มงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง – ขยันถูกเวลานำพาสู่ความสำเร็จ

มงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง – ขยันถูกเวลานำพาสู่ความสำเร็จ

        ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใดรีบด่วนทำเสียเร็ว แต่ในเวลาที่จะต้องรีบด่วนทำ กลับทำช้าๆ ผู้นั้นย่อมตัดรอนประโยชน์ของตนเอง เหมือนคนเหยียบใบตาลแห้งแหลกละเอียด ไปฉะนั้น ส่วนบุคคลใด ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ก็ทำอย่างช้าๆ และในเวลาที่จะต้องรีบทำ ก็รีบด่วนทำทันที ประโยชน์ของผู้นั้น ย่อมบริบูรณ์ เหมือนดวงจันทร์ส่องสว่างอยู่ในเวลากลางคืนฉะนั้น

        วันเวลาที่ผ่านไป ได้นำเอาความชรามาสู่เรา ชีวิตมนุษย์มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และในที่สุดก็เสื่อมสลายไป สิ่งต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นบุตร ธิดา ทรัพย์สินเงินทอง ญาติพี่น้อง ล้วนไม่อาจติดตามเราไปสู่ปรโลกได้ มีแต่กุศลผลบุญที่เราสั่งสมไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นดังเงาติดตามตัวเราไป ดังนั้นเราทั้งหลาย ต้องตระหนักและแสวงหาหลักของชีวิต ด้วยการสั่งสมบุญบารมีให้เต็มที่ เพราะโอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของพวกเราที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา ได้รู้จักหนทางของความหลุดพ้น เพราะฉะนั้นอย่าได้ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่ไร้สาระ ให้รีบประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน คือพระรัตนตรัย ที่จะทำให้เราปลอดภัย และมีความสุขไปทุกภพ ทุกชาติ

พระบรมโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาไว้ใน คชกุมภชาดก ว่า
“โย ทนฺธกาเล ตรติ         ตรณีเย จ ทนฺธต
สุกฺขปณฺณํว อกฺกมฺม         อตฺถํ ภญฺชติ อตฺตโนฯ
โย ทนฺธกาเล ทนฺเธติ         ตรณีเย จ ตารย
สสีว รตฺตึ วิภชํ         ตสฺสตฺโถ ปริปูรติ

        ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใดรีบด่วนทำเสียเร็ว แต่ในเวลาที่จะต้องรีบด่วนทำ กลับทำช้าๆ  ผู้นั้นย่อมตัดรอนประโยชน์ของตนเอง เหมือนคนเหยียบใบตาลแห้งแหลกละเอียดไปฉะนั้น ส่วนบุคคลใด ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ก็ทำอย่างช้าๆ และในเวลาที่จะต้องรีบทำ ก็รีบด่วนทำทันที ประโยชน์ของผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ เหมือนดวงจันทร์ส่องสว่างอยู่ในเวลากลางคืนฉะนั้น”

        กาลัญญู คือ ความเป็นผู้รู้จักกาล เป็นคุณสมบัติที่สำคัญ ของนักทำงาน นักบริหาร หรือผู้หวังความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เร่งรีบในกาลที่ควรรีบ ถึงคราวที่ต้องทำช้าๆ ก็ต้องใจเย็นๆ สิ่งที่ ควรทำคือ ความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานที่อยู่บนพื้นฐาน ของกายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริต ซึ่งเป็นภารกิจที่ควรทำ แม้กระทั่งนักปฏิบัติธรรม ต้องบริหารเวลาให้เป็น ภารกิจไหนต้องทำก่อน งานไหนต้องรีบทำให้สำเร็จ ถ้าหากเรารู้จักแยกแยะสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เราจะพบแต่ความสุขและความสำเร็จอย่างแน่นอน

        ส่วนผู้ที่เกียจคร้านตามใจกิเลสในตัว เห็นแก่ความสุขชั่วคราว โดยไม่คำนึงถึงอนาคตที่สดใส ชีวิตย่อมพบแต่ความเสื่อม เหมือนซากต้นไม้ที่ไม่สามารถให้ร่มเงาแก่ผู้มาพักอาศัย เป็นไม้ไร้ชีวิต รังแต่จะถูกโค่นหักลง หรือมีชีวิตไปวันๆ เหมือนสวะลอยน้ำ หาสาระแก่นสารของชีวิตไม่ได้

        *เหมือนในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่ง เป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี อุปนิสัยดั้งเดิมเป็นผู้เกียจคร้าน ครั้นบวชแล้ว ก็เหินห่างจากการศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ใส่ใจในการทำสมาธิภาวนา และข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นกรณียกิจของสงฆ์ เมื่อละเลยการประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่สำรวมอินทรีย์ ปล่อยใจให้เลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปวันๆ ทำให้ถูกนิวรณ์ทั้งห้าครอบงำ จิตฟุ้งซ่าน ซัดส่ายคิดไปในเรื่องไร้สาระ ไม่มีสมณสัญญา แม้มีผ้าเหลืองครองกาย แต่ใจกลับนึกถึงชีวิตที่เคยเที่ยวเตร่สนุกสนานเฮฮาในทางโลก และเกิดวิจิกิจฉา ลังเลสงสัยในชีวิตของนักบวชว่า จะอยู่หรือลาสิกขาไปเป็นฆราวาสดี  แทนที่จะคิดเรื่องทำอย่างไร ถึงจะหลุดพ้นจากทุกข์ ทำพระนิพพานให้แจ้ง กลับคิดหาทางที่จะลาสิกขาไปครองเรือนตามเดิม สมณธรรมจึงไม่เจริญ ทั้งนี้เพราะความเกียจคร้าน ทำให้หมดโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน 

        เพื่อนสหธรรมิกเห็นเช่นนั้น พากันนั่งสนทนากันว่า “อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้เกียจคร้านเหลือเกิน ขนาดตั้งใจบวชอุทิศชีวิตในพระศาสนา ซึ่งเป็นหนทางของความหลุดพ้น ยังเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติธรรมให้สมกับเป็นพระภิกษุสาวกของพระบรมศาสดาเลย”

        ขณะนั้น พระศาสดาเสด็จมาและตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนากันเรื่องอะไร” 

        พระภิกษุกราบทูลถึงเรื่องราวที่กำลังสนทนากัน  พระบรมศาสดาตรัสว่า “มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนี้ก็เป็นผู้เกียจคร้านเหมือนกัน”  พระองค์จึงทรงเล่าอดีตนิทานให้ฟังว่า

        สมัยก่อน พระเจ้าพรหมทัตครองราชย์อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นอำมาตย์แก้วของพระราชา อำมาตย์แก้วหมายถึงผู้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์มีปัญญามาก เป็นประดุจ แก้วสารพัดนึก จึงได้นามว่า มหาอำมาตย์แก้ว พระเจ้าพาราณสีเป็นผู้ที่มีพระอัธยาศัยเกียจคร้าน พระโพธิสัตว์คิดว่า “พระราชาของเราทรงเกียจคร้านเหลือเกิน เราจะทำให้พระองค์สำนึกตัว เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์” พระโพธิสัตว์ พยายามเสาะหาข้อเปรียบเทียบ เพื่อจะทำให้พระราชาได้คิด

        วันหนึ่ง พระราชาเสด็จประพาสพระราชอุทยาน พร้อมด้วยอำมาตย์ข้าราชบริพาร ทรงทอดพระเนตรเห็นตัวกระพองช้างตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นสัตว์เกียจคร้านเชื่องช้า แม้จะเดินไปตลอดทั้งวันก็ไปได้ประมาณนิ้วหนึ่งหรือสองนิ้ว พระราชาตรัสถามว่า “สัตว์นั้นชื่ออะไร”

        มหาอำมาตย์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า สัตว์นั้นชื่อ คชกุมภะ ตัวกระพองช้าง สัตว์ประเภทนี้เฉื่อยช้ายิ่งนัก แม้จะเดินตลอดทั้งวัน ก็ไปได้เพียงไม่กี่นิ้ว” 

        พระองค์จึงตรัสถามเจ้าสัตว์ตัวนั้นว่า “ดูก่อนคชกุมภะ พวกเจ้าเดินช้าเหลือเกิน เมื่อไฟป่าเกิดขึ้น พวกเจ้าจะทำอย่างไรกัน”

        คชกุมภะตอบว่า “โพรงไม้และช่องแผ่นดินมีอยู่เยอะแยะ ถ้าพวกข้าพเจ้าไปไม่ถึงโพรงไม้ หรือช่องแผ่นดินเหล่านั้น พวกข้าพเจ้าก็ต้องตาย”

        มหาอำมาตย์แก้วรีบกราบทูลเสริมว่า “ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใดรีบด่วนทำเสียเร็ว แต่เมื่อจะต้องรีบด่วนทำ กลับทำช้าๆ ผู้นั้นย่อมตัดรอนประโยชน์ของตนเอง  ส่วนบุคคลใด ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ก็ทำอย่างช้าๆ  และเมื่อจะต้องรีบทำ ก็รีบด่วนทำทันที ประโยชน์ของผู้นั้น ย่อมบริบูรณ์ เหมือนดวงจันทร์กำจัดความมืด เต็มดวงอยู่ฉะนั้น”

        อำมาตย์แก้วสอนพระราชาต่อไปว่า “พึงรีบทำกิจให้เสร็จล่วงหน้า อย่าให้กิจมาบีบรัดตัวในเวลาที่ทำภารกิจ ผู้ที่รีบทำกิจให้สำเร็จ ย่อมเป็นผู้เบาใจในภายหลัง ไม่ควรเห็นแก่นอนมากเกินไป ควรงดเว้นการดื่มสุราเมรัยจนละเลยภารกิจบ้านเมือง บ้านเมืองย่อมเจริญเพราะมีผู้นำปกครองแผ่นดินโดยธรรม”    

        พระราชาได้สดับถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ ทรงเข้าใจว่าอำมาตย์แก้วต้องการสอนพระองค์ ปรารถนาที่จะให้พระองค์เป็นคนขยันและเอาใจใส่ในการบริหารบ้านเมือง และทรงคิดได้อีกว่า โทษของความเกียจคร้านมีแต่นำความทุกข์มาให้ ถ้าหากผู้นำไม่ประพฤติธรรม ปวงประชาก็จะไม่ประพฤติธรรม พลอยเป็นคนเกียจคร้านตามไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น ปัญหาต่างๆ มากมายก็จะเกิดขึ้นจนแก้ไขไม่ทัน ตั้งแต่บัดนั้นมา พระราชาก็มิได้ทรงเกียจคร้าน กลับขยันหมั่นเพียรในการประกอบพระราชกรณียกิจ ปกครองประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง ทำให้อาณาประชาราษฎร์อยู่อย่างมีความสุข

        จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าเรารู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดควรทำ เราต้องรีบฉวยโอกาสนั้น ทำให้สำเร็จ อย่าได้รอช้า ต้อง “ตุริต ตุริตํ สีฆสีฆํ” คือด่วนๆ เร็วๆ ให้ระแวงภัยที่ควรระแวง และ ระวังภัยที่จะเกิดขึ้น ถ้ามัวเกียจคร้านปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ บุญบารมีก็ไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เราต้องเร่งรีบทำให้เร็ว และทำให้ได้มากที่สุด ก็ไม่มีอะไรเกินกว่าการสั่งสมบุญบารมี เพราะบุญบารมีจะเป็นเครื่องคอยอุปถัมภ์ส่งเสริมชีวิตเราให้สมบูรณ์ บริบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ สมบูรณ์ทั้งโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์

        เราได้โอกาสที่ดีที่สุด คือ การเกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา มีเนื้อนาบุญ และมีผู้คอยชี้แนะหนทางไปสู่สวรรค์และนิพพาน เพราะฉะนั้นให้ขยันสร้างบารมี อย่าได้เกียจคร้าน อย่ามองข้ามหรือทำเป็นมองไม่เห็นความสำคัญของการสร้างบุญบารมี ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่าเอาความเหนื่อยอ่อนล้ามาเป็นข้ออ้าง เอาภารกิจการงานมาเป็นข้อแม้ ทำให้เราไม่ขวนขวายในการทำความดี อย่าขี้เกียจ ให้ขยันกันเถิด บุญบารมีของเราจะได้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ สมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่องจะได้บังเกิดขึ้นไว้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการสร้างบารมี

         เมื่อสมบัติภายนอกมีเพียงพอ เราจะได้มีเวลานั่งหลับตาทำภาวนาได้เต็มที่ เพื่อแสวงหาสมบัติอันลํ้าค่าภายใน คือ พระรัตนตรัย ซึ่งเป็นรัตนะอันประเสริฐ ลํ้าเลิศกว่ารัตนะใดๆ ในโลก จะได้ทำงานที่แท้จริง คือ งานขจัดกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน ก่อนที่สังขารร่างกายของเราจะร่วงโรย ให้รีบสร้างความดี ประพฤติธรรมให้เต็มที่ ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลาที่มาแย่งความแข็งแรงของเราไปทุกวัน ทำให้เราแก่ลงไปเรื่อยๆ  ชีวิตก็ใกล้เข้าไปสู่ความตายทุกขณะ เหมือนไม้ใกล้ฝั่งที่ถูกคลื่นซัด  รอวันโค่นล้มอย่างเดียว ดังนั้นให้หมั่นทำใจหยุดนิ่งทุกๆ วัน ทำให้ได้ตลอดเวลาในทุกอิริยาบถ เช่นนี้แล้ว เราย่อมสมปรารถนา ได้เข้าถึงธรรมกันทุกๆ คน

*มก. คชกุมภชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๖๗๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2656
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *