มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต – กัลยาณวาทะ

มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต – กัลยาณวาทะ

มีวาจาสุภาษิต – กัลยาณวาทะ
บุคคลพึงเปล่งแต่วาจางามเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย
การเปล่งวาจาดีสำเร็จประโยชน์ได้ แต่การเปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน

        ทุกครั้งที่เราได้นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนา นำใจกลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างนุ่มนวลเบาสบาย ธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ในตัวของเรา จะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์เป็นทางมาแห่งความสุขและความสำเร็จ ซึ่งความสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่งนี้ เป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติต่างปรารถนา เพราะเป็นสุขที่แท้จริง สุขที่อิสระเสรีกว้างขวางไร้ขอบเขต ไม่มีใครสามารถมาพรากเอาความสุขชนิดนี้จากเราไปได้ แล้วยังเป็นรากฐานในการขจัดกิเลสอาสวะ ชำระมลทินของใจให้หมดสิ้นไป เป็นเหตุให้เข้าถึงพระธรรมกาย ได้ที่พึ่งที่ระลึกภายใน

มีวาระธรรมภาษิตที่กล่าวไว้ใน สารัมภชาดก ว่า
        “บุคคลพึงเปล่งแต่วาจางามเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย การเปล่งวาจาดีสำเร็จประโยชน์ได้ แต่การเปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน”

        คำว่า วาจางาม หรือกัลยาณวาทะ เป็นถ้อยคำที่ยกใจ  ผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น วาจาที่งามนั้น แม้จะกล่าวด้วยถ้อยคำ น้ำเสียง หรือสำนวนภาษาใดก็ตาม วาจานั้นเป็นวาจาสุภาษิต วาจาสุภาษิตเป็นถ้อยคำที่สามารถยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ เพราะเป็นถ้อยคำที่ยกใจผู้ฟัง ซึ่งกำลังขุ่นมัวให้ผ่องใสได้ ใจที่กำลังวุ่นวายสับสน ก็จะเป็นใจที่สงบเยือกเย็น  ส่วนวาจาชั่วหยาบ หรือวาจาทุพภาษิต เป็นถ้อยคำที่นำความเดือดร้อนมาให้ทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นวาจาที่ไม่เป็นมงคลแก่โสตประสาท ไม่สามารถนำประโยชน์สุขแก่ผู้ฟัง

        พระพุทธองค์ทรงให้คำจำกัดความของวาจาสุภาษิตไว้ว่า วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน องค์ ๕ ประการ คือ วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล เป็นเรื่องจริง เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวานไพเราะเสนาะโสต เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์เพียงส่วนเดียว และเป็นวาจาที่กล่าวด้วยจิตเมตตา ถ้อยคำสุภาษิตเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราควรฝึกไว้ ฝึกให้เป็นอุปนิสัย เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อไปจะได้เป็นผู้มีเสียงดุจท้าวมหาพรหม

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงเป็นต้นแบบในการกล่าวถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตที่แท้จริง เพราะพระองค์ทรงฝึกฝนมาข้ามภพข้ามชาติ ทำให้วาจาของพระพุทธองค์เป็นวาจา  ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ ธรรมดาของพระตถาคตเจ้าทรงเป็น ยถาวาที ตถาการี คือ ตรัสอย่างไร ก็ทรงทำอย่างนั้น ทรงทำอย่างไร ก็ตรัสอย่างนั้น วาจาของพระพุทธองค์ไม่เคยเป็นสอง ความเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธองค์นั้น เลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป จึงมีเจ้าลัทธิจำนวนมากอยากทำลาย วาทะของพระพุทธองค์ โดยการให้ร้ายว่า ทรงพูดอย่างหนึ่ง ทำอีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้ไม่มั่นคงในคำพูด เพื่อที่มหาชนจะได้   ไม่เลื่อมใส แล้วหันกลับมานับถือลัทธิของตน

        *นิครนถ์นาฏบุตร เจ้าลัทธิเดียรถีย์ที่ไม่ชอบใจในพระบรมศาสดา เพราะศรัทธามหาชนของตนเองห่างเหินไป จึงแต่งปัญหาข้อหนึ่งเป็นโอวัฏฏิกสาระ คือปัญหาวนเวียน ไม่มีใครสามารถแก้ได้ ปัญหานี้นิครนถ์ใช้เวลา ๔ เดือน จึงคิดออก และยุให้อภัยราชกุมารเรียนปัญหานั้นจนแตกฉาน เพื่อจะได้ส่งไปโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคเจ้า หากพระกุมารชนะก็จะได้รับการยกย่องจากมหาชน  

        นิครนถ์ได้ยุยงอภัยราชกุมารว่า ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปถามพระสมณโคดมว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคต จะไม่พึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นบ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณโคดมทรงพยากรณ์ว่า ตถาคตไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ก็ให้ทูลต่อว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ทำไมพระองค์จึงทรงพยากรณ์เทวทัตว่า   เทวทัตจักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นหนึ่งกัป เป็นผู้อันใครๆ เยียวยาไม่ได้เล่า เพราะพระวาจานั้น พระเทวทัตจึงโกรธ เสียใจ เมื่อพระสมณโคดมถูกถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก จะต้องยอมแพ้ต่อคำถามของพระองค์อย่างแน่นอน”

        ฝ่ายพระกุมารยังไม่ทราบอานุภาพแห่งสัพพัญญุตญาณ จึงตั้งใจเรียนปัญหาจนชำนาญ เพื่อจะได้ไปโต้วาทะกับพระพุทธองค์ วันรุ่งขึ้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสด็จมาฉันภัตตาหารในพระราชวัง ทูลถามปัญหาที่จดจำมาจากนิครนถ์ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อน ราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้ จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้ สมมติว่าเด็กทารกไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเอง เอากิ่งไม้ หรือหินใส่เข้าไปในปาก แล้วเอาออกไม่ได้ พระองค์จะทรงทำอย่างไรเล่า” 
        อภัยราชกุมารทูลว่า “จะต้องหาทางเอาไม้หรือหินออกมาให้ได้ แม้ว่าเด็กคนนั้น   จะเจ็บปวดไม่ยอมให้เอาออกก็ตาม”

        พระบรมศาสดาตรัสต่อว่า “ดูก่อนราชกุมาร ตถาคต  ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่เป็นจริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์และวาจาไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตจะไม่กล่าววาจานั้น และถึงแม้จะเป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น หากเป็นวาจาไม่จริง แต่เป็นที่รักของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ ของผู้อื่น ถึงกระนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสรรพสัตว์ทั้งหลาย”

        ต่อมาเมื่ออภัยราชกุมารทูลถามปัญหาที่เรียนมา ไม่ว่าจะลึกซึ้งเพียงไร พระพุทธองค์ก็ทรงตอบได้ ทำให้พระกุมารสงสัยว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงรู้ไปหมดทุกอย่าง จึงได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหล่าชนผู้ถือตัวว่าเป็นบัณฑิต เข้ามาถามปัญหาที่ยุ่งยาก และลึกซึ้งกับพระองค์กันจำนวนมาก การพยากรณ์ปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรึกด้วยพระหฤทัยไว้ก่อนว่า  บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาเฝ้าเรา แล้วทูลถามอย่างนี้ เราจะต้องพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าคำพยากรณ์นั้น มาปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระตถาคตโดยทันที พระเจ้าข้า”     

        พระบรมศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนราชกุมาร ตถาคตขอถามกลับพระองค์บ้าง พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์เป็นผู้ชำนาญและฉลาดในส่วนต่างๆ ของรถทุกอย่าง  เมื่อมีผู้เข้ามาถามให้พระองค์อธิบายรายละเอียด เกี่ยวกับบางส่วน ของรถที่เขาไม่เข้าใจ พระองค์ได้ตรึกด้วยใจไว้ก่อนว่า จะต้องตอบอย่างไร หรือว่าเข้าใจแจ่มแจ้งอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเตรียมตัวตอบคำถาม”

        อภัยราชกุมารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถผู้ชำนาญในเรื่องรถ ฉลาดในส่วนประกอบต่างๆ ของรถ ฉะนั้นการพยากรณ์ปัญหานั้น แจ่มแจ้งแก่หม่อมฉันทันที โดยไม่ต้องเตรียมคำตอบเลย”

        พระบรมศาสดา ตรัสว่า “ฉันนั้นเหมือนกันราชกุมาร เหล่าบัณฑิตนักปราชญ์ที่เข้ามาถามตถาคตถึงปัญหาต่างๆ ตถาคตย่อมตอบได้ทันที โดยไม่ต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เพราะตถาคตแทงตลอดในธรรม   ทั้งหลาย การพยากรณ์ปัญหาจึงแจ่มแจ้งกับเราตถาคตโดยทันที” 

        เมื่ออภัยราชกุมารได้ทราบถึงพระพุทธญาณ อันไม่มีประมาณเช่นนั้นแล้ว จึงยอมรับนับถือพระพุทธองค์ เป็นบรมศาสดาที่ ไม่มีศาสดาใดยิ่งกว่า ทรงประกาศตนเป็นอุบาสกตลอดชีวิต

        เราจะเห็นว่า พระบรมศาสดาทรงเป็นต้นแบบของผู้ที่ฝึกตนเองได้อย่างยอดเยี่ยมในทุกด้าน ทั้งทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ทุกถ้อยคำสำนวนและอิริยาบถ ที่ทรงแสดงออกมานั้น ไม่มีใครสามารถตำหนิได้ วจีกรรมที่เป็นสุภาษิตของพระพุทธองค์ที่ทรงกล่าววาจาเป็นอรรถเป็นธรรมมาโดยตลอด ทำให้พระพุทธองค์ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ เป็นที่ศรัทธาทั้งมนุษย์และเทวา ทรงมีพระบาทดุจสังข์ควํ่า มีพระโลมาทุกเส้นล้วนมีปลายช้อนขึ้นข้างบน เพราะฉะนั้นให้หมั่นฝึกใช้วาจา    สุภาษิตกัน หัดพูดยกใจผู้ฟังให้สูงขึ้น เพราะถ้อยคำใดที่เป็นไป เพื่อให้ถึงพระนิพพาน ถ้อยคำนั้นเป็นวาจาสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย

*มก. อภยราชกุมารสูตร เล่ม ๒๐ หน้า ๒๐๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2532
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *