มงคลที่ 38 – จิตเกษม – ผู้มีจิดเกษม

มงคลที่ 38 จิตเกษม – ผู้มีจิตเกษม

ผู้ที่ถูกคุมขัง เมื่อได้รับอิสรภาพหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการแล้ว ย่อมมีอิสรเสรี มีความสุขกายสบายใจฉันใด ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้ง หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายแล้ว ย่อมมีจิตเกษมฉันนั้น
    ผู้รู้ทั้งหลายตั้งแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นผู้มีจิตเกษมจากโยคะ หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง จึงมีแต่ความปลอดโปร่งเบาสบาย เหมือนยกของหนักลงจากบ่าได้ หรือเหมือนหลุดพ้นจากเครื่องผูกมัดมาได้ มีความสุขกายสุขใจ เพราะสภาวะใจใสบริสุทธิ์ ไม่ขุ่นมัว มีอุเบกขาธรรม ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการทำสมาธิ ภาวนาจนถึงจุดที่จิตมีความเกษม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน พันธนสูตร ว่า
    “นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวว่า เครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้า เป็นเครื่องจองจำที่มั่น
    นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ความรักใคร่ในแก้วมณีและกุณฑล ความอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลาย เป็นเครื่องจองจำที่มั่น พาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจองจำที่ผูกหย่อนๆ แต่แก้ยาก
    นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำเช่นนั้นแล้วออกบวช เป็นผู้ไม่มีความอาลัย เพราะละกามทั้งหลายได้”

    ชีวิตเราเหมือนถูกจองจำ โดยมีโลกเป็นคุกขนาดใหญ่ ทันทีที่เราลืมตาดูโลก เราต้องผจญกับภัยนานาชนิดที่พร้อมจะทำให้เราถึงแก่ความตายได้ในทุกอนุวินาที เหมือนคนลอยคออยู่กลางทะเลที่มีคลื่นลมโหมกระหน่ำ ตัวเรามีแต่จะจมลง และเป็นอาหารของสัตว์ร้ายในทะเล ภัยในชีวิตเป็นอย่างนี้เหมือนกัน พอเกิดมาเราก็มีภัยต่างๆ คอยดักซุ่มอยู่เงียบๆ รุกรานนำไปสู่ความตาย คือ ชาติภัย เป็นภัยจากการเกิด บางคนตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดายังไม่ทันได้เกิดเลย หรือบางคนเกิดมาลืมตาดูโลกได้ไม่กี่นาทีแล้วตายก็มี อุปมาเหมือนเสือที่ซุ่มอยู่ในที่อำพราง รอเวลาที่เหยื่อเผลอก็จะตะครุบเหยื่อนี้ให้ถึงแก่ความตาย

    ภัยข้างขวา คือ ชราภัย เป็นภัยนำความแก่ความชรามาให้ ภัยด้านซ้าย คือ พยาธิภัย ภัยจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ภัยด้านหน้า คือ มรณภัย เป็นภัยจากความตายที่ประจันหน้าเราอยู่ ภัยเหล่านี้รุมล้อมเราทั้งซ้ายขวาหน้าหลังทุกทิศทางเลย ไม่มีผู้ใดสามารถหลีกเลี่ยงได้ มันพร้อมที่จะเข้ามาทำร้ายเราให้ถึงแก่ความตายได้ในทุกขณะ นี่เฉพาะภัยภายในซึ่งมาพร้อมกับการเกิดของเรา ยังมีภัยภายนอกอีกที่เราต้องพยายามหลบหลีกอยู่ทุกเวลา

    ภัยภายนอกตัว เช่น ภัยจากคนพาล ภัยจากผู้ไม่ปรารถนาดี ภัยจากพวกมิจฉาทิฐิ นอกจากนี้ยังมีภัยจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ต้องคอยอพยพหลบหนีกันเป็นประจำ อย่างที่เราพบเห็นกันทางสื่อต่างๆ หรือบางท่านเคยประสบพบเจอด้วยตนเอง ชนิดที่ว่าเกือบเอาชีวิตไม่รอดมาแล้ว

    เท่านี้ยังไม่พอ ยังมีภัยซึ่งเกิดจากผลกรรมที่เคยทำไว้ในอดีต ตามมาส่งผลในภพชาตินี้ บางท่านเมื่อกรรมตามทัน ชีวิตที่พบเจอแต่สิ่งที่เลวร้าย เคยเบียดเบียนสัตว์ไว้ ทำให้ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยพิกลพิการ มีโรคประจำตัวสารพัด เคยโกหกไว้มาก ทำให้ความจำเลอะเลือน หลงลืมสติ ไปลักขโมยคดโกงใครไว้ พอเขาจับได้ต้องถูกจองจำถูกลงโทษ อกุศลกรรมทุกอย่างที่เราเคยทำไว้ จะจดจำได้หรือไม่ก็ตาม เมื่อถึงคราวให้ผลแล้วมีวิบากเป็นความทุกข์ทรมาน

    การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ต้องทนทุกข์ทรมานกันอยู่อย่างนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วน เพราะเราถูกเครื่องผูก คือ โยคะ ซึ่งแปลว่า เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ

    เครื่องผูก คือ กามโยคะ ความยินดีพอใจในกามคุณ อยากฟังเสียงเพราะๆ อยากทานอาหารอร่อยๆ อยากเห็นรูปสวยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ได้ดมกลิ่นหอมๆ ได้นึกคิดในสิ่งที่ชอบใจ ความพอใจในเบญจกามคุณทั้งหลายเหล่านี้ เป็นเหมือนเชือกเกลียวแรกที่ผูกมัดตัวเราไว้

    ภวโยคะ คือ ความยินดีพอใจในรูปฌานและอรูปฌาน มัดให้ติดอยู่กับรูปภพและอรูปภพ คือ เมื่อได้เจอความสุขจากการที่ใจเริ่มสงบ ทำสมาธิจนได้รูปฌาน ติดอยู่ในความสุขจากอารมณ์ของฌาน ตายไปเกิดเป็นรูปพรหม หรืออรูปพรหม ซึ่งยังไม่พ้นจากคุกของภพสาม พอหมดบุญต้องลงมาเกิดเจอะเจอภัยต่างๆอีก

    ทิฏฐิโยคะ คือ ความยึดมั่นถือมั่นความคิดเห็นที่ผิดๆ ไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา มีความเห็นผิดว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณบ้าง เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มีบ้าง เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ได้ ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนภูเขาต้นไม้ คนทรงผีสิงหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้าง ใจยังมืดมิด ยังไปหลงติดกับความเห็นผิดๆ อยู่

    อวิชชาโยคะ คือ ความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม เนื่องจากความสว่างของใจยังไม่พอ ทำให้ไม่เห็นอริยสัจสี่ ไม่รู้จักทุกข์ พิจารณาไม่ออกว่าต้นเหตุแห่งทุกข์นั้นคืออะไร จะดับทุกข์ได้อย่างไรและหนทางดับทุกข์ก็มองไม่ออก

    เครื่องผูกมัดเหล่านี้เปรียบเหมือนเชือกสี่เกลียว ที่ผูกมัดตัวเราไว้กับภพ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่รู้จบสิ้น สัตวโลกต้องพบกับภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุด จิตจึงไม่พบกับความเกษมสำราญ มีสุขมีทุกข์คลุกเคล้ากันไป สุกๆ ดิบๆ จะหาสุขจริงๆ นั้น ยังหาไม่พบ มีแต่หลงเพลิดเพลินไปวันๆ สภาวะของจิตเกษมจึงไม่เคยพบเจอไม่เคยรู้จัก

    จิตเกษม หมายถึง สภาพจิตที่ไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัดหลงเหลืออยู่เลย โยคะหรือเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เชือกทั้งสี่เกลียวนั้นได้ถูกฟันขาดสะบั้นไปแล้ว จิตเป็นอิสรเสรี เหมือนนกที่ถูกปล่อยออกจากกรง ไม่ติดขัดอึดอัดอีกต่อไป จึงมีความสุขอย่างแท้จริง พอกิเลสหมดก็พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่จะมีจิตเกษมได้อย่างแท้จริง คือ ผู้ที่มีใจหยุดนิ่งแช่อิ่มอยู่ในนิพพานตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงพระอริยเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย

มีเรื่องเล่าว่า *ในสมัยพุทธกาล พระสุปปิยเถระ ท่านได้เกิดเป็นลูกของคนเฝ้าป่าช้าในนครสาวัตถี ตั้งแต่ยังเป็นเด็กมักจะได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากเพื่อนฝูงเป็นประจำ เพราะผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับศพ ไม่เป็นที่นิยมยกย่องของคนในทุกยุคทุกสมัย และท่านมักจะถูกเพื่อนรุ่นเดียวกันกลั่นแกล้งเป็นประจำ ชีวิตของท่านตั้งแต่ในวัยเด็กจนกระทั่งชราช่างน่ารันทดหดหู่เหลือเกิน

    เมื่อพิจารณาเห็นว่า ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ เลยอยากจะแสวงหนทางให้หลุดพ้นจากทุกข์ ท่านได้เข้าไปหาพระโสปากเถระผู้เคยเป็นเพื่อนรัก ไปขอฟังธรรมในสำนักของพระโสปากเถระ เมื่อฟังธรรมแล้วท่านเกิดความสลดสังเวชในการอยู่ครองเรือนว่า เป็นภาระอันหนักหน่วง มีแต่จะนำเรื่องร้อนรุ่มใจมาให้ และการหาโอกาสทำใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่งนั้นเป็นไปได้ยากยิ่งนัก จึงตัดสินใจออกบวชแสวงหาโมกขธรรมตามพระเถระ

”    พอออกบวชได้ไม่กี่วัน เนื่องจากท่านมีจิตที่ปลงสังเวชอยู่แล้ว พอเอาใจกลับมาไว้ที่กลางตัวในหนทางสายกลาง ฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่งในทุกอิริยาบถ ใจไม่ออกห่างจากกลางกายเลย ในที่สุดท่านสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้มีจิตเกษมจากโยคะ ปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดอีกต่อไป ท่านได้กล่าวธรรมภาษิตไว้ว่า “”บุคคลผู้มีความเพียร ถึงจะแก่ แต่เผากิเลสให้เร่าร้อน พึงบรรลุนิพพานอันไม่รู้จักแก่ เป็นธรรมอันสงบเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้”””

    จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า การรู้จักปล่อยวางภาระอันหนักหน่วง แล้วนำใจกลับมาวางไว้ในตำแหน่งที่ตั้งดั้งเดิมของใจ คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด มีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ เราจะเข้าไปพบกับของจริงที่มีคุณสมบัติเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา ทำให้จิตเกษม ปราศจากโยคะ คือ กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย

    การทำสมาธิภาวนาเป็นทางลัดที่สุด ที่จะทำให้ใจบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง สามารถทำลายโซ่ตรวนที่ร้อยรัดเราไว้ในภพทั้งสาม จะทำให้เราเข้าถึงอิสรเสรีที่แท้จริงที่รอดพ้นจากภัยทั้งหลาย ทั้งที่เป็นภัยภายในและภัยภายนอก ดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาข้างต้น รวมไปถึงภัยในโลกนี้กับภัยในโลกหน้าและภัยในสังสารวัฏ ดังนั้น ให้ทุกท่านหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ช้าเราก็จะเป็นผู้ที่มีจิตเกษมได้เหมือนกัน เราจะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงกันทุกคน

*มก. สุปปิยเถรคาถา เล่ม ๕๐ หน้า ๑๙๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/5952
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *