มงคลที่ ๑๘ ทำงานไม่มีโทษ – คนกินเดนหรือคนกินซากศพ

มงคลที่ ๑๘ ทำงานไม่มีโทษ – คนกินเดนหรือคนกินซากศพ

        ความเป็นคนประพฤติเยี่ยงนักบวช แต่เป็นผู้หมักหมมด้วยธุลีกิเลส มีความเศร้าหมองในกายที่เต็มไปด้วยความปรารถนา แม้จะอาศัยมนต์และการเซ่นสรวง ก็ไม่อาจทำให้ผู้นั้นข้ามความสงสัยไปได้ หรือทำให้หมดจดได้

        แต่ผู้ใด คุ้มครองดีแล้วในอินทรีย์ทั้งหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้แจ้งอินทรีย์แล้วตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรง อ่อนโยน ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเสียได้ ก็ย่อมละทุกข์ได้หมด ผู้นั้น ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตที่แท้จริง
        ชีวิตของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นชีวิตที่มีคุณค่า เพราะเกิดมาแล้วมุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง และแสวงบุญสร้างบารมี เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนมชีพอยู่ ผู้มีบุญในยุคสมัยนั้น ต่างพากันออกบวชเพราะเห็นภัยในวัฏฏะ คือ เห็นว่าชีวิตมีทุกข์ ผู้ที่มีฐานะดี ซึ่งดูเผินๆ ก็เหมือนจะมีความสุข แต่จริงๆ แล้วล้วนมีความทุกข์ทั้งสิ้น มีชีวิตแบบหน้าชื่นอกตรม มีทุกข์สุมอยู่ในใจที่ไม่รู้จะไปบอกใคร ดังนั้น หลายๆ ท่านจึงปลีกตัวออกบวช มาใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีแค่อัฐบริขาร หล่อเลี้ยงสังขารด้วยอาหารของสาธุชน และมีเป้าหมายที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง  ส่วนญาติโยมในสมัยพุทธกาล ต่างทำทั้งธุรกิจกับจิตใจไปด้วยกัน กลางวันทำงานหาเลี้ยงชีพ ตอนเย็นเข้าวัดฟังธรรม ยุคสมัยนี้ น่าจะเอาอย่างสมัยพุทธกาล เพราะแม้เป็นฆราวาสผู้ครองเรือน ก็สามารถบรรลุธรรมได้ และมีหลายท่านที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นต้น ฉะนั้น ผู้มีบุญมีปัญญา จึงต้องรู้จักใช้ชีวิตให้มีคุณค่าเช่นนี้

มีพระพุทธภาษิตใน อามคันธสูตร ว่า

        ความเป็นคนประพฤติเยี่ยงนักบวช แต่เป็นผู้หมักหมมด้วยธุลีกิเลส มีความเศร้าหมองในกายที่เต็มไปด้วยความปรารถนา แม้จะอาศัยมนต์และการเซ่นสรวง ก็ไม่อาจทำให้ผู้นั้นข้ามความสงสัยไปได้ หรือทำให้หมดจดได้

        แต่ผู้ใด คุ้มครองดีแล้วในอินทรีย์ทั้งหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้แจ้งอินทรีย์แล้วตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรง อ่อนโยน ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเสียได้ ก็ย่อมละทุกข์ได้หมด ผู้นั้น ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตที่แท้จริง

        ผู้ที่ไม่รู้จักสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมเปิดช่องทางให้ความทุกข์หลั่งไหลเข้ามาสู่ตนได้ง่าย ความไม่สำรวมจะเป็นเหตุให้ชีวิตพลั้งพลาด ให้เผลอไปก่อกรรมทั้งทางกาย วาจา และใจได้ ทำให้ต้องมารับผลกรรม มีวิบากที่ทุกข์ทรมานรองรับ อาจดูคล้ายๆ กับชีวิตจะถูกกลั่นแกล้ง แต่แท้ที่จริง เป็นวิบากกรรมที่ตนได้ทำไว้นั่นเอง
        ส่วนผู้ที่อบรมใจ รู้จักสำรวมอินทรีย์ ไม่คะนองปาก คะนองมือ คะนองเท้า มีใจสงบนิ่ง ตั้งมั่นอยู่ในธรรม มีใจฝักใฝ่ในบุญกุศล มั่นคงในพระรัตนตรัย จะสามารถข้ามเครื่องข้อง คือ เบญจกามคุณทั้งหลาย ที่หลอกล่อให้มนุษย์หลงใหลเพลิดเพลินในโลกนี้ได้ คือ แม้จะอาศัยกามภพนี้สร้างบารมี แต่ใจไม่ติดอยู่ในกามภพ มีใจอยู่เหนือโลกพ้นโลก

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญในเรื่องการสำรวมอินทรีย์มาก ยิ่งเป็นนักบวชที่คุ้มครองอินทรีย์ได้ดีแล้ว ย่อมยังความศรัทธาเลื่อมใสให้เกิดขึ้นกับพุทธบริษัท ๔ และยังเป็นพลวปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ด้วย พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้แก่พระภิกษุ ๗ รูป  เมื่อครั้งประทับอยู่ที่บุพพาราม ซึ่งเป็นอารามของมหาอุบาสิกาวิสาขา ที่ได้สร้างถวายไว้ในพระพุทธศาสนา

        *เรื่องมีอยู่ว่า มีภิกษุ ๗ รูปในบุพพารามที่ไม่ค่อยสำรวมอินทรีย์ มีความคึกคะนอง เพราะยังเป็นวัยรุ่นอยู่ จนเป็นเหตุให้หมู่สงฆ์ยกเรื่องนี้ขึ้นมาสนทนากัน แม้ท่านทั้งเจ็ด จะมีศรัทธามาบวช แต่เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้ดี จึงประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับความเป็นบรรพชิตผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้เรียกท่านเหล่านั้นมา ทรงระลึกชาติในหนหลัง เพื่อตรัสเตือนภิกษุเหล่านั้นให้เกิดธรรมสังเวช และได้ให้สติว่า 

        สมัยหนึ่ง ครั้งพระเจ้าอดิศรพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี มีชายหนุ่ม ๗ คน เป็นพี่น้องกัน ได้อาศัยอยู่ในตำบลหนึ่งในแขวงเมืองพาราณสี ชายหนุ่มทั้ง ๗ คน มีใจฝักใฝ่ในการบวช จึงพากันออกบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่า แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป แทนที่จะทำหน้าที่ของนักบวชให้สมบูรณ์ คือ มุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง กลับมาละความเพียร หันมาเล่นคึกคะนองกัน ปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปอย่างไร้ค่า ไร้ประโยชน์    ไร้สาระแก่นสาร

        ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นพระอินทร์ ทรงสอดส่องทิพยจักษุมายังโลกมนุษย์ เห็นพฤติกรรมของท่านทั้งเจ็ดผู้เคยมีความตั้งใจดีในตอนต้น แต่กลับมาเป็นผู้ประมาทในภายหลัง จึงหวังที่จะสงเคราะห์ด้วยมหากรุณา ได้เสด็จลงมาจากเทวโลก แปลงเป็นพญานกแขกเต้าที่พูดภาษามนุษย์ได้ และบินไปใกล้อาศรมของฤๅษีทั้ง ๗ จับอยู่บนกิ่งไม้ พลางกล่าวลอยๆ ขึ้นว่า พวกคนกินเดน เลี้ยงชีวิตอยู่อย่างสบาย ถ้าสำรวมก็จะไปสู่สุคติในปรโลกได้

        ฤๅษีได้ยินนกพูดดังนั้น ต่างถามกันว่า ที่นกแขกเต้าพูดนั้น ชมเราหรือติพวกเรากันแน่ นกพูดขึ้นทันทีว่า เราไม่ได้กล่าวชมพวกท่านหรอก เพราะพวกท่านกินซากศพ ไม่ได้กินเดน  ฤๅษีย้อนถามว่า พวกเราได้สละเรือน สละเพศฆราวาสออกบวช ไม่เคยไปเบียดเบียนใคร มีชีวิตอยู่ในป่าด้วยการอาศัยซากสัตว์ที่เสือเหลือง เสือโคร่งล่ามาแล้วทิ้งไว้ อาชีพของเราบริสุทธิ์ ท่านจะมาติเตียนเราได้อย่างไร

        พญานกแขกเต้าพูดว่า เราไม่ได้ติเตียนท่าน และไม่ได้กล่าวชมท่าน แต่เราพูดไปตามความเป็นจริงว่า ใครก็ตามที่บริโภคอาหารที่เหลือจากสมณะหรือพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม หรือได้ประพฤติตนเป็นคนขอทานก็ตาม คนเหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็นคนกินเดน
        ส่วนท่านทั้งหลายไม่ใช่คนกินเดน เป็นแต่กินซากศพที่เหลือจากสัตว์ อาชีพท่านบริสุทธิ์ไม่เบียดเบียนใคร แต่อาจเบียดเบียนตัวเอง เพราะการไม่ประพฤติธรรม เหมือนคนประมาทที่ตายไปแล้วเช่นเดียวกับซากศพ นี้ไม่ใช่คำติเตียนของเรา แต่เป็นคำกล่าวของบัณฑิตที่กล่าวว่า ผู้ประมาทเหมือน คนที่ตายไปแล้ว

        ฤๅษีทั้งเจ็ดฟังวาจาสุภาษิตของพญานกแขกเต้า เกิดความละอาย และเกิดจิตสำนึกของความเป็นนักบวชขึ้นมาทันทีว่า แต่เดิมเราสู้อุตส่าห์มาบวช เพื่อจะทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงหาทางพ้นทุกข์  แต่ไฉนบัดนี้  เรากลับกลายเป็นคนประมาท เลินเล่อ คึกคะนอง ไม่ทำตามมโนปณิธานดั้งเดิมที่ได้ตั้งใจไว้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

        เมื่อท่านได้สติแล้ว ต่างกลับมาสำรวมใจ สำรวมอินทรีย์ ทั้งหก และตั้งใจทำความเพียร ยังวันคืนให้ล่วงไปด้วยการปรารภความเพียร จนกระทั่งได้บรรลุฌานสมาบัติ เกิดคุณวิเศษ เป็นนักบวชผู้ทรงธรรม ที่ควรแก่การเคารพสักการบูชาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

        ครั้นภิกษุทั้งเจ็ดได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดา แล้ว ต่างเกิดธรรมสังเวช และกลับได้มหาสติขึ้นมา ดวงปัญญาก็ผ่องแผ้ว สว่างไสว มีใจตั้งมั่นอยู่ในธรรม ในพระรัตนตรัย ได้บรรลุธรรมาภิสมัยกันทุกรูป ตามกำลังบุญและกำลังแห่งความเพียรของแต่ละท่านที่ได้สั่งสมมา

        เราจะเห็นได้ว่า ความสำรวม และความเพียร มีอุปการคุณอย่างมากต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะบุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ชีวิตที่จะประสบความสำเร็จทั้งทางโลก และทางธรรมได้ ก็ด้วยอาศัยความเพียร ยิ่งถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม ความเพียรถือเป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงธรรม และผู้มีความเพียรย่อมอยู่ใกล้หนทางพระนิพพาน จุดสุดท้ายของทุกๆ ชีวิต จะต้องไปนิพพานในที่สุด ต่างกันเพียงช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับอินทรีย์อ่อนหรือแก่ บารมีมากหรือน้อย แต่สุดท้ายต้องไปนิพพานกันหมด เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดมาชาตินี้แล้ว ควรมาศึกษา ทำความเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตให้ดี อย่าประมาท ให้หันมาประพฤติธรรม ฝึกทำใจหยุดใจนิ่งให้เข้าถึงพระรัตนตรัย จะได้ทำพระนิพพานให้แจ้งกันทุกคน
 
*มก. วิฆาสาทชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๑๘๗  

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3153
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *