มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – นกแขกเต้า ทุ่มเทชีวิตตอบแทนคุณ

มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – นกแขกเต้า ทุ่มเทชีวิตตอบแทนคุณ

ผู้ที่หมั่นฝึกฝนอบรมตนเองอยู่เนืองนิตย์ เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความรู้คู่คุณธรรมนั้น ย่อมเป็นที่ปรารถนาของทุกๆ คน เพราะเป็นบุคคลที่มีประโยชน์ต่อโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลาย คุณธรรมความดีในตัวของเราจะมีขึ้นได้ ต้องเริ่มต้นจากกาย วาจา ใจ ที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นให้เดือดร้อน กาย วาจาจะบริสุทธิ์ได้ต้องเริ่มมาจากใจ ใจที่ได้รับการอบรมด้วยการเจริญภาวนาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอแล้ว ย่อมเป็นใจที่ตั้งมั่นผ่องใส เป็นสมาธิได้ง่าย สามารถรองรับคุณธรรมรองรับธรรมะอันละเอียดลุ่มลึกยิ่งขึ้นไปได้ และเป็นพลวปัจจัยให้เข้าถึงต้นแหล่งแห่งคุณธรรมความดี คือพระธรรม-กาย ได้เป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสในที่สุด มีชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน อัพภันตรชาดก ว่า

บุคคลใดสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่บิดามารดา และนายของตน บุคคลนั้นย่อมไปบังเกิดในเทวโลกเที่ยงแท้ เพราะฉะนั้น แม้เราพ้นจากกำเนิดเดียรัจฉานนี้แล้ว จักไปบังเกิดในเทวโลกเท่านั้น

นี่เป็นวาจาที่เปล่งออกมาด้วยความองอาจของลูกนกแขกเต้า ซึ่งก็คือภพชาติในอดีตของราหุลสามเณร สมัยนั้นแม้จะเป็นเพียงสัตว์เดียรัจฉานธรรมดาๆ แต่ได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในการที่จะทำภารกิจอันใหญ่หลวงของผู้มีพระคุณให้สำเร็จลุล่วงถึงขั้นยอมสละชีวิต ซึ่งนับว่าเป็นถ้อยคำที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ ผู้ที่กล้ากล่าวถ้อยคำเช่นนี้ได้ แสดงว่าได้เห็นคุณค่าของความกตัญญู รู้ซึ้งถึงผลที่จะบังเกิดในอนาคตว่า ถ้าประกอบเหตุเช่นนี้แล้ว อานิสงส์แห่งความกตัญญูที่จะบังเกิดขึ้น จะส่งผลให้เป็นผู้มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปอย่างแน่นอน

*ดังเรื่องของสามเณรราหุลผู้มีความกตัญญู แม้ท่านจะออกบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านก็ยังหาโอกาสตอบแทนพระคุณของพระมารดา ทดแทนค่าน้ำนมที่เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ในวันหนึ่ง ราหุลสามเณรได้ไปเยี่ยมพระชนนี ซึ่งบัดนี้ได้บวชเป็นพระเถรี ในบวรพุทธศาสนาแล้ว บังเอิญว่าวันนั้น ลมในพระอุทรของพระเถรีกำเริบขึ้น หากพระเถรีได้ฉันรสมะม่วงที่ปรุงด้วยน้ำตาลกรวด โรคลมในท้องก็จะสงบ ราหุลสามเณรจึงอาสาจะไปแสวงหาเภสัชมาถวาย สามเณรรีบกลับไปบอกอาการป่วยของพระเถรีให้พระสารีบุตรทราบ

วันรุ่งขึ้นพระเถระเดินบิณฑบาตไปที่บริเวณพระลานหลวง พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระเถระจึงนิมนต์ให้นั่ง ในขณะนั้นเอง นายอุทยานนำเอามะม่วงหวานที่สุกทั้งพวงมาถวายพอดี พระราชาทรงปอกเปลือกมะม่วงแล้ว ทรงใส่น้ำตาลกรวดลงไป ทรงปรุงด้วยพระองค์เอง แล้วถวายพระเถระจนเต็มบาตร พระเถระได้นำมะม่วงนั้นไปให้สามเณร เพื่อเป็นเภสัชแด่พระเถรี เมื่อพระเถรีบริโภคแล้ว โรคลมในท้องก็สงบ

ฝ่ายพระราชาทรงทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก็ทรงดำริว่า ถ้าพระบรมศาสดาจักอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ราหุลสามเณรจักได้เป็นขุนพลแก้ว พระเถรีจักได้เป็นนางแก้ว ราชสมบัติในสากลจักรวาลทั้งสิ้นจักเป็นของท่านเหล่านี้ ควรที่เราจะพึงอุปัฏฐากบำรุงท่านเหล่านี้ให้ได้รับความสะดวกสบายในการบำเพ็ญสมณธรรม ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าโกศลก็รับสั่งให้ถวายรสมะม่วงแก่พระนางพิมพาเถรีเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุสงฆ์นั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า สามเณรราหุลเป็นสามเณรน้อยยอดกตัญญู แม้พระมารดาออกบวชแล้ว ก็ยังหาโอกาสอุปัฏฐากดูแล ให้มีความสุขในพรหมจรรย์ พระบรมศาสดาตรัสว่า แม้ในสมัยก่อนสามเณร ก็เป็นผู้มีความกตัญญูเช่นกัน แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงนำเรื่องราว ในอดีตมาเล่าให้ฟังว่า

มีอยู่ภพชาติหนึ่ง ราหุลสามเณรเคยเกิดเป็นลูกนกแขกเต้า ชื่อ สุวโปดก ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากพระราชา และพระมเหสี คืนวันหนึ่ง อัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต ทรงเกิดอาการแพ้ท้อง อยากเสวยผลไม้ชื่ออัพภันตระ เหล่าโหราจารย์ได้กราบทูลว่า มะม่วงอัพภันตระ มีอยู่ที่กาญจนบรรพตในป่าหิมพานต์โน่น ผู้ที่เป็นมนุษย์ไม่สามารถจะไปในที่นั้นได้ ควรจะส่งสุวโปดกไป เพราะนกตัวนี้สมบูรณ์ด้วยพละกำลังและมีปัญญาเฉลียวฉลาด

พระราชาให้นำนกแขกเต้ามา แล้วตรัสบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้นกฟัง สุวโปดกเป็นนกน้อยยอดกตัญญู แม้รู้ว่าหนทางไปป่าหิมพานต์ช่างไกลนักหนา อีกทั้งภยันตรายก็มากมาย โอกาสที่จะเอาชีวิตรอดกลับมาเป็นเรื่องยาก แต่อาศัยความกตัญญูที่มีต่อพระราชา และพระเทวีที่ทรงให้ที่พักอาศัยอย่างสะดวกสบาย จึงคิดว่าเป็นโอกาสดี ที่จะได้ตอบแทนบุญคุณเจ้านายแล้ว ลูกนกจึงกราบทูลรับอาสางานนี้ในทันที

สุวโปดกโผบินไปด้วยความรวดเร็ว ล่วงเลยถิ่นมนุษย์ไปถึงฝูงนกแขกเต้า ที่อยู่ในระหว่างภูเขาลูกที่หนึ่งในหิมวันตประเทศ แล้วถามว่า มะม่วงชื่ออัพภันตระ มีอยู่ที่ไหน พวกนกแขกเต้าเหล่านั้นก็ไม่รู้จัก จึงได้โผบินไปถามฝูงนกที่อยู่อาศัยระหว่างภูเขาลูกที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก ก็ไม่มีนกตัวไหนบอกได้ พอบินไปถึงภูเขาลูกที่ ๗ นกแขกเต้าเหล่านั้นบอกว่า มีอยู่ในระหว่างกาญจนบรรพตโน่น

สุวโปดกดีใจมาก ขอร้องให้นกเหล่านั้นช่วยนำทางไป แต่ก็ไม่มีนกตัวใดกล้าอาสา เพราะมะม่วงอัพภันตระนั้น เป็นของท้าวเวสสวัณมหาราช ใครๆไม่อาจเข้าไปใกล้ได้ ต้นไม้ทุกต้นล้อมด้วยตาข่ายเหล็ก ๗ ชั้น ตั้งแต่รากก็มีกุมภัณฑ์ และรากษสจำนวนพันรักษาอยู่ สถานที่นั้นเหมือนอเวจีมหานรก เป็นประดุจไฟลุกอยู่ตลอดกัป แม้จะไม่มีนกตัวใดอาสาพาไป เมื่อสุวโปดกรู้เส้นทางแล้ว ก็ตัดสินใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวบินตรงไปที่กาญจนบรรพตทันที เมื่อไปถึงก็หาอุบายจะบินเข้าใกล้ต้นมะม่วงอัพภันตระ แต่ถูกพวกรากษสจับได้

สุวโปดกได้พูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะว่า ท่านอย่าได้ฆ่านกอย่างเราเลย พระเจ้าพาราณสีทรงส่งเรามา เพื่อต้องการผลมะม่วงอัพภันตระ เรานั้นได้สละชีวิตเพื่อพระราชา จึงกล้าบินมาที่นี่ บุคคลใดสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่บิดามารดา และเจ้านายผู้ทรงธรรม บุคคลนั้นย่อมบังเกิดในเทวโลกเที่ยงแท้ เพราะฉะนั้น แม้เราพ้นจากกำเนิดเดียรัจฉานนี้แล้ว จักบังเกิดในเทวโลกเท่านั้น บุคคลผู้กล้าหาญยอมเสียสละชีวิตของตน พากเพียรพยายามในประโยชน์ของท่านที่ได้เลี้ยงตนมา ย่อมถึงฐานะอันใด ข้าพเจ้าเป็นผู้จะได้ฐานะอันนั้น แม้ตายแล้วจะได้ไปสวรรค์อย่างแน่นอน

พอพวกรากษสได้ฟังเช่นนั้นก็มีจิตเลื่อมใส จึงปล่อยให้เป็นอิสระ แต่ก็ไม่ยอมให้ผลมะม่วง เพราะว่าท้าวเวสสวัณมานับผลมะม่วงด้วยพระองค์เอง ถ้าหากขาดหายไปแม้แต่ผลเดียว ชีวิตของพวกตนก็จะหาไม่ จึงได้แต่บอกสถานที่ที่พอจะช่วยเหลือ ได้ว่า ในภูเขาทองนี้มีดาบสชื่อโชติรส เป็นนักบวชประจำตระกูล ของท้าวเวสสวัณ ซึ่งท้าวเวสสวัณได้ส่งผลมะม่วงไปถวายเป็นประจำ ท่านจงไปขอกับพระดาบสเถิด สุวโปดกขอบคุณในคำชี้แนะแล้ว รีบบินไปหาพระดาบสทันที เมื่อบอกความประสงค์ ในการเดินทางมาครั้งนี้ให้พระดาบสทราบแล้ว พระดาบสก็บอกให้รออยู่ที่นี่ก่อนจึงจะได้

และช่วงนั้นเป็นช่วงที่ท้าวเวสสวัณได้นำผลมะม่วง ๔ ผล มาถวายพระดาบสพอดี พระดาบสเห็นความตั้งใจดีของลูกนกแขกเต้า จึงฉันไปเพียง ๒ ผล อีกหนึ่งผลให้สุวโปดกกิน แล้วเอาอีกผลหนึ่งใส่สาแหรกคล้องคอให้สุวโปดกบินกลับไปถวายพระเทวี เมื่อพระเทวีได้เสวยมะม่วงอัพภันตระแล้ว ความแพ้พระครรภ์ก็สงบลงทันที พระบรมศาสดาครั้นทรงเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังแล้ว ก็ตรัสว่า พระเทวีในกาลนั้น ได้เป็นนางพิมพา สุวโปดกได้เป็นราหุล ส่วนดาบสในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า นักปราชญ์บัณฑิตในกาลก่อน เมื่อตระหนักถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณแล้ว ถึงคราวจะตอบแทนคุณ ท่านจะทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขอเพียงให้ได้มีโอกาสตอบแทนคุณของผู้มีพระคุณ แม้ตายก็ไม่เสียดายชีวิต ถึงละโลกไปแล้ว ก็มีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป

เพราะฉะนั้น ให้ทุกคนหมั่นตระหนักถึงบุญคุณของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และผู้ที่เคยเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้จนทำให้เราเป็นผู้มีความก้าวหน้าในชีวิต เป็นกัลยาณมิตรชี้เส้นทางสวรรค์ และหนทางนิพพานให้กับเรา แล้วก็หาโอกาสตอบแทนบุญคุณของท่านเหล่านั้น ชีวิตของเราจะได้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

*มก. อัพภันตรชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๒๓๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3891
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *