มงคลที่ ๓๗ – จิตปราศจากธุลี – อยุ่ที่ไหนก็ได้ถ้าใจหยุด

มงคลที่ ๓๗ จิตปราศจากธุลี – อยู่ที่ไหนก็ได้ถ้าใจหยุด

การปฏิบัติธรรมเป็นการฝึกใจให้หยุดนิ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะและสังฆรัตนะ ซึ่งรัตนะทั้งสามนี้เป็นสรณะที่แท้จริงของชาวโลกทั้งหลาย ถ้าเข้าถึงเมื่อไร เมื่อนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง คือ บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

สนฺตํ ตสฺส มนํ โหติ สนฺตา วาจา จ กมฺม จ
สมฺมทญฺญา วิมุตฺตสฺส อุปสนฺตสฺส ตาทิโน

ใจของบุคคล ผู้พ้นวิเศษดีแล้ว เพราะรู้รอบ เป็นผู้สงบระงับ ผู้คงที่
เป็นใจที่สงบแล้ว วาจาก็สงบ การกระทำก็สงบตามไปด้วย

บุคคลที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ย่อมเป็นผู้มีใจมั่นคงประดุจขุนเขา ไม่มีสิ่งใดมาทำให้ใจหวั่นไหวได้ ใจไม่กระเพื่อม เป็นผู้สงบระงับสังขารทั้งปวงในโลก มีใจคงที่ มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานอย่างเดียว มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ กาย วาจา ใจ สงบจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ใจจึงเป็นอิสระ เป็นใหญ่ในตนเองอย่างแท้จริง เสวยบรมสุขได้อย่างเต็มที่ เพราะท่านผู้รู้มีใจหยุดนิ่งอย่างดีแล้ว

ใครก็ตาม ที่สามารถทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ได้เข้าถึงพระธรรมกายใสสว่างภายใน ธรรมจักษุจะบังเกิดขึ้น จะเห็นได้รอบทิศและรู้ได้รอบตัวด้วยญาณทัสสนะ ซึ่งต่างจากการเห็นด้วยตามนุษย์ จะเห็นสรรพสิ่งทั้งหลายได้แจ่มแจ้งตรงไปตามความเป็นจริง ที่เห็นได้เช่นนี้เพราะใจหยุดนิ่ง ฉะนั้นการหยุดใจ จึงเป็นการทำชีวิตของเราให้สมบูรณ์ เป็นชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข จิตใจจะสะอาดบริสุทธิ์ทั้งวันทั้งคืน

ผู้มีใจหยุดดีแล้ว จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีความสุข ความสุขมาจากความสงบของใจ เมื่อใจสงบ คำพูดหรือการกระทำจะสงบตามไปด้วย เพราะผู้ที่มีใจหยุดนิ่ง จะอยู่ในสถานที่ใด สถานที่นั้นจะสะอาดบริสุทธิ์ เป็นอริยสถานประดุจทิพยวิมาน

*ดังเรื่องในสมัยพุทธกาล พระสารีบุตรเถระผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ท่านมีน้องชายคนเล็กชื่อ เรวตะ เนื่องจากพี่น้องในครอบครัวของท่านออกบวชกันหมด เหลือแต่น้องคนเล็ก โยมแม่ของท่านจึงอยากจะให้ลูกชายคนเล็กเป็นผู้สืบสกุล พวกญาติได้จัดพิธีแต่งงานให้กับเด็กชายเรวตะ ผู้มีอายุเพียง ๗ขวบ เพราะกลัวว่าพระสารีบุตรจะเอาน้องคนเล็กไปบวชอีก เมื่อวันพิธีมงคลสมรสมาถึง ญาติผู้ใหญ่ให้พรแก่เด็กหญิงผู้เป็นเจ้าสาวของเรวตะว่า “ขอให้เธอจงมีความสุข มีอายุยืนเหมือนคุณยายของเธอนะ”

เรวตะเห็นคุณยายท่านนั้นแล้ว เกิดความสลดใจขึ้นมาว่า “ถ้าเราแต่งงานมีครอบครัว ต่อไปเด็กหญิงนี้ต้องแก่เหมือนคุณยาย เป็นผู้เฒ่าอายุ ๑๒๐ปี แต่ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะช่วยเหลือตนเอง หลังโกง ฟันหัก ไม่ช้าก็ต้องตาย สงสัยพี่ชายและพี่สาวของเรา คงจะเห็นสัจธรรมข้อนี้ จึงได้พากันออกบวชกันหมด เหลือแต่เราคนเดียว ถ้าหากเราอยู่ที่นี่ ชีวิตก็ไม่มีแก่นสารอะไร” เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว จึงขอออกบวช แต่ญาติไม่ยอมให้บวช และยังกลัวว่าเรวตะจะหลบหนีไปบวช จึงสั่งให้พี่เลี้ยงควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

เรวตะไม่ละความตั้งใจ พยายามหากุศโลบายที่จะออกบวชให้ได้ ในขณะที่ขบวนแห่ของเจ้าบ่าวกำลังเดินทาง เรวตะได้แกล้งทำเป็นปวดท้อง จึงขอลงไปทำธุระส่วนตัวข้างทาง ในครั้งแรกพี่เลี้ยงได้ดูแลอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมให้คลาดสายตา แต่เรวตะแสร้งทำเป็นท้องเสีย จึงลงไปทำธุระบ่อยๆจนพี่เลี้ยงชะล่าใจ ช่วงหลังๆจึงไม่ได้ตามไปดู เรวตะได้โอกาสจึงรีบวิ่งหนีเข้าป่าไปทันที พี่เลี้ยงเห็นไม่กลับมาจึงออกตามหา แม้จะตามหาอย่างไรก็หาไม่พบ

ฝ่ายพระสารีบุตรเถระ ได้บอกกับหมู่พระภิกษุสงฆ์ไว้ว่า ถ้าน้องชายคนเล็กของท่านมาขอบวช ขอให้ภิกษุทั้งหลายช่วยบวชให้ทันที เพราะว่าบิดามารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฐิ เมื่อเรวตะหนีออกจากบ้านได้แล้ว จึงได้บวชเป็นสามเณรอยู่กับพระภิกษุที่ในป่านั้นเอง หลังจากบวชแล้ว ฝึกสมาธิกับพระอาจารย์ได้ไม่กี่วัน ท่านรู้สึกสังหรณ์ใจว่า ถ้าหากอยู่ที่นี่ต่อไป พวกญาติอาจจะตามมาพบ จึงขออนุญาตพระอาจารย์ เข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าไม้ตะเคียนเพียงรูปเดียว สามเณรได้ตั้งใจทำสมาธิตลอดสามเดือน ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

พระสารีบุตรเถระได้ทราบข่าวว่า น้องชายบวชเป็นสามเณรแล้ว จึงได้กราบทูลพระบรมศาสดา เพื่อจะขอไปเยี่ยมสามเณรน้องชายที่อยู่ในป่าเพียงรูปเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต และพระพุทธองค์จะเสด็จไปด้วยพร้อมกับภิกษุสงฆ์อีก ๕๐๐รูป ในการเดินทางครั้งนั้น มีพระสีวลีผู้เลิศทางด้านมีลาภไปด้วย พระบรมศาสดาและหมู่ภิกษุได้เดินทางเป็นระยะทางถึง ๓๐โยชน์ ในระหว่างทางได้มีเหล่าเทวดาคอยต้อนรับ ด้วยการเนรมิตวิหารให้พักทุกๆระยะทางหนึ่งโยชน์ และได้จัดเตรียมภัตตาหารที่มีรสเลิศไว้ให้

ฝ่ายสามเณรเรวตะได้เห็นการเสด็จมาของพระบรมศาสดาด้วยธรรมจักษุ จึงใช้อิทธิปาฏิหาริย์เนรมิตพระคันธกุฎีสำหรับพระพุทธองค์ และเนรมิตกุฏิอีก ๕๐๐หลัง เพื่อภิกษุสงฆ์ มีที่สำหรับจงกรม ๕๐๐แห่ง ทำสถานที่นั้นให้งดงามประดุจทิพยวิมาน เมื่อเหล่าภิกษุสงฆ์มาถึง สามเณรก็ให้การต้อนรับอย่างดี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพำนักอยู่ในสำนักของสามเณรหนึ่งเดือน จึงได้เสด็จกลับบุพพาราม

ในจำนวนพระภิกษุ ๕๐๐รูปนั้น มีพระหลวงตา ๒รูปพากันคิดว่า สามเณรนี้เอาแต่ก่อสร้างเสนาสนะใหญ่โต คงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน พระบรมศาสดาทรงมีความลำเอียง จึงเสด็จมาเพราะเห็นแก่หน้าพระสารีบุตร แม้จะอยู่ในป่าเขาไกลถึง ๓๐โยชน์ ก็ยังเสด็จมา

ในวันนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงทราบวาระจิตของภิกษุทั้งสอง ในวันเสด็จกลับทรงอธิษฐานจิตให้พระภิกษุทั้งสองนั้นลืมบริขารของตน เมื่อภิกษุทั้งหมดได้เดินทางออกจากที่พักแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงคลายฤทธิ์ ทำให้ภิกษุสองรูปนี้ นึกขึ้นได้ว่าลืมเครื่องบริขารไว้ จึงพากันย้อนกลับไปเอาบริขารของตน เมื่อกลับไปอีกครั้ง เห็นแต่ป่ารกชัฏ กุฏิที่ตนเคยพักอย่างสบายก็ไม่มีอีกแล้ว พระทั้งสองรูปได้เที่ยวหาบริขารของตน และพบบริขารห้อยอยู่ตามกิ่งไม้ตะเคียน ต่างประหลาดใจ แล้วรีบพากันออกจากป่าทันที

ฝ่ายพระบรมศาสดา ได้พาพระภิกษุสงฆ์เดินทางมาจนถึงวัดบุพพาราม มหาอุบาสิกาวิสาขาได้ถวายข้าวยาคูรสเลิศ แล้วเรียนถามพระภิกษุถึงที่อยู่ของสามเณรว่า น่ารื่นรมย์เพียงใด ภิกษุทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า “ที่อยู่ของสามเณรเหมือนกับเทวสภาสุธรรมา งดงามเกินกว่าที่จะพรรณนา ประหนึ่งว่าตกแต่งด้วยของอันเป็นทิพย์”

ส่วนภิกษุสองรูป ที่มาถึงในภายหลัง ได้บอกแก่มหาอุบาสิกาว่า “ที่นั่นไม่มีความรื่นรมย์เลย มีแต่ความรกร้าง เต็มไปด้วยหนาม เป็นเหมือนที่อยู่ของอมนุษย์”

มหาอุบาสิกาวิสาขาคิดว่า คำตอบของพระคุณเจ้าไม่ตรงกัน ต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นเป็นแน่ จึงได้กราบทูลเรื่องนี้ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ดูก่อนวิสาขา พระอรหันต์ทั้งหลายจะอยู่ ณ ที่ใด จะเป็นบ้านหรือป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอน สถานที่นั้นย่อมเป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์”

พระอรหันต์ผู้มีใจหยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์แล้ว เป็นผู้สงบ กาย วาจา ใจ หมดจดจากกิเลส สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ย่อมมีฤทธิ์มีเดชมีอานุภาพ ยิ่งกว่าใครในภพทั้งสาม ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็เป็นสุข และทำที่นั้นให้น่ารื่นรมย์ได้ ด้วยกระแสใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส

ดังนั้น เราควรฝึกใจให้หยุดนิ่งในทุกอิริยาบถ เพื่อเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ เติมความสุขให้เป็นรางวัลชีวิตของเราทุกๆคน การหยุดนิ่งเป็นหน้าที่หลักของพวกเรา เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยปละละเลยในการทำใจหยุดนิ่ง

*มก. ขทิรวนิยเรวตเถระ เล่ม ๓๒ หน้า ๓๕๗

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/5534
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *