มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – ไม่ควรคบผู้อกตัญญู

มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – ไม่ควรคบผู้อกตัญญู

การศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของชีวิตว่าเราเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน มีอะไรเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะความรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตนั้น จะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท ความไม่ประมาทจะทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของการปฏิบัติธรรม และการปฏิบัติธรรมนี่แหละ ที่จะนำพาเราให้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร และหลุดพ้นจากเครื่องจองจำ คือ อาสวกิเลสทั้งหลาย การจะทำให้ตัวเราเข้าถึงจุดแห่งความรู้ที่บริสุทธิ์นั้นได้ จะต้องทำใจของเราให้หยุดนิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย จึงจะสามารถเข้าไปศึกษาเรื่องราวของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เราจะเข้าถึงวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ แล้วการศึกษาเรื่องราวของชีวิต เราก็จะรู้ เห็นถูกต้องร่องรอย ตรงไปตามความเป็นจริง เราจะได้ทั้งความรู้ และความบริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน

มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน ชวสกุณชาดก ว่า

น่าติเตียนคนที่ไม่รู้คุณที่เขาทำแล้ว ผู้ไม่ทำคุณให้ใคร และผู้ที่ไม่ทำตอบแทนคุณที่เขาทำก่อน ความกตัญญูไม่มีในคนใด การคบคนนั้นย่อมไร้ประโยชน์

บุคคลไม่ได้มิตรธรรมด้วยอุปการคุณที่ตนประพฤติต่อหน้าในผู้ใด ผู้นั้นบัณฑิตไม่ต้องริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากผู้นั้น

การใช้ชีวิตในทางโลกต้องมีความรับผิดชอบต่อภารกิจในหลายๆ ด้าน หากเกิดอาการท้อแท้ท้อถอย หรือไม่สู้งาน นอกจากไม่ได้รับความเจริญแล้ว อาจถูกครหานินทา เพราะไม่ได้ทำประโยชน์ตนเอง และประโยชน์ของผู้อื่นให้สมบูรณ์ ประโยชน์ของตน คือ ประโยชน์ทั้งในภพชาตินี้ และในภพชาติหน้า ส่วนประโยชน์ท่าน หมายถึงสิ่งที่ควรจะบำเพ็ญในขณะยังมีชีวิตอยู่ เช่น ตอบแทนคุณของบุพพการีชน สงเคราะห์เพื่อนมนุษย์เป็นต้น ผู้ที่จะทำอย่างนี้ได้ ต้องมีจิตใจสูงส่ง มีความวิริยะอุตสาหะ จึงจะสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้

คุณธรรมที่สำคัญอย่างมากของบัณฑิตชน ก็คือ ความกตัญญู รู้คุณของผู้มีพระคุณ และรู้จักตอบแทนบุญคุณ ที่ท่านเหล่านั้นทำไว้กับเราในกาลก่อน ใครก็ตามที่เป็นคนกตัญญูย่อมจะเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย แม้จะย่างก้าวไปแห่งหนตำบลใด ก็จะได้รับการต้อนรับขับสู้ด้วยไมตรีจิต ชื่อเสียงอันดีงามย่อมฟุ้งขจรไปไกล เมื่อมีใครรับรู้รับทราบคุณธรรม อย่างนี้ ถ้าเป็นหัวหน้าก็จะเป็นที่รักของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ก็จะเป็นที่รักของหัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน จะไปอยู่สังคมใดก็เป็นที่ปรารถนาของสังคมนั้นๆ ความกตัญญูเป็นสัญลักษณ์ของคนดีที่มีจิตใจสูงส่ง บัณฑิตทั้งหลายทั้งในอดีต และปัจจุบัน จึงมีคุณธรรมความกตัญญูอยู่ในใจเสมอ ทำให้เป็นที่รักของมหาชนเป็นจำนวนมาก และยังเป็นที่เคารพนับถือบูชาอีกด้วย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลที่หาได้ยากในโลกนี้ มีอยู่ ๒ ประเภทคือ ผู้ที่มีความกตัญญูรู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และผู้ที่มีความกตเวที เมื่อรู้คุณแล้วก็ตอบแทนคุณท่าน มีความคิดเช่นนี้อยู่ภายในใจอย่างต่อเนื่อง และแสวงหาโอกาสทำหน้าที่ตอบแทนบุญคุณท่านอย่างไม่รู้ลืม บุคคลเช่นนี้หาได้ยากในโลก สัตบุรุษทั้งหลายตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสาวก และบัณฑิตชนจึงพากันสรรเสริญยกย่อง แม้เทวดาทั้งหลายก็ปกปักรักษา ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวที

ส่วนคนที่อกตัญญูนั้น ย่อมจะไม่เป็นที่รักของใครเลย เพราะจะนำแต่ความเสื่อมเสียมาสู่สังคมที่ตนอยู่ด้วย ไม่มีใครต้องการคนอกตัญญู เดินทางไปถึงไหนแทนที่จะได้รับการต้อนรับ กลับได้รับการผลักไสไล่ส่ง ชื่อเสียง และความเป็นคนอกตัญญูของเขานี้ ช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย ดังนั้นเวลาเราอยู่ในสังคม จะคบเพื่อนก็ขอให้คบเพื่อนที่ดี ไม่ใช่สักแต่ว่าคบๆ ไปอย่างนั้น มันจะไม่เป็นผลดีต่อตัวเราเลย หากเราไม่รู้จักคบคน โอกาสที่พลาดพลั้ง คือได้คนอกตัญญูเป็นสหายนั้นมีมาก พระบรมศาสดา ผู้ทรงเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระทัยของพระพุทธองค์บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน คืออาสวกิเลส แม้จะมีผู้ที่อกตัญญูต่อพระองค์ท่านสักเพียงใด พระพุทธองค์ก็ไม่ถือโทษอะไรเลย บุคคลผู้นั้น จึงกลับแพ้ภัยตนเองต้องเสวยผลกรรม ที่กระทำต่อพระพุทธองค์อย่างแสนสาหัส

ครั้งหนึ่งขณะที่พระบรมศาสดา ประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงความอกตัญญูของพระเทวทัต ทุกคนคงรู้จักพระเทวทัตที่แม้บวชเข้ามาแล้ว ก็ยังทำอนันตริยกรรม ทำโลหิตุปบาต และทำสังฆเภท ซึ่งเป็นครุกรรมฝ่ายอกุศล การที่พระเทวทัตต้องตกที่นั่งลำบากอย่างนั้น ก็เพราะความอกตัญญูของตนเอง มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูง อยากจะปกครองหมู่สงฆ์ ถึงกับทูลขอพระศาสดา ว่าต้องการบริหารสงฆ์ด้วยตนเอง พระบรมศาสดาทรงรู้ว่า พระเทวทัตไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวายในวงการพระศาสนา จึงไม่ทรงอนุญาต พระเทวทัตจึงผูกใจเจ็บ พยายามอยู่หลายครั้งที่จะลอบปลงพระชนม์พระศาสดา นับตั้งแต่กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ลงจากเขาคิชฌกูฏ ทำให้พระบาทของพระบรมศาสดาห้อพระโลหิต ปล่อยช้างนาฬาคีรีตกมันเข้ามาทำร้าย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรพระองค์ท่านได้ และยุยงสงฆ์จนแตกจากกัน

บั้นปลายชีวิตของพระเทวทัตยอดอกตัญญูนั้น ก็ต้องถูกกรรมที่ตนเองทำ ส่งผลให้ถูกธรณีสูบ ระหว่างที่เดินทางจะมา กราบขอขมาพระบรมศาสดา แต่ก็นับเป็นบุญที่ยังสำนึกผิดในวินาทีสุดท้าย ได้กล่าวคำขอขมาพระบรมศาสดา และผลบุญนี้ จะทำให้พระเทวทัตสามารถบรรลุธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในภพชาติสุดท้าย แต่ตอนนี้ก็ยังชดใช้กรรมในอเวจีมหานรกอยู่ เพราะปรารภเรื่องของพระเทวทัต พระบรมศาสดาจึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ภพชาตินี้เท่านั้นที่พระเทวทัตเป็นผู้อกตัญญู แม้ในอดีตชาติพระเทวทัตก็เป็นคนอกตัญญูเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า

*ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นนกหัวขวาน อาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ คราวนั้น มีราชสีห์ตัวหนึ่งกินเนื้อที่ล่ามาได้ แต่เกิดเคี้ยวไม่ดี รีบกลืนลงไปทำให้กระดูกติดคอจนบวมเป่ง ไม่สามารถที่จะจับเหยื่อกินได้ ความทุกข์ทรมานบังเกิดขึ้นกับราชสีห์เป็นอย่างมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่แสดงอาการทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวด ขณะนั้นเอง นกหัวขวานโพธิสัตว์ได้บินหาอาหารอยู่ในบริเวณนั้น ได้เห็นราชสีห์นอนทุรนทุรายอย่างนั้น จึงถามว่า สหาย ทำไมท่านถึงทุรนทุรายอย่างนี้ เป็นทุกข์เพราะเหตุอะไร

ราชสีห์จึงได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองให้ฟัง นกโพธิสัตว์ฟังอย่างนั้น ด้วยความที่เป็นมหาสัตว์ อยากจะช่วยราชสีห์ให้พ้นทุกข์ จึงกล่าวขึ้นว่า

ดูก่อนสหาย เราสามารถที่จะช่วยท่านได้ เราจะเอากระดูกออกจากปากท่าน แต่เราไม่กล้าที่จะเข้าไปในปากท่าน เพราะเกรงว่าท่านจะกินเราเสีย ท่านให้คำมั่นสัญญาได้ไหมล่ะ ว่าจะไม่กินเรา

เมื่อราชสีห์ฟังดังนั้น ก็ให้คำมั่นสัญญาว่า ท่านอย่ากลัวไปเลยสหาย ท่านจงให้ชีวิตแก่เราเถิด หากเราไม่ได้ท่านช่วยในคราวนี้ เห็นทีว่าชีวิตของเราคงจบสิ้นแน่ โปรดช่วยเราด้วยเถิด เราขอสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายท่านอย่างเด็ดขาด

นกโพธิสัตว์ตอบรับคำว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว แล้วให้ราชสีห์นอนตะแคง แต่ก็พลันฉุกคิดว่า ใครจะไปรู้ว่าจะเกิดภัยอะไรขึ้น กันไว้ดีกว่าแก้คงจะดีกว่าเป็นแน่ จึงวางท่อนไม้คํ้าไว้ ที่ริมฝีปากของราชสีห์ ทำให้ราชสีห์ไม่สามารถจะหุบปากตนเองได้ แล้วก็ลอดเข้าไปในปาก เอาจะงอยปากเคาะปลายกระดูก กระดูกก็เคลื่อนตกไป เมื่อเอากระดูกที่ติดคอราชสีห์ออกได้แล้วก็ออกจากปากราชสีห์ ก่อนจะออกก็ได้เอาจะงอยปากเคาะ ท่อนไม้ให้หล่นไป แล้วก็บินออกไปจับที่กิ่งไม้

เวลาผ่านไป หลังจากที่แผลในปากราชสีห์หายเป็นปกติแล้ว วันหนึ่งมันได้จับกระบือตัวใหญ่ และกำลังกินอย่างเอร็ดอร่อยอยู่นั้น บังเอิญที่นกหัวขวานโพธิสัตว์บินผ่านมาพบเข้าพอดี จึงคิดในใจว่า เราจะทดสอบเจ้าราชสีห์ตัวนี้ดูสักครั้ง ว่าการที่เราทำคุณกับมันครั้งก่อน ยังจำคุณได้ไหม และยังจะคิดตอบแทนบุญคุณแก่ผู้มีคุณหรือไม่ เมื่อคิดอย่างนี้ ก็บินเข้าไปหาราชสีห์ตัวนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านพญาเนื้อ เราเคยทำกิจ แก่ท่านครั้งหนึ่งตามกำลังของเรา เราจะได้อะไรตอบแทนจากท่านบ้างล่ะ

พอราชสีห์ตัวนั้นได้ฟังอย่างนั้น แทนที่จะคิดถึงบุญคุณที่ผู้อื่นกระทำแก่ตน แต่กลับไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะตนเองมีนิสัยเป็นผู้ที่ดุร้ายไม่รู้คุณของผู้อื่น จึงพูดขึ้นด้วยความฉุนเฉียวว่า ตอนที่ท่านเข้าไปในปากของเรานั้น เราไม่กัดกินท่านก็บุญแล้ว ยังมาทวงเอาอะไรอีก

เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ฟังอย่างนั้น ก็เลยเอ่ยกล่าวเป็นข้อคิดว่า น่าติเตียนจริงๆ เลย สำหรับผู้ที่ไม่รู้บุญคุณผู้อื่น และไม่เคยทำความดีให้แก่ใครๆ การรู้จักหรือคบกับคนที่ไม่มีความกตัญญูนั้น ไม่มีประโยชน์อันใดเลย พอกล่าวอย่างนี้จึงบินจากไป หลังจากที่พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องนี้แล้วพระองค์ทรงประชุมชาดกว่า ภิกษุทั้งหลาย ราชสีห์ตัวที่ไม่รู้คุณใครก็คือเทวทัตนั่นเอง

จะเห็นว่า คนที่อกตัญญูไม่รู้คุณคนนั้น ย่อมจะเป็นพิษเป็นภัยกับบุคคลทั้งหลายทั้งหมดเลยก็ว่าได้ แม้ว่าเราพึงให้ทรัพย์สมบัติหมดทั้งโลก ก็ไม่สามารถที่จะทำให้บุคคลเช่นนั้นพอใจได้เลย มีวิธีเดียวเท่านั้นก็คือ เราจะต้องรู้จักหลีกเลี่ยงบุคคลอย่างนี้เสียให้ไกล อย่าไปสมาคมกับคนอย่างนี้ ให้ตระหนักถึงพระดำรัสของพระบรมศาสดาที่ว่า อย่าคบคนพาล ให้แสวงหาแต่บัณฑิต บัณฑิตที่แท้จริงที่เราควรจะแสวงหา คือพระธรรมกายที่อยู่ภายในตัวของเรานี่แหละ เข้าถึงท่านได้แล้ว คุณธรรมความกตัญญูจะงอกเงยเกิดขึ้นมาในใจของเรา สิ่งที่ดีๆ จะเกิดขึ้นในตัวเรา ท่านจะดึงดูดแต่สิ่งที่ดีมีสิริมงคลทั้งหลายมาสู่ตัวเรา ชีวิตก็จะประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

*มก. ชวสกุณชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๔๒๗

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3829
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *