มงคลที่ ๑๓ สงเคราะห์ภรรยา(สามี) – คู่ทุกข์ – คู่ยาก

มงคลที่ ๑๓ สงเคราะห์ภรรยา(สามี) – คู่ทุกข์

        เมื่อสามีภรรยาทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกัน  รักใคร่ปรองดองกัน ไม่มีใจคิดร้ายต่อกัน เป็นผู้ประพฤติธรรม ในโลกนี้ มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก

        การสร้างบารมีเป็นหน้าที่หลักของมวลมนุษยชาติ ถือเป็นกรณียกิจที่สำคัญที่จะต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ บุญกุศลที่เราสั่งสมวันละเล็กวันละน้อย จะก่อตัวรวมเป็นดวงบุญที่สุกใสสว่างติดแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อกลั่นตัวมากเข้าก็จะกลายเป็นบารมี เมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยม จะนึกคิดปรารถนาสิ่งใด ก็สมหวังดังใจทุกประการ ดังนั้นบุญบารมีจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นสิ่งสำคัญ เป็นปัจจัยหลักของมนุษย์ โดยเฉพาะที่เราสร้างบารมีกันอยู่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชำระกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ฉะนั้นเราต้องสั่งสมบุญบารมีให้เต็มที่กันทุกคน

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏใน สังวาสสูตร ว่า

        “สามีภรรยาทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความประพฤติสำรวม ดำรงชีพอยู่โดยธรรม เจรจาไพเราะต่อกัน ย่อมพบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เมื่อสามีภรรยาทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกัน รักใคร่ปรองดองกัน ไม่มีใจคิดร้ายต่อกัน เป็นผู้ประพฤติธรรมในโลกนี้ มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก”

        การตัดสินใจใช้ชีวิตคู่เป็นสามีภรรยากันนั้น จะต้องรู้จักปรับตัวเข้าหากัน ต้องลดทิฏฐิมานะ แสวงจุดร่วมสมานจุดต่าง และต้องสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน จึงจะเรียกว่าเป็น คู่ทุกข์คู่ยาก  คุณธรรมอย่างหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตคู่ยืนยาว อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในโลกนี้ และเมื่อละโลกไปแล้ว ก็ยังไปสู่สุคติโลกสวรรค์อีกด้วย นั่นคือ ทั้งคู่ต้องมีศรัทธาเสมอกัน มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เลื่อมใสในพระรัตนตรัย นอกจากนี้ต้องมีศีลเสมอกัน ไม่ประพฤตินอกใจกัน ถ้าทั้งคู่ประพฤติธรรม สำรวมกาย วาจา ใจเป็นปกติ ก็จะทำให้อยู่  ร่วมกันอย่างมีความสุข จะเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

        นอกจากนี้ ควรฝึกให้เป็นผู้มีจาคะเสมอกัน คือ มีนิสัยใจคอในการเสียสละช่วยเหลือคนอื่น ไม่ตระหนี่ในการให้ทาน ถ้าภรรยาชอบทำบุญทำทาน แต่สามีไม่ค่อยสนับสนุนก็อยู่ร่วมกัน ลำบาก ฉะนั้นจึงต้องฝึกเป็นผู้ให้เสมอ มีเรื่องอะไรพอจะช่วยเหลือเพื่อนบ้านได้ก็ให้ช่วยกันไป จะได้เป็นที่รักของคนรอบข้าง

        คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งที่พึงมี คือ ทั้งคู่ต้องมีปัญญาเสมอกัน ตั้งแต่ใช้เหตุใช้ผล ใช้สติมากกว่าอารมณ์ ไม่ตามใจตนเองจนดื้อรั้นเกินไป มีความเห็นอกเห็นใจกัน ต้องพูดกันรู้เรื่อง มีปัญหาก็ช่วยกันแก้ไข ไม่นิ่งดูดายในปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น หากเป็นเช่นนี้ ชีวิตคู่จะดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีความสุข แม้ในยามที่มีภัย ชีวิตก็สละแทนกันได้ เพราะความรู้สึกว่า ได้ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ ใครได้คู่ครองเช่นนี้ ก็จะเป็นคู่ทุกข์คู่ยาก  ทำให้ได้สร้างบารมีร่วมกันไปตลอดเส้นทาง

        *เหมือนในสมัยพุทธกาล มีกุลสตรีคนหนึ่ง เมื่อแต่งงานแล้ว นางเคารพนบนอบต่อสามีดุจเทวดา และได้ตั้งใจทำหน้าที่ศรีภรรยา ตื่นก่อนนอนทีหลัง ขยันทำงานบ้านทุกอย่างจนเป็นที่รักที่ชอบใจของสามี อีกทั้งยังปรนนิบัติดูแลพ่อแม่ของสามีเป็นอย่างดี ทำหน้าที่โดยไม่ขาดตกบกพร่อง ครอบครัวจึงอยู่เย็นเป็นสุข 

        วันหนึ่ง นางได้เดินทางไปเป็นเพื่อนสามี เพื่อไปทำงานต่างถิ่น ระหว่างทาง ทั้งคู่ถูกพวกโจรปล้นชิงทรัพย์ พวกโจรตั้งใจจะฆ่าสามีของนาง และเอานางไปเป็นภรรยา แต่นางเป็นสตรีผู้มีศีล จึงอ้อนวอนโจรว่า “อย่าได้ฆ่าสามีของดิฉันเลย ถ้าท่านฆ่าสามีของดิฉันจริง  ดิฉันจะกลั้นลมหายใจให้ตายตามไปด้วย”

        หัวหน้าโจรเห็นว่า นางมีความรักต่อสามีจริงๆ ยอมตายแทนสามีได้ จึงได้ปล่อยทั้งสองให้เป็นอิสระ ทั้งคู่พากันเดินทางกลับเมืองสาวัตถี และชวนกันไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า สามีได้ทูลเล่าเรื่องความดีของภรรยา พระบรมศาสดาทรงระลึกชาติหนหลัง แล้วตรัสว่า “มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่สตรีผู้นี้ได้ช่วยชีวิตของท่าน แม้ในกาลก่อน นางก็ได้ทำหน้าที่ของภรรยาอย่างสมบูรณ์”

        พระพุทธองค์ทรงเล่าว่า ใกล้ป่าหิมพานต์ได้มีหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง เป็นที่อาศัยของปูทองซึ่งตัวใหญ่มาก ขนาดจับช้างกินเป็นอาหารได้ ทำให้ช้างที่อาศัยอยู่บริเวณป่านั้น ไม่อาจลงไปอาบและดื่มกินน้ำได้สะดวก เพราะถ้าช้างตัวใดผลีผลามลงไป ก็จะถูกปูยักษ์ตัวนี้ใช้ง่ามมหึมาหนีบขา และลากลงไปในน้ำลึก ทำให้ช้างตัวนั้นจมน้ำตาย และตกเป็นอาหารของปูยักษ์นั้น

        ต่อมา ช้างโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดขึ้นในป่าหิมพานต์ ท่านคิดจะช่วยโขลงช้างให้พ้นจากความลำบาก เมื่อเติบโตพอที่จะต่อสู้กับพญาปูทองในหนองน้ำได้ จึงบอกบิดามารดา แต่ก็ถูกทัดทาน พระโพธิสัตว์ยังไม่ละความพยายาม เมื่อเห็นว่าตนเองมีพละกำลังมหาศาลมากกว่าช้างตัวอื่นๆ จึงเรียกช้างทั้งหมดมาประชุมกัน และพาไปที่หนองน้ำ  พญาช้างได้บอกให้ช้างทั้งหลาย ลงไปหากินเหง้าบัวในหนองน้ำนั้นตามสบาย ส่วนตนเองคอยสังเกตดูปูทองด้วยความระมัดระวัง

        ช้างทั้งโขลงพากันลงไปในหนองน้ำ หากินอย่างอิ่มหนำสำราญ จากนั้นก็เริ่มทยอยกันกลับขึ้นมา มีพระโพธิสัตว์เดิน  รั้งท้าย คอยระมัดระวังเพื่อให้ช้างทุกๆ เชือกได้เบาใจ ส่วนช้างที่เป็นภรรยาของพระโพธิสัตว์ก็เดินนำหน้า ขณะนั้นเอง ปูทองเห็นพระโพธิสัตว์เดินขึ้นฝั่งเป็นเชือกสุดท้าย จึงรีบเอาก้ามยักษ์ทั้งสองหนีบเท้าทั้งสองข้างของพระโพธิสัตว์ เหมือนกับช่างเหล็ก เอาคีมขนาดใหญ่หนีบซี่เหล็กฉะนั้น

        เมื่อพระโพธิสัตว์ทดลองใช้พลังมหาศาลยิ่งกว่าช้าง ๕ เชือก ยกเท้าตนเองขึ้น ก็ไม่อาจดึงเท้าให้ขยับเขยื้อนได้ ท่านพยายามแล้วพยายามอีกก็ไม่สำเร็จ ปูทองก็ยิ่งรัดแน่นมากขึ้นไปอีก และดึงท่านเพื่อให้จมลงไปในหนองน้ำลึก ท่านจึงร้องลั่นขึ้นว่าตนถูกปูหนีบ ช้างทั้งโขลงต่างตกใจกลัววิ่งพล่านไปทั่ว โดยไม่รู้จะช่วยพญาช้างได้อย่างไร

        ฝ่ายนางช้าง เมื่อเห็นสามีถูกมรณภัยคุกคามเช่นนั้นก็ไม่ยอมหนีขึ้นฝั่ง รีบกลับมาให้กำลังใจพระโพธิสัตว์ว่า “ท่านอย่ากลัวเลย ดิฉันจะไม่ทิ้งท่านไปเด็ดขาด”
        นางได้อ้อนวอนขอชีวิตจากปูทองว่า “ปูผู้เจริญ ท่านมีกระดูกเป็นหนัง มีก้ามเป็นอาวุธ ท่านเป็นผู้ประเสริฐกว่าปูทุกตัว ด้วยความถึงพร้อมด้วยวรรณะและความเป็นใหญ่ ดิฉันขออ้อนวอนท่าน ได้โปรดปล่อยสามีของดิฉันเถิด ถ้าหากท่านปรารถนาจะเอาพญาช้างไป ก็ขอให้เอาฉันไปแทนเถิด”

        ปูทองได้ฟังช้างพังอ้อนวอนเช่นนั้น คิดว่าจะจับช้างพังไปเป็นอาหารแทน จึงได้คลายก้ามมหึมาออกจากเท้าของพระโพธิสัตว์ เพื่อจะไปคีบเท้าของนางช้างพังแทน พระโพธิสัตว์ได้โอกาส รีบยกเท้ากระทืบกระดองปูทองสุดกำลัง จนกระดองปูแตกสลาย ส่วนช้างที่เหลือต่างช่วยกันเอางวงลากปูขึ้นมากระทืบซ้ำจนกระทั่งตาย ความอาจหาญและความเสียสละของช้างพังในครั้งนั้น ทำให้เหล่าช้างทั้งหลายยกย่องสรรเสริญว่า เป็นยอดภรรยาที่หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ทำให้เหล่าสัตว์ป่าได้อาบ ดื่มกินที่หนองน้ำนั้นอย่างมีความสุข

        เราจะเห็นได้ว่า การที่จะมีใครสักคนมาสละชีวิตแทนกันได้นั้น แสดงว่าบุคคลนั้นต้องมีคุณธรรมภายในตัวมาก ต้องมีความองอาจกล้าหาญ เป็นประดุจมิตรแท้ที่สละชีวิตแทนกันได้ พระพุทธองค์ทรงให้หลักธรรมที่จะทำให้ความรักยั่งยืน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขว่า ต้องรู้จักการสงเคราะห์กัน เหมือนกรวด หิน ปูน ทราย มีน้ำเป็นเครื่องประสาน ทำให้จับตัวกันเป็น   พื้นซิเมนต์ เป็นคอนกรีตที่แข็งแรง นำมาใช้ประโยชน์ได้ดี   ชีวิตคู่ก็จะมั่นคงเช่นนั้น ดังนั้นต้องเริ่มตั้งแต่รู้จักแบ่งปันกัน  เพราะที่ใด หากปราศจากการให้ ที่นั้นก็เหมือนทะเลทรายที่มีแต่ความแห้งแล้ง ถ้าแล้งน้ำใจต่อกันแล้ว ไม่นานก็ต้องแยกทางกัน

        พระพุทธองค์ทรงสอนให้ใช้คำพูดที่สุภาพเป็นปิยวาจา รู้จักแนะนำตักเตือนกันด้วยความจริงใจ ยกย่องให้เกียรติซึ่งกันและกัน บางครั้งการพูดจาที่ไพเราะเสนาะโสตต่อกัน ยังมีคุณค่ากว่าการมอบเงินทองสิ่งของให้แก่กัน อีกทั้งให้ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อกัน มีสุขร่วมสุข มีทุกข์ ร่วมทุกข์ ยามมีภัยก็ร่วมกันต้าน มีความเสมอต้นเสมอปลาย ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ สามีทำหน้าที่ของสามีที่ดี ส่วนภรรยาก็ทำหน้าที่ของตนเองอย่าให้ขาดตกบกพร่อง หมั่นชักชวนกันทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นครอบครัวตัวอย่างให้กับ ครอบครัวอื่นๆ จะได้เป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวธรรมกาย มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งกันทั้งครอบครัว

*มก. สุวรรณกักกฏกชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๑๓๖

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2651
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *