มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – ศิษย์คิดล้างครู

มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – ศิษย์คิดล้างครู

ผู้ใดที่คนอื่นได้ทำคุณไว้ในกาลก่อนแล้วภายหลังเบียดเบียนเขาด้วยความชั่ว
ผู้นั้นชื่อว่า เป็นคนอกตัญญู ย่อมไม่พบกับความเจริญทั้งหลาย

เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีสิ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่กันไปอยู่ ๒ ประการ คือ การศึกษาวิชาความรู้ในทางโลก และการศึกษาวิชชาในทางธรรม การศึกษาความรู้ทางโลก มีเป้าหมาย เพียงเพื่อให้เรารู้จักวิธีการแสวงหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงชีพ เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนการศึกษาความรู้ในทางธรรมนั้น มีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของเรา ให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งแห่งความรู้ที่สมบูรณ์ เป็นความรู้เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ให้เข้าถึงความสุขอันแท้จริงที่มีอยู่ภายในตน

มีพระบาลีกล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ว่า

โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ ปจฺฉา ปาเปน หึสติ
อลฺลปาณิหโต โปโส น โส ภทฺรานิ ปสฺสติ

ผู้ใดที่คนอื่นได้ทำคุณไว้ในกาลก่อน แล้วภายหลังเบียดเบียนเขาด้วยความชั่ว ผู้นั้นชื่อว่า เป็นคนอกตัญญู ย่อมไม่พบกับความเจริญทั้งหลาย

ในหมู่มนุษย์มีบุคคลที่หาได้ยากในโลกอยู่ ๒ ประเภท คือ บุคคลที่ทำความดีแก่ผู้อื่นก่อน โดยไม่หวังผลตอบแทน ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมตตา เช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นต้น เรียกบุคคลเหล่านี้ว่า บุพการี

และบุคคลที่รู้สำนึกในบุญคุณของบุพการี แล้วหาโอกาสตอบแทนพระคุณ เราเรียกว่าคนกตัญญูกตเวที บุคคล ๒ ประเภทนี้หาได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ จิตถูกอวิชชาเข้าครอบงำ ทำให้มองไม่เห็นคุณความดีของผู้อื่น จึงไม่คิดที่จะตอบแทนบุญคุณใคร

ผู้มีความกตัญญู ถึงแม้ดวงตาทั้งสองข้างจะมืดบอด แต่ดวงใจไม่มืดบอด ดวงใจของเขาสว่างไสว พอที่จะเห็นคุณธรรมความดีของผู้อื่นที่ได้ทำไว้กับตน หากเป็นคนใจมืดบอดเสียแล้ว แม้จะได้รับอุปการคุณมากมายเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่คิดที่จะตอบแทน เป็นเพียงผู้รับที่ไม่มีความกตัญญูรู้คุณต่อใครๆ ถ้าได้โอกาสก็จะประทุษร้ายเขา เหมือนงูเห่าที่ชาวนาเลี้ยงไว้ ในที่สุดก็แว้งกัดชาวนาจนถึงแก่ความตาย

หากปรารถนาจะประสบความสุข ความสำเร็จในชีวิต ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณธรรม ๒ ประการคือ ความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐาน เราก็เช่นเดียวกัน ควรมีความกตัญญูรู้คุณ ในท่านผู้มีอุปการคุณเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่งสัตว์เดียรัจฉานที่มีจิตใจประเสริฐ และมีบุญคุณต่อเรา ก็ควรหาโอกาสตอบแทนคุณให้ได้ ไม่ควรประทุษร้ายน้ำใจท่านผู้มีคุณ เพราะความอกตัญญูจะเป็นเหตุ ให้ชีวิตต้องพบกับความพินาศ

เหมือนดังเรื่องของมุสิละผู้หลงลืมตัว เมื่อได้รับความรู้จากอาจารย์แล้ว ก็หวังอยากเด่นอยากดังกว่าอาจารย์ ทำให้ถึงความพินาศย่อยยับ เป็นคนสูญเสียอนาคตไปในที่สุด

*ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นศิลปิน ชื่อ คุตติละ เป็นผู้มีความชำนาญในการดีดสีตีเป่า มีความสามารถในการเล่นดนตรีทุกชนิด จนได้เป็นอาจารย์สอนดนตรีของผู้มีชื่อเสียง ส่งผลให้ท่านเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งชมพูทวีป ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วทุกสารทิศมาขอเรียนวิชามากมาย
ต่อมามีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ มุสิละ ได้ยินกิตติศัพท์ของ พระโพธิสัตว์ ก็ปรารถนาอยากจะได้วิชาดีดพิณบ้าง จึงเดินทางมาขอเรียนวิชาด้วย อาจารย์คุตติละเป็นผู้ฉลาดในการดูลักษณะของคน มองเพียงครู่เดียวก็รู้ว่า เด็กคนนี้เป็นคนไม่รู้จักบุญคุณคน ท่านจึงไม่รับไว้เป็นศิษย์ แต่มุสิละก็ไม่ย่อท้อ ได้เข้าไปหาบิดามารดาของท่านอาจารย์ คอยอุปัฏฐาก บำรุงท่านเป็นอย่างดี จนท่านมีความเอ็นดู แล้วขอร้องให้ช่วยเหลือฝากไว้เป็นศิษย์ พระโพธิสัตว์ไม่อยากขัดใจบิดามารดา จึงรับเขาไว้เป็นศิษย์ สอนศิลปะให้ทุกอย่างโดยไม่ปิดบังอำพราง เพราะความที่ท่านเป็นคนใจกว้าง ไม่เคยหวงวิชาความรู้เลย

ส่วนมุสิละนั้นเป็นคนเฉลียวฉลาดเรียนรู้ได้รวดเร็ว ไม่ช้าไม่นานก็เรียนจบศิลปะทั้งหมด เมื่อเรียนจบแล้วก็คิดว่า ถ้าหากเราได้แสดงศิลปะต่อหน้าพระที่นั่ง เราก็จะมีชื่อเสียง โด่งดังยิ่งกว่าอาจารย์ แล้วลาภสักการะทั้งหมดก็จะเป็นของเรา คิดได้ดังนี้ จึงบอกกับอาจารย์ว่า กระผมประสงค์จะแสดงดนตรีต่อหน้าพระที่นั่ง ขอท่านอาจารย์ได้โปรดพาผมไปเข้าเฝ้าด้วย อาจารย์ก็มีใจกรุณาต่อศิษย์อยู่แล้ว จึงได้พาไปเข้าเฝ้าพระราชา

เมื่ออาจารย์ไปถึงพระราชวัง ได้กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระราชาผู้เจริญโปรดทอดพระเนตรความสามารถในการดีดพิณของลูกศิษย์ของข้าพระองค์ด้วยเถิด พระราชาได้ทรงสดับการดีดพิณของมุสิละแล้ว ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงมีรับสั่งให้รับราชการอยู่ในวัง พร้อมกับพระราชทานเงินเดือน ให้ครึ่งหนึ่งของอาจารย์

มุสิละกราบทูลว่า ตนมีความสามารถพอๆ กับอาจารย์ จึงไม่ขอรับเงินเดือนที่ต่ำกว่าอาจารย์ ขอให้พระองค์พระราชทานเท่ากับอาจารย์เถิด พระราชาตรัสว่า เจ้าอย่าพูดอย่างนั้น ธรรมดาอาจารย์ต้องได้รับมากกว่าศิษย์ มุสิละก็ ไม่ยอม จากนั้นก็ออกไปประกาศให้มหาชนไปเป็นสักขีพยาน ในการประลองฝีมือการดีดพิณระหว่างตนกับอาจารย์ ต่อหน้า พระที่นั่งในอีก ๗ วันข้างหน้า

อาจารย์ได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกทอดถอนใจว่า สู้อุตส่าห์สั่งสอนมา ก็หวังว่าจะให้เป็นตัวแทนแนะนำความรู้นี้ต่อไป ไม่ได้ หวังให้ไปแข่งดีกับใครเลย แต่นี่จะมาท้าแข่งกับครูเสียเอง กลายเป็นศิษย์คิดล้างครูเสียแล้ว และตอนนี้ตัวอาจารย์เองก็แก่มากแล้ว คงสู้ศิษย์อกตัญญูคนนี้ไม่ไหว เพราะการประลองฝีมือ จะต้องใช้กำลังมาก คนหนุ่มย่อมได้เปรียบคนแก่ และการที่ศิษย์กับอาจารย์จะมาต่อสู้กันเอง ก็เป็นเรื่องที่น่าอับอายอย่างยิ่ง ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกเสียใจ ที่ศิษย์กลายเป็นคนอกตัญญู

เมื่อหาทางออกไม่ได้ อาจารย์คุตติละจึงคิดที่จะไปฆ่าตัวตาย เรื่องนี้จึงร้อนไปถึงพระอินทร์ ต้องเข้าไปหาพร้อมกับให้กำลังใจว่า ท่านอาจารย์ ท่านเคยเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าในอดีตชาติ ข้าพเจ้าผู้เป็นศิษย์จะช่วยบรรเทาทุกข์ของท่านอาจารย์เอง ขอให้อาจารย์อย่าได้กังวลใจต่อไปอีกเลย อาจารย์ได้ฟังดังนั้นรู้สึกชื่นใจ รู้สึกมีกำลังใจขึ้นมา แต่วิสัยของอาจารย์ ถึงอย่างไรก็ไม่คิดที่จะเอาชนะศิษย์ของตน คิดเพียงแค่จะสั่งสอนศิษย์ให้ได้สติกลับคืนมาเท่านั้น

ครั้นถึงวันที่ท้าประลอง พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ก็มาทอดพระเนตรดูการแข่งขัน เมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น ลูกศิษย์ได้ดีดพิณตามที่อาจารย์สอนมาจนหมด ซึ่งเป็นที่พอใจของมหาชนเป็นอย่างมากเลย เมื่อถึงเวลาของอาจารย์ พระอินทร์ก็มายืนอยู่ในอากาศ ซึ่งมีแต่อาจารย์เท่านั้นที่มองเห็น พระอินทร์ ตรัสบอกให้อาจารย์ดีดพิณตามจังหวะที่แนะนำ ผสมผสานกับเสียงทิพย์ ทำให้เสียงพิณก้องกังวานไพเราะมากเป็นพิเศษ ประหนึ่งว่าดนตรีทิพย์จากสรวงสวรรค์ไพเราะจับใจผู้ฟัง มหาชนปรบมือดังสนั่นประหนึ่งว่าแผ่นดินจะทรุด และก็ตัดสินให้อาจารย์เป็นฝ่ายชนะ พระราชาทรงกริ้วศิษย์อกตัญญู จึงให้ขับไล่ออกจากเมืองไป มหาชนต่างลุกฮือขึ้นมาเอาก้อนดิน ท่อนไม้ขว้างปาจนนายมุสิละถึงแก่ความตาย จะเห็นได้ว่า ชีวิตของเขาจากอนาคตที่กำลังจะรุ่งโรจน์ ต้องดับวูบลงทันที เพราะความอกตัญญูของตนเอง

เพราะฉะนั้น เกิดเป็นคนควรรู้คุณคน ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี พวกเราทั้งหลายต้องสำนึกไว้เสมอว่า อย่าเป็นคนอกตัญญู เพราะคนไม่รู้คุณคน จะมีแต่ความเสื่อม ควรรู้จักมองให้เห็นคุณความดีของผู้อื่น ซึ่งเบื้องต้นต้องมองให้เห็นความดีความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในใจของเราเสียก่อน เมื่อใจของเราบริสุทธิ์แล้ว จะสามารถมองเห็นคุณธรรมของผู้อื่น ได้อย่างชัดเจน

การปฏิบัติธรรมด้วยการหมั่นทำใจให้หยุดนิ่ง ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นสิ่งสำคัญ จะทำให้คุณธรรมเกิดขึ้นในใจ เห็นคุณธรรมความดีของผู้อื่นได้อย่างแจ่มแจ้งอีกด้วย

เพราะฉะนั้น เราต้องหมั่นเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ให้แก่ตนเอง ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้ตลอดเวลา แล้วฝึกคุณธรรมทั้งหยาบ และละเอียดควบคู่กันไป ไม่ช้าเราก็จะได้เข้าถึงพระธรรมกายในตัว เข้าถึงผู้รู้ ผู้บริสุทธิ์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมกันทุกคน

*มก. คุตติลวิมาน เล่ม ๔๘ หน้า ๒๔๗

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3787
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *