มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – สุวรรณสาม ยอดกตัญญู

มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู – สุวรรณสาม ยอดกตัญญู

เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว ไม่ช้าก็จะต้องจากไป แม้ทรัพย์สมบัติภายนอกที่มีอยู่ เราก็ไม่สามารถเอาติดตัวไปได้ สิ่งที่จะติดตัวเราไป มีแต่บุญกับบาปเท่านั้น ถ้าหากเราสั่งสมบุญ ชีวิตเราก็จะมีคุณค่า เกิดมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อชาวโลก เพราะได้ใช้วันเวลาอันน้อยนิดที่มีอยู่ในโลกนี้ สร้างบารมีอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

มีพุทธวจนะที่ปรากฏใน สุวรรณสามชาดก ขุททกนิกาย ว่า

โย มาตรํ ปิตรํ วา มจฺโจ ธมฺเมน โปสติ
เทวาปิ นํ ติกิจฺฉนฺติ มาตาเปติภรํ นรํ
โย มาตรํ ปิตรํ วา มจฺโจ ธมฺเมน โปสติ
อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ

บุคคลใด เลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม แม้เทวดาและมนุษย์ย่อมสรรเสริญผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้น บุคคลใด เลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้นในโลกนี้ บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งที่เลี้ยงดูบิดามารดาผู้ยากจน ไร้ที่อยู่อาศัย ภิกษุรูปนั้นได้จัดหาที่พักอาศัยให้ และนำผ้าใหม่มาให้นุ่งห่ม เมื่อบิณฑบาตมาแล้ว ก็ให้บิดามารดารับประทานก่อน ส่วนท่าน ฉันทีหลัง พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ จึงประทานสาธุการแก่ภิกษุรูปนั้นถึง ๓ ครั้ง แล้วตรัสว่า เธอได้ปฏิบัติชอบแล้ว แม้ในกาลก่อน เราก็ได้เลี้ยงดูบิดามารดาเช่นกัน แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าให้ฟังว่า

*ในป่าแห่งกรุงพาราณสี มีดาบสผู้ทรงศีลชื่อว่าทุกูลดาบส และดาบสินีคือดาบสผู้หญิงชื่อว่าปาริกา แต่เดิมบิดามารดาปรารถนาจะให้ท่านทั้งสองแต่งงานกัน แต่ท่านเป็นผู้ที่รักในการประพฤติพรหมจรรย์ จึงออกบวช และได้เจริญเมตตาธรรมอยู่เป็นนิตย์ ด้วยกระแสแห่งความเมตตา ทำให้สัตว์ทั้งหลายในป่าอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันจนกระแสแห่งความเมตตานี้ ได้แผ่ไปถึงโลกสวรรค์

พระอินทร์ทรงมีพระทัยอ่อนโยน หวังจะอนุเคราะห์ดาบสทั้งสอง เพราะได้เห็นเหตุการณ์ในอนาคตว่า ต่อไปดวงตาของดาบสทั้งสองจะมืดบอด จึงเข้าไปหาดาบสแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ อันตรายจะมีแก่ท่านทั้งสอง ท่านควรมีบุตรไว้ปรนนิบัติ เราจะแนะนำวิธีมีบุตรให้แก่ท่าน โดยไม่ต้องล่วงพรหมจรรย์ เพียงท่านเอามือลูบท้องดาบสินี เมื่อเวลาที่นาง มีระดูก็พอแล้ว

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในครรภ์ของดาบสินี เมื่อเวลาล่วงไป ๑๐ เดือน นางได้ให้กําเนิดบุตร ซึ่งมีผิวพรรณดั่งทองคำ จึงให้ชื่อว่าสุวรรณสาม พระโพธิสัตว์เจริญวัยมาตามลำดับ จนอายุได้ ๑๖ ปี

อยู่มาวันหนึ่งดาบสทั้งสองออกไปหาผลไม้ พอเก็บผลไม้เสร็จเรียบร้อยก็เป็นเวลาเย็น ระหว่างเดินทางกลับอาศรม ได้เกิดฝนตกหนัก ท่านทั้งสองจึงเข้าไปหลบฝนอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ ซึ่งมีจอมปลวกอยู่ น้ำฝนปนกับกลิ่นกายของมนุษย์ ได้ไหลเข้าไปในที่อยู่ของอสรพิษ มันเกิดความโกรธ จึงเลื้อยออกมา แล้วพ่นพิษใส่นัยน์ตาของดาบสทั้งสอง ทำให้ตาบอดทันที

เมื่อสุวรรณสามไม่เห็นบิดามารดากลับมา จึงออกตามหา ร้องเรียกไปตลอดทาง ได้พบบิดามารดาที่จอมปลวกแห่งนั้น และทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงกล่าวกับบิดามารดาว่า พ่อและแม่อย่าได้วิตกไปเลย ลูกจะปฏิบัติบำรุงเลี้ยงดูพ่อแม่เอง

สุวรรณสามได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อบำรุงบิดามารดา คือ ที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน ที่จงกรม ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ โดยผูกเชือกทำเป็นราวไว้ในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ท่านเดินได้สะดวก เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาก็ทำความสะอาดอาศรม จัดเตรียมไม้สีฟันและน้ำบ้วนปาก ตั้งน้ำดื่มและอาหาร เลือกผลไม้ที่มีรสอร่อยเตรียมไว้ เมื่อบิดามารดาบริโภคแล้ว ตนจึงบริโภคผลไม้ที่เหลือ ไหว้บิดามารดาแล้ว ไปตักน้ำที่แม่น้ำ ครั้นเวลาเย็นก็ต้มน้ำแล้ว อาบให้บิดามารดา บำรุงท่านทั้งสองด้วยดีเสมอมา

วันหนึ่งพระราชาพระนามว่าปิลยักขราชเสด็จมาล่าเนื้อในป่า เมื่อมาถึงท่าน้ำ ได้เห็นรอยเท้าของพวกเนื้อเป็นอันมาก จึงซ่อนพระองค์และหยิบธนูเตรียมไว้ ฝ่ายสุวรรณสามเดินมาตักน้ำ พร้อมกับฝูงสัตว์เป็นจำนวนมาก พระราชาเห็นดังนั้นดำริว่า เราล่าสัตว์อยู่ในป่าเป็นเวลานาน ยังไม่เจอมนุษย์เลย ผู้นี้จะเป็นเทวดาหรือพญานาค ถ้าเราเข้าไปไต่ถามก็อาจจะหนีไป เสียก่อน เราควรจะยิงผู้นี้ให้บาดเจ็บ แล้วจึงค่อยเข้าไปถาม

เมื่อสุวรรณสามกำลังจะเดินกลับอาศรม พระราชาได้โอกาส จึงยิงธนูด้วยลูกศรอาบยาพิษ ถูกลำตัวข้างขวาทะลุข้างซ้าย ฝูงเนื้อเมื่อเห็นดังนั้นก็ตกใจกลัววิ่งหนีไปหมด สุวรรณสามแม้ถูกยิง ก็ประคองหม้อน้ำไว้ไม่ให้หก แล้วค่อยๆ วางหม้อน้ำลง กำหนดทิศทางของอาศรมล้มตัวลงนอน หันศีรษะไปทางบิดามารดา เพื่อแสดงความเคารพ แล้วกล่าวขึ้นว่า ในป่านี้เราไม่มีเวรกับใคร บุคคลผู้มีเวรกับบิดามารดาของเราก็ไม่มี ใครหนอใช้ลูกศรยิงเรา ขอจงบอกเถิด ทำไมท่านถึงยิงเราแล้ว หลบซ่อนอยู่

พระราชาได้สดับถ้อยคำอันอ่อนโยน จึงดำริว่าบุรุษผู้นี้ แม้ถูกเรายิงด้วยลูกศรล้มลงแล้ว ไม่ด่าบริภาษเรา ยังเรียกหาเรา ด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยนน่ารัก น่าพอใจจึงเสด็จเข้าไปใกล้ สุวรรณสาม ตรัสว่า เราเป็นพระราชา

สุวรรณสามดำรงสติมั่น อดทนต่อความเจ็บปวด แล้ว กราบทูลว่า ขอจงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่า สุวรรณสาม พระองค์ทรงยิงข้าพระองค์ด้วยเหตุใด พระราชาไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร จึงโกหกว่า เราเห็นฝูงเนื้อแล้ว หมายจะยิง แต่เมื่อท่านเดินเข้ามา ทำให้ฝูงเนื้อเหล่านั้นตกใจหนีไปหมด เราโกรธเคืองท่าน จึงได้ยิง

สุวรรณสามทูลว่า ข้าแต่มหาราชผู้เป็นใหญ่ พระองค์ตรัสอะไรอย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายในป่าแห่งนี้ เมื่อเห็นข้าพระองค์แล้ว ที่จะหนีไปย่อมไม่มี พวกเราอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ดังนั้นฝูงเนื้อจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์ได้อย่างไร

พระราชาทรงยอมรับผิดที่ได้กล่าวเท็จไป สุวรรณสามเมื่อใกล้จะสิ้นใจ จึงกล่าวว่า บิดามารดาของข้าพระองค์ตาบอด ข้าพระองค์ต้องเลี้ยงดูท่าน แต่นี้ต่อไป ข้าพระองค์คงทำกิจนั้นไม่ได้อีกแล้ว ตอนนี้ที่อาศรมยังมีอาหารอยู่บ้าง พ่อและแม่พอจะดํารงชีวิตไปได้อีก ๖ วัน หลังจากนั้นเมื่อไม่ได้อาหาร คงจะต้องตายเป็นแน่ ความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้ ยังไม่เท่ากับความทุกข์ที่ข้าพระองค์จะไม่ได้บำรุงบิดามารดา อีกต่อไป

พระราชาทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ดำริว่า เราได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว ได้ประหารบุรุษผู้ตั้งอยู่ในธรรม ปฏิบัติต่อบิดามารดาด้วยความกตัญญู
ถ้าเราตายไป จะต้องตกนรกเป็นแน่ ราชสมบัติจักช่วยอะไรเราได้ จึงตรัสว่า ท่านอย่าได้กังวลไปเลย เราจะเลี้ยงดูบิดามารดาของท่าน ให้เหมือนกับที่ท่านได้กระทำไว้

สุวรรณสามได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระบาทขอน้อมกราบพระองค์ ขอพระองค์ทรงบำรุงเลี้ยงบิดามารดา ผู้มีดวงตามืดบอดด้วยเถิด และขอพระองค์ได้ตรัสบอกบิดามารดาให้ทราบว่า ข้าพระองค์ขอกราบแทบเท้าท่านทั้งสองเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็สิ้นลม แล้วอยู่ในอาการที่สงบนิ่ง

พระราชาทรงนำดอกไม้มาบูชาสุวรรณสาม แล้วกราบลงในทิศทั้งสี่ ได้ถือหม้อน้ำเสด็จไปยังอาศรมของดาบส ตรัสเรื่องราวที่เกิดขึ้น ให้แก่บิดามารดาฟัง แล้วพาไปยังที่สุวรรณสาม นอนอยู่ ดาบสและดาบสินีเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ระลึกถึงความดีของลูก แล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า ขออานิสงส์ที่บุตรของเราได้ประพฤติธรรม ได้บํารุงเลี้ยงดูเรา ด้วยคำสัตย์นี้ ขอพิษจากลูกศรจงอันตรธานหายไป

เทพธิดาชื่อพสุนทรี ผู้เคยเป็นมารดาของสุวรรณสามในชาติปางก่อน ก็มาช่วย ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ใครๆ ที่จะเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าสุวรรณสามย่อมไม่มี ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษร้ายจงหายไป ความอัศจรรย์ก็พลันบังเกิดขึ้น พิษร้ายได้หายไปในทันที สุวรรณสามกลับฟื้นขึ้นเป็นปกติ และนัยน์ตาที่มืดบอดของบิดามารดา ก็ได้กลับเห็นชัดเจนเป็นปกติ

พระราชาทรงอัศจรรย์ใจยิ่งนัก รู้สึกปลื้มปีติที่สุวรรณสาม ฟื้นคืนชีพ ทรงประคองอัญชลี แล้วขอขมาโทษ สุวรรณสาม จึงทูลถวายโอวาทว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติชอบในพระชนกชนนี มิตร อำมาตย์ ชาวเมือง สมณพราหมณ์และสัตว์ทั้งหลาย และขอพระองค์ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม จนตลอดพระชนม์ชีพเถิด

สุวรรณสามได้เลี้ยงดูบิดามารดาจนสิ้นอายุขัย ครั้นละโลกแล้ว ได้บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ มีความสุขในสัมปรายภพ เพราะฉะนั้นบัณฑิตจึงกล่าวว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี บุตรธิดาควรรู้อุปการคุณของท่าน แล้วตอบแทนพระคุณท่าน สิ่งใดเป็นหน้าที่ของลูกที่พึงกระทำต่อพ่อแม่ ก็จงทำเถิด

ถ้าบิดามารดายังไม่มีศรัทธา ก็ชักชวนให้ท่านมีศรัทธาในพระรัตนตรัย หากท่านยังไม่ได้ทำทาน ก็ชักชวนให้ทำทาน หากท่านยังไม่ได้รักษาศีล ก็ชักชวนให้รักษาศีล หากท่านยังไม่ได้ทำสมาธิเจริญภาวนา ก็ชักชวนให้ทำสมาธิเจริญภาวนา ทำอย่างนี้จึงได้ชื่อว่าได้ตอบแทนพระคุณท่านอย่างสูงสุด เป็นการตอบแทนแบบบัณฑิต ที่ผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญและปฏิบัติ สืบเนื่องต่อกันมา เป็นเวลาอันยาวนาน

*มก. สุวรรณสามชาดก เล่ม ๖๓ หน้า ๑๖๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3728
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *