มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน – ชิตัง เม… เราชนะแล้ว

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน – ชิตัง เม… เราชนะแล้ว

เพราะความตระหนี่และความประมาท
คนเราจึงให้ทานไม่ได้ ผู้มีปัญญาเมื่อต้องการบุญ พึงให้ทานเถิด

          ชีวิตของทุกคนที่เกิดมาในสังสารวัฏ ต่างเคยผ่านการเกิดในทุกภพทุกภูมิมาแล้ว ทั้งชีวิตในระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือยาจกเข็ญใจ เพราะชีวิตมีการขึ้นลงไปตามอำนาจแห่งบุญและบาปที่ได้ก่อขึ้น ถ้าทำบุญมาก ก็จะได้รับผลที่ดี เสวยสุขในสุคติภูมิ ชีวิตต่อไปก็จะประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ถ้าทำบาปอกุศลไว้มาก ก็ต้องไปเสวยวิบากกรรมในอบายภูมิ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ล้วนหลีกหนีกฎแห่งกรรมไปไม่ได้ ดังนั้นเราต้องตระหนักถึงคุณค่าของการสร้างบารมี เพื่อเพิ่มพูนความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้แก่ตนเอง ต้องหมั่นปฏิบัติธรรมอย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว หมั่นทำใจหยุดใจนิ่งบ่อยๆ ทำซํ้าแล้วซํ้าอีก ชีวิตของเราย่อมจะสำเร็จสมหวัง เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความบริสุทธิ์บริบูรณ์

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน พิลารโกสิยชาดก ว่า
“มจฺเฉรา จ ปมาทา จ    เอวํ ทานํ น ทิยฺยต
ปุญฺญํ อากงฺขมาเนน        เทยฺยํ โหติ วิชานตา

        เพราะความตระหนี่และความประมาท คนเราจึงให้ทานไม่ได้ ผู้มีปัญญาเมื่อต้องการบุญ พึงให้ทานเถิด”

        ความตระหนี่และความประมาท เป็นเหตุทำให้คนเรา  ไม่ยอมให้ทาน เมื่อไม่ให้ก็ไม่ได้บุญ เพราะบุญเกิดจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา บุญนั่นเองเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่ชีวิตของปุถุชน จนกระทั่งถึงความเป็นพระอริยเจ้า บุญจะบันดาลให้เราพรั่งพร้อมด้วยสมบัติทั้งสาม คือเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ จะมีโภคทรัพย์สมบัติใช้สร้างบารมี หรือเลี้ยงตนเองและผู้อื่นได้อย่างสะดวกสบาย เมื่อเป็นชาวสวรรค์ ก็จะมีทิพยสมบัติอันประณีต และเมื่อบารมีเต็มเปี่ยมก็จะได้บรรลุนิพพานสมบัติ หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่นิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข ไม่ต้องมาเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป

        เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ยังเสวยพระชาติเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ท่านได้พิจารณาด้วยสติปัญญาว่า ทานบารมีเป็นบันไดก้าวแรกของการสร้างบารมีทั้งหมด จึงได้เริ่มต้นสร้างมหาทานบารมีก่อน เพราะถ้าหากทานบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว จะสร้างบารมีอย่างอื่นก็สะดวกสบาย

        ยามใดที่เราพรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์สมบัติ มีศรัทธา พบเนื้อนาบุญ ยามนั้นเราย่อมสร้างบารมีได้อย่างสะดวกสบาย แต่ยามใดที่เราไม่มีไทยธรรมหรือโภคทรัพย์สมบัติ แม้จะมีศรัทธา มีเนื้อนาบุญ เราก็ไม่อาจจะให้ทานได้ กว่าจะสร้างบารมีอื่นๆ ได้แต่ละอย่าง ก็แสนจะลำบาก เพราะฉะนั้นทานบารมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญของนักสร้างบารมี

        *ดังเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต มีพราหมณ์สองสามีภรรยา   ผู้ยากไร้ อาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี มีสมบัติติดตัวเพียงแค่ผ้านุ่งคนละผืน และผ้าห่มที่ใช้สำหรับคลุมกายเพียงผืนเดียว เมื่อจะออกไปนอกบ้านก็ต้องผลัดกันไป วันหนึ่งได้มีการประกาศไปทั่วเมืองว่า ในวันนี้พระบรมศาสดาจะมาแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อพราหมณ์และนางพราหมณีได้ฟังการประกาศเชิญชวน    ทั้งสองมีจิตยินดี ปรารถนาที่จะไปฟังธรรมด้วย

        เนื่องจากทั้งสองมีผ้าห่มเพียงผืนเดียว ไม่อาจจะไปฟังธรรมพร้อมกันได้ พราหมณ์จึงบอกนางพราหมณีว่า
“เธอจงไปฟังธรรมในตอนกลางวันเถิด ส่วนฉันจะไปฟังธรรมในตอนกลางคืน” เมื่อถึงเวลากลางคืน พราหมณ์ได้เดินทางไปฟัง  พระธรรมเทศนา เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง มีปีติแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย เกิดกุศลจิตอยากถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระบรมศาสดาเพื่อบูชาธรรม แต่ด้วยความกังวลใจ คิดว่าถ้าเราถวายผ้าผืนนี้แล้ว นางพราหมณีก็จะไม่มีผ้าห่มมาฟังธรรม

        ในขณะที่พราหมณ์กำลังคิดว่า จะถวายดีหรือไม่ถวายดีนั้น มัจเฉรจิต คือความตระหนี่ได้เกิดขึ้นและครอบงำกุศลจิตของเขาจนหมดสิ้น พราหมณ์จึงไม่สามารถเอาชนะความตระหนี่ที่เกิดขึ้นในใจ จนเวลาล่วงปฐมยาม คือผ่านยามต้นไปแล้ว  ครั้นถึงมัชฌิมยาม พราหมณ์ก็ยังไม่อาจตัดใจถวายผ้าห่มได้

        จนล่วงมาถึงปัจฉิมยาม บุญเก่าได้กระตุ้นเตือนให้พราหมณ์คิดว่า ถ้าหากยังไม่สามารถกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ เราจะพ้นจากความทุกข์อันแสนสาหัสนี้ได้อย่างไร เมื่อคิดได้ดังนี้จึงตัดใจทันที รีบเข้าไปถวายผ้าแด่พระบรมศาสดา เมื่อคิดจะให้ กระแสบุญก็เกิดขึ้นแล้วในกลางกาย เมื่อตัดใจให้ได้ บุญก็กำจัดความตระหนี่ให้หลุดร่อนออกไป ใจของพราหมณ์ได้ขยายกว้างออกไปอย่างไม่มีประมาณ เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ความเบิกบาน จนไม่อาจจะเก็บความปีตินี้ไว้ในใจเพียงคนเดียว จึงได้กล่าวถ้อยคำอันเป็นมงคล ดังก้องไปทั่วธรรมสภาว่า  “ชิตัง เม ชิตัง เม ชิตัง เม  เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว”

        พระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งฟังธรรมอยู่ในที่นั้นด้วย ได้สดับเสียงนั้นตรัสบอกให้ราชบุรุษไปถามว่า พราหมณ์ชนะอะไร
        พราหมณ์ตอบว่า “เราชนะใจตนเองแล้ว เพราะได้พยายามตัดใจถวายทานถึง ๓ ครั้ง ในครั้งสุดท้ายนี้เราเอาชนะความตระหนี่ได้”
        พระราชาดำริว่า พราหมณ์ผู้นี้ทำสิ่งที่คนทั่วไปทำได้โดยยาก จึงเกิดความเลื่อมใส กระแสบุญจากใจของพราหมณ์ได้แผ่ขยายไปสู่ใจของพระราชา ทำให้พระองค์ทรงเกิดความเมตตา อยากได้บุญใหญ่กับพราหมณ์ด้วย

        พระราชาทรงพระราชทานผ้าสาฎกเนื้อดี ๑ คู่แก่พราหมณ์ เมื่อพราหมณ์ได้รับแล้วก็ไม่เก็บไว้เอง ได้น้อมถวายผ้าคู่นั้นแด่พระบรมศาสดา พระราชาทอดพระเนตรเห็นจึงเกิดความปีติ นำผ้ามาให้พราหมณ์อีก จาก ๒ คู่ เป็น ๔ คู่ ๘ คู่ และ ๑๖ คู่ ตามลำดับ พราหมณ์ก็ได้นำผ้าเหล่านั้น ทั้งหมดน้อมถวายเพื่อบูชาธรรมแด่พระพุทธองค์

       ด้วยความใจใหญ่ของพราหมณ์ พระราชาจึงรับสั่งให้ราชบุรุษนำผ้ากัมพลชั้นเยี่ยม ๒ ผืน มาบูชาธรรมแก่พราหมณ์ เมื่อพราหมณ์ได้รับผ้ากัมพลชั้นเยี่ยมมาแล้ว ก็คิดว่า ผ้ากัมพล ๒ ผืนนี้เป็นของสูง คนเช่นเรามิอาจนำมาใช้ได้ จึงได้นำผ้ากัมพลผืนหนึ่งไปขึงเป็นเพดาน ณ ที่บรรทมในพระคันธกุฎีของพระบรมศาสดา ส่วนอีกผืนหนึ่งได้นำไปขึงเป็นเพดานในที่ฉันของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระราชาเสด็จมา ทอดพระเนตรเห็น ผ้ากัมพลก็ทรงจำได้ ทรงนึกชื่นชมพราหมณ์ที่มีจิตเลื่อมใสในพระบรมศาสดา จึงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์สมบัติแก่พราหมณ์ อย่างละ ๔ คู่ คือ ช้าง ๔ เชือก ม้า ๔ ตัว กหาปณะ ๔ พัน      บุรุษ ๔ คู่ สตรี ๔ คู่ ทาสี ๔ คู่ และบ้านส่วยอีก ๔ ตำบล

       เรื่องนี้จึงเป็นที่กล่าวขานของมหาชนในธรรมสภา  พระบรมศาสดาตรัสบอกมหาชนว่า เหตุที่พราหมณ์ได้สมบัติถึงเพียงนี้ เพราะเขาได้ทำบุญถูกทักขิไณยบุคคล พระองค์ตรัสต่อไปอีกว่า ถ้าพราหมณ์ตัดใจถวายผ้าผืนนั้นในปฐมยาม เขาจะได้ทรัพย์สมบัติอย่างละ ๑๖ คู่ ถ้าถวายในมัชฌิมยาม เขาจะได้ทรัพย์สมบัติอย่างละ ๘ คู่ แต่เพราะพราหมณ์เอาชนะความตระหนี่ได้ในปัจฉิมยามใกล้ฟ้าสาง จึงได้ทรัพย์สมบัติเพียงแค่อย่างละ ๔ คู่เท่านั้น

        ดังนั้น เมื่อเกิดกุศลจิตศรัทธาก็ให้รีบทำบุญแบบ ตุริตตุริตํ สีฆสีฆํ เร็วๆ ไวๆ  หลวงพ่ออยากได้ยินคำว่า ดิฉันทำก่อนค่ะ ผมขอทำก่อนครับ เมื่อเราทำอย่างนี้ ถึงคราวที่สมบัติบังเกิดขึ้น สมบัติก็บังเกิดขึ้นก่อน เราจะได้สมบัติก่อนใครๆ แม้ยังไม่ทันคิดอยากได้สมบัติก็ตาม ฉะนั้นทุกท่านต้องรีบขวนขวายในการทำความดี เพราะหากเราทำความดีช้า อกุศลจะเข้าครอบงำ ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้บุญใหญ่

        พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เมื่อจิตเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ทานในที่นั้น ทานที่ให้แล้วแก่ผู้ทรงศีล มีผลมาก แต่ทานที่ให้ในผู้ทุศีล หามีผลมากไม่”

        เพราะฉะนั้น  ให้พวกเราทุกคนสั่งสมบุญให้เต็มที่ เพื่อแข่งขันกับเวลาที่เหลือน้อยลงไปทุกขณะ

*มก. จูเฬกสาฎก เล่ม ๔๒ หน้า ๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2818
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *