มงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง – เพียรสู่ความสำเร็จ

มงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง – เพียรสู่ความสำเร็จ

ทำงานไม่คั่งค้าง
เพียรสู่ความสำเร็จ 
ผู้ใดฉลาดในการแยกแยะเหตุผล
มีความขยันไม่เกียจคร้าน
มีความเพียรทำงานตามเวลา
ผลงานของผู้นั้นย่อมสำเร็จ

        สรรพสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ตัวของเราก็ดี คนอื่นก็ดี สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ดี ความจริงของสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด คือ ความไม่เที่ยง แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาทีไปสู่ความเสื่อม และก็สูญสลายในที่สุด ทุกสิ่งล้วนเป็นทุกข์และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะฉะนั้นเราควรแสวงหาของจริงกันดีกว่า ของจริงคือ ธรรมกายที่มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคน เป็นตัวตนที่แท้จริงที่ทุกคนเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติธรรม

        ความเพียรเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติธรรม ความสำเร็จทั้งหลายล้วนต้องอาศัยความเพียร ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน เตสกุณชาดก ว่า
“โย จ ธมฺมวิภงฺคญฺญู        กาลุฏฺฐายี อตนฺทิโต
อนุฏฺฐหติ กาเลน        กมฺมผลํ ตสฺส อิชฺฌติ

        ผู้ใดฉลาดในการแยกแยะเหตุผล มีความขยันไม่เกียจคร้าน มีความเพียรทำงานตามเวลา ผลงานของผู้นั้นย่อมสำเร็จ”

        ผู้ที่มีความเพียรพยายาม จะทำอะไรย่อมประสบผลสำเร็จ ดังคำกล่าวที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เช่น บัณฑิตในกาลก่อนอาศัยความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา จนเอาชนะข้าศึกที่มีกำลังเหนือกว่าได้ เรื่องมีอยู่ว่า

        *ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า พระเจ้ากาลิงคะ ครองราชย์อยู่ในแคว้นกาลิงครัฐ พระองค์มีพละกำลังดุจช้างสารและมีกองทหารที่แข็งแกร่ง เป็นที่ยำเกรงของเหล่ากษัตริย์ทั้งหลาย ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดกล้ารบด้วย เนื่องจากพระเจ้ากาลิงคะเป็นกษัตริย์ที่กระหายสงคราม พระองค์มีพระประสงค์จะสู้รบ จึงให้พระราชธิดาทั้งสี่ผู้มีรูปงามเป็นเลิศ ประทับนั่งในราชรถส่งไปตามราชธานีต่างๆ และประกาศว่า หากพระราชาพระองค์ใดทรงปรารถนาพระราชธิดา ก็ให้รบกับเราด้วย
จนกระทั่งมาถึงแคว้นอัสสกรัฐ ซึ่งมีอำมาตย์ผู้มีปัญญา ชื่อ นันทเสน นันทเสนคิดว่า สามารถเอาชนะพระเจ้ากาลิงคะได้ จึงสั่งให้เปิดประตูรับพระราชธิดาทั้งสี่ และนำถวายแด่พระเจ้าอัสสกะ โดยตนเองจะขอบัญชาการรบครั้งนี้เอง

        พระเจ้ากาลิงคะทรงรู้ข่าวว่า แคว้นอัสสกะจะทำการรบด้วย ทรงดีพระทัย เสด็จกรีฑาทัพไปทันที นันทเสนรู้ข่าวการเสด็จมาของพระเจ้ากาลิงคะ จึงส่งสาสน์ไปว่า “ขอพระเจ้ากาลิงคะ จงอยู่ในเขตรัฐสีมาของพระองค์ อย่าล่วงล้ำเข้ามาในรัฐสีมาของข้าพเจ้า อีกไม่นานการสู้รบจะเกิดขึ้นในระหว่างพรมแดนของแคว้นทั้งสอง” 

        ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นดาบส ตั้งบรรณศาลาอยู่ระหว่างเขตแดนของพระราชาทั้งสอง พระเจ้ากาลิงคะคิดว่า ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมเป็นผู้รู้ จึงปลอมแปลงพระองค์ไปถามดาบสว่า “พระเจ้ากาลิงคะกับพระเจ้าอัสสกะจะทำการรบกัน ท่านดาบสคิดว่า ใครจะเป็นผู้ชนะ”

        พระดาบสกล่าวว่า “อาตมาไม่ทราบ แต่คืนนี้ท้าวสักกะจะเสด็จมา อาตมาจะลองถามพระองค์ดู” 
        เมื่อท้าวสักกะเสด็จมา พระโพธิสัตว์จึงถามว่า “มหาบพิตร การรบระหว่างพระเจ้าอัสสกะกับพระเจ้ากาลิงคะ กำลังจะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้ ใครจะเป็น  ผู้ชนะ”
        ท้าวสักกะตอบว่า “พระเจ้ากาลิงคะจะมีชัย”

รุ่งขึ้น พระเจ้ากาลิงคะเสด็จมาถามอีก เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลตอบตามที่ท้าวสักกะได้พยากรณ์ พระองค์ทรงดีพระทัย ดำริว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะทรงมีกองกำลังที่เหนือกว่า ข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไป  ทำให้ฝ่ายทหารของพระเจ้ากาลิงคะพากันประมาท  ละทิ้งวินัยและความสามัคคี  เนื่องจาก มีความมั่นใจในชัยชนะครั้งนี้มาก พระเจ้าอัสสกะได้ทรงสดับเรื่องนั้น จึงรับสั่งให้เรียกอำมาตย์นันทเสน และตรัสเล่าเรื่องคำพยากรณ์ นันทเสนกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ไม่มีใครรู้ว่า  ชัยชนะหรือความปราชัยจะเป็นของใคร ขอพระองค์อย่าทรงวิตกไปเลย ข้าพระองค์จะจัดการเรื่องนี้เอง”   

เมื่อกราบทูลพระราชาแล้ว นันทเสนได้เข้าไปหาพระดาบส ถามว่า “ท่านดาบสผู้เจริญ ศึกครั้งนี้ใครจะเป็นผู้ชนะ ใครจะเป็นผู้แพ้”
        พระโพธิสัตว์ตอบว่า “ท้าวสักกะได้พยากรณ์ว่า พระเจ้ากาลิงคะจะเป็นผู้ชนะ ส่วนพระเจ้าอัสสกะจะเป็นผู้แพ้” 
        นันทเสนจึงถามต่อว่า “บุพนิมิตอะไรจะมีแก่ผู้ชนะหรือผู้แพ้” 
        พระโพธิสัตว์ตอบว่า “อารักขเทวดาของผู้ชนะจะเป็นสีขาว  ส่วนของผู้แพ้จะเป็นสีดำ อารักขเทวดาของทั้งสองฝ่าย จะต่อสู้กันก่อน”

        นันทเสนได้ฟังดังนั้น ด้วยความมีปัญญาจึงรู้วิธีที่จะเอาชนะข้าศึก เมื่อลาดาบสแล้ว ท่านรีบพาทหารแนวหน้ากล้าตายประมาณพันนาย ไปทดสอบขวัญกำลังใจและความสามัคคี พลางให้โอวาทว่า “ขอให้พวกท่านจงช่วยกันรบเพื่อถวายชีวิตแด่พระราชาเถิด”

        เมื่อเวลาแห่งการรบมาถึง พระราชาของทั้งสองเมืองประจันหน้ากัน อารักขเทวดาของพระราชาทั้งสองก็ปรากฏขึ้น ซึ่งพระราชาทั้งสองพระองค์เท่านั้นที่มองเห็น ผู้อื่นจะมองไม่เห็น นันทเสนทูลถามพระเจ้าอัสสกะว่า “ข้าแต่มหาราช บุพนิมิตปรากฏแก่พระองค์แล้วหรือยัง พระเจ้าข้า”

        พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า “ตอนนี้ปรากฏแล้ว”

        “ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์ทรงถือพระแสงหอกนี้ พุ่งไปประหารอารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะเถิด แล้วพวกข้าพระองค์อีกหนึ่งพัน จะประหารซ้ำด้วยหอกพันเล่ม”  เมื่อพระเจ้าอัสสกะพุ่งหอกไปแทงอารักขเทวดาของข้าศึก  เหล่าทหารทั้งหนึ่งพันได้พุ่งหอกไปแทงซํ้า ทำให้อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะถึงแก่ความตายทันที

        พระเจ้ากาลิงคะและคนอื่นเห็นหอกนั้นเหมือนลอยค้างอยู่ในอากาศ เห็นความพ่ายแพ้ของอารักขเทวดาของตน ทรงตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง นันทเสนรีบสั่งให้ทหารตีกระหน่ำรุกไล่ฝ่ายข้าศึก ทหารหาญเหล่านี้แม้มีกำลังพลน้อยกว่า แต่ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็ง จึงไม่หวั่นเกรงฝ่ายข้าศึก เข้าโจมตีข้าศึกอย่างไม่กลัวเกรงและไม่กลัวตาย ทำให้ทหารของพระเจ้ากาลิงคะขวัญเสีย ทัพแตกกระเจิง จนพระราชาไม่อาจจะบัญชาการรบได้ กองทัพจึงแตกพ่ายไปในที่สุด

        หลังจากพระเจ้ากาลิงคะทรงพ่ายแพ้ จึงกลับไปต่อว่าพระดาบสว่า “ดาบสโกง ไหนท่านกล่าวว่าเราจะชนะ ตอนนี้เราพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ท่านเป็นดาบสแล้ว ทำไมจึงยังกล่าวเท็จอยู่อีก” พระดาบสได้แต่รับฟังด้วยอาการสงบนิ่ง

        ในวันที่ ๓ ท้าวสักกะเสด็จมาหาพระดาบส พระดาบสจึงถามท้าวสักกะว่า “ท่านจอมเทพ ธรรมดาท้าวสักกะย่อมไม่กล่าวมุสาวาทมิใช่หรือ บัดนี้ความพ่ายแพ้ได้มีแก่พระเจ้ากาลิงคะ แล้วพระองค์จะทรงแก้เรื่องนี้อย่างไร”

        ท้าวสักกะตรัสว่า “ท่านดาบสผู้เจริญ ท่านก็รู้มิใช่หรือ ว่าเทวดาย่อมไม่อาจกีดกันความพยายามของมนุษย์ บุคคลใดมีความข่มใจ มีความตั้งใจแน่วแน่ ไม่แตกสามัคคี ไม่แก่งแย่งกัน มีความเพียรมั่นคง และมีความบากบั่นด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย เขาย่อมเป็นผู้ชนะ”    เพราะฉะนั้น ความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา จะพาเราไปสู่ความสำเร็จ ชีวิตของผู้มีความเพียรเป็นชีวิตที่ประเสริฐ จะทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า เพราะเข้าถึงพระธรรมกายได้ ถ้ายังเข้าไม่ถึง อย่าเพิ่งคลายความเพียร ชีวิตเราต้องสู้กันต่อไป สู้กับกิเลสอาสวะ จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม ดังนั้นต้องหมั่นเพิ่มเติมกำลังใจให้กับตนเอง อย่าได้ท้อแท้หรือท้อถอยในการทำความดี ในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง หมั่นปรารภความเพียรให้สม่ำเสมอ ตั้งใจปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ถ้าไม่เข้าถึงเป็นไม่เลิก  หากทำความเพียรให้กลั่นกล้าเช่นนี้ จะต้องเข้าถึงพระธรรมกาย อย่างแน่นอน

*มก. จุลลกาลิงคชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๓๖๙

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2654
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *