อานิสงส์ของการทำจิตผ่องใส

อานิสงส์การทำจิตของเราให้ผ่องใสตลอดเวลา (พระนางมัลลิกา)

     อุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับตัวเราในปัจจุบันนี้ คือบันไดที่จะพาเราก้าวไปสู่ความสำเร็จ อุปสรรคเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตแข็งแกร่งขึ้น เหมือนทะเลต้องมีคลื่นลม  ท้องฟ้าต้องมีดวงดาราจึงน่าทัศนา ยามใดที่เราเหนื่อยล้า เพราะแก้ไขปัญหาไม่ได้ อย่าพึ่งท้อแท้ใจ ให้เพิ่มกำลังใจด้วยการหลับตาลงเบาๆ ปล่อยวางปัญหาเหล่านั้นไว้สักครู่ แล้วปล่อยใจไปตรงกลางกายฐานที่ ๗ อย่างสบายๆ เมื่อวางใจได้ถูกส่วน เราจะรู้สึกถึงพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ที่จะผลักดันให้เราก้าวข้ามอุปสรรค จะเกิดดวงปัญญาที่นำเราไปสู่จุดหมาย มีกำลังใจอันสูงส่งที่จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้อย่างที่เราปรารถนาเอาไว้

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า
                    “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
                     เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป

                     จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา
                     เมื่อจิตเศร้าหมอง  ทุคติเป็นที่ไป”

      พุทธวจนะบทนี้ เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ซึ่งหลวงพ่อก็ได้ยกขึ้นมากล่าวเอาไว้หลายครั้งแล้ว ท่านใดที่รับฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรอง และหมั่นนำไปปฏิบัติตาม ก็ไม่มีปัญหา แต่ผู้ที่ฟังผ่านก็อาจจะไม่ซาบซึ้ง และเกิดความสงสัยในพุทธพจน์เรื่องกฎแห่งกรรม อันที่จริงจิตเศร้าหมองหรือผ่องใส เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของเรา เพราะชีวิตในปรโลกจะไปสู่สุคติหรือทุคตินั้น ก็วัดกันตรงที่ความหมองกับใสของใจนี่แหละ ไม่ได้วัดกันตรงที่มีทรัพย์สินเงินทองมากหรือน้อย แต่วัดกันที่บุญกับบาป และความหมองกับใสของใจเท่านั้น

     ในเรื่องความหมองหรือใสของใจนี้ พระยามิลินท์ได้ตรัสถามพระนาคเสนเอาไว้ว่า “ข้าแต่พระนาคเสน คำว่าผู้ไม่ได้ทำบุญตั้ง ๑๐๐ ปี แต่ในเวลาจะตาย ได้สติ นึกถึงพระพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียว ก็ได้ไปเกิดในหมู่เทพยดา คำนี้โยมไม่เชื่อ และอีกอันหนึ่ง ที่กล่าวว่า ทำปาณาติบาตเพียงครั้งเดียว ก็ไปเกิดในนรกได้  คำนี้ โยมก็ไม่เชื่ออีกนั่นแหละ ขอพระคุณเจ้าโปรดวิสัชนาทำปัญหานี้ให้แจ่มแจ้งแก่โยมด้วยเถิด”

     พระเถระผู้ทรงปฏิภาณและปฏิสัมภิทาญาณ คือแตกฉานในด้านการโต้ตอบปัญหา ได้มีเถรวาทีวิสัชนาให้ฟังว่า “ขอถวายพระพร ก้อนหินเล็กๆ ทิ้งลงไปในน้ำ จะลอยขึ้นบนน้ำไม่ได้ ส่วนก้อนหินตั้ง ๑๐๐ เล่มเกวียน เขาขนลงเรือบรรทุก เรือก็ยังสามารถลอยอยู่บนน้ำได้ กุศลกรรมเปรียบเหมือนเรือ ธรรมดาเรือของพวกพ่อค้า มักจะบรรทุกของหนัก แต่ถ้าหากบรรทุกของหนักเกินไปเรือก็จมลงในน้ำได้ฉันใด นรชนทำบาปทีละน้อยๆ จนบาปมากขึ้น นาวาชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ได้ ก็จมลงไปในนรกได้ฉันนั้น”

     สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมตรงนี้ หมายถึงว่า ผู้ที่ไม่ได้ทำบุญอะไรเอาไว้เลยตั้ง ๑๐๐ ปี  ครุกรรมหรืออาจิณกรรมไม่ปรากฏชัด ครั้นเวลาจะตาย ได้สตินึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น  ก็สามารถไปเกิดในสวรรค์ได้ แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ทำเวลาใกล้ตาย จะเป็นบุญหรือบาป ก็ให้ผลก่อนอย่างอื่น  เปรียบเหมือนโคตัวที่อยู่ปากคอก เมื่อเปิดประตูคอก ย่อมออกได้ก่อนตัวอื่น เพราะฉะนั้น ข้อที่ว่าทำปาณาติบาตเพียงครั้งเดียว ก็ไปตกนรกได้นั้น  ท่านเปรียบบาปเหมือนของหนัก เช่นก้อนหินก้อนเล็กๆ ที่ทิ้งลงไปในน้ำก็ต้องจม ตัวอย่างเช่นปาณาติบาตที่ทำในเวลาใกล้ตาย หรือจิตไปนึกถึงปาณาติบาตหรือบาปอกุศลที่ตัวทำไว้เพียงครั้งเดียว แล้วกรรมนิมิตนั้นปรากฏชัด ก็พาไปอบายได้เหมือนกัน เพราะบาปจะคอยเหนี่ยวรั้งใจของผู้ตายให้ไปสุ่อบายภูมิ

     * เหมือนดังเรื่องของพระนางมัลลิกา ทรงทำบุญเลี้ยงพระวันละ ๑๐๐ รูป จนตลอดพระชนมายุ เป็นผู้มีส่วนในการถวายอสทิสทาน แต่เวลาใกล้จะสิ้นพระชนม์ ได้นึกถึงการกล่าวตู่พระสวามีด้วยคำเท็จเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็ไปตกนรกอยู่ ๗ วัน  เรื่องของพระนางมีอยู่ว่า

     ในวันหนึ่ง พระนางมัลลิกาเทวีเสด็จเข้าไปยังซุ้มสำหรับสรงสนาน เมื่อชำระพระโอษฐ์แล้ว ทรงน้อมพระสรีระลงปรารภเพื่อจะชำระพระชงฆ์  มีสุนัขตัวโปรดตัวหนึ่ง เข้าไปในห้องสรงสนานพร้อมกับพระนาง มันเห็นพระนางน้อมลงเช่นนั้น จึงเริ่มจะทำสันถวะกับพระนาง พระนางทรงประทับยืนอยู่ด้วยความยินดีในผัสสะของสุนัข โดยชะล่าใจว่าคงไม่มีใครมองเห็นการกระทำของตัวเอง  ในขณะนั้นเอง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทอดพระเนตรทางพระแกลในปราสาทชั้นบน ทรงเห็นภาพที่น่าบัดสีเช่นนั้น เมื่อพระนางเสด็จออกมาจากซุ้มน้ำ จึงได้ตำหนิอย่างรุนแรงว่า “เจ้าหญิงถ่อย ทำไมถึงได้ลดตัวไปเสพอสัทธรรมกับสุนัขอย่างนั้น”

     พระมเหสีแม้รู้ตัวว่าทำผิดไปแล้ว แต่เกรงราชอาชญาและกลัวว่าจะถูกนินทาไปทั่วพระนคร จึงไม่ยอมรับผิด ได้โกหกพระราชาว่า “ไม่เป็นความจริงเลย สงสัยพระองค์จะทรงตาฝาดไปแล้วกระมัง เพราะใครก็ตามที่เข้ามาในซุ้มประตูนี้ จะปรากฏเป็นสองคนแก่ผู้ที่แลดูทางพระแกล  หากพระองค์ไม่ทรงเชื่อหม่อมฉัน ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปที่ซุ้มน้ำเพื่อพิสูจน์ด้วยพระองค์เองเถิด”

     พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของพระนาง จึงเสด็จเข้าไปที่ซุ้มน้ำ  ฝ่ายพระเทวีทรงยืนทอดพระเนตรอยู่ที่พระแกล ได้ทูลว่า “มหาราชผู้โง่เขลา ทำไมพระองค์จึงทรงทำสันถวะกับนางแพะ”  พระราชาทรงสดับเช่นนั้น ก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจว่า “ผู้เข้าไปที่ซุ้มน้ำแห่งนี้ เพียงผู้เดียวเท่านั้น ก็จะปรากฏเป็นสองคนแน่นอน”  ฝ่ายพระนางมัลลิกา ทรงดำริว่า  “พระราชานี้ถูกเราหลอกลวงก็เพราะพระองค์โง่เขลา แต่ตัวเรานี้สิ ได้ทำกรรมชั่วแล้ว มีแต่พระบรมศาสดาเท่านั้นจักทรงทราบกรรมอันลามกของเรา  พระอัครสาวกทั้งสองก็ดี พระอสีติมหาสาวกก็ดี รวมไปถึงผู้มีรู้มีญาณทั้งหลายก็จักทราบ”  เมื่อพระนางดำริเช่นนั้น ก็เกิดความเดือดร้อนพระทัย

     นางพยายามทำบุญอย่างอื่นมากมาย คล้ายกับว่าทำบุญไถ่บาปให้กับตัวเอง อันที่จริง พระนางได้เคยทำบุญใหญ่ๆ เอาไว้หลายอย่างด้วยกัน เช่น ได้เป็นสหายในอสทิสทานของพระราชา  ในอสทิสทานนั้น การบริจาคที่ทรงทำในวันหนึ่ง มีค่าถึง ๑๔ โกฏิ เศวตฉัตร บัลลังก์ที่ประทับนั่ง เชิงบาตร ตั่งสำหรับรองพระบาทของพระตถาคตเจ้า ๔ อย่างนี้  มีค่านับไม่ได้  ในเวลาจะสิ้นพระชนม์ พระนางมัลลิกามิได้ทรงนึกถึงอสทิสทานหรือทานที่ได้เคยบริจาคเอาไว้เลย ทรงระลึกถึงกรรมอันลามกนั้นเพียงครั้งเดียว  ครั้นสิ้นพระชนม์แล้ว ด้วยความที่ใจหมอง บาปนั้นก็ดูดวูบให้ไปบังเกิดในมหานรกทันที

     พระเจ้าปเสนทิโกศลอยากทราบปรโลกของพระนางมัลลิกาว่า ได้ไปเสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นไหน แต่ในช่วง ๗ วันแรก พระบรมศาสดาได้ทรงดลบันดาลด้วยฤทธานุภาพ ทำให้ท้าวเธอระลึกถึงวัตถุประสงค์ของการเสด็จมาไม่ได้ พระราชาทรงสดับธรรมกถาในสำนักของพระศาสดา แล้วก็ทรงลืมเหตุที่เสด็จมาทุกครั้ง ในเวลาเสด็จกลับเข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ จึงทรงระลึกได้ เป็นอยู่อย่างนี้ถึง ๗ วัน

     ฝ่ายพระนางมัลลิกาต้องเสวยวิบากกรรม ถูกเผาไหม้ในนรกตลอด ๗ วันของเมืองมนุษย์ จากนั้นในวันที่ ๘ บุญใหญ่ที่พระนางได้ทำเอาไว้ก็ได้ช่อง หนุนส่งให้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ครั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทราบว่ามเหสีผู้เป็นที่รักของพระองค์ ได้ไปเสวยทิพยสมบัติในดุสิตบุรี ก็ทรงปลาบปลื้มยินดีในปรโลกของพระนาง ทำให้ทรงคลายความเศร้าโศกถึงพระนางได้ อีกทั้งทรงรำพึงว่า ถ้าหากพระนางมัลลิกาเทวีผู้สั่งสมบุญเอาไว้มากถึงเพียงนี้ ไม่ได้ไปบังเกิดในสวรรค์  แล้วใครหนอจะสามารถไปบังเกิดในสวรรค์ได้

     เราจะเห็นว่า การส่งผลของบุญและบาปในช่วงขณะก่อนตาย ขึ้นอยู่กับความหมองและใสของใจเรา พุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสเอาไว้ จึงเป็นจริงตามนั้นทุกประการ เพราะเรื่องของใจเป็นเรื่องใหญ่ จะดีหรือชั่ว จะไปนรกหรือไปสวรรค์ก็ขึ้นอยู่กับใจของเรานี่เอง ฉะนั้น ก็ให้หมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้ผ่องใสไว้เสมอ ให้ใจแช่อิ่มอยู่ในบุญ อยู่กับความดีล้วนๆ 

     ส่วนบาปอกุศลอันใดที่เราเคยพลาดพลั้ง หลงไปทำเอาไว้ ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่เจตนาก็ดี ก็ให้ลืมไปเสีย อย่าไปทำอีก และก็อย่าไปหวนระลึกถึง เพราะดวงบาปมันจะโตขึ้น แต่ให้สั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้นึกถึงบุญบ่อยๆ  โดยเฉพาะในยามที่เราประสบปัญหา ก็ให้นึกถึงบุญ จึงจะได้ชื่อว่าหาบุญได้ใช้บุญเป็น  เพราะเมื่อใจเราใส อะไรๆ ก็ดีไปหมด  เมื่อใจใสสมบัติใหญ่ก็จะไหลมาเทมา  เมื่อใจใสจะมีสุคติเป็นที่ไป  ดังนั้น ให้หมั่นสั่งสมบุญเอาไว้มากๆ และทำใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่งเรื่อยไป จนกว่าจะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ชีวิตจะได้ปลอดภัยและมีชัยชนะตลอดไป

* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๑๖๖

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/11537
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *