มงคลที่ ๑๗ สงเคราะห์ญาติ – สังคหวัตถุธรรม

มงคลที่ ๑๗ สงเคราะห์ญาติ – สังคหวัตถุธรรม

การให้ทาน การพูดจาไพเราะ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ในโลกนี้
ความเป็นผู้มีตนสม่ำเสมอในธรรมทั้งหลายนั้น ตามควร

        คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสัจธรรมที่ทุกคนควรมาพิสูจน์ ผู้ที่ปฏิบัติตามย่อมสามารถรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนเอง และทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์ เข้าถึงความสุขและความบริสุทธิ์ภายในได้จริง ธรรมะของพระพุทธองค์เป็นความรู้อันบริสุทธิ์ที่กลั่นออกมาจากกลางพระธรรมกายที่พระองค์ได้เข้าถึง ด้วยวิธีการทำใจให้หยุดนิ่งอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เป็นธรรมโอสถขนานเอก ที่สามารถเยียวยารักษาจิตใจของมวลมนุษยชาติ ให้หลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะเมื่อใจปราศจากสิ่งเหล่านี้ ใจย่อมสะอาดบริสุทธิ์ มีอานุภาพ เป็นอิสระอย่างแท้จริง และจะเกิดมหากรุณา มีแต่ความรักความเมตตาปรารถนาดีต่อกันเสมอ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สังคหวัตถุสูตร ว่า
ทานญฺจ เปยฺยวชฺชญฺจ        อตฺถจริยา จ ยา อิธ
สมานตฺตตา จ ธมฺเมสุ        ตตฺถ ตตฺถ ยถารหํ

การให้ทาน การพูดจาไพเราะ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ในโลกนี้
ความเป็นผู้มีตนสม่ำเสมอในธรรมทั้งหลายนั้นๆ ตามควร

        การอยู่ร่วมกันในสังคม มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาเป็นที่รักของคนรอบข้าง เป็นที่ยอมรับนับถือของทุกๆ คน และปรารถนาที่จะได้ยินได้ฟังคำยกย่องสรรเสริญ มากกว่าเสียงนินทาว่าร้าย พระพุทธองค์ได้สอนวิธีที่จะทำตนให้เป็นที่รักของสังคมว่า จะต้องรู้จักการให้ ธรรมดาแล้วทุกชีวิตต่างดำรงอยู่ได้ด้วยการให้ หากมนุษย์ทุกคนในโลกรู้จักให้ทาน เสียสละแบ่งปัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่พยาบาทปองร้ายกัน โลกนี้ย่อมจะเกิดความสงบสุขอย่างแน่นอน

        นอกจากการให้แล้ว ต้องรู้จักพูดจาปราศรัย หัดพูดจาให้ไพเราะนุ่มนวลน่าฟัง ที่เรียกว่า ปิยวาจา คือ คำพูดที่พูดแล้วเป็นที่รัก ฟังแล้วเกิดกำลังใจ ที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนอยากทำความดีให้ยิ่งขึ้นไป ไม่พูดจาส่อเสียด ก่อให้เกิดความแตกแยก พูดแต่คำที่จะทำให้เกิดความสามัคคี เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ ประสานใจทุกๆ ดวงให้เป็นหนึ่งเดียว เหมือนน้ำฝนประสานดินเหนียวที่แตกระแหงให้เป็นผืนแผ่นเดียวกัน

        หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญสอนเกี่ยวกับการใช้วาจาว่า ในการสมาคมกับญาติมิตร เราต้องอาศัยวาจาที่ไพเราะเสนาะโสต วาจาใดที่พูดออกไปแล้ว เป็นที่ดึงดูดใจ เหนี่ยวรั้งใจ สมานไมตรี ไม่กระทบคนอื่น ต้องใช้วาจานั้น วาจาไพเราะเช่นนี้ ดึงดูดใจ ให้ฟังแล้วอยากฟังอีก อย่างนี้เรียกว่า ปิยวาจา วาจาเช่นนี้ เป็นของสำคัญยิ่งในหมู่มนุษย์ จะต้องรู้จักพูดให้เป็น  นี่ท่านสอนไว้อย่างนี้ ถ้าใครรู้จักใช้วาจาให้เป็น ถือว่าวิเศษนัก จะมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่รักของทุกๆ คน

        อัตถจริยา คือ ต้องรู้จักทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ให้มีน้ำใจประดุจพระโพธิสัตว์ ที่ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกให้พ้นจากทุกข์ หากรู้ว่าใครกำลังประสบปัญหา แม้เขาไม่ขอความช่วยเหลือ ก็ให้มีมหากรุณา อาสาเข้าไปช่วย นี่เป็นสิ่งที่แสดงถึงจิตใจอันดีงาม เป็นจิตใจของนักสร้างบารมีผู้รักในการฝึกฝนอบรมตน ซึ่งนอกจากจะฝึกตนเองให้บริสุทธิ์แล้ว ยังปรารถนาให้โลกบริสุทธิ์ด้วย

        สมานัตตตา คือ ต้องรู้จักวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะเข้าไปสู่สมาคมไหน ให้รักษาภาวะปกติที่ดีของตนไว้ รักษาใจให้บริสุทธิ์เป็นกลางๆ ไม่หวั่นไหวไปตามกระแส ปรับตัวให้เข้ากันได้กับทุกๆ คน อีกทั้งควบคุมตนเองด้วยสติและปัญญา เราย่อมเป็นที่รักที่พอใจของทุกคน ดังเช่นเรื่องของหัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีผู้มีสังคหวัตถุธรรมประจำใจ

        *ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองอาฬวี ท่านหัตถกะ ได้ชวนพวกพ้องบริวารประมาณ ๕๐๐ คน ไปเข้าเฝ้าและสนทนาปราศรัยกับพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า หัตถกะ ท่านมีมิตรสหายมากมาย ได้ยินว่าทุกๆ คน เป็นที่รักของท่าน และท่านเองก็เป็นที่รักของทุกๆ คน ท่านสงเคราะห์พวกพ้องของท่านอย่างไร
          ท่านหัตถกะทูลตอบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ได้สงเคราะห์เพื่อนๆ และบริวารมากมายด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ
 
ถ้ารู้ว่าผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการให้ทาน  ข้าพระองค์จะสงเคราะห์ ด้วยการให้ทาน
ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยวาจาที่อ่อนหวาน ข้าพระองค์จะสงเคราะห์ด้วยวาจาที่อ่อนหวาน
ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ข้าพระองค์สงเคราะห์ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์
ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการวางตัวให้เหมาะสม ข้าพระองค์ก็จะสงเคราะห์ด้วยการวางตัวให้เหมาะสม พระเจ้าข้า

        พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญหัตถกะว่า ท่านทำดีแล้ว สมแล้วที่เป็นสาวกของเรา เพราะเมื่อฟังธรรมก็นำไปพิจารณาไตร่ตรอง และลงมือปฏิบัติตาม ปฏิบัติแล้วก็ได้ผลสมควรแก่การปฏิบัติ พระพุทธองค์ตรัสสอนต่อไปว่า ผู้ที่เป็นใหญ่ เป็นที่ยอมรับของมหาชนในสมัยก่อน ล้วนปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุธรรมทั้ง ๔ ประการ  แม้ในยุคปัจจุบัน ผู้นำก็ต้องสงเคราะห์ บริวารด้วยสังคหวัตถุ ๔  และถึงในอนาคต ถ้าผู้นำจะให้เป็นที่รัก ก็ต้องสงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการนี้แหละ

        จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับพระภิกษุว่า    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หัตถกะนี้เป็นผู้มีคุณธรรมมากมาย แต่ก็ไม่แสดงให้ใครรู้ว่าเป็นผู้มีธรรมะประจำใจ สามารถวางตัวได้เสมอต้นเสมอปลาย พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งท่านหัตถกะ ให้เป็นอุบาสกสาวกผู้เลิศในด้านการสงเคราะห์พวกพ้องบริวาร แม้พระบรมศาสดาเองก็ทรงทำเช่นนั้นเหมือนกัน คือ ทรงบำเพ็ญ สังคหวัตถุธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม และบำเพ็ญอย่างสม่ำเสมอตลอดมา จนกระทั่งบารมีทั้ง ๓๐ ทัศเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ทำให้มีสาวกพุทธบริษัทมากมาย ทั้งที่เป็นเทวดา พรหม และอรูปพรหม อีกนับไม่ถ้วน

        พระพุทธองค์ได้กล่าวถึงอานิสงส์ที่เกิดจากการปฏิบัติสังคหวัตถุธรรมว่า บุญที่เกิดจากการให้ทานเป็นประจำ จะทำให้ได้ลักษณะมหาบุรุษ คือ มีฝ่ามือและฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม และมีลายเป็นตาข่ายงดงาม น่าดูน่าชมมาก และบุญที่เกิดจากการใช้ปิยวาจานั้น จะทำให้มีเสียงดุจท้าวมหาพรหม ที่ชัดเจน แจ่มใส ไพเราะ ไม่แหบเครือ ก้องกังวาน สามารถเหนี่ยวรั้งใจผู้ฟัง ให้ดื่มด่ำไปกับน้ำเสียงนั้น และหากเมื่อใดได้ฟังพระธรรมเทศนา ใจก็จะน้อมนำเข้าสู่กระแสแห่งธรรมได้โดยง่าย และจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ภายใน หลังจากฟังธรรมจบนั้นเอง

        อานิสงส์ของอัตถจริยาและสมานัตตตานั้น จะทำให้มีญาติสนิทมิตรสหายตลอดจนพวกพ้องบริวารมากมาย รวมถึงพระราชา มหาอำมาตย์ เศรษฐี มหาเศรษฐี พ่อค้า ประชาชนทุกชาติทุกภาษา ทั้งวรรณะต่างๆ ให้การยอมรับนับถือ ทั้งหมดจะมาเป็นพันธมิตร เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน และไม่ว่าจะไปที่ไหน ย่อมได้รับการปฏิสันถารเป็นอย่างดี

        เพราะฉะนั้น หากใครปรารถนาอานิสงส์เช่นนี้ ให้หมั่นประกอบเหตุ คือ สังคหวัตถุ ๔ คือ หมั่นทำทาน มีปิยวาจา อัตถจริยาและสมานัตตตา รวมทั้งการปฏิบัติธรรมควบคู่กันไปด้วย ทำทั้งหยาบและละเอียดให้สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ยิ่งถ้าเราหมั่นปฏิบัติธรรม ฝึกใจให้หยุดนิ่ง จะทำให้สิ่งเหล่านี้ยิ่งสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อใจละเอียดสะอาดบริสุทธิ์ คุณธรรมเหล่านี้ก็จะได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น จนกระทั่งนำเราไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิตได้ คือสามารถขจัดกิเลสอาสวะให้หลุดร่อนออกจากใจ ได้เข้าถึงพระธรรมกายที่ละเอียด บริสุทธิ์ที่สุด นี่คือเป้าหมายชีวิต ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงให้ได้กันทุกๆ คน

*มก. ทุติยหัตถกสูตร เล่ม ๓๗ หน้า ๔๓๖

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3114
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *