า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสามอย่างนี้ ผู้นั้นย่อมเข้าถึงความเป็นพวกเทพสุธัมมา” แล้วประกาศคุณของพระรัตนตรัย ชื่นชมความเป็นเนื้อนาบุญของพระสงฆ์ให้กับบิดามารดาหมู่ญาติและมหาชนได้รับฟัง แล้วกลับไปยังเทวโลกทันที

     ชาวบ้านได้ฟังคำของเทพบุตรแล้ว เกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ได้ตระเตรียมเครื่องอุปกรณ์การถวายทานมากมายโดยบรรทุกเต็มเกวียนหลายเล่มเกวียน พากันไปยังพระเวฬุวันมหาวิหาร ถวายมหาสังฆทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จากนั้นจึงกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นถวายพระบรมศาสดา เมื่อพระบรมศาสดาได้สดับแล้วทรงเอาเรื่องนี้เป็นเหตุในการแสดงธรรมโดยพิสดารให้ชาวบ้านเหล่านี้ฟัง ทำให้ชาวบ้านทั้งหมดตั้งอยู่ในสรณะและศีล มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย จากนั้นต่างได้ช่วยกันสร้างวิหารตรงสถานที่ที่คนเฝ้าไร่อ้อยนั้นเสียชีวิต เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดี

     จากเรื่องนี้ จะเห็นว่า บุญที่ทำเอาไว้กับพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญ สามารถบันดาลสมบัติใหญ่ให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยที่เจ้าของบุญเองก็คาดไม่ถึง แม้บางครั้งบุญไม่ส่งผลในปัจจุบันชาติ เราต้องแยกแยะให้ออกว่า บุญส่วนบุญ วิบากกรรมที่เคยทำเอาไว้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง บุญที่ทำในชาตินี้สามารถส่งผลต่อในปรโลกได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่มีผล บุญที่เราสั่งสมทีละน้อย ไม่ช้าก็จะเต็มเปี่ยมได้ เหมือนการสร้างอาคารบ้านเรือน ที่ต้องใช้ปูน กรวด หิน ดิน ทรายเม็ดเล็กๆมารวมกัน จนทำให้เกิดเป็นอาคารที่ใหญ่โตแข็งแรงได้ การสร้างบุญก็เช่นเดียวกัน ต้องหมั่นสั่งสมสร้างทั้งบุญใหญ่ บุญปานกลาง และบุญเล็กน้อย ทำหมดทุกๆบุญ ในที่สุดบุญบารมีของเราจะเต็มเปี่ยม  ดังนั้นขอให้ทุกท่านอย่าประมาทในการสั่งสมบุญ ทั้งทาน ศีล ภาวนาต้องให้ถึงพร้อม โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมจนได้เข้าถึงพระธรรมกาย จะเป็นบุญใหญ่ที่นำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง คือที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน

* มก. เล่ม ๓๘ หน้า ๔๙๒

 
 

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/11692
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *