มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – อภิชาตบุตรยอดกตัญญู

มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – อภิชาตบุตรยอดกตัญญู

ทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลายในที่สุด เรามีเวลาสร้างบารมีอยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด จึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต บัณฑิตทั้งหลายจึงรีบสั่งสมบุญ บุญเป็นบ่อเกิดของความสุข ความสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง เป็นความสุขที่แท้จริง จะเอาทรัพย์สมบัติแก้ว แหวน เงิน ทองมาทดแทนก็ไม่ได้ ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะใครทำ คนนั้นก็ได้ เป็นความสุขที่คู่กับความบริสุทธิ์ และความรู้แจ้งภายใน ถ้าหากเราตั้งใจลงมือปฏิบัติในวันนี้ ทำใจให้หยุดนิ่งได้เดี๋ยวนี้ ก็จะเข้าถึงได้เดี๋ยวนี้ในทันที

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมเทวสูตร ว่า

เทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวถึงนรชนผู้เลี้ยงมารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวคำสมานไมตรี ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้ นั้นแลว่า เป็นสัตบุรุษ

ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นสัตบุรุษหรือคนดีไว้มากมาย ตั้งแต่เป็นผู้ปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการบ้าง ประพฤติตามหลักของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และอริยมรรคมีองค์ ๘ บ้าง เป็นผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ว่าเป็นสัตบุรุษ และมีอีกมากมายที่ผู้รู้ได้กล่าวไว้ ส่วนในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหล่าทวยเทพได้กำหนดคุณสมบัติของสัตบุรุษไว้ ดังที่ได้ยกมากล่าวข้างต้น

คุณสมบัติข้อหนึ่งที่เทวดาให้ความสำคัญมากคือ ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา เหมือนท้าวสักกเทวราช เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ได้บำรุงบิดามารดาด้วยความกตัญญู ทำให้ท่านได้เป็นพระอินทร์ คือเป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ในภาวะของโลกปัจจุบันนี้ มีคนชราจำนวนมาก ที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกๆหลานๆ จนเป็นปัญหาหนึ่งของสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะผู้เป็นลูกแต่ละคนเมื่อเติบโตมีครอบครัวแล้ว เหินห่างจากพ่อแม่ เวลาส่วนใหญ่ต้องให้กับครอบครัวใหม่ และต้องขวนขวายดิ้นรนทำมาหากิน หาทรัพย์มาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวของตนเอง จนไม่มีเวลาเลี้ยงดูพ่อแม่บังเกิดเกล้า มีหลายประเทศที่ลูกๆ ไม่ได้เลี้ยงดูพ่อแม่ ในยามที่ท่านชราภาพ แต่จ้างคนอื่นมาเลี้ยงดูแทน หรือนำท่านไปอยู่ที่บ้านพักคนชรา รอคอยเวลาไปสู่สัมปรายภพด้วยความรันทดหดหู่ใจ พ่อแม่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากลูกๆ

เพราะฉะนั้น ความกตัญญูจึงเป็นเรื่องสำคัญ เหล่าทวยเทพจึงสรรเสริญคนที่เลี้ยงดูบิดามารดาว่า เป็นสัตบุรุษที่หาได้ยากในโลก ดังตัวอย่างของผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากการบำรุงบิดามารดา

*เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งอดีตกาลในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นคนตกยากชื่อว่า สุตนะ ได้รับจ้างหาเงินมาเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่ชราเป็นอย่างดี เมื่อบิดาถึงแก่กรรมก็เลี้ยงดูมารดาด้วยความกตัญญูเสมอมา

ในสมัยนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงพอพระทัยในการล่าเนื้อ วันหนึ่งเสด็จเข้าไปในป่า ทรงบัญชาว่า ถ้าเนื้อหนีไปทางที่ผู้ใดยืนอยู่ คนนั้นจะต้องถูกปรับสินไหม บังเอิญว่าเนื้อทรายตัวหนึ่ง หนีไปทางที่พระราชาประทับยืนอยู่ พระราชาทรงติดตามเนื้อนั้นไป และทรงฟันเนื้อด้วยพระขรรค์ขาดเป็น ๒ ท่อน แล้วคล้องไว้ที่ไม้คาน ระหว่างทางที่เสด็จกลับ จึงทรงพักและบรรทมที่โคนต้นไทร

พอทรงหายเหนื่อยพระองค์จะเริ่มเสด็จต่อ แต่มียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า มฆเทพ เข้ามาจับพระหัตถ์ของพระองค์ไว้ แล้วขู่ว่าจะฆ่าเป็นอาหาร พระราชาทรงต่อรองกับยักษ์ว่า ท่านอย่าได้กินเราเลย เราเป็นพระราชาแห่งเมืองพาราณสี หากเรารอดชีวิตกลับไปแล้ว จะส่งมนุษย์มาให้ท่านได้กินวันละคน ยักษ์เห็นว่าเป็นข้อต่อรองที่ดี จึงรับคำปฏิญญาของพระราชา ตั้งแต่นั้นมา พระราชาได้ส่งมนุษย์ที่อยู่ในเรือนจำวันละคนๆ ทรงทำอย่างนี้ จนกระทั่งมนุษย์ในเรือนจำหมด พระราชาทรงหวาดกลัวต่อมรณภัย จึงทรงออกอุบายให้วางห่อกหาปณะพันหนึ่งไว้บนคอช้าง แล้วให้เที่ยวตีกลองประกาศว่า ใครกล้าไปหายักษ์ จะให้ทรัพย์พันกหาปณะ

ชาวเมืองแม้อยากได้ทรัพย์ แต่ก็รักชีวิตของตนเองมากกว่า จึงไม่มีใครกล้ารับเงินพันกหาปณะ ฝ่ายหนุ่มสุตนะ ผู้เลี้ยงมารดาได้ยินข่าวนั้น ก็เห็นเป็นโอกาสดี ที่จะทำให้แม่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะตนเองเป็นชายชาติบุรุษที่มีความองอาจกล้าหาญ และเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเป็นเลิศ จึงเข้าไปรับอาสา และเอาเงินมามอบให้กับมารดา จากนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระราชา พระองค์ถามว่า เขาต้องการจะนำสิ่งใดติดตัวไปด้วย ชายหนุ่มจึงขอฉลองพระบาททอง ฉัตร และพระขรรค์ โดยให้เหตุผลว่า ธรรมดาอมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมกลัวผู้มีอาวุธอยู่ในมือ เพราะฉะนั้นต้องมีพระขรรค์ในมือ ไม่ยืนอยู่บนพื้นที่ อันเป็นของยักษ์ ต้องยืนบนฉลองพระบาททอง ไม่ยืนใต้ร่มไม้ของยักษ์ แต่จะยืนใต้ร่มฉัตร เพราะว่ายักษ์สามารถจับกิน เฉพาะผู้ที่ยืนอยู่บนพื้นที่ที่เป็นขอบเขตของยักษ์ และร่มไม้ที่ยักษ์อยู่เท่านั้น พระราชาจึงพระราชทานสิ่งของทุกอย่างตามที่หนุ่มสุตนะขอมา

สุตนบัณฑิตให้ชาวบ้านช่วยถือเครื่องอุปกรณ์ที่ได้รับพระราชทานมา เข้าไปในป่าบริเวณที่ยักษ์อาศัยอยู่ เมื่อถึงบริเวณต้นไม้ ซึ่งเป็นเขตของยักษ์ก็เข้าไปเพียงคนเดียว แล้วสวมฉลองพระบาททอง กั้นเศวตฉัตรเหนือศีรษะ ถือพระขรรค์เดินเข้าไปใกล้ต้นไม้ด้วยความองอาจ ยืนอยู่ที่สุดเงาของต้นไม้นั้น

ยักษ์เห็นว่าหนุ่มสุตนะยังไม่เข้ามาในบริเวณร่มไม้ จึงกล่าวเชื้อเชิญว่า เชิญเข้ามาเถิด พ่อหนุ่มน้อย เราจักสุขสำราญร่วมกัน สุตนะรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของยักษ์ จึงกล่าวว่า เจ้ายักษ์เอ๋ย ท่านอย่าคิดที่จะฆ่าเราเลย เพราะเรายืนอยู่นอกต้นไม้ ท่านไม่อาจจะกินเราได้ เพราะเราไม่ได้ยืนอยู่ในที่ของท่าน แต่ยืนอยู่บนฉลองพระบาทต่างหาก และเราไม่ได้ยืนอยู่ในร่มไม้ของท่าน ยืนอยู่ภายในร่มฉัตรต่างหาก ถ้าท่านจะต่อสู้กับเรา เราจะเอาพระขรรค์ตัดท่านให้ขาดเป็น ๒ ท่อน หรือแม้หากท่านกินเราผู้เลี้ยงดูบิดามารดา ใครๆ ก็จะติเตียนท่านว่า บุรุษชื่อสุตนะผู้เลี้ยงดูมารดาถูกยักษ์ที่ไร้คุณธรรมฆ่ากินแล้ว ต่อไป ก็จะไม่มีใครมาให้ท่านกินอีก

ยักษ์รู้ว่าหนุ่มสุตนะคนนี้เป็นคนฉลาด อีกทั้งเป็นคนที่เลี้ยงดูบิดามารดา จึงบังเกิดความเลื่อมใส ได้กล่าวว่า พ่อหนุ่ม เอ๋ย ท่านเป็นลูกยอดกตัญญู จงถือเอาพระขรรค์ ฉัตร และฉลองพระบาทไปเสียเถิด มารดาของท่านจงพบความสวัสดี และตัวท่านจงเลี้ยงดูมารดาตลอดอายุขัยเถิด

สุตนะกล่าวให้ข้อคิดกับยักษ์ว่า สหายเอ๋ย เพราะในกาลก่อนท่านได้ทำบาปไว้ จึงมีวิบากมาเกิดเป็นยักษ์ ตั้งแต่นี้ไป ท่านอย่าได้ทำปาณาติบาตเลย แล้วกล่าวถึงอานิสงส์ในการรักษาศีล ในที่สุดยักษ์ได้ตัดสินใจเลิกเบียดเบียนสัตว์ทุกชนิดอย่างเด็ดขาด เป็นยักษ์กลับใจ แล้วทั้งสองก็เดินทางเข้าสู่พระนคร พระราชาทรงสดับเรื่องราวทั้งหมด ทรงปีติยินดีใจอย่างยิ่ง ทรงแต่งตั้งให้ยักษ์เป็นผู้ดูแลประตูพระนคร รับสั่งให้ชาวเมืองนำอาหารมาเป็นเครื่องสักการะยักษ์ผู้ทรงศีล จนมีลาภสักการะเกิดขึ้นมากมาย ยักษ์ก็ช่วยดูแลพระนครให้ร่มเย็นเป็นสุข แล้วพระองค์ทรงประทานตำแหน่งเสนาบดี ให้สุตนะผู้เป็นสัตบุรุษ

เราจะเห็นว่า อานุภาพของการบำรุงบิดามารดาไม่ใช่เรื่องธรรมดา ผู้ที่เลี้ยงดูบิดามารดา แม้ยักษ์ผู้มีใจเหี้ยมโหดก็ยังอ่อนโยนได้ แล้วเกิดความเลื่อมใส จนเปลี่ยนจากยักษ์ที่เหี้ยมโหดกลายมาเป็นยักษ์ใจดี มีศีลมีธรรม พระพุทธองค์ถึงได้ตรัสว่า เพราะการปรนนิบัติในบิดามารดา บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เมื่อละโลกไปแล้วย่อมบันเทิงในสุคติโลกสวรรค์

เพราะฉะนั้น เมื่อปรารถนาหนทางสวรรค์ อย่าได้มองผ่านการบำรุงบิดามารดาซึ่งเปรียบประดุจพระอรหันต์ในบ้าน หรือแม้ท่านละโลกไปแล้ว ก็ต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน จะได้ชื่อว่าเป็นลูกยอดกตัญญู เป็นสัตบุรุษผู้ที่ทั้งมนุษย์ และเทวดาต่างสรรเสริญกัน

*มก. สุตนชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๒๒๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3907
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *