มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม – ต้นแบบแห่งความดี

มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม – ต้นแบบแห่งความดี

        เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี การสร้างบารมีเป็นงานที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ พระบรมโพธิสัตว์ในกาลก่อนท่านทำอย่างนี้ คือสร้างบารมีไปจนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยม ได้บรรลุจุดหมายปลายทางของชีวิต  ดังนั้น เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง ก็เพื่อสั่งสมบุญบารมีเท่านั้น บุญที่เราได้ทำไว้ดีแล้ว จะเป็นเสบียงในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ ทำให้เรามีความสุขตลอดเส้นทางของชีวิต จนกระทั่งได้เข้าถึงบรมสุขอันเป็นนิรันดร์ คือได้ถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อปุตตกสูตร ว่า
“ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือข้าวของ ที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ ทาส กรรมกร คนใช้และผู้อาศัยของเขา พึงพาเอาไปไม่ได้ทั้งหมด จะต้องถึงซึ่งการละทิ้งไว้ทั้งหมด ฯ  ก็บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นจะเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่งกรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตัว เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า”

        มนุษย์ที่เกิดมาต่างแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่ความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ จากกิเลสอาสวะ แต่เนื่องจากปัญญายังไม่บริสุทธิ์ การแสวงหาวิธีการที่จะทำให้หมดจด จากกิเลสอาสวะ จึงแตกต่างกันออกไป ทำให้มีลัทธิต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีวิธีปฏิบัติเป็นร้อยเป็นพันวิธี อย่างในสมัยพุทธกาล มีการอาบน้ำในแม่น้ำคงคา เพื่อชำระล้างบาปออกจากใจ มีการทรมานร่างกายต่างๆ นานา เช่นนอนบนหนามแหลม อดอาหารหรือวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย เพราะเข้าใจว่าเป็นการปล่อยวางเพื่อทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ บางลัทธิก็ไม่ยอมใส่เสื้อผ้า เป็นประเภทอเจลกะ คือนุ่งลมห่มฟ้า และมีผู้เคารพนับถือ ปฏิบัติตามมากมายลัทธิต่างๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นมา บางลัทธิเป็นมิจฉาทิฏฐิ นำมหาชนไปสู่อบายภูมิ

        เมื่อมีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากเข้า มิจฉาทิฏฐิจึงครองเมือง เหมือนลัทธิของอชิตเกสกัมพล ที่แนะนำลูกศิษย์ลูกหาว่า การทำบุญให้ทานไม่มีผล การบูชาบุคคลที่ควรบูชาไม่มีผล การทำกรรมดีหรือกรรมชั่วไม่มีผล โลกนี้โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มีคุณ สัตว์ผู้เกิดแบบโอปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบผู้หมดกิเลสไม่มี คนเราตายแล้วสูญหมด คงเหลือแต่กระดูกและเถ้าถ่านเท่านั้น มีความเห็นผิดชนิดที่
เป็นมิจฉาทิฏฐิดิ่งทีเดียวเมื่อมีความเห็นผิดๆ  คำพูดและการกระทำก็พลอยผิดตามไปด้วย เมื่อบุคคลเมื่อประพฤติผิดมากเข้าๆ  ย่อมเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิ

        พวกเราทั้งหลายนับเป็นผู้โชคดีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นมา เพื่อขจัดความมืดมิด คือ อวิชชา ขจัดมิจฉาทิฏฐิให้หมดสิ้นไป ทำให้ได้รับแสงสว่างแห่งธรรม นำพาสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ พบสุขที่ทุกคนปรารถนาอย่างแท้จริง พระองค์ทรงแนะนำให้ผู้หลงปฏิบัติผิด ได้กลับมาดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องไปสู่อายตนนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุข

        *เหมือนในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่โกลิยชนบท มีบุรุษชื่อปุณณะผู้ประพฤติวัตรเหมือนโค และเสนิยะอเจละผู้ประพฤติวัตรเหมือนสุนัข คือแสดงอากัปกิริยาเหมือนสุนัข กินคูตรเป็นอาหาร ชอบนอนตามกองขยะ ทั้งสองได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ปุณณะทูลถามพระพุทธองค์ว่า ผู้ประพฤติวัตรเหมือนสุนัข ทำในสิ่งที่ผู้อื่นยากจะทำได้ คติในภพเบื้องหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร

        พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสโทษของการประพฤติวัตรของสุนัขว่า
        “ผู้บำเพ็ญกุกกุรวัตร คือ สุนัขมีข้อปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติเหมือนสุนัขทุกอย่าง  ครั้นตายไป จะทำให้เข้าถึงความเป็นสหายของสุนัข คติของผู้เห็นผิดเช่นนี้มี ๒ อย่าง คือ นรก หรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง  ส่วนบุคคลใดบำเพ็ญวัตรของโค กินหญ้าเป็นอาหาร ไม่สวมใส่เสื้อผ้า เมื่อตายไปจะเข้าถึงความเป็นสหายของโค ผู้มีความเห็นผิดเช่นนี้ จะบังเกิดในนรก หรือกำเนิดในสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น”

        เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้ ปุณณะได้ทูลขอร้องให้พระพุทธองค์แสดงธรรมแนะนำให้เขาทั้งสองละการปฏิบัติผิดๆ เช่นนั้น จะได้ไม่ต้องตกไปในอบายภูมิ พระบรมศาสดาทรงเทศนาว่า  “ดูก่อนปุณณะ เราตถาคตเห็นชัดในกรรม ๔ ประการคือ กรรมดำมีวิบากดำ กรรมขาวมีวิบากขาว กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว และกรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวผู้ก่อเวรทางกาย วาจา ใจ อันนำทุกข์มาให้ ละโลกไปแล้วย่อมเสวยเวทนาอันเผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว ผู้ใดทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น กรรมเหล่านี้เป็นกรรมดำมีวิบากดำ  ส่วนผู้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ย่อมทำให้เข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ เสวยเวทนาอันเป็นสุข ดุจพรหมอรูปพรหมหรือพระนิพพาน นี้เป็นผลของกรรมขาว มีวิบากขาว

        ส่วนผู้ทำกรรมทางกาย วาจา ใจ อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความสุขความทุกข์คลุกเคล้ากันไป ดุจพวกมนุษย์ เทวดาหรือสัตว์วินิบาตบางเหล่า นี้เป็นเพราะผลแห่งกรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวปะปนกันไป

        ส่วนกรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว หมายถึงผู้ที่ความดีไม่ทำ ความชั่วก็ไม่ทำ เป็นกลางๆ วางเฉย ไม่ฝักใฝ่ในบุญหรือบาป ทั้ง ๔ ประเภทนี้ ท่านสรรเสริญกรรมขาวมีวิบากขาว ว่าเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นทางมรรคผลนิพพาน ที่เป็นเหตุให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะอย่างแท้จริง การจะปฏิบัติให้เป็นสมณะอย่างสมบูรณ์ ไม่มีนอกเขตพระพุทธศาสนา สมณะอื่นนอกจากพุทธศาสนาแล้วไม่มี เพราะมรรคมีองค์ ๘ ก็ดี อริยสัจ ๔ ก็ดี มีในพุทธศาสนาเท่านั้น”

        เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมนี้แล้ว ปุณณะผู้ประพฤติวัตรเหมือนโค ได้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ  ส่วนเสนิยะเกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรมมาก ได้ขอบรรพชาอุปสมบท เพียงไม่นานท่านก็ทำใจให้หยุดนิ่ง ได้บรรลุธรรมกายอรหัต หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์

        เราจะเห็นได้ว่า การกระทำทั้งทางกาย วาจา ใจ ของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีผลโดยตรงต่อชีวิตของผู้นั้น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และยังมีผลต่อคนรอบข้างอีกด้วย ปัจจุบันโลกของเราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรหมแดน เมื่อมีผู้ทำตัวอย่างทั้งดีและไม่ดี ก็จะมีผู้ลอกเลียนแบบ อยากจะเอาอย่าง ซึ่งต้นแบบที่ไม่ดีนั้นมีมากมาย เราจะต้องใช้วิจารณญาณให้ดี และก็เลือกแต่สิ่งที่ดีๆ มาประพฤติปฏิบัติ

        การเจริญสมาธิภาวนา ด้วยการน้อมนำใจมาหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้มวลมนุษยชาติ และอนุชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม เพราะจะทำให้คนดีที่โลกต้องการเกิดขึ้นอีกมากมาย และยังเป็นหนทางไปสู่สวรรค์และนิพพาน  ดังนั้น ให้ไปช่วยกันสถาปนาบ้านกัลยาณมิตรให้เกิดขึ้นมากๆ  ชักชวนกันมาสวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา สันติสุขที่แท้จริงจะได้บังเกิดขึ้น 

(มก.กุกกุโจวาทสูตร  เล่ม ๒๐ หน้า ๑๘๖)

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3021
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *