มงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง – เพียรจนสำเร็จประโยชน์

มงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง – เพียรจนสำเร็จประโยชน์

        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวชอบแล้ว พึงหมั่นเพียรพยายามเพื่อให้บรรลุมรรคผลที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อให้ได้มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ข้อนี้จะพึงเป็นความงดงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้

        การทำสมาธิเป็นเรื่องที่ผ่อนคลาย นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้ยืนยันว่า การปล่อยวางความคิดให้ใจปลอดโปร่งเบาสบายนั้น มีผลดีต่อภาวะอารมณ์ในเชิงบวก และยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอีกด้วย นักจิตวิทยายังค้นพบว่า สมาธิช่วยให้สามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และทำให้อารมณ์แจ่มใส สามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้น สมาธิจึงเป็นเคล็ดลับที่สำคัญของชีวิต เพราะนอกจากจะช่วยผ่อนคลายแล้ว ยังช่วยพัฒนาศักยภาพในด้านความคิด และการทำงานให้ลุล่วงถึงขีดสูงสุด รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหา  ยุ่งยากในชีวิตได้ เพราะเมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จะมีคำตอบที่ออกมาจากแหล่งแห่งความคิดอันบริสุทธิ์ และความกระจ่างแจ้ง ในดวงจิตจะทำให้เราหลุดพ้นจากสารพันปัญหา จะเกิดดวงปัญญานำพาไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สุวีรสูตร ว่า

        “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวชอบแล้ว พึงหมั่นเพียรพยายามเพื่อให้บรรลุมรรคผลที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อให้ได้มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ข้อนี้จะพึงเป็นความงดงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้”

        ความเพียรเป็นหัวใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมและยังกุศลธรรมให้เจริญขึ้นในจิตใจ การที่บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ ย่อมต้องอาศัยความเพียร โดยเฉพาะความเพียรในการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพราะเป็นความเพียรพยายามในกิจที่แท้จริง ในงานที่แท้จริงของเรา และเป็นทางมาแห่งบุญกุศลของเราด้วย ถือเป็นมหัคคตกุศลอันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่บุญเล็กๆ น้อยๆ เพราะเป็นบุญที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ และบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด

        เราเกิดมาเพื่อมาทำพระนิพพานให้แจ้ง และแสวงบุญสร้างบารมี ถึงแม้ว่าเรายังไปไม่ถึงนิพพานซึ่งเป็นเอกันตบรมสุข แต่เราล้วนปรารถนาความสุขกันทุกคน อยากมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข นั่งเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข จะอยู่แห่งหนตำบลใด ล้วนอยากมีความสุข กระทั่งยามหลับก็อยากหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ความสุข คือ สุดยอดปรารถนาของเราและมวลมนุษยชาติทั้งหลาย  การที่จะเข้าถึงความสุขอย่างนี้ได้ ต้องอาศัยใจหยุดนิ่ง “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” สุขอื่นนอกจากใจหยุดใจนิ่งไม่มี และในการฝึกใจให้หยุดนิ่งนี้ ต้องอาศัยความเพียร  ถ้าเกียจคร้านก็ไม่ได้ผล เพราะไม่บรรลุถึงความสุขที่แท้จริง     ฉะนั้นความเพียรในการหยุดใจ จึงเป็นทางมาแห่งความสุข    ซึ่งนอกจากจะเป็นทางมาแห่งบุญแล้ว ยังเป็นทางไปสู่อายตนนิพพานอีกด้วย

        *เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ละความเพียรรูปหนึ่ง และทรงเมตตารับสั่งให้เรียกภิกษุรูปนั้นมา พลางตรัสแนะนำสั่งสอนให้กำลังใจแก่ภิกษุนั้นว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอบรรพชาในศาสนาอันจักทำให้สำเร็จมรรคผลนิพพานได้ เหตุไรเธอจึงละความเพียรเสียเล่า  แม้บัณฑิตในกาลก่อน ได้ทำความเพียรในสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์อันสูงสุด แต่ก็ยังไม่ละความเพียร ไฉนเมื่อเธอรู้ถึงประโยชน์อันสูงสุดแล้ว ทำไมจะมาละความเพียรเสียเล่า”
พระองค์ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า 

        ในกาลครั้งหนึ่ง สมัยที่พระเจ้าพรหมทัตได้เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีหมู่บ้านหนึ่งตั้งอยู่ปากทางเข้าดงอันรกชัฏแห่งหนึ่ง ในหมู่บ้านนั้นมีนายบ้านผู้เข้มแข็งคนหนึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน และมีอาชีพรับจ้างนำคนเดินทางส่งให้พ้นข้ามดงไป

        วันหนึ่ง มีพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ คน ขับเกวียนมาถึงหมู่บ้านนั้น  เมื่อจะเดินทางต่อไปได้ให้ค่าจ้างพันหนึ่งแก่นายบ้าน เพื่อขอให้จัดการส่งพวกพ้องของตนข้ามดงอันตรายนี้ไป นายบ้านรับค่าจ้างแล้ว ก็นำพวกพ่อค้าเกวียนเดินทางฝ่าดงไป  ครั้นไปถึงกลางดง มีกลุ่มโจร ๕๐๐ ดักซุ่มอยู่ พวกโจรได้ออกมาจากที่ซ่อนพร้อมอาวุธครบมือ เพื่อเตรียมจะบุกเข้าปล้นพวกพ่อค้าเกวียน

        พวกพ่อค้าเกวียนเห็นดังนั้นต่างพากันตกใจกลัว ได้หมอบตัวซุกซ่อนอยู่ตามพุ่มไม้ในป่า เหลือแต่นายบ้านกับบริวารที่ติดตามมาไม่กี่คน นายบ้านผู้ฉลาดจึงใช้อุบายลวงพวกโจรให้เข้าใจผิดว่า ตนมีพรรคพวกอยู่เป็นจำนวนมาก โดยให้บริวารช่วยกันทำเสียงดังอึกทึกครึกโครม เอาวัตถุสิ่งของมากระทบกันให้เกิดเสียงดังบ้าง เขย่าต้นไม้ให้ไหวบ้าง ทำฝุ่นให้ฟุ้งตลบขึ้นบ้าง จนพวกโจรลังเลใจไม่กล้าเข้าปล้น และโจรอีกส่วนหนึ่งเกิดอาการสะดุ้งกลัวพากันหลบหนีไปทันที

        เมื่อนายบ้านเห็นว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว จึงนำพวกพ่อค้าเกวียนเหล่านั้นออกเดินทางต่อไป จนกระทั่งข้ามพ้นดงอันตรายนั้นไปได้ เมื่อพาข้ามพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนั้นไปแล้ว  พ่อค้าเกวียนได้ถามนายบ้านด้วยความนับถือว่า “เมื่อท่านเห็นพวกโจรมากันมากมายมีอาวุธครบมือ บ้างก็ยิงธนูขึ้นฟ้า บ้างก็ถือดาบอันคมกล้ากรูกันเข้ามา เหตุไรท่านจึงไม่มีความสะดุ้งหวาดกลัว”

        นายบ้านตอบว่า “เมื่อเราเห็นพวกโจร เราคิดว่า จะต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ที่สุด เราไม่หวาดหวั่นเพราะเราได้วางชีวิตเป็นเดิมพันตั้งแต่รับค่าจ้างมาแล้ว เราได้สละชีวิต  ตั้งแต่อยู่ที่ปากดงแล้ว เมื่อเราตระหนักถึงภารกิจความรับผิดชอบ ของตน จึงมีความโสมนัสปรีดาว่า ใจของเราประกอบด้วยปัญญา และความเพียรในการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ สามารถครอบงำย่ำยีศัตรูแม้มีกำลังมากได้ พวกเราทุกคนจึงสามารถข้ามพ้นอุปสรรคมาได้ เพราะฉะนั้นบุคคลควรกล้าหาญในยามมีภัย และอาศัยความเพียรเป็นกำลังในกาลทุกเมื่อ” 

พวกพ่อค้าเกวียนทั้ง ๕๐๐ ต่างมีใจชื่นชมยินดีในวาทธรรม ของนายบ้าน และพากันกล่าวขอบคุณยกย่องสรรเสริญ ทุกๆ คน ได้รับความสวัสดีมีชัย มีใจเบิกบานที่มีชีวิตรอดปลอดภัยจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้ จากนั้นพวกพ่อค้าเกวียนก็ออกเดินทางค้าขายต่อไป ส่วนนายบ้านก็เดินทางกลับหมู่บ้านของตน และยังคงทำหน้าที่ส่งคนเดินทางข้ามดง อีกทั้งตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศลไปด้วยจนตลอดอายุขัย

        หลังจากสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องนี้แล้ว ได้ประกาศอริยสัจ ๔ ให้ภิกษุรูปนั้นเห็นทุกข์ภัยในสังสารวัฏ  เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุผู้ที่แต่เดิมเคยละความเพียรก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผลอันเลิศ ได้สำเร็จกิจอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่า “นายบ้านครั้งนั้น คือ พระตถาคตนั่นเอง”

        นี่เป็นผลของความเพียรและรู้จักใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา จึงทำให้ข้ามพ้นภัย และฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายมาได้  แต่คำว่าความเพียรนี้หมายเอาความกล้าหาญในการทำสิ่งที่ดีงาม ไม่ใช่ไปเพียรพยายามในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร หรือไปทำผิดศีลผิดธรรม เพราะถ้าเพียรผิดที่ผิดวิธี ย่อมมีแต่จะให้โทษอย่างเดียว เช่นไปพากเพียรเล่นอบายมุขทั้งวันทั้งคืน หรือไปเพียรพยายามลอบทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น แต่ในทางตรงข้าม ถ้าใช้ความเพียรให้ถูกที่ถูกวิธี เพียรพยายามในทางที่ถูกที่ควร ย่อมจะสำเร็จประโยชน์ได้ในปัจจุบัน รวมไปถึงได้ประโยชน์ในอนาคตและประโยชน์อย่างยิ่ง คือ นิพพาน หากเราหมั่นเพียรหยุดใจไว้ในกลางกาย จะได้พบพระในตัว จะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกกันทุกๆ คน ให้มีความเพียรอย่างนี้กัน เพราะความเพียรเช่นนี้เป็นความเพียรอันประเสริฐที่ถูกต้องตามพุทธประสงค์อย่างแท้จริง

*มก. ขุรัปปชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๑๒๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2662
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *