มงคลที่ ๓๖ จิตไม่โศก – ความโศกสิ้นสุด เมื่อจิตหลุดพ้น

มงคลที่ ๓๖ จิตไม่โศก – ความโศกสิ้นสุด เมื่อจิตหลุดพ้น

การเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ อายตนนิพพาน เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยกำลังบุญมากๆ บุญน้อยไปไม่ถึง ต้องมีกำลังบุญเต็มเปี่ยมจึงจะไปถึงได้ บุญจะเต็มเปี่ยมได้เร็ว ย่อมขึ้นอยู่กับการทำบุญถูกอู่แห่งทะเลบุญ ถูกทักขิไณยบุคคล และต้องทำบ่อยๆ ทำซํ้าแล้วซํ้าอีก ทำทั้งทาน ศีล ภาวนา ทำไปจนหมดอายุขัย แม้ละโลกแล้วไปสู่สุคติภพ ยังต้องไปทำงานละเอียดกันต่อ และเมื่อถึงเวลาก็ลงมาเกิดสร้างบารมีอีก เราจะสร้างบารมีกันไปอย่างนี้อีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน กระทั่งบารมีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เราจึงจะหลุดพ้นจากการบังคับบัญชาของพญามาร เหมือนลูกไก่หลุดออกจากกระเปาะฟองไข่ จะเป็นอิสระจากอาสวกิเลส และจากอวิชชาอย่างสมบูรณ์ เช่นนี้จึงจะสามารถไปถึงที่สุดแห่งธรรมกันได้

มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย อุทานคาถา ว่า

“ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์อันมากมายนี้มีอยู่ในโลก ก็เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี

ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลก ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความสุขปราศจากความเศร้าโศก เพราะเหตุนั้นผู้ใดปรารถนาความไม่โศกอันปราศจากกิเลสดุจธุลีแล้ว ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารใดในโลกให้เป็นที่รักเลย”

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีความทุกข์อยู่นี้ เพราะมีความผูกพัน ในคน สัตว์ สิ่งของ จึงต้องติดบ่วงแห่งทุกข์ แม้พญาราชสีห์ หากติดบ่วงของนายพรานแล้ว ย่อมสิ้นกำลังและอำนาจ ได้รับแต่ความทุกข์ทรมาน มนุษย์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน แม้มียศถาบรรดาศักดิ์มากเพียงใด หากติดบ่วงแห่งความรักและความผูกพัน ย่อมต้องสิ้นฤทธิ์ เพราะตกอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา ย่อมมีจิตโศกเศร้า เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน

ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์”

ทุกข์ที่เกิดจากการแปรเปลี่ยน หรือพลัดพรากจากคน สัตว์ สิ่งของอันเป็นที่รัก ยิ่งรักมากก็ยิ่งทุกข์มาก หรือทุกข์ที่เกิดจากการพบเจอสิ่งอันไม่เป็นที่รัก สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดความโศกเศร้าเสียใจ คือ มีสภาพจิตที่อับเฉาซบเซา ทำให้มีอาการแห้งใจ เหมือนดินแห้ง ใบไม้แห้ง หมดความชุ่มชื่น ไม่อยากรับรู้อารมณ์อื่นใด ไม่อยากทำการงานอะไร ฤทธิ์เดชของความไม่สมหวังนี้ อาจทำให้คนกลัดกลุ้มจนตรอมใจตายก็ได้

ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เรารู้จักพิจารณาปล่อยวาง และคลายจากความยึดมั่นถือมั่นว่า “เราจะต้อง พลัดพรากจากของรักของชอบใจด้วยกันหมดทั้งสิ้น”

เพราะเราอยู่บนโลกใบนี้ที่มีโลกธรรมเป็นพื้นฐาน อีกทั้งมีเวลาอยู่อย่างจำกัด เมื่อหมดเวลาแล้ว เราย่อมต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไป แม้กระทั่งร่างกายของเราเอง ฉะนั้น หากปล่อยวางได้เมื่อไร ใจก็เบาสบาย จะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน เหมือนดังเรื่องที่หลวงพ่อจะได้นำมาเล่าในวันนี้

*เรื่องมีอยู่ว่า พระวาสิฏฐีเถรีเป็นผู้มีชีวิตที่ผันผวนปรวนแปรอย่างน่าสงสาร เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงในชีวิต จนไม่มีใครสามารถทำนายชีวิตของท่านได้ว่า ชีวิตในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป พระเถรีได้เคยบำเพ็ญบารมีที่เป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมาหลายชาติ ได้เคยทำบุญกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายพระองค์ ได้ท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิด เป็นเทวดาและมนุษย์มายาวนานเป็นแสนกัป

ครั้นมาถึงในสมัยพุทธกาลนี้ ท่านได้เกิดในตระกูลฐานะดีตระกูลหนึ่งในเมืองเวสาลี มีชื่อว่า วาสิฏฐี เมื่อเติบโตเป็นสาว มารดาบิดาได้ยกให้เป็นภรรยาของกุลบุตรผู้หนึ่ง ซึ่งมีฐานะเสมอกัน หลังจากแต่งงานแล้ว ทั้งสองอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ประหนึ่งว่าเป็นคู่สร้างคู่สม คู่บุญคู่บารมีกัน จนมีพยานรัก คือ ลูกชายหนึ่งคน

เมื่อลูกชายเติบโตวิ่งเล่นได้ พลันเกิดเหตุพลิกผันวิถีชีวิตของนางโดยสิ้นเชิง ลูกชายของนางเกิดล้มป่วยลง และตายจากไปอย่างปัจจุบันทันด่วน ทำให้นางเกิดความโศกเศร้าเสียใจ อาลัยอาวรณ์ต่อลูกน้อยเป็นอย่างมาก จนไม่เป็นอันกินอันนอน นางไม่สามารถควบคุมสติของตนได้ กลายเป็นคนเสียสติในทันที

พวกญาติและสามีของนางได้ช่วยกันรักษาเยียวยา แต่ไม่ได้ผล นางเดินร้องไห้กระเซอะกระเซิงออกจากบ้านไป โดยไม่มีใครรู้ว่า นางไปทางไหน จนกระทั่งไปถึงเมืองมิถิลา ขณะนั้นเอง บุญเก่าที่นางได้สั่งสมไว้ดีแล้วตามมาให้ผล นางได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์กำลังเสด็จดำเนินไปสู่เมืองมิถิลา ด้วยพุทธานุภาพ อันไม่มีประมาณ ทันทีที่ได้เห็นพระบรมศาสดา นางกลับได้สติ หายจากอาการเป็นบ้าในที่นั้นเอง

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า นางกลับได้สติแล้ว จึงแสดงธรรมโปรดนางวาสิฏฐี ให้คลายจากความรักความผูกพัน ครั้นนางได้สดับพระธรรมเทศนา ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมโอสถชั้นยอดแล้ว นางเกิดความสลดสังเวชใจ เห็นสัจธรรมของชีวิตในสังสารวัฏว่า เต็มไปด้วยความทุกข์ ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการครองเรือน จึงทูลขอบรรพชาต่อพระบรมศาสดา เมื่อนางได้รับอนุญาตแล้ว ก็ออกบรรพชาในสำนักภิกษุณี หลังจากบวชแล้ว บารมีธรรมที่สั่งสมมาจนเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ก็ปรากฏผล พระเถรีได้ทำกรณียกิจ เริ่มเจริญสมาธิบำเพ็ญเพียรภาวนา ทำใจหยุดใจนิ่งดิ่งเข้ากลางของกลางเรื่อยไป ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ๔

หลังจากที่พระวาสิฏฐีเถรี บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงได้กล่าวเถรีคาถาเหล่านี้ด้วยความเบิกบานใจว่า “ดิฉันถูกความโศกเศร้าถึงบุตรบีบคั้น มีจิตฟุ้งซ่าน เปลือยกายสยายผม เที่ยวซมซานร้องไห้ไปตามสถานที่ต่างๆ เดินโซซัดโซเซไปตามถนน กองขยะ ในป่าช้า ในตรอกน้อยตรอกใหญ่ อดๆ อยากๆ อยู่ถึง ๓ปี

พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงฝึกบุคคลที่ไม่มีใครเสมอเหมือน ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ หาภัยจากที่ไหนมิได้ กำลังเสด็จไปสู่เมืองมิถิลา ดิฉันกลับได้สติแล้ว เข้าไปถวายบังคมพระองค์ พระบรมศาสดาพระองค์นั้นได้ทรงแสดงธรรมโปรดดิฉันด้วยพระมหากรุณา เมื่อได้รับรสแห่งอมตธรรมจากพระองค์ แล้วจึงออกบวชเป็นบรรพชิต และบำเพ็ญเพียรตามคำสอนของพระบรมศาสดา ได้ทำให้แจ้งแล้วซึ่งบทธรรมอันรุ่งเรืองสุขเกษมสำราญ

ดิฉันได้ถอนความเศร้าโศก อันมีพระอรหัตผลเป็นที่สุด ได้หลุดพ้นแล้วจากทุกข์ เพราะดิฉันกำหนดรู้อุปาทานขันธ์๕ คลายความยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ อันเป็นที่ตั้งและเหตุเกิดแห่งความเศร้าโศกทั้งหลายได้เด็ดขาดแล้ว”

จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีความทุกข์ เพราะยิ่งมีสิ่งอันเป็นที่รักมากก็ยิ่งทุกข์มาก หมดรักก็หมดทุกข์ ความทุกข์ทั้งหลายจะสิ้นสุด เมื่อใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดอย่างสมบูรณ์ ดังเช่นพระอรหันตเถรีผู้ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ขณะที่ท่านเอาใจจรดอยู่กลางกาย ดื่มดํ่าอยู่ในอมตรสอันยอดเยี่ยม คือ พระนิพพาน ความรักความโศกก็เข้าไปรบกวนท่านไม่ได้ ท่านตัดความรักใคร่ห่วงใยได้เด็ดขาด ใจของท่านจึงมีแต่ความสุขเกษม ชุ่มชื่น เบิกบาน ปราศจากความทุกข์ความโศกเศร้าเสียใจ

พวกเราเอง แม้ยังไม่สามารถตัดความรักความห่วงใย ในคนสัตว์สิ่งของได้อย่างเด็ดขาด ก็ควรฝึกหัดปลดปล่อยวางไว้บ้าง ด้วยการหมั่นทำสมาธิเจริญภาวนา เจริญมรณานุสติอยู่เป็นประจำ จะทำให้เรามีสติ ไม่เศร้าโศกจนเกินเหตุ จิตจะได้คลายจากความยึดมั่นถือมั่น เวลาปฏิบัติธรรมก็สามารถเข้าถึงธรรมได้อย่างสะดวกสบาย เพราะไม่มีสิ่งที่มาเหนี่ยวรั้งจิตใจ

ดังนั้น ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเรื่อยไป จนกว่าจะเข้าถึงพระรัตนตรัย ภายในกันทุกคน

*มก. วาสิฏฐีเถรีคาถา เล่ม ๕๔ หน้า ๒๑๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/5532
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *