มงคลที่ ๑๙ งดเว้นจากบาป – กลิ่นแห่งความหลุดพ้น

มงคลที่ ๑๙ งดเว้นจากบาป – กลิ่นแห่งความหลุดพ้น

การเดินทางไกลสู่อายตนนิพพาน เป็นเป้าหมายอันสูงสุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้ ความตั้งใจดั้งเดิมจริงๆ คือ มุ่งกำจัดอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป จะได้ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก นั่นคือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของทุกๆ ชีวิต การที่จะดำเนินจิตของเราให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะนั้น ต้องดำเนินไปตามเส้นทางสายกลาง ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา หนทางแห่งความบริสุทธิ์ในกลางกาย ทำใจหยุดในหยุดลงไป ไม่ถอนถอย ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ต่างดำเนินจิตไปสู่อายตนนิพพาน ดังนั้น ตรงศูนย์กลางกายนี้จึงสำคัญมาก เพราะเป็นต้นทางที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าเราอยากสมปรารถนามีความสุขที่แท้จริง ก็ให้ทำใจให้หยุดนิ่งที่ตรงนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้ตรัสพระคาถาไว้ใน อามคันธสูตรว่า

การไม่กินปลา และเนื้อ ความประพฤติเป็นคนเปลือย ความเป็นคนโล้น การเกล้าชฎา ความเป็นผู้หมักหมมด้วยธุลี การครองหนังเสือพร้อมเล็บ การบำเรอไฟ หรือแม้ว่าความเศร้าหมองในกายที่เป็นไป ด้วยความปรารถนา การย่างกิเลสเป็นอันมากในโลก มีมนต์ และการเซ่นสรวง การบูชายัญ และการซ่องเสพ ย่อมไม่ยังสัตว์ ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจดได้ ผู้ใดคุ้มครองดีแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้แจ้งอินทรีย์แล้ว ตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรง และอ่อนโยน ย่อมล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ละทุกข์ได้ทั้งหมด  ผู้นั้นเป็นนักปราชญ์ที่แท้จริง

คำว่านักปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนานั้น หมายเอาผู้รู้แจ้งในธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้มีความบริสุทธิ์สำรวมอินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้บาปอกุศลธรรมอันใดเข้ามาในจิตใจ อันจะทำให้จิตใจเหินห่างจากกุศลธรรม  ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นนักปราชญ์ จะต้องมีทั้งความรู้ และความประพฤติที่สมบูรณ์ พูดง่ายๆ คือ ต้องถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
ส่วนคำว่าตั้งอยู่ในธรรมนี้เป็นคำลึกซึ้ง ไม่ใช่ของที่จะเข้าใจกันได้ง่ายๆ แบบผิวเผิน ถ้าเข้าถึงธรรมกายแล้ว จึงจะเข้าใจความหมายที่แท้จริง เพราะการตั้งอยู่ในธรรมนี้ คือ ใจต้องหยุดนิ่งแช่อิ่มอยู่ในกลางธรรมกาย จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย นิ่งสนิทอยู่ในแกนกลางกายธรรม ในกลางพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างนี้

ใจที่ตั้งมั่นอยู่ในกลางพระรัตนตรัยนี้ จึงจะเป็นการตั้งอยู่ในธรรมที่แท้จริง ถ้าตั้งอยู่ในธรรมอย่างนี้ จึงจะล่วงพ้นจากทุกข์ได้ ละทุกข์ได้ทั้งหมด ฉะนั้น ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมก็ดี หรือเป็นนักปราชญ์บัณฑิตก็ดี ผู้รู้ทั้งหลายท่านหมายเอาผู้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต ได้เข้าถึงธรรมกายแล้ว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายตลอดเวลา ในใจท่านมีเพียงพระนิพพานเป็นอารมณ์

เพราะฉะนั้น เราต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ลุ่มลึกไปตามลำดับ เพราะการเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรมนี้ ไม่ใช่ดูกันที่การไม่กินปลาไม่กินเนื้อ ดูความเคร่งครัดอะไรต่างๆ เหล่านั้น แต่ดูที่ความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าที่ปุถุชนคนธรรมดาจะเข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องคุณธรรมภายใน แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปสำหรับผู้ที่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตน เพื่อให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งคุณธรรมภายนอกและภายใน

ถ้าเราตั้งใจกันอย่างจริงๆ จังๆ ปฏิบัติธรรมให้ถูกส่วน ให้สมควรแก่ธรรม สักวันหนึ่งเราก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม เราจะได้รับรสแห่งธรรม รู้รสแห่งพระนิพพาน ที่ว่าเป็นเอกันตบรมสุขนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเรารับรู้ และกระจ่างแจ้งในสิ่งเหล่านี้ เราก็จะหายสงสัยในธรรมของพระอริยเจ้า หากเราไม่รู้แจ้ง  เห็นจริงสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของเราเอง เราก็จะไม่ซาบซึ้ง ที่ไม่ซาบซึ้งเพราะไม่ได้ลงมือปฏิบัติ หรืออาจจะลงมือปฏิบัติแล้ว แต่ทำไม่ได้ เพราะทำไม่ถูกวิธี หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อไม่รู้แจ้ง ก็จะมีความสงสัยอยู่ร่ำไป ฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุด คือ ลงมือพิสูจน์ให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง

*เหมือนดังเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ในยุคของพระกัสสปทศพล ช่วงพุทธันดรที่ผ่านมา ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ซึ่งหมายถึงพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองพาราณสี เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยลักษณะมหาบุรุษทุกประการ แตกฉานในไตรเพท และศิลปศาสตร์ทุกชนิด ต่อมาเมื่อพระบรมโพธิสัตว์บารมีเต็มเปี่ยมมีอินทรีย์แก่กล้า ก็รู้ตนเองว่าจะได้ตรัสรู้สัพพัญญุตญาณ ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในปราสาทนั้นเอง  ท่านได้กำหนดใจเข้าสู่ภายใน ทำฌานและอภิญญาให้บังเกิดขึ้น และเสด็จออกบวชพร้อมปราสาททั้งหลัง ทั้งตัวท่านและปราสาทได้เลื่อนลอยไปถึงควงไม้ศรีมหาโพธิ์ แล้วท่านก็อธิษฐานให้ปราสาทกลับไปอยู่ที่เดิม ท่านนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่บนรัตนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์เพียง ๗ วัน ก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในคราวนั้น ที่ป่าอิสิปตนะมีนักบวช ๒๐,๐๐๐ รูป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกบรรพชิตเหล่านั้นมา เพื่อทรงแสดงธรรมจักรให้ฟัง  เมื่อจบพระธรรมเทศนา นักบวชทั้ง ๒๐,๐๐๐ รูป ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที พระพุทธองค์จึงมีภิกษุสงฆ์ ๒๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวารในขณะนั้น

วันหนึ่ง พรานชาวเมืองพาราณสีเข้าไปหาของป่าในป่าลึก เดินเข้าไปถึงอาศรมของติสสฤๅษี ผู้เคยเป็นเพื่อนสนิทกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่ยังไม่ได้บวช พรานป่าเห็นเข้าจึงยกมือไหว้ ฤๅษีถามถึงเรื่องราวความเป็นไปในเมือง พรานเล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในเมืองพาราณสี

ท่านรู้ทันทีว่า ต้องเป็นกัสสปะผู้เป็นสหายแน่นอน และถามต่อไปว่า  พระองค์เสวยกลิ่นดิบหรือไม่ พรานไม่เข้าใจในความหมายของกลิ่นดิบว่าคืออะไร ท่านจึงบอกว่ากลิ่นดิบก็คือปลาและเนื้อ พรานจึงตอบว่า พระองค์เสวยอยู่ ฤๅษีคิดอยู่ในใจว่า ทำอย่างนี้ไม่สมควร เราควรจะห้ามพระองค์  ติสสฤๅษีจึงเดินทางไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนะ พลางทูลถามพระพุทธองค์ว่า พระองค์ยังเสวยกลิ่นดิบอยู่หรือเปล่าพระเจ้าข้า  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ท่านฤๅษี เราหาเสวยกลิ่นดิบไม่  ฤๅษีจึงกล่าวชื่นชมอนุโมทนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันต่อมา พระพุทธองค์ไม่เสด็จออกบิณฑบาต ด้วยหวังจะโปรดติสสฤๅษี เรื่องการปรารภเหตุกลิ่นดิบ พระราชาพระนามว่ากิกี ผู้เป็นโยมอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ ได้รับสั่งให้อำมาตย์นำพระกระยาหาร มีข้าวยาคู และเนื้อนานาชนิดอันประณีตมาถวาย ดาบสเห็นดังนั้นก็คิดว่า พระพุทธองค์คงไม่เสวยเนื้อ แต่พระพุทธองค์ทรงเสวยข้าวยาคู และเนื้อที่เขาถวายมาตามปกติ ติสสฤๅษีเห็นดังนั้น เกิดความไม่พอใจว่า  ทำไมพระองค์ตรัสอย่างหนึ่งแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง จึงกล่าวตัดพ้อพระพุทธองค์ว่า สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เหง้ามัน และผลไม้ที่ได้แล้วโดยธรรม หาปรารถนาบริโภคกาม หรือกล่าวคำเหลาะแหละ แต่พระองค์เสวยเนื้อที่คนอื่นนำมาถวาย เสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ชื่อว่าเสวยกลิ่นดิบ ไฉนเลยพระองค์ถึงบอกว่า ไม่เสวยกลิ่นดิบ แต่ยังเสวยเนื้อที่ปรุงแล้ว พระองค์จะแก้ความข้อนี้ว่าอย่างไร

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสตอบติสสฤๅษีว่า ชนเหล่าใดฆ่าสัตว์ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย มีความเห็นว่า ทานที่บุคคล ให้แล้วไม่มีผล เป็นผู้ประทุษร้ายมิตร มีปกติไม่ให้ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่าเป็นกลิ่นดิบ และสัตว์เหล่าใดขวนขวายในอกุศลกรรม ตายแล้วย่อมเข้าถึงที่มืด มีศีรษะลงตกไปสู่นรก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อ และโภชนะหาชื่อว่ากลิ่นดิบไม่ บุคคลผู้ไม่เสวยกลิ่นดิบ คือ ผู้ไม่ทำบาปอกุศลด้วยกาย วาจา ใจ เป็นผู้ไม่มีตัณหา และทิฏฐิ เป็นผู้ที่มารไม่อาจครอบงำได้ เพราะหลุดพ้นแล้วจากบ่วงแห่งมาร

เมื่อติสสฤๅษีฟังถ้อยคำสุภาษิตของพระพุทธองค์แล้ว ก็เข้าใจได้แจ่มแจ้ง หายสงสัย เกิดดวงปัญญา และความศรัทธาที่จะประพฤติธรรมตามพระพุทธองค์ จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อขอบรรพชา ณ ที่ตรงนั้น ท่านทำความเพียรได้ ๒-๓ วัน ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

เราจะเห็นได้ว่า ความหมายแห่งธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความละเอียดลึกซึ้งไปตามลำดับ กลิ่นดิบที่แท้จริง คือ บาปอกุศลธรรมทั้งปวง เป็นสิ่งที่ใครๆ ไม่ควรบริโภคเป็นอย่างยิ่ง แต่ควรทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ใจใสสว่าง ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงธรรมกายในตัวให้ได้ ทำทั้งวันทั้งคืน ให้ใจแช่อิ่มอยู่ในกลางพระธรรมกายตลอดเวลา ถ้าทำได้อย่างนี้ อย่างที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านทำ จะได้ชื่อว่า เป็นผู้บริโภคกลิ่นศีล กลิ่นธรรม กลิ่นแห่งความหลุดพ้น ไม่ใช่กลิ่นดิบ ถ้าใจเราหยุดได้ เราจะมีความสุขอยู่ในกลางองค์พระธรรมกาย ชีวิตเราเกิดมาจะมีคุณค่า ได้บรรลุเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาไม่เสียชาติเกิด เพราะได้ทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ดังนั้น ให้หมั่นหยุดใจกันทุกๆ วัน

*มก. อามคันธสูตร เล่ม ๔๗ หน้า ๘๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3167
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *