อานิสงส์ถวายรองเท้า

อานิสงส์ถวายรองเท้า (สภิยปริพพาชกทูลถามปัญหา 20 ข้อที่มหาพรหมอดีตมารดาได้ผูกไว้)

การถวายรองเท้าเป็นการถวายยานพาหนะ

     สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนปรารถนาความสุข ความอบอุ่นใจ และความปลอดภัยในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ทุกชีวิตพยายามเสาะแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง แต่หลายชีวิตก็ยังไม่พบ และยังไม่ทราบว่า ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงนั้นคืออะไร อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการใด ยิ่งดิ้นรนแสวงหาก็ยิ่งเพิ่มพูนความทุกข์หนักขึ้นไปอีก เพราะไปแสวงหาไม่ถูกวิธีการ แต่ถ้าหากทุกคนในโลกได้รู้วิธีการแสวงหาสรณะที่ถูกต้อง โดยการแสวงหากลับเข้าไปสู่ภายในตัวของเราเอง ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็จะพบกับที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐคือพระรัตนตรัย และจะพบกับความสุขที่แท้จริงที่ปรารถนามายาวนาน

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสภิยสูตรว่า
“ผู้ใดลอยบาปทั้งหมดแล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ดำรงตนมั่น ก้าวล่วงสงสารได้แล้ว เป็นผู้สำเร็จกิจ เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยคุณมีศีล เป็นต้น ผู้นั้นอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นพราหมณ์ ผู้ใดมีกิเลสสงบแล้ว ละบุญและบาปได้แล้ว ปราศจากธุลีกิเลส รู้โลกนี้และโลกหน้า ล่วงชาติชราและมรณะได้ ผู้คงที่เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นสมณะ”

     นี่เป็นพุทธวจนะที่พระพุทธองค์ทรงตอบคำถามของสภิยปริพพาชก ซึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ว่าลักษณะของพราหมณ์และสมณะที่แท้จริงในโลกนี้เป็นอย่างไร เพราะชาวโลกถือกันว่า ผู้ที่แสดงตนว่าเป็นพราหมณ์หรือสมณะนั้น เป็นบุคคลที่ควรเคารพนอบน้อม ควรให้การต้อนรับ เพียงแต่ไม่ทราบว่า คุณสมบัติ ของพราหมณ์และสมณะหรือพระแท้ในอุดมคตินั้นเป็นอย่างไร สภิยปริพพาชกเมื่อได้คำตอบที่ชัดเจนอย่างนั้น จึงบังเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ถึงกับยอมแสดงตนเป็นสาวก และขอออกบวชในพระธรรมวินัยที่พระองค์ได้แสดงไว้ดีแล้ว

     * เมื่อท่านพระสภิยะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ระลึกชาติย้อนกลับไปดูการสร้างบารมีในอดีตของตนว่า ได้สั่งสมบุญอะไรมา ที่เป็นเหตุให้ได้มาพบพระพุทธเจ้า และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อย้อนไปดู ก็พบว่าในสมัยของพระกกุสันธพุทธเจ้าโน้น ท่านเคยถวายรองเท้าแด่พระพุทธองค์ บุญนั้นได้ส่งผลให้ท่านท่องเที่ยวอยู่ในสองภพภูมิเท่านั้น คือเสวยสุขในโลกสวรรค์และก็ในมนุษยโลก ไม่เคยพลัดตกไปในอบายภูมิเลย จะเดินทางใกล้ไกลก็สะดวกสบายปลอดภัยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี พอมาในภพชาตินี้ ท่านเกิดเป็นลูกของปริพาชิกาคนหนึ่ง เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็ได้บวชเป็นปริพาชก เรียนศาสตร์ต่างๆ เป็นมหาวาทีผู้ไม่มีใครสามารถโต้วาทะได้ เย็นวันหนึ่งมหาพรหมซึ่งก็คืออดีตมารดาของท่าน เนื่องจากนางเบื่ออัตภาพของความเป็นหญิง จึงตั้งใจบำเพ็ญตบะจนได้ฌานสมาบัติ พอละจากอัตภาพนี้ ก็ได้ไปบังเกิดเป็นท้าวมหาพรหม ก็เป็นห่วงลูกชายว่าจะไม่ได้พบพระพุทธเจ้า จึงลงมาจากพรหมโลก เพื่อมาผูกปัญหา ๒๐ ข้อ ให้ท่องจำเอาไว้ แล้วได้สั่งความเอาไว้ว่า “หากสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด สามารถพยากรณ์ปัญหานี้ได้ ก็พึงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้นเถิด” สภิยปริพาชกท่องจำเอาคำถามทั้งหมด แล้วเข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้เป็นคณาจารย์ ที่ชนส่วนใหญ่ยกย่องว่าดีว่าเก่ง รวมไปถึงครูทั้ง ๖ ได้ถามปัญหาเหล่านั้นกับเจ้าลัทธิต่างๆ เมื่อถูกถามปัญหาก็แก้ไม่ได้ แล้วยังแสดงความขัดเคือง ไม่พอใจที่มาถามอย่างนั้น

     เมื่อเห็นว่าถามเจ้าลัทธิคนไหนๆ ก็ตอบไม่ได้ จึงคิดว่า พระสมณโคดมเป็นคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง ได้รับการยกย่องไปทั่วทั้งชมพูทวีป แม้ว่าพระองค์จะยังเป็นหนุ่ม แต่ท่านก็เป็นผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก จึงตัดสินใจเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระวิหารเวฬุวัน ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน สภิยะได้ทูลถามว่า “ข้าพระองค์ผู้มีความเคลือบแคลงสงสัย เดินทางมาเพื่อหวังจะทูลถามปัญหากับพระองค์ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ตามลำดับปัญหาให้สมควรแก่ธรรมด้วยเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนสภิยะ ท่านมาแต่ไกล หวังจะถามปัญหา ท่านปรารถนาจะถามข้อใดก็จงถามมาเถิด เราจะกระทำที่สุดแห่งปัญหาเหล่านั้น จะพยากรณ์แก่ท่านตามลำดับปัญหาให้สมควรแก่ธรรม”

     สภิยปริพาชกดำริว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ที่ผ่านมาเราไม่ได้แม้เพียงการให้โอกาสจากสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเลย พระสมณโคดมทรงให้โอกาสนี้แก่เราแล้ว ท่านมีความเบิกบานเกิดปีติโสมนัสได้กราบทูลถามปัญหาว่า บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าเป็นภิกษุ กล่าวบุคคลว่าผู้สงบเสงี่ยมด้วยอาการอย่างไร กล่าวบุคคลว่าผู้ฝึกตนแล้วอย่างไร และอย่างไรบัณฑิต จึงกล่าวบุคคลว่าผู้รู้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด

     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า “ดูก่อนสภิยะ ผู้ใดถึงความดับกิเลสด้วยมรรคที่ตนอบรมแล้ว ข้ามความสงสัยเสียได้ ละความไม่เป็นและความเป็นได้เด็ดขาด อยู่จบพรหมจรรย์ มีภพใหม่สิ้นแล้ว ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า เป็นภิกษุ ผู้ใดอบรมอินทรีย์แล้ว แทงตลอดโลกนี้และโลกอื่น ทั้งภายในและภายนอกในใลกทั้งปวง รอเวลาสิ้นชีวิตอยู่ อบรมตนแล้ว ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้ฝึกตนแล้ว”

     สภิยปริพาชกได้ฟังคำตอบที่ถูกใจเช่นนั้น ก็เกิดความชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระองค์ แล้วถามปัญหาทีละข้อๆ จนครบทั้ง ๒๐ ทุกคำถามเป็นคำถามที่น่าตอบและน่ารู้ทั้งนั้น แต่หลวงพ่อขอนำมาเล่าย่อๆ ตามสมควรแก่เวลา เมื่อจบทั้ง ๒๐ คำถามแล้ว สภิยปริพาชกก็บังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ยิ่งนัก ท่านลุกขึ้นประนมอัญชลีชมเชยพระพุทธองค์ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน พระองค์เป็นผู้ถึงที่สุด ถึงฝั่งแห่งทุกข์ เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ มีพระปัญญามาก พระองค์ทรงช่วยให้ข้าพระองค์ข้ามพ้นความสงสัย

     ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่ควํ่า เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระองค์ด้วยเถิด

     ต่อมาเมื่อท่านได้รับอนุญาตให้อุปสมบทแล้ว ก็หมั่นปรารภความเพียร ไม่ประมาท ไม่ทำให้ไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านได้เปล่งอุทานถึงผลบุญ ที่ได้ทำเอาไว้ว่า “เราได้ถวายรองเท้าแด่พระพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นปราชญ์ มีบาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ผู้ซึ่งกำลังเสด็จดำเนินไปสู่ที่พักกลางวัน ด้วยผลแห่งทานนั้น เราไม่เคยรู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายรองเท้า เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว กิจในพระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว”

     ทุกท่านคงได้เห็นแล้วว่า การถวายรองเท้าเป็นการถวายยานพาหนะ เพื่อให้ได้ยานพาหนะแก้วนำไปสู่อายตนนิพพานต่อไป การถวายทานถูกทักขิไณยบุคคล กระแสธารแห่งบุญก็ส่งผลต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย ทำให้ไม่พลัดตกไปในอบายภูมิ มีแต่ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ อีกทั้งยังเป็นพลวปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอีกด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้น แม้ว่าพระองค์จะทรงพระชนม์ชีพอยู่หรือว่าดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม ย่อมได้อานิสงส์ใหญ่เท่ากัน เพราะพระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย ดังนั้นให้ทุกท่านหมั่นตรึกระลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย เจริญพุทธานุสติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์กันให้มากๆ แล้วต่างจะได้เข้าถึงแก่นแท้แห่งพุทธภาวะภายในคือพระธรรมกายกันทุกๆ คน
 
*   มก. มหากปิชาดก เล่ม ๕๒ หน้า ๑๒ , เล่ม ๔๗ หน้า ๔๗๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/11435
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *