มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – พญากวางทอง ๒

มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – พญากวางทอง ๒

ปัจจุบันนี้ แม้โลกจะพัฒนารุดหน้าไปด้วยเทคโนโลยี ที่ทันสมัยเพียงใด หากสภาพจิตใจของมนุษย์ไม่ได้ถูกยกระดับ ไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นตามไปด้วย สังคมก็จะเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความหวาดระแวง เกิดความขัดแย้งขึ้นตลอดเวลา แต่หากทุกคนหันกลับมาพัฒนาจิตใจ เริ่มทำความดี ทำแต่สิ่งที่เป็นกุศล ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน กระแสแห่งความดีก็จะขยายไปทั่ว ส่งผลให้โลกของเราเต็มไปด้วยคนดีมีศีลธรรม ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ก็จะถูกแบ่งปันเฉลี่ยแจกจ่ายออกไป ให้เหมาะสมเพียงพอ ต่อการดำเนินชีวิตอย่างสงบสุข และเมื่อใดที่ทุกคนแสวงหาตนเอง โดยเริ่มต้นจากการหยุดใจ ฝึกทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ชีวิตจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ไร้ทุกข์กังวล เป็นชีวิตที่ปลอดภัย ทั้งภัยในโลกนี้และโลกหน้า

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน อรรถกถารุรุมิคชาดก ว่า
“สจฺจํ กิเรวมาหํสุ    นรา เอกจฺจิยา อิธ
กฏฺฐํ นิปาวตํ เสยฺโย    น เตฺวเวกจฺจิโย นโร
เป็นความจริง ดังที่ได้ยินมาว่า คนบางจำพวกในโลกนี้ เคยกล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ไม้ลอยน้ำยังประเสริฐกว่า แต่คนบางคน ผู้อกตัญญู ไม่ประเสริฐเลย”

คนที่อกตัญญูนั้น จะไม่เป็นที่รักของใครๆ เพราะจะนำแต่ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียมาให้สังคมที่ตนอยู่ ไม่มีใครในโลกอยากสมาคมกับคนอกตัญญู เพราะรู้สึกไม่วางใจและไม่ปลอดภัย กิตติศัพท์ไม่ดีของความเป็นคนอกตัญญูนี้ จะติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ เหมือนความอกตัญญูของพระเทวทัตที่หลวงพ่อเล่าค้างเอาไว้เมื่อครั้งที่แล้ว ท่านผิดคำสัญญาต่อกวางทองโพธิสัตว์ ตั้งแต่สมัยก่อนโน้น แต่ชื่อเสียงของท่านก็เป็นเรื่องเล่าขานเป็นตำนานมากระทั่งถึงปัจจุบันชาตินี้

*เมื่อครั้งที่แล้ว หลวงพ่อได้กล่าวถึงตอนที่ลูกเศรษฐีละเมิดต่อคำสัญญาที่ให้ไว้ต่อพญากวางทองว่า จะไม่บอกที่อยู่ให้แก่ใครๆ แต่เพราะความโลภในทรัพย์สมบัติ และความเป็นคนอกตัญญู จึงผิดคำสัญญา ได้นำทางพระราชาพร้อมทั้งราชบุรุษ เดินทางไปถึงไพรสณฑ์ใหญ่ เพื่อจะจับพญากวางทอง เมื่อเข้าไปถึงที่พำนักของพญากวางทองแล้ว ราชบุรุษได้ถืออาวุธครบมือ เตรียมพร้อมที่จะยิงกวางทองทุกขณะ เมื่อพร้อมแล้ว ลูกเศรษฐีก็ให้สัญญาณ สุวรรณมฤคโพธิสัตว์ฟังเสียงนั้นแล้ว คิดว่า ภัยของเราเกิดจากบุรุษผู้ประทุษร้ายมิตร แล้วก็ลุกขึ้นตรวจดูทุกทิศทุกทาง เห็นราชบุรุษเงื้อธนู เตรียมจะปลิดชีพตน จึงแผ่เมตตาไปสู่พระราชาและราชบุรุษทั้งหมด แล้วเดินมุ่งหน้าเข้าไปหาพระราชาด้วยความองอาจสง่างาม ไม่ครั่นคร้านต่อมรณภัย

พระราชาทอดพระเนตรเห็นพญากวางทองกำลังเดินมา ก็บังเกิดความรักและรู้สึกรับรู้ถึงพลังอำนาจแห่งความเมตตา ที่แผ่ออกมาจากพญากวางทอง ทรงดำริว่า มฤคราชนี้เป็นสัตว์มีบุญ มีพละกำลังมาก หากจะกระโดดหนีออกจากวงล้อม ก็คงทำได้ไม่ยาก จึงรับสั่งให้ราชบุรุษทุกคนอย่าประมาท และก็ทรงกำชับว่า ให้จับเป็น แม้พระองค์เองก็ทรงโก่งธนูเตรียมพร้อม
สุวรรณมฤคเห็นพระราชาแล้ว ได้ร้องกราบทูลด้วยสำเนียงภาษาของมนุษย์แต่ไกลว่า “ข้าแต่มหาราชผู้ประเสริฐ โปรดทรงรอก่อน อย่าเพิ่งทรงยิงข้าพระบาทเลย”

พระราชาทรงสดับเสียงมนุษย์ซึ่งเปล่งออกจากปากของพญากวางทอง  ก็บังเกิดความอัศจรรย์ใจในมธุรกถาของพระโพธิสัตว์ ทรงลดธนูลง ให้กวางทองเดินเข้ามาหาด้วยความสบายใจ ฝ่ายราชบุรุษทั้งหมดก็พากันวางอาวุธลงโดยไม่ต้องนัดแนะ กวางทองทูลถามพระราชาด้วยเสียงอันไพเราะอีกครั้งว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โปรดทรงรอก่อน อย่าเพิ่งยิง ใครหนอกราบทูลพระองค์ว่า พญามฤคราชพำนักอยู่ในไพรสณฑ์ใหญ่นี้”

พระราชาตรัสบอกว่า “ดูก่อนสหาย บุรุษที่ยืนอยู่ไกลออกไปนั่นแหละ ได้บอกเรื่องนี้แก่เรา” กวางทองเมื่อทราบเรื่องแล้ว ก็รู้สึกรันทดใจที่มนุษย์ไม่มีความสัตย์อกตัญญู คิดประทุษร้ายมิตร จึงกล่าวขึ้นลอยๆ ว่า “ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้ กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่า คนบางคนไม่ดีเลย”

    พระราชาทรงสดับเช่นนั้นก็สงสัย จึงตรัสถามว่า “ดูก่อนพญามฤคราช ท่านติเตียนสัตว์จำพวกไหนกันแน่ ท่านติเตียนพวกมฤค พวกนก หรือพวกมนุษย์ เรามีความครั่นคร้าม อยู่ไม่น้อย เพราะได้ฟังเจ้าพูดภาษามนุษย์ได้”

กวางทองกล่าวว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระบาทมิได้ติเตียนมฤคหรือสัตว์เหล่าอื่นเลย แต่ติเตียนมนุษย์บางคน เพราะข้าพระองค์ช่วยบุรุษคนใด ซึ่งลอยไปในห้วงน้ำคงคา มีกระแสวนไหลเชี่ยว ให้ขึ้นจากกระแสน้ำมาได้ ภัยมาถึงข้าพระบาทแล้ว เพราะบุรุษผู้นั้นเป็นเหตุ ข้าแต่มหาราช การสมาคมกับอสัตบุรุษทั้งหลาย นำทุกข์มาให้โดยแท้”

พระราชาทรงสดับแล้ว ทรงกริ้วต่อลูกเศรษฐีตกยากผู้นั้นมาก ที่เป็นผู้ประทุษร้ายมิตร ไม่รู้จักบุญคุณของพญากวางทอง ทรงเล็งลูกธนูไปทางลูกเศรษฐี หวังจะยิงให้ตาย แต่ด้วยมหากรุณาของกวางทองที่ยับยั้งเอาไว้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชา สัตบุรุษทั้งหลายไม่สรรเสริญการฆ่าแม้คนพาลก็ตาม ขอคนพาลผู้มีธรรมอันลามก จงกลับไปสู่เรือนของเขาตามปรารถนาเถิด ขอได้โปรดพระราชทานค่าจ้าง ตามที่พระองค์ตรัสไว้แก่เขาด้วย”

พระราชาครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงพอพระทัยมาก จึงชมเชยสุวรรณมฤคว่า “ท่านพญามฤคราชยิ่งใหญ่กว่าสัตว์ทั้งหลายโดยธรรม เป็นผู้ไม่ประทุษร้ายต่อมนุษย์ผู้หวังประทุษร้ายตอบ นับเป็นผู้หนึ่งในสัตบุรุษทั้งหลาย ขอคนผู้มีธรรมอันลามก จงกลับไปสู่เรือนของตนตามความปรารถนา ส่วนเราก็จะให้ค่าจ้างแก่เขา”

พญากวางทองกล่าวว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ธรรมดามนุษย์ ปากพูดไปอย่างหนึ่ง การกระทำก็อีกอย่างหนึ่ง เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ดี ของนกก็ดี รู้ได้ง่าย ส่วนเสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นคนใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นอาจกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ จิตของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้”

พระราชาตรัสว่า “พญามฤค ท่านอย่าได้หมิ่นเราอย่างนี้เลย เราแม้จะละทิ้งราชสมบัติ ก็จักไม่ละทิ้งพรที่ให้แก่เธอ เชื่อเถิด จงรับพรของเราเถิด” สุวรรณมฤคเมื่อรับพรจากพระราชาแล้ว จึงขอร้องว่าขอให้พระองค์โปรดให้อภัยทานแก่สรรพสัตว์ตั้งต้นแต่นี้ไป ขอพระองค์อย่าได้ทำปาณาติบาต ด้วยการออกล่าสัตว์ อันเป็นเหตุให้ต้องไปเสวยวิบากกรรมอันเผ็ดร้อน ทนทุกข์ทรมานในอบายภูมิเป็นเวลาอีกยาวนาน

พระราชาทรงประทานพรตามคำแนะนำ แล้วเชื้อเชิญพญากวางทองให้เดินทางเข้าสู่พระนคร เพื่อไปแสดงธรรมให้อัครมเหสีได้สดับ อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้ประดับประดาพระนคร จัดเตรียมสถานที่อย่างอลังการ แล้วเชิญให้มหาสัตว์แสดงธรรมแก่พระเทวี พระมหาสัตว์แสดงธรรมแก่พระราชาและพระเทวีพร้อมทั้งมหาชนด้วยภาษามนุษย์อย่างไพเราะเสนาะโสต ตักเตือนพระราชาให้ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม และให้โอวาทสั่งสอนมหาชนให้ตั้งอยู่ในธรรม แล้วกลับเข้าป่าประพฤติวิเวก อย่างมีความสุขจนตลอดชีวิต

จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า ความกตัญญูไม่มีในบุคคลใด การคบคนนั้นก็ไร้ประโยชน์ บัณฑิตทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงยึดถือคุณธรรมความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐานวัดความเป็นคน ผู้มีคุณธรรมข้อนี้จะเป็นที่รักของมหาชนเป็นจำนวนมาก และยังเป็นที่เคารพ ที่นับถือบูชาอีกด้วย ผู้รู้สอนเอาไว้ว่า หากไม่ได้มิตตธรรมซึ่งเกิดจากอุปการคุณ ที่ตนเคยทำต่อผู้ใด บัณฑิต ไม่ควรเสียใจ ไม่ต้องริษยา และไม่ต้องไปต่อว่า แต่พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากผู้นั้นให้ไกลแสนไกล ดังนั้นเรานักสร้างบารมีทั้งหลายจะต้องมีคุณธรรมข้อนี้อยู่ในใจ และรู้จักทะนุถนอมน้ำใจ ผู้ที่มีอุปการคุณต่อเรา อย่าให้มิตตธรรมขาดจากใจของเรา ต้องฟูมฟักรักษาไว้ และทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป หมั่นเพิ่มพูน คุณธรรมความดี หมั่นประพฤติธรรมและปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกัน

*มก. รุรุมิคชาดก เล่ม ๖๐ หน้า ๓๑๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *