มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม – สอนตน สอนคนให้ถึงธรรม

มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม – สอนตน สอนคนให้ถึงธรรม

        การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้  เพราะกว่าที่ใครสักคนหนึ่งจะเกิดปัญญา เห็นภัยในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีมโนปณิธานสูงส่งที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง และอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ตามแบบอย่างพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย มิใช่เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นได้ง่าย  หากต้องอาศัยการฝึกฝนตนเองมานับภพนับชาติไม่ถ้วน  จนได้มาเกิดในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สั่งสมบุญบารมีมากขึ้นตามลำดับ และต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานมาก  มโนปณิธานที่ตั้งไว้จึงจะบรรลุผล เราเองก็เช่นเดียวกัน เมื่อมุ่งมั่นจะสร้างบารมีกันเป็นทีม เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพาน ต้องสั่งสมบุญทุกชนิดแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และต้องทำกันไปอย่างนี้จนหมดอายุขัย ต้องอาศัยขันติธรรม คือ ความอดทน จนกว่าเราจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางกันทุกคน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า
“หากว่า นรชนกล่าวพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก  แต่เป็นผู้ประมาท ไม่ประพฤติตามพระพุทธพจน์นั้น  เขาย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล  เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น  หากว่านรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้น้อย  แต่เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้  เขาละราคะ โทสะและโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้ หรือในโลกหน้า  เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล”

        ความรู้ในทางพระพุทธศาสนานั้น มีทั้งภาคปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ทั้งสามส่วนต้องไปพร้อมๆ กัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะจะทำให้ความรู้นั้นไม่สมบูรณ์ ความรู้ภาคปริยัตินั้น เปรียบเสมือนแผนที่ในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ จำเป็นที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจแจ่มแจ้ง จะได้เดินทางมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ไม่ต้องไปหลงทางให้เสียเวลา แต่แผนที่คือกระดาษเปล่า 

        ถ้าหากเราไม่ออกเดินทาง เราย่อมไม่ได้ระยะทาง และไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง  ความรู้ในทางปริยัติก็เช่นกัน ถ้าเราไม่นำมาประพฤติปฏิบัติ จะไม่เกิดผลเป็นปฏิเวธ ซึ่งเปรียบเสมือนคนเลี้ยงโคที่ไม่ได้ดื่มปัญจโครส ฉะนั้นพระพุทธวจนะทั้งหมดที่มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกนั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง สงบ ประณีต  ลำพังอาศัยแต่การอ่านพระไตรปิฎก แม้อ่านจบแล้วตั้งหลายรอบ  จนเกิดความรู้แตกฉาน  ความรู้เหล่านั้นยังอยู่ในขั้นจินตมยปัญญาและสุตมยปัญญาเท่านั้น  แต่การจะรู้แจ้งเห็นจริงในพระพุทธวจนะได้ จะต้องลงมือปฏิบัติอย่างเดียว จึงจะหยั่งรู้ทั่วถึงธรรมทั้งหลายไปตามความเป็นจริง ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา  มิใช่เพียงแค่ท่องจำจนคล่องปากขึ้นใจ ทำความเข้าใจในเนื้อหาทั้งโดยอรรถะและพยัญชนะเท่านั้น  แต่ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง
 
       เนื่องจากมนุษย์ที่เกิดมาบนโลกใบนี้ แต่ละคนมีบุญบารมีที่สั่งสมมาไม่เท่ากัน  ดังนั้น จึงทำให้มีจริตอัธยาศัยที่แตกต่างกัน ซึ่งอุปมาดังดอกบัว ๔ เหล่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีในการแสดงธรรมไปตามจริตอัธยาศัยและกำลังบารมีของสัตว์ทั้งหลาย  เพราะพระพุทธองค์ทรงประกอบด้วยพุทธานุภาพ ทรงฉลาดในโวหาร  ก่อนจะทรงแสดงธรรมแก่ผู้ใด จะทรงตรวจตราดูภูมิหลังของผู้ฟังด้วยพระสัพพัญญุตญาณก่อน และจึงแสดงธรรมให้เหมาะสมกับจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังนั้นได้รับผลเป็นอัศจรรย์  คือ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันเป็นจำนวนมาก

        พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมด้วยอาการ ๓ อย่างด้วยกัน คือ ประการแรก ทรงสอนให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น ประการที่สอง ทรงแสดงธรรมมีเหตุที่ผู้ฟังจะสามารถตรองตามให้เห็นจริงตามที่พระองค์ทรงแสดงได้ และประการสุดท้าย ทรงแสดงธรรมเป็นอัศจรรย์ คือ ผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้นจะได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่การปฏิบัติ  ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงแบ่งคนออกเป็น ๔ จำพวกด้วยกัน คือ พวกที่รู้ธรรมแต่ไม่ประพฤติธรรม  พวกที่ไม่รู้ธรรมแต่ประพฤติธรรม  อีกพวกหนึ่งทั้งไม่รู้ธรรมทั้งไม่ประพฤติธรรม พวกสุดท้าย ทั้งรู้ธรรมและประพฤติธรรมด้วย

        *เหมือนในสมัยพุทธกาล พระบรมศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วลาหกมีอยู่ ๔ ประเภทด้วยกัน  คือ ประเภทแรก วลาหกได้แต่คำรามแต่ไม่ตกลงมา  ประเภทที่สอง วลาหกตกลงมาแต่ไม่ได้คำราม  ประเภทที่สาม วลาหกทั้งไม่คำรามทั้งไม่ตกลงมา และประเภทสุดท้าย วลาหกทั้งคำรามทั้งตกลงมาด้วย  วลาหกทั้งสี่ ประเภทเปรียบดังบุคคล ๔ จำพวก  คือ บุคคลพวกที่หนึ่ง ดุจวลาหกคำรามแต่ไม่ตกลงมา  บุคคลพวกที่สอง ดุจวลาหกตกลงมาแต่ไม่คำราม  บุคคลพวกที่สาม ดุจวลาหกทั้งไม่คำรามทั้งไม่ตกลงมา และบุคคลพวกสุดท้ายดุจวลาหกทั้งคำรามทั้งตกลงมาด้วย
 
       บุคคลดุจวลาหกคำรามแต่ไม่ตก คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ  แต่เขาไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  อย่างนี้แล บุคคลนั้นชื่อว่า ดุจวลาหกคำรามแต่ไม่ตกลงมาดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลดุจวลาหกตกแต่ไม่คำราม คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ เป็นต้นนั้น  แต่เขารู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้แล บุคคลนั้นชื่อว่า ดุจวลาหกตกลงมาแต่ไม่คำราม

        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลดุจวลาหกทั้งไม่คำรามทั้งไม่ตกลงมา คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ เป็นต้น  ทั้งไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้แล บุคคลนั้นชื่อว่าดุจวลาหกทั้งไม่คำรามทั้งไม่ตกลงมาดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลดุจวลาหกทั้งคำรามทั้งตกลงมา  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เล่าเรียนธรรม คือสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ เป็นต้น ทั้งรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  อย่างนี้แล บุคคลนั้นชื่อว่า ดุจวลาหกทั้งคำราม ทั้งตกลงมาด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลบุคคลเปรียบด้วยวลาหก ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก”

        จากพระพุทธวจนะนี้ เราจะเห็นได้ว่า ผู้ศึกษาธรรมะแม้เพียงเล็กน้อย แต่ประพฤติตามธรรมนั้นได้มาก  ย่อมมีประโยชน์มากกว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมมามาก ศึกษามามาก แต่นำมาประพฤติปฏิบัติได้น้อย  ชาวโลกในยุคปัจจุบันส่วนมากจะเป็นผู้ที่รู้ธรรม  ศึกษาพระสัทธรรมคำสอน แต่ผู้ประพฤติธรรมนั้นมีจำนวนน้อย  ส่วนผู้ที่ได้ประพฤติธรรมและได้บรรลุธรรม ยิ่งมีจำนวนน้อยลงไปอีก  แม้ผู้เชี่ยวชาญพระบาลี แตกฉานในพระไตรปิฎก ถึงทรงจำได้ทั้งหมดโดยไม่ผิดเพี้ยนเลย  แต่ถ้ายังเป็นผู้ประมาทอยู่ ไม่ประพฤติตามธรรม  ความแตกฉานนั้นก็ไร้คุณค่า ไม่มีประโยชน์เพื่อความหลุดพ้นแต่อย่างใด

        ตรงกันข้าม ผู้ประพฤติธรรม แม้จะได้ศึกษาธรรมะมาน้อย  แต่รักษาใจหยุดนิ่งได้มาก  จนได้เข้าถึงพระธรรมกาย กายแห่งการตรัสรู้ธรรม กายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในการประพฤติธรรม เป็นผู้ทรงธรรมอย่างสมบูรณ์  ที่หลวงพ่อกล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อให้พวกเราผู้เป็นยอดนักสร้างบารมีทั้งหลายได้พิจารณาตัวเราเอง เพื่อจะได้ฝึกฝนอบรมตนให้สมบูรณ์ทั้งความรู้ในพระสัทธรรม คำสอน และธรรมะปฏิบัติที่ให้ผลเป็นปฏิเวธ  คือ ให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน  เป็นดุจวลาหกทั้งคำราม ทั้งโปรยปรายสายฝน ให้ความชุ่มฉ่ำแก่ต้นไม้ใบหญ้าและสรรพสัตว์ทั้งหลาย
 
       ดังนั้น ให้พวกเราฝึกฝนอบรมตนเองให้เต็มที่ ให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และการทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตรกันทุกคน

*(มก.ทุติยวลาหกสูตร  เล่ม ๓๕ หน้า ๒๘๒) 

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3055
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *