มงคลที่ ๒๐ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา – เลิกอบายมุข พบสุขที่แท้จริง

มงคลที่ ๒๐ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา – เลิกอบายมุข พบสุขที่แท้จริง

    ดูก่อนคฤหบดี บุคคลผู้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวรอันใด ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี ได้เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นปัจจัย เมื่ออริยสาวกงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ภัยเวร อันนั้น เป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้

    ความตายติดตามตัวเรามาพร้อมๆ กับการลืมตาขึ้นมาดูโลก เหมือนกับดอกเห็ดที่ผุดขึ้นมาพร้อมกับดิน เราไม่สามารถหนีพ้นจากความตายไปได้ บัณฑิตนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ท่านเห็นว่า ความตายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่ทุกๆ คนจะต้องเผชิญ อันที่จริง ความตายเป็นเพียงการย้ายที่อยู่อาศัย ไปสู่ภพภูมิที่เหมาะสมกับบุญบารมี หรือบาปอกุศลที่ได้ทำไว้ ผู้มีบุญมากก็ย้ายที่อยู่ไปสู่สุคติ ผู้มีบาปมากก็ต้องไปอยู่ในอบายภูมิ เสวยวิบากกรรมในแดนแห่งทุคติ หากว่าเราไม่ประสงค์จะตายอีก มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ เราต้องแสวงหาหนทางที่ไม่กลับมาเกิดอีก ด้วยการหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง เข้ากลางของกลางไปให้เข้าถึงกายธรรมอรหัต ขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป  เมื่อทำได้อย่างนี้ เราจะหลุดพ้นจากพญามัจจุราชได้อย่างถาวร

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ในปฐมภยเวรสูตร ว่า
    ยํ คหปติ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺ ายี สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺ านปจฺจยา ทิฏฺ ธมฺมิกมฺปิ ภยํ เวรํ ปสวติ สมฺปรายิกมฺปิ ภยํ เวรํ ปสวติ เจตสิกมฺปิ ทุกฺขํ  โทมนสฺสํ ปฏิสํเวทยติ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺ านา ปฏิวิรตสฺส เอวนฺตํ ภยํ เวรํ วูปสนฺตํ โหติ

    ดูก่อนคฤหบดี บุคคลผู้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวรอันใด ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี ได้เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นปัจจัย เมื่ออริยสาวกงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ภัยเวรอันนั้น เป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้

     โดยทั่วไป แม้คนเรายังไม่ได้ดื่มสุราเมรัย ก็เมาอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้ว่าตนเองเมา คือ เมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาว คิดว่ายังมีเวลาสนุกสนานอยู่อีกนานหลายปี ยังไม่แก่ชราง่ายๆ จึงไม่รีบขวนขวายประพฤติธรรม บ้างก็เมาในความเป็นผู้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ คิดว่าตนเองยังแข็งแรงอยู่ และจะแข็งแรงต่อไปอีกนาน โดยหารู้ไม่ว่า โรคร้ายต่างๆ กำลังคืบคลานเข้ามาเยือน เพราะร่างกายนี้ เป็นรังแห่งโรค เมื่อวิบากกรรมในอดีตตามส่งผล ก็พร้อมจะนำโรคร้ายมาสู่ตัวเราได้ตลอดเวลา บางคนเมาในชีวิต คือ คิดว่าความตายยังอยู่ห่างไกล อีกนานกว่าความตายจะมาถึง โดยหารู้ไม่ว่า ความตายไม่มีนิมิตหมายบอกล่วงหน้า พญามัจจุราชสามารถคร่าเอาชีวิตไปได้ทุกขณะจิต

    ผู้รู้ทั้งหลาย ท่านสงสารชาวโลก เพราะเห็นว่าส่วนใหญ่ ยังประมาทกันอยู่มาก โดยไม่เฉลียวใจว่า ความตายพร้อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อันที่จริงตั้งแต่เกิดมาก็มีความแก่ ความเจ็บ และความตายติดตามมาอยู่แล้ว เหมือนดวงอาทิตย์ที่โผล่พ้นขอบฟ้า ย่อมบ่ายหน้าไปสู่การอัสดง ไม่เคยยืนยงส่องสว่างตลอดกาล ชีวิตมีภัยอันตรายอยู่รอบด้าน พร้อมจะดับลงได้ทุกขณะ จึงควรไม่ประมาท รีบเร่งสร้างบุญกุศลติดตัวไปให้ได้มากที่สุด

    คนที่ประมาท ดื่มสุราเสพยาเสพติด จึงล้วนแต่เพิ่มความขาดสติให้แก่ตนเองมากยิ่งขึ้น เพิ่มความเมาที่เห็นเป็นรูปธรรมให้หนักขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังเกิดโทษอีกมากมาย ทั้งแก่ตนเอง และคนรอบข้าง รวมถึงประเทศชาติ คนส่วนมากเข้าใจว่า คนที่ดื่มเหล้าเมาจนเดินไม่ไหว หรือพูดไม่รู้เรื่องแล้ว คือคนขาดสติ แต่จริงๆ แล้ว ในทางธรรม ถือว่าขาดสติตั้งแต่คิดจะดื่ม และคิดจะซื้อแล้ว ยิ่งถ้าลงมือเปิดขวดรินเหล้าใส่แก้ว แล้วดื่มล่วงลำคอลงไป ก็ยิ่งขาดสติมากยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งดื่มมากเท่าไร ความเป็นคนก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป เมื่อความเป็นคนเหลือน้อย ความดีก็ลดลงตามลำดับ จนกระทั่งหมดสติ หมดความเป็นคนไปชั่วขณะ ตอนนี้ใจจะหมองมาก หากละโลกตอนนี้ ย่อมมีทุคติเป็นที่ไป

    มีตัวอย่างเกี่ยวกับโทษของการดื่มสุราจนขาดสติอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า 
   
    *ในสมัยหนึ่ง  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จจาริกในเจติยชนบทอยู่นั้น คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงสัตว์ และชาวนาที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จดำเนินมาแต่ไกล ด้วยความเป็นห่วงพระพุทธองค์ จึงเข้าไปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ต้นมะม่วงในอาศรมร้างของชฎิลมีพญานาคอาศัยอยู่ เป็นสัตว์มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษที่มีพิษร้าย ขอพระองค์อย่าได้เสด็จเข้าไปเลย

    พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับแล้ว ทรงดุษณีภาพ คือ นิ่งๆ ไม่แสดงอาการเห็นด้วยหรือคัดค้าน ได้แต่เสด็จดำเนินไปเรื่อยๆ จนครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ ที่ชาวบ้านได้ทูลห้าม  พระพุทธองค์ก็ยังทรงเฉยๆ  เสด็จมุ่งหน้าไปใกล้บริเวณที่พญานาคอยู่  ในครั้งนั้น พระสาคตะได้ตามเสด็จไปด้วย ท่านเดินผ่านไปทางต้นมะม่วงซึ่งเป็นอาศรมร้างของชฎิล ครั้นถึงแล้วได้เข้าไปยังโรงบูชาไฟ ปูหญ้าเครื่องลาด นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เพื่อจะแสดงอานุภาพให้ชาวบ้านแห่งนั้นได้รู้ถึงคุณของพระบรมศาสดา พญานาคเป็นสัตว์ดุร้าย เมื่อเห็นพระสาคตะ เข้ามานั่ง เกิดความโกรธเป็นกำลัง  จึงบังหวนควันขึ้นเพื่อทำร้ายท่านทันที พระสาคตะรู้ว่ากำลังจะถูกประทุษร้าย ก็เข้าฌานบังหวนควันโต้ตอบ นาคทนควันของพระสาคตะไม่ได้เพราะร้อนแรงกว่า จึงเปลี่ยนเป็นพ่นไฟเข้าใส่ หวังจะเผาท่านให้ไหม้เป็นจุณ พระสาคตะก็เข้าเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลไฟที่ร้อนแรงกว่าต้านทานไว้

    เมื่อต่อสู้กันไม่นาน ในที่สุดท่านสามารถปราบพญานาคดุร้ายนั้นให้หมดฤทธิ์ลงได้ จากนั้นก็ให้มากราบขอขมาโทษต่อพระบรมศาสดา  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อเสียงของพระสาคตะก็เลื่องลือไปทั่วทั้งตำบลอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวเมืองอยากถวายวัตถุอันเลิศ แต่เนื่องจากเป็นช่วงปฐมโพธิกาล แม้ชาวเมืองมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เหมาะกับสมณบริโภค ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันถวายสุราใสสีแดงเหมือนเท้านกพิราบ ที่มีรสหอมกลมกล่อม ซึ่งเป็นของหายาก

    ทันทีที่พระสาคตะเดินมาบิณฑบาต แต่ละครัวเรือนต่างพากันกล่าวเชื้อเชิญให้ดื่มน้ำสุราชั้นเลิศ พระสาคตะไม่อยากขัดศรัทธา จึงดื่มสุราจากทุกๆ ครัวเรือนที่เขาถวาย เมื่อดื่มมากเข้า ก็เริ่มเมาประคองสติไม่อยู่ เมื่อจะเดินออกนอกเมืองเพื่อกลับวัด ก็เดินโซเซไปมา แล้วล้มกลิ้งเกลือกลงบนพื้นถนน บาตรและอาหารที่บิณฑบาตได้มา กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง  ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากเมือง พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสาคตะล้มกลิ้งอยู่ที่หน้าประตูเมือง จึงรับสั่งให้ภิกษุช่วยกันพยุงกลับวัด

    เมื่อนำพระสาคตะไปถึงวัด ให้นอนหันศีรษะไปทางพระบรมศาสดา เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ แต่พระสาคตะถูกพิษสุราเล่นงาน ยังไม่สร่างเมา จึงพลิกกลับนอนหันเท้าทั้งสองไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์จึงรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาคตะมีความเคารพ มีความยำเกรงในตถาคตมิใช่หรือ  ภิกษุสงฆ์กราบทูลว่า เป็นดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า

    ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ สาคตะไม่มีความเคารพยำเกรงในตถาคตเลย เพราะไปดื่มน้ำเมา ซึ่งไม่ใช่เป็นของพระอริยะ  สาคตะเคยต่อสู้กับพญานาคที่ดุร้ายได้ แต่เดี๋ยวนี้แม้งูน้ำธรรมดา ก็ไม่สามารถจะต่อสู้ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย น้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วถึงวิสัญญีภาพ เป็นน้ำที่ไม่ควรดื่ม การกระทำของสาคตะไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ตั้งแต่นั้นทรงบัญญัติสิกขาบท ไม่ให้ภิกษุดื่มน้ำเมา

    เมื่อพระสาคตะเมื่อสร่างเมาแล้ว  ได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ของตนจากเพื่อนภิกษุ ก็ตกใจ และเกิดความละอายใจยิ่งนัก รีบเข้าไปกราบขอขมาโทษต่อพระบรมศาสดา  ท่านนำความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนสอนตน และตั้งใจบำเพ็ญภาวนา อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ และได้เป็นเลิศทางด้านผู้มีเตโชกสิณอีกด้วย

    จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า โทษของการดื่มสุราเมรัยที่เห็นด้วยตาเฉพาะในปัจจุบันนี้ยังอันตรายถึงเพียงนี้ แต่โทษที่ยิ่งกว่านี้ในอบายในมหานรก ยังไม่ได้นำมากล่าว ชาวโลกทั้งหลายทั้งๆ ที่รู้โทษของการดื่มสุรา แต่แสร้งทำเป็นเหมือนไม่รู้ เพราะหักห้ามใจตนเองไม่ได้ จึงยินดีที่จะดื่มน้ำเมาเหล่านี้  เมื่อดื่มจนเป็นอาจิณกรรมแล้ว สุดท้ายก็ต้องไปรับใช้กรรมในมหานรกเป็นเวลายาวนาน โทษที่จะเกิดตามมาในสังสารวัฏยังทำให้เป็นผู้ที่ไม่สมประกอบ ปัญญาทึบ และอีกมากมาย ท่านใดที่เคยดื่มก็ให้เลิก จะได้เกิดใหม่ในเส้นทางแห่งความดี สรรพสิริมงคลจะได้หลั่งไหลมาสู่ชีวิตของเรา  ส่วนท่านที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสุราเมรัย และอบายมุขทุกชนิด อยู่แล้ว ขอให้ตั้งใจพัฒนาจิตใจ ให้สูงขึ้นไป ด้วยการสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

*มก. สาคตเถระ เล่ม ๔ หน้า ๖๓๐  

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3291
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *