อานิสงส์ถวายวัดเวฬุวัน

อานิสงส์ถวายวัดเวฬุวัน (พระเจ้าพิมพิสาร)

     ความทุกข์ยากลำบากเป็นสิ่งที่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือหมู่สัตว์  มนุษย์หรือเทวดา ต่างก็ไม่พึงปรารถนาจะให้บังเกิดมีกับตัว อยากหลีกหนีไปให้ไกล  แล้วมุ่งแสวงหาความสุข และความปลอดภัยให้กับชีวิต ผู้คนจำนวนมาก แม้จะมีความสุขมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง หรือยศฐาบรรดาศักดิ์ แต่ก็ยังต้องทุกข์ใจในหลายเรื่อง บางคนแสวงหาความสุขทั้งชีวิตก็ไม่เจอ

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงค้นพบว่า ทางที่จะนำไปสู่ความสุขอันเป็นอมตะนิรันดร์ จะต้องทำใจให้หยุดนิ่ง ให้ใสบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากต้นเหตุแห่งทุกข์ คือ ความทะยานอยากทั้งหลาย หลุดจากความไม่รู้คืออวิชชา ให้กลายมาเป็นผู้รู้แจ้ง  การฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสมํ่าเสมอ เป็นวิธีที่ดีที่สุด  สำหรับชีวิตของผู้ที่ปรารถนาความหลุดพ้นจากทุกข์ ให้พบกับสุขอันเป็นอมตะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ในมธุรัตถวิลาสินีว่า
“อาวาสทานสฺส ปนานิสํสํ
โก นาม วตฺตุ ํ ปุริโส สมตฺโถ
อญฺญตฺร พุทฺธา ปน โลกนาถา
ยุตฺโต มุขานํ นหุเตน จาปิ

     นอกจากพระพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก ปากคน ๑ นหุต  บุรุษไรเล่าผู้สามารถจะกล่าวอานิสงส์ของการถวายที่อยู่อาศัยได้”

     การสร้างมหาวิหารเพื่อถวายแด่สงฆ์ผู้เดินทางมาจากทิศทั้งสี่ และให้ผู้ใคร่ในการปฏิบัติธรรมได้ใช้สอย เป็นสิ่งที่พระบรมศาสดาทรงยกย่อง เพราะเป็นเครื่องชี้บ่งว่า พระพุทธศาสนาจะปักหลักมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง เป็นที่พึ่งของมนุษย์และเทวดา  นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่พุทธศาสนิกชน การมีโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ แสดงว่า พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในอาณาบริเวณนั้น  ผู้ที่มีส่วนในการก่อสร้างถาวรวัตถุเหล่านี้ แม้จะเป็นเพียงตะปูสักตัวหนึ่ง ไม้สักแผ่นหนึ่ง อานิสงส์อันไพศาลก็ย่อมบังเกิดขึ้น จะให้คน ๑ นหุต  หรือแสนคนช่วยกันพรรณนาอานิสงส์การถวายวิหารจนตลอดชีวิต ก็พรรณนาไม่หมด เพราะบุญที่เกิดขึ้นนั้นมากมายเกินควรเกินคาดทีเดียว

     * ในสมัยปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงปราบทิฏฐิของเหล่าชฏิล ๑,๐๐๐ มีท่านอุรุเวลกัสสปเป็นหัวหน้าแล้ว พระพุทธองค์ก็ได้เดินทางเข้าสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อทรงโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวพระนคร เมื่อไปถึงเหล่าพราหมณ์และคฤหบดีก็คิดปริวิตกไปว่า พระมหาสมณะทรงประพฤติพรหมจรรย์ในท่านอุรุเวลกัสสป หรือท่านอุรุเวลกัสสปเป็นสาวกของพระสมณโคดมกันแน่

     พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกของชาวเมือง จึงได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนกัสสปะ  ท่านอยู่อุรุเวลประเทศสั่งสอนศิษย์ชฎิลมานาน เห็นเหตุอะไรหรือจึงละการบูชาไฟ  เราถามความนี้กะท่าน ไฉนท่านจึงละการบูชาไฟ”  พระเถระกราบทูลว่า “ยัญทั้งหลาย สรรเสริญรูป เสียง กลิ่น รส กามและสตรี ข้าพระองค์รู้ว่า นั่นเป็นมลทินในอุปธิทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในยัญในการบูชาไฟ” ว่าแล้วก็ซบศีรษะลงแทบเบื้องยุคลบาทของพระตถาคต เพื่อประกาศความที่ตนเป็นสาวก  และกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” แล้วก็เหาะขึ้นสู่อากาศ ๗ ครั้ง สูงประมาณชั่วหนึ่งลำตาล ชั่วสองลำตาล จนถึงชั่วเจ็ดลำตาล ทำความอัศจรรย์ใจให้บังเกิดขึ้นกับมหาชนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทำปาฏิหาริย์อย่างนั้นแล้ว  ก็ลงจากอากาศ เข้าไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความนอบน้อม

     มหาชนเห็นปาฏิหาริย์ของพระเถระจึงคิดว่า โอ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพมาก แม้ท่านอุรุเวลกัสสปที่เราเคารพนับถือ สำคัญว่าเป็นอรหันต์ ก็ถูกพระตถาคตทำลายข่ายคือทิฏฐิมานะแล้ว จึงพากันเลื่อมใสในพระพุทธองค์ จากนั้นก็ตั้งใจฟังอนุปุพพิกถา ซึ่งว่าด้วยเรื่อง ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ในการออกบวช  และได้ทรงแสดงอริยสัจสี่  เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพาร  ๑๑ นหุต ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน อีก ๑ นหุตเข้าถึงไตรสรณาคมน์ ได้ประกาศตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา

     เมื่อพระราชาทรงถึงสรณะแล้ว ได้ทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น วันต่อมาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุพันรูป  เสด็จเข้าไปเสวยภัตตาหารเช้าในพระราชวัง  พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่อาจจะอยู่เว้นพระไตรรัตน์ได้ ข้าพระองค์จะมาเฝ้าเพื่อสนทนาธรรมในเวลาบ้าง ไม่ใช่ในเวลาบ้าง ชื่อว่าอุทยานลัฏฐิวันก็อยู่ไกลเกินไป

     ส่วนอุทยานชื่อเวฬุวันของข้าพระองค์นี้ เหมาะสำหรับผู้ต้องการวิเวก ไม่ไกลนักไม่ใกล้นัก พรั่งพร้อมด้วยทางคมนาคม ไร้ผู้คนเบียดเสียด สงบสุข พร้อมด้วยร่มเงาและน้ำ  ประดับพื้นด้วยศิลาเย็น เป็นภูมิภาคน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง มีต้นไม้มีกลิ่นหอม ประดับประดาด้วยปราสาท วิหาร ดุจทิพยวิมาน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงรับอุทยานเวฬุวันของข้าพระองค์เถิดพระเจ้าข้า แล้วทรงถือพระเต้าทอง ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกลงเหนือพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

     ในการรับพระอารามนั้น มหาปฐพีก็สะท้านสะเทือนเลื่อนลั่น แสดงอาการไหว เกิดมหาปีติว่า รากของพระพุทธศาสนาหยั่งรากปักหลักลงบนพื้นปฐพีแล้ว  พระบรมศาสดาทรงรับพระเวฬุวนาราม แล้วได้ทรงทำอนุโมทนาวิหารทานว่า ” นอกจากพระพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก ปากคน ๑ นหุต  บุรุษไรเล่าผู้สามารถจะกล่าวอานิสงส์  ของการถวายที่อยู่อาศัยได้

     นรชนใดถวายที่อยู่แก่สงฆ์ นรชนนั้นท่านกล่าวว่า ชื่อว่าให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว เพราะเหตุที่ผู้ถวายที่อยู่อาศัยอันป้องกันอุปัทวะแห่งชีวิต ย่อมรักษาอายุของเขาไว้ได้ เพราะฉะนั้น สัตบุรุษจึงเรียกผู้ถวายวิหารว่า เป็นผู้ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ผู้ถวายวิหารชื่อว่า ให้สุขเป็นนิตย์แก่ภิกษุสงฆ์ เพราะป้องกันความทุกข์ที่เกิดแต่เย็นร้อน สัตว์เลื้อยคลาน ลม แดดเป็นต้น ฉะนั้น ผู้ให้ย่อมได้สุขในโลกหน้า

     ผู้ใดมีจิตเลื่อมใส บันเทิงใจแล้ว ถวายวิหารแก่ท่านผู้มีคุณมีศีลเป็นต้น  สัตบุรุษเรียกผู้นั้นว่า ผู้ให้ทุกอย่าง  ผู้ใดละมลทินคือความตระหนี่ พร้อมทั้งโลภะ  ถวายวิหารแก่เหล่าท่านผู้มีคุณ  ผู้นั้นก็เป็นเหมือนถูกผู้อื่นโยนขึ้นไปอยู่บนสวรรค์  ย่อมเป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศกเสวยสิริสมบัตินั้น ขอถวายพระพร  มหาบพิตรจะเสวยโภคะที่น่ารื่นรมย์ใจในภพทั้งหลายยิ่งขึ้นไป ด้วยผลแห่งวิหารทาน ภายหลังจะทรงประสบสุขในธรรม ไม่เศร้าโศกตลอดไป”

     นี่คือคำอนุโมทนาในวิหารทานที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวเอาไว้ เราจะเห็นว่า อานิสงส์แห่งการวิหารทานเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง  และมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ บุญเป็นเรื่องที่สำคัญ  เพราะบุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จทั้งมวล นอกจากจะให้ผลในปัจจุบันชาตินี้แล้ว ภพชาติต่อไปในอนาคตจะทำให้เราสมบูรณ์ไปด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน  เราทั้งหลายเป็นชาวพุทธ เมื่อรู้ว่าตราบใดที่กิเลสอาสวะยังไม่หมดสิ้น  เรายังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ดังนั้นเมื่อมีชีวิตอยู่ พึงรีบสั่งสมบุญเอาไว้เถิด

     พระบรมโพธิสัตว์ของเรา เมื่อท่านตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ตรวจตราดูว่าจะสร้างบารมีชนิดไหนก่อนดี  ก็พบว่าทานบารมีนี้แหละ ควรจะเป็นเบื้องต้นที่ทำให้การสร้างบารมีในด้านอื่นสะดวกสบายขึ้น เพราะถ้าขาดทานบารมีแล้ว ภพชาติต่อไปก็ต้องเป็นคนอดอยากยากจน จะเป็นคนที่ขัดสน จะสร้างบารมีก็ไม่สะดวก เพราะต้องห่วงเรื่องการทำมาหากิน เมื่อการทำมาหากินฝืดเคือง ก็จะต้องประกอบมิจฉาอาชีวะ ลักเขาบ้าง ขโมยเขาบ้าง จี้ปล้นบ้าง  ในที่สุดชีวิตก็จะตกต่ำทั้งในภพนั้น และในสัมปรายภพ แล้วในที่สุดก็จะทำให้พลัดตกไปสู่อบายภูมิอีกด้วย  

     หากชีวิตสมบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ จะให้ทานก็สะดวก  จะรักษาศีลก็สบาย เจริญภาวนาก็ไม่ขัดข้อง ทั้งทาน ศีล ทั้งภาวนาจะสะดวกสบายทุกอย่าง แล้วบารมีอย่างอื่นเช่น เนกขัมมบารมีก็ดี ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขาบารมีก็ดี  ย่อมจะสร้างได้อย่างสะดวกสบาย  เพราะไม่ต้องทำมาหากินให้ลำบาก  เพราะฉะนั้นให้ทุกท่านหมั่นสั่งสมบุญเอาไว้ให้มากๆ โดยเริ่มจากการให้ทานนี่แหละ แล้วเราจะสมหวังดังใจปรารถนาไปทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งเข้าสู่นิพพาน

* มก. เล่ม ๗๒ หน้า ๕๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/11548
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *