มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม – แม้เป็นเทวดาก็อย่าประมาท

มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม – แม้เป็นเทวดาก็อย่าประมาท

บุคคลผู้ปรารถนาโภคะอันโอฬารต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ใน ภพหน้า

สรรพสัตว์ทั้งหลายต่างปรารถนาความสุข ห่างไกลจากความทุกข์ แล้วมุ่งแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด และความปลอดภัยให้กับชีวิต แม้ผู้คนจำนวนมากจะมีความสุขทางด้านทรัพย์สินเงินทอง หรือยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ก็ยังต้องทุกข์ใจในหลายๆ เรื่อง บางคนแสวงหาความสุขตลอดชีวิตก็ไม่เคยพบเจอ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงค้นพบว่า ทางที่จะนำไปสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์นั้น ต้องทำใจให้หยุดนิ่งในกลางกาย กลั่นใจให้ใสบริสุทธิ์ จนหลุดพ้นจากต้นแหล่งแห่งทุกข์ หลุดจากความมืดคืออวิชชา กลายมาเป็นความสว่างแห่งปัญญาความรู้แจ้ง การฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับชีวิตของผู้ที่ปรารถนาความสุขที่แท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยอัปปมาทสูตร ว่า

โภเค ปตฺถยมาเนน อุฬาเร อปราปเร
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปุญฺกิริยาสุ ปณฺฑิตา
อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณฺหาติ ปณฺฑิโต

บุคคลผู้ปรารถนาโภคะอันโอฬารต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า

เวลาในโลกนี้แสนสั้น เดี๋ยววันเดี๋ยวคืน ยังไม่ทันได้สั่งสมบุญให้เต็มอิ่ม ความชราก็เข้ามาเยือนแล้ว บางคนเกิดมายังไม่ทันได้สั่งสมบุญ กรรมในอดีตก็มาตัดรอนเสียก่อน ทำให้มีเหตุที่ต้องละสังขารไปก่อนถึงเวลาอันควร ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาทในชีวิต ให้เห็นคุณค่าของเวลาแต่ละนาทีที่ผ่านไป โดยมีสติเตือนตนเสมอว่า เราจะไม่ประมาท โดยเฉพาะไม่ประมาทในการประพฤติธรรม เพราะเราตระหนักดีแล้วว่า การปฏิบัติธรรมทำให้เกิดความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต

ภพสามนี้ประกอบด้วยความเพลิน แม้เทพบุตรเทพธิดาในสวรรค์ ก็เสวยทิพยสมบัติกันเพลิน บางครั้งก็ประมาทในชีวิตเหมือนกัน เพราะบนสวรรค์ มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ปรารถนาอะไรก็สำเร็จสมหวังดังใจนึก แค่คิดก็สำเร็จแล้ว ชีวิตประจำวันของเขา ไม่มีการทำธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียนก็ไม่ต้อง เพราะทุกอย่างบังเกิดขึ้นด้วยบุญอย่างเดียว บางครั้งเทวดาก็ลืมนึกไปว่า สักวันหนึ่งตัวก็ต้องจุติ มัวประมาทเพลิดเพลินในเบญจกามคุณ ซึ่งเป็นเหยื่อล่อของพญามาร ครั้นหมดบุญก็ต้องจุติลงมาเกิดเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่ไม่ประมาทหาโอกาสเพิ่มพูนบุญกุศลให้กับตนเอง บุญนั้นจะส่งผลให้ได้เสวยทิพยสมบัติเป็นเวลายาวนาน หรือเมื่อจุติแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป

*ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่บุพพาราม คืนนั้น ท้าวสักกะเสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายอภิวาทพลางทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงจะได้ชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนี้ ภิกษุได้สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดถึงธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นรู้ชัดถึงธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เมื่อเธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดีทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนา ทั้งหลายเหล่านั้น

เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดกลัว เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน และรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ดูก่อนจอมเทพ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้แล ภิกษุได้ชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลส เป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารี ล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

ท้าวสักกะจอมเทพ มีความชื่นชมยินดีในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า รีบถวายอภิวาท ทำประทักษิณและหายไปในทันที ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาคเจ้า มีความดำริว่า ท้าวสักกะทรงด่วนกลับไปเทวโลก เพราะมัวยินดีในการเสวยทิพยสมบัติที่บังเกิดขึ้นด้วยบุญในอดีต พระเถระตั้งใจจะไปเตือนสติให้พระองค์เกิดความสลดสังเวช จึงไปปรากฏกายในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ทันที

ท้าวสักกะจอมเทพกำลังอิ่มเอิบพร้อมพรั่งด้วยทิพยดนตรีในสวนดอกไม้ เมื่อได้เห็นพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกล จึงให้หยุดเสียงดนตรีทิพย์ พลางเสด็จเข้าไปหา และทรงเล่าความอลังการของเวชยันตปราสาทให้พระเถระฟังว่า เมื่อสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างเทวดากับอสูร พวกเทวดาเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ ทำให้เวชยันตปราสาทสูง ๑๐๐ ชั้นบังเกิดขึ้น ในชั้นหนึ่งๆ มีเรือนยอด ๗๐๐ ในเรือนยอดแต่ละแห่ง มีนางอัปสร ๗๐๐ นางอัปสรแต่ละนาง มีเทพธิดาผู้บำรุงบำเรออีก ๗๐๐

ท้าวสักกะได้นิมนต์พระเถระนำหน้าและเข้าไปยังเวชยันตปราสาทพวกเทพธิดาผู้บำเรอของท้าวสักกะ เห็นพระเถระ ต่างทำความนอบน้อม พระเถระได้สำรวจดูความอลังการของเวชยันตปราสาท สมกับเป็นที่ประทับของจอมเทพจริงๆ สวรรค์ชั้นนี้เป็นภพภูมิที่น่ารื่นรมย์มาก ตั้งแต่เวชยันตปราสาทสูง ๑,๐๐๐ โยชน์ เทวสภาชื่อสุธรรมาสูง ๕๐๐ โยชน์ เวชยันตรถสูง ๑๕๐ โยชน์ ช้างเอราวัณสูง ๑๕๐ โยชน์ สวนนันทวัน จิตรลดาวัน ปารุสกวัน มิสสกวันประดับด้วยต้นไม้ทิพย์ ๑,๐๐๐ ต้น ต้นทองหลาง ต้นทองกวาวสูง ๑๐๐ โยชน์ ภายใต้ต้นไม้นั้นมีแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ สูง ๑๕ โยชน์ มีสีเหมือนดอกชัยพฤกษ์ เพราะความอ่อนนุ่มของบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์นั้น เมื่อท้าวสักกะประทับนั่ง ทำให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ครึ่งหนึ่งยุบลงไป ครั้นเสด็จลุกขึ้นก็กลับฟูขึ้นเหมือนดังเดิม

เวชยันตปราสาทประดับด้วยเรือนยอดมีประตูหลายพันประตู เป็นรูปต่างๆ ที่เสาทอง เสาเงิน เสาแก้วมณี เสาแก้วประพาฬ เสาแก้วทับทิม เสาแก้วลาย เสาแก้วมุกดา มีความสวยงามมาก เพราะเครื่องบำรุงบำเรออันเป็นทิพย์นี้ ทำให้ท้าวสักกะทรงประมาทไม่ใส่ใจในการประพฤติธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

พระเถระตั้งใจจะให้ท้าวสักกะไม่ประมาทในความเป็นจอมเทพ จึงบันดาล อิทธาภิสังขาร เอาหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหว ทันใดนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสสวัณมหาราช และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เมื่อเห็นทิพยปราสาทหวั่นไหว ต่างเกิดความโกลาหลสะดุ้งตกใจกันไปทั่ว เมื่อรู้ว่าเกิดจากอานุภาพของพระเถระจึงค่อยโล่งใจ ครั้นได้โอกาส พระเถระจึงได้แนะนำให้ท้าวสักกะ และทวยเทพทั้งหลาย อย่าได้เพลิดเพลินในการเสวยทิพยสมบัติจนลืมประพฤติธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จากนั้นท่านก็อันตรธานหายไปจากเทวโลกกลับมาปรากฏในบุพพาราม เหมือนเดิม

เราจะเห็นว่า ผู้รู้ทั้งหลายท่านมักจะสอนให้เราไม่ประมาท ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในโลกมนุษย์หรือบนสุคติโลกสวรรค์ เมื่อได้โอกาสดีเช่นนี้แล้ว อย่ามัวหลงมัวเมาเสวยสุขในสมบัติเหล่านั้นจนเพลิน ต้องหาโอกาสสั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อจะได้ทำพระนิพพานให้แจ้ง เพราะยังมีสุขที่ยิ่งกว่าเทวโลกหรือพรหมโลกอีกมากมายหลายเท่านัก นั่นคือสุขอันเกิดจากพระ-นิพพาน ซึ่งเป็นธรรมธาตุที่ละเอียดประณีต พระพุทธองค์จึงตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสุขอื่นใด มาทัดเทียมได้ ดังนั้น พวกเราจึงไม่ควรประมาทในชีวิต ให้เร่งรีบสั่งสมบุญให้เต็มที่ ทั้งทาน ศีล ภาวนา อย่าให้ขาดแม้แต่ วันเดียว เพื่อให้ชีวิตสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะก้าวไปสู่จุดหมาย ปลายทางอันสูงสุดเข้าสู่นิพพานกันทุกคน

*มก. จูฬตัณหาสังขยาสูตร เล่ม ๑๙ หน้า ๑๔๗

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3378
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *