มงคลที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา – พระในบ้าน

มงคลที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา – พระในบ้าน

บำรุงบิดามารดา – พระในบ้าน
ภิกษุทั้งหลายสัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที
ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ
ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ เป็นภูมิของสัตบุรุษ

        การปฏิบัติธรรม คือ การฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึง พระรัตนตรัยภายใน คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะและสังฆรัตนะ รัตนะทั้ง ๓ นี้ เป็นสรณะที่แท้จริงของชาวพุทธและชาวโลกทั้งหมด เข้าถึงได้เมื่อไร จึงจะได้ชื่อว่า เป็นชาวพุทธที่แท้จริง เป็นผู้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ พระรัตนตรัยมีอยู่หลายระดับ ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เข้าไปภายใน ถ้าเราทำใจให้หยุดได้ ก็จะเข้าถึง แต่ถ้าหยุดไม่ได้ ก็เข้าไม่ถึง เพราะหยุดเป็นตัวสำเร็จ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน  อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ว่า
        “สปฺปุริโส จ โข ภิกฺขเว กตญฺญู โหติ กตเวที สพฺภิเหตํ  ภิกฺขเว อุปญฺญาตํ  ยทิทํ กตญฺญุตา กตเวทิตา เกวลา เอสา ภิกฺขเว สปฺปุริสภูมิ ยทิทํ กตญฺญุตา กตเวทิตาฯ

        ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ เป็นภูมิของสัตบุรุษ”

        ความกตัญญูกตเวที เป็นคุณธรรมพื้นฐานของนักปราชญ์บัณฑิต มนุษย์ทุกคนจะต้องมีประจำใจ เพราะเป็นบันไดก้าวสำคัญ ที่จะนำพาชีวิตไปสู่อนาคตที่รุ่งโรจน์ บัณฑิตเมื่อมีใครทำคุณความดีอะไรแก่ตน แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เขาจะจดจำความดีนั้นและหาโอกาสที่จะตอบแทนคุณ โดยเฉพาะพ่อแม่เป็นบุคคลที่มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อลูก ได้ให้กำเนิดกายเนื้อ เป็นต้นแบบทั้งทางกายและทางใจ ทำให้ลูกได้มีโอกาสสร้างความดี จึงจำเป็นที่พวกเราทุกคนจะต้องหาทางตอบแทนคุณท่าน จึงจะได้ชื่อว่า เป็นลูกยอดกตัญญู

        *เหมือนในสมัยพุทธกาล พราหมณ์ในเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง เลี้ยงลูกชาย ๔ คน จนเจริญเติบโต แต่งงานมีครอบครัวกันหมดทุกคน และแบ่งทรัพย์มรดกให้คนละเท่าๆ กัน เพื่อไปปลูกเรือนอยู่ต่างหาก เมื่อพวกลูกๆ แยกย้ายครอบครัวออกไป ทำให้เหลือพ่อเพียงคนเดียว ลูกๆ จึงปรึกษากันว่า พ่อของเรา ก็แก่มากแล้ว ให้ท่านอยู่คนเดียวคงลำบาก จึงได้หมุนเวียน  สับเปลี่ยนกันให้พ่อมาอยู่ด้วย ลูกชายได้ดูแลพ่อเป็นอย่างดี ถ้าวันไหนไม่อยู่บ้าน ก็จะกำชับให้ภรรยาช่วยดูแลอาหารการกิน ความเป็นอยู่ของพ่อให้ดี 

          วันหนึ่ง ลูกสะใภ้คนโตเกิดความรำคาญ ที่จะต้องมาดูแลพ่อของสามีซึ่งแก่เฒ่า ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา จึงพูดกับพ่อสามีว่า
“ทรัพย์สมบัติที่คุณพ่อให้ลูกชายคนโต มากกว่า ให้ลูกคนอื่นหรืออย่างไร แต่ฉันเห็นว่า คุณพ่อแบ่งสมบัติให้ พวกเราทุกคนเท่ากันมิใช่หรือ แล้วทำไมคุณพ่อถึงไม่ไปอาศัยอยู่บ้านของลูกชายคนอื่นบ้างเล่า”

        พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็โกรธเคืองลูกสะใภ้มาก แต่อดทนไม่บอกลูกชาย ครั้นถูกลูกสะใภ้ขับไล่ออกจากบ้านทุกวันเช่นนั้น ก็ทนไม่ไหว จึงตัดสินใจไปอยู่กับลูกชายคนรอง เมื่อไปอยู่กับลูกชายคนรอง พราหมณ์ได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่อยู่ได้ไม่นาน ลูกสะใภ้ก็จะคอยหาเรื่อง พูดจากระทบกระเทียบ เหน็บแนมให้ไม่สบายใจอีก

        เมื่ออดทนไม่ไหวจึงอำลาลูกชายคนรอง ไปอยู่กับลูกคนที่สาม แต่ก็เจอคำพูดที่ไม่ไพเราะจากลูกสะใภ้อีกเช่นกัน จึงย้ายไปอยู่กับลูกชายคนเล็ก พราหมณ์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี แต่ไม่กี่วัน ก็ถูกลูกสะใภ้กลั่นแกล้งอีก คราวนี้ไม่รู้จะไปพึ่งลูก คนไหน เพราะลูกสะใภ้แต่ละคน เหมือนกับจะคอยเป็นศัตรูตลอดเวลา พราหมณ์ไม่อยากฟ้องลูกชาย เพราะจะทำให้ครอบครัวลูกแตกแยก จึงตัดสินใจออกจากบ้าน บวชเป็นชีปะขาว เที่ยวภิกษาอยู่    กาลเวลาผ่านไป พราหมณ์มีร่างกายผ่ายผอมลง เพราะชรา เป็นอยู่อย่างลำบาก ต้องนั่งทอดถอนใจถึงอดีตที่เคยรํ่ารวย แม้จะมีลูกก็ไม่ได้พึ่ง จึงคิดว่า ได้ยินว่า พระสมณโคดมทรงฉลาดในการต้อนรับ ถ้าเราเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้ว จะต้องได้รับการต้อนรับเป็นแน่แท้ พราหมณ์คิดดังนั้นแล้ว ตัดสินใจถือไม้เท้ามุ่งหน้าไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อหวังจะขอความเมตตาจากพระพุทธองค์ พราหมณ์ได้ทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมด พระพุทธองค์จึงแนะกุศโลบาย ให้พราหมณ์ท่องจำคาถาไปกล่าวในสภากลางเมืองว่า

        “ข้าพเจ้าจักเพลิดเพลิน และปรารถนาความเจริญแก่บุตรเหล่าใด บุตรเหล่านั้นถูกภรรยา ยุยง รุกรานข้าพเจ้าเหมือนสุนัขรุกรานสุกร ฉะนั้น บุตรเหล่านั้น เป็นอสัตบุรุษ แต่มาเรียกข้าพเจ้าว่า พ่อ

        ข้าพเจ้าผู้เป็นบิดา ต้องท่องเที่ยวขอทานที่เรือนของคนอื่น เหมือนม้าแก่ที่ใช้งานไม่ได้อีกแล้ว เขาจึงงดให้อาหาร ได้ยินว่าไม้เท้าของข้าพเจ้ายังจะประเสริฐกว่าบุตรเหล่านั้น บุตรที่ไม่เชื่อฟังจะประเสริฐอะไร เพราะไม้เท้ากันโคดุก็ได้ กันสุนัขก็ได้ มีไว้ยันข้างหน้าเวลามืดก็ได้ ใช้หยั่งลงไปในที่ลึกก็ได้ และเพราะอานุภาพแห่งไม้เท้า คนแก่เช่นข้าพเจ้าพลาดล้มแล้วกลับยืนขึ้นอีกได้”

        พราหมณ์จำคาถาเหล่านั้นจนขึ้นใจ แล้วกราบทูลลาพระพุทธองค์กลับไป เมื่อพราหมณ์สังเกตเห็นว่า พวกลูกชายเข้ามาร่วมงานประชุมพราหมณ์ที่สภากลางเมือง ในวันประชุมพราหมณ์แล้ว ก็เดินถือไม้เท้าเข้าไปท่ามกลางสภา พร้อมกับชูมือขึ้น ขอโอกาสมหาชนกล่าวคาถาที่ตนเรียนมา พราหมณ์ตั้งใจกล่าวด้วยสำเนียงที่บ่งบอกถึงความปวดร้าวในดวงใจ    ที่ไม่มีใครเลี้ยงดู

        ในสมัยนั้น มีประเพณีที่ถือกันอย่างเคร่งครัดว่า ลูกคนใดที่บิดามารดาเลี้ยงดูจนเติบใหญ่แล้ว ไม่เลี้ยงดูท่านตอบ จะต้องถูกประหารเพราะถือว่าเป็นลูกอกตัญญู เพราะฉะนั้น  เมื่อลูกชายทั้ง ๔ คนของพราหมณ์ ฟังถ้อยคำที่พ่อกล่าวแล้ว  รู้ว่าที่พ่อพูดเช่นนั้นหมายถึงตนเอง จึงเกิดความกลัวตายและมีความสลดสังเวชใจ รีบเข้าไปหมอบกราบลงแทบเท้าพ่อทันที พร้อมกับกล่าวขอขมาโทษ ที่ปล่อยปละละเลยไม่ได้อุปัฏฐากเลี้ยงดู

       ด้วยหัวใจของพ่อไม่ปรารถนาจะให้ลูกต้องถูกประหาร จึงขอร้องมหาชนว่า อย่าได้ทำร้ายลูกชายทั้งสี่เลย มหาชนก็ข่มขู่ลูกชายทั้งสี่ของพราหมณ์ว่า “ตั้งแต่วันนี้ไป ถ้าหากพวกท่าน ไม่ดูแลพ่อเป็นอย่างดี พวกเราจะฆ่าท่านเสีย”

        ลูกชายทุกคน จึงรับปาก แล้วพาพ่อกลับบ้านให้อาบน้ำรับประทานอาหาร คอยอุปัฏฐากดูแลทุกอย่าง และยังกำชับภรรยาว่า ให้ดูแลพ่อเป็นอย่างดี มิฉะนั้นจะต้องถูกขับไล่ออกจากบ้าน

        พราหมณ์ได้รับการดูแล หลับนอนอย่างสุขสบาย เพียง ๒-๓ วัน ก็มีผิวพรรณเปล่งปลั่งผ่องใส มองดูตนเองแล้วคิดว่า “เราได้สุขสมบัติเหล่านี้ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ควรประมาทในชีวิต ควรเร่งสั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป” จึงรีบนำผ้าเนื้อดี ไปถวายพระบรมศาสดา และตั้งใจทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ไม่ได้ขาด ได้ยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

        วันหนึ่ง ลูกชายคนโตอยากจัดงานมงคลจึงถามพ่อว่า “จะจัดงานมงคลเพื่อใครดี”
        พราหมณ์ตอบว่า “พ่อไม่รู้จักคนอื่นเลย นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น” 
        ลูกชาย จึงขอให้พราหมณ์นิมนต์ภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป มีพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นประมุข มาฉันภัตตาหารที่บ้าน หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จ ลูกชายทั้งสี่เข้ามากราบนมัสการพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย ได้ทำสิ่งที่เป็นมงคล ด้วยการบำรุงบิดาในยามแก่เฒ่า บัณฑิตทั้งหลายก็ได้ประพฤติกันมาแล้ว”

        ผู้รู้ได้กล่าวถึงคุณของบิดามารดาว่า “บุตรผู้ที่บิดามารดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความยากลำบาก ถ้าไม่บำรุงบิดามารดา บุตรนั้นได้ชื่อว่า   ประพฤติผิดในบิดามารดาของตนย่อมเข้าถึงนรก   ดังนั้นบุตรควรบำรุงท่านด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ ทาน การให้  ปิยวาจา พูดจาไพเราะอ่อนหวาน อัตถจริยา ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อท่าน และสมานัตตตา เป็นผู้วางตนเสมอต้นเสมอปลายในท่านทั้งสอง

        พ่อแม่ท่านมีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา จึงได้ชื่อว่า เป็นพรหมของลูก เป็นอาจารย์ผู้ให้วิทยาความรู้แก่ลูกเป็นคนแรก ก่อนอาจารย์อื่นๆ จึงได้ชื่อว่า บูรพาจารย์ ท่านเป็นผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่ลูก โดยไม่หวังผลตอบแทน จึงเป็นอาหุไนยบุคคลที่ทุกท่านควรจะนอบน้อมสักการะท่าน ให้เป็นเหมือนพระในบ้าน”   

        เพราะฉะนั้น ท่านใดที่ยังไม่ได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ให้กลับมาดูว่า พระในบ้าน คือ คุณพ่อคุณแม่ของเรา เราได้ดูแลท่านดีไหม ลูกกตัญญูจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ อย่าได้ดูเบา และให้ท่านได้มีโอกาสสั่งสมบุญให้มากๆ จะได้เป็นเสบียงติดตัวท่านไปในภายภาคเบื้องหน้า  เพราะบั้นปลายของชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดคือบุญกุศล และมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของท่าน ดังนั้นควรให้ท่านได้ปฏิบัติธรรมมากๆ และเราอย่าได้ประมาท ให้ขยันปฏิบัติธรรมกันทุกๆ คน

*มก. เรื่องบุตรของพราหมณ์เฒ่า เล่ม ๔๓ หน้า ๒๓๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2560
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *