มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง – ผู้อยู่จบพรหมจรรย์

มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง – ผู้อยู่จบพรหมจรรย์

การใช้วันเวลาให้คุ้มค่าในโลกนี้ ต้องเอามาใช้สร้างบารมี โดยตั้งใจจะละบาปอกุศลทั้งหลาย ทำแต่ความดีให้ถึงพร้อม ทำใจให้ผ่องใส ซึ่งมนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องความเป็นจริงของชีวิต ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า โลกมนุษย์นี้เป็นโลกแห่งการเกิดมาสร้างบารมี เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ความเป็นจริงของชีวิตอย่างนี้ ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเกิดมาได้อัตภาพความเป็นมนุษย์นี้แล้ว ต่างมีจุดประสงค์หลัก คือ เกิดมาสร้างบารมี มาทำพระนิพพานให้แจ้ง เพราะนิพพานเป็นจุดสุดท้ายของชีวิต เป็นเป้าหมายอันสูงสุดของทุกๆคน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ที่บรรลุพระนิพพานอยู่จบพรหมจรรย์ว่า…

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับธรรมแล้ว ย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้วย่อมกำหนดรู้ ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้วย่อมเสวยเวทนา ครั้นได้เสวยเวทนาแล้วย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลาย เมื่อนั้นย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลก เมื่อถอนความยึดมั่นแล้วย่อมดับกิเลสได้บรรลุพระนิพพานเฉพาะตน และทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว”

ผู้ที่ได้บรรลุพระนิพพาน ได้เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต หมดสิ้นกิเลสอาสวะแล้ว เรียกว่า ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เพราะกิจของการประพฤติพรหมจรรย์ จะเป็นการปฏิบัติสมถวิปัสสนา การศึกษาไตรสิกขา ศึกษาเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ได้เข้าถึงบรมสุข คือ ความสุขอย่างยิ่ง เมื่อบรรลุพระนิพพาน บรรลุเอกันตบรมสุข มีสุขอย่างเดียว สุขล้วนๆ ที่ไม่มีอะไรมาเปรียบปานได้ เสวยสุขอยู่ในโลกุตรฌานสมาบัติตลอดเวลา

ดังนั้น ผู้รู้ทั้งหลายที่ได้รับรสแห่งความสุขในพระนิพพานแล้ว จึงกล่าวยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรับรองว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม ความรู้ในเรื่องพระนิพพานนี้เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ต้องศึกษาจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วลงมือปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงตามที่พระองค์สอน จึงจะเกิดความรู้ที่สมบูรณ์ที่แท้จริง ไม่เช่นนั้นแล้วอาจเกิดความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ เพราะพระนิพพานเป็นเรื่องละเอียด ไม่อาจไตร่ตรองด้วยความคิดของมนุษย์ผู้ยังมากไปด้วยกิเลส เนื่องจากเป็นเรื่องของผู้ที่หมดกิเลสแล้ว เป็นเรื่องของผู้รู้ที่ได้บรรลุวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในสมัยพุทธกาล นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายที่ใคร่อยากจะรู้เรื่องเกี่ยวกับพระนิพพาน ต้องมาศึกษากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอศึกษาปริยัติได้เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วก็ลงมือปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพุทธวิธี ในหนทางสายกลาง ก็จะได้บรรลุธรรมาภิสมัยกันมากมาย คือ ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยถึงธรรมกาย ถึงไตรสรณคมน์ ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ มีรัตนะทั้งสามอย่างนี้เป็นที่พึ่งที่ระลึก ยิ่งสำหรับผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ได้สั่งสมบุญบารมีมามากนับภพนับชาติไม่ถ้วน พอได้ฟังธรรมและปฏิบัติตามไป คือ ฟังไปด้วยปฏิบัติไปด้วยพร้อมๆกัน พอสุดกระแสเสียงของพระบรมศาสดาก็สามารถบรรลุพระอรหัตผล อย่างนี้ก็มีมากมาย

อย่างเช่น เมตตคู ผู้ปรารถนาจะหมดกิเลสไปนิพพาน เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ท่านมีบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาดี จึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อมีโอกาสจึงใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ โดยสนทนาธรรมกับพระพุทธองค์ และได้ทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าพระพุทธเจ้าทราบมาว่า พระพุทธองค์เคยสำเร็จจบไตรเพท ถึงที่สุดแห่งทุกข์ อยู่จบพรหมจรรย์ มีจิตอันอบรมดีแล้ว อยากทราบว่าทุกข์ทั้งหลายในโลกนี้ มีสาเหตุมาจากอะไร”

พระบรมศาสดา ตรัสตอบว่า “เธอถามเราถึงเหตุเกิดแห่งทุกข์ เราจะบอกให้เธอทราบ ตามที่เราได้รู้ได้เห็นมาด้วยปัญญาอันยิ่ง ทุกข์ทั้งหลายในโลกนี้ มีอุปธิ คือ กิเลส เป็นเหตุ ทุกข์ทั้งมวลล้วนเกิดมาจากกิเลส ผู้ใดเป็นคนเขลา ไม่รู้แล้วไปทำกรรมเพราะกิเลสบังคับ ย่อมจะได้รับวิบาก คือ ผลของกรรมนั้น ผู้นั้นย่อมประสบทุกข์บ่อยๆ เพราะเหตุนั้น เมื่อรู้จักเหตุว่าอุปธิกิเลสเป็นต้นเหตุแล้ว จงอย่ากระทำให้กิเลสนั้นเกิดขึ้น”

* “ข้าพระพุทธเจ้าประจักษ์แล้วว่ากิเลสเป็นต้นเหตุของทุกข์ กิเลสบังคับให้ผู้ไม่รู้สร้างกรรมและมีวิบากเป็นผล ข้าพระพุทธเจ้าใคร่ขอทูลถามปัญหาต่อไปว่า ทำอย่างไรผู้มีปัญญาที่รู้เรื่องอุปธิกิเลสนี้แล้ว จึงจะข้ามพ้นห้วงทะเลใหญ่ คือ ชาติชราและโสกปริเทวะได้ ขอพระองค์ทรงแสดงธรรมข้อนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด”

“เราจักแสดงธรรมที่พึงรู้เห็นมาด้วยตนเองว่า อัตภาพ คือ ร่างกายนี้ เป็นเพียงเครื่องอาศัย อย่าไปพิศวงหลงใหล ตามคำของคนอื่นที่พูดยกย่องสรรเสริญอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อกำหนดรู้ความแปรปรวนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของสังขารร่างกายนี้แล้ว จงเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามความอยากในเบญจกามคุณทั้งหลายอันทำให้ติดอยู่ในโลกเสีย”

เมตตคูได้กล่าวว่า “ข้าพระพุทธเจ้ายินดียิ่งในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง และจักปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าข้า”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้วาระจิตว่าขณะนี้เมตตคูมีจิตน้อมไปในธรรมอันสุขุมลุ่มลึก มีจิตละเอียดอ่อนนุ่มนวลควรแก่การงาน จึงทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “เมื่อเธอรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ในส่วนที่เป็นอนาคต ทั้งในส่วนที่เป็นอดีต และในส่วนที่เป็นปัจจุบัน เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน และความยึดมั่นถือมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย จิตของเธอจะไม่ตั้งอยู่ในภพ จะเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นออกจากภพ ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอาศัยอยู่อย่างนี้ มีสติไม่ประมาททุกเมื่อ จะละทุกข์ คือ ชาติชราและโสกปริเทวะ ในโลกนี้ได้”

“ข้าพระพุทธเจ้าชอบพระวาจาของพระองค์ยิ่งนัก ธรรมอันไม่มีอุปธิกิเลส พระองค์แสดงชอบแล้ว พระองค์ละทุกข์ได้หมดแล้ว แม้พระสาวกที่พระองค์ทรงสั่งสอน ก็คงจะละทุกข์นั้นได้เป็นแน่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมากราบถวายบังคมพระองค์ ด้วยความตั้งใจจะให้พระองค์ทรงสั่งสอนเหมือนอย่างพระสาวกเหล่านั้นบ้าง”

“ดูก่อนเมตตคู ถ้าเธอปรารถนาอยากจะเป็นเช่นเดียวกับสาวกของเราผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เธอพึงเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลใจ ไม่มีความอยากอันเจือด้วยอุปธิ ไม่ติดข้องอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เธอจักข้ามพ้นเหตุแห่งทุกข์ดุจก้าวล่วงห้วงทะเลใหญ่นี้ไปได้ ครั้นเธอข้ามถึงฝั่งแล้ว ก็จักถึงที่สุดแห่งทุกข์ เราตถาคตกล่าวว่า ผู้ที่ข้ามห้วงน้ำใหญ่นี้ได้ ก็จักข้ามพ้นชาติชรา เสร็จกิจในศาสนานี้ กิจที่จะต้องทำยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว เพราะได้เป็นผู้ถึงฝั่งอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว”

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา เมตตคูก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ทั้งวิชชา๓ วิชชา๘ อภิญญา๖ วิโมกข์๘ จรณะ๑๕ ท่านได้บรรลุหมด รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในคำสอนของพระบรมศาสดา และได้บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยพระพุทธองค์ได้เมตตาประทานการบวชให้

จะเห็นได้ว่า การจะทำความเข้าใจเรื่องพระนิพพานให้แจ่มแจ้งได้นั้น ต้องลงมือปฏิบัติให้เข้าถึงเท่านั้นจึงจะหมดความสงสัย เหมือนอย่างท่านเมตตคู ที่พอได้บรรลุพระอรหันต์ ได้บรรลุพระนิพพานแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลายทั้งปวง โดยไม่ต้องไปอ่านตำรา ไปขบคิดวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ พิจารณา หัวข้อธรรมอะไรต่างๆ พอใจหยุดถูกส่วน หยุดได้สมบูรณ์ก็บรรลุกายธรรมอรหัต สามารถขจัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้ เพราะฉะนั้น ดีที่สุดต้องหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้ พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

* มก. เมตตคูมาณพ เล่ม ๖๗ หน้า ๑๐๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/5284
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *