มงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต – ปัญญาพาพ้นภัย (๒)

มงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต – ปัญญาพาพ้นภัย (๒)
 
ขึ้นชื่อว่าที่ลับย่อมไม่มีในโลก แก่บุคคลผู้กระทำบาปกรรมไว้
ต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ยังมีคนเห็น แต่คนพาลกลับสำคัญบาปกรรมนั้นว่าเป็นที่ลับ

        บารมีคือสิ่งเดียวเท่านั้น ที่เป็นเครื่องสนับสนุนให้บุคคลสามารถช่วยเหลือตนเอง และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน ตั้งแต่บารมีขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นอุปบารมีและปรมัตถบารมี ต้องสั่งสมไว้ให้มาก ต้องสร้างชนิดที่เรียกว่า ให้ได้บุญเป็นอสงไขยอัปมาณัง จึงจะช่วยเหลือตัวเรา และสรรพสัตว์ ให้รอดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารได้ เหมือนเราสงสารเพื่อนมนุษย์ อยาก  ช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ยาก หากเรามีทรัพย์สมบัติมาก ก็ช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ ทำให้รอดพ้นจากความอดอยากยากจน ได้รับความสุขสะดวกสบายในชีวิต ทำให้มีเวลาแสวงหาสิ่งที่เป็น สาระของชีวิต แสวงหาพระรัตนตรัย ดังนั้นถ้ามีบุญมาก อะไรต่างๆ ย่อมง่าย เราจึงจำเป็นต้องสั่งสมบุญให้ได้ตลอดต่อเนื่อง และต้องทำกันไปเป็นทีม ทำไปจนกว่าบารมีของเราจะเต็มเปี่ยม ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไปถึงที่สุดแห่งธรรมพร้อมๆ กัน

มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย สีลวีมังสชาดก ว่า
“นตฺถิ โลเก รโห นาม    ปาปกมฺมํ ปกุพฺพโต
ปสฺสนฺติ วนภูตานิ        ตํ พาโล มญฺญเต รโห

    ขึ้นชื่อว่าที่ลับย่อมไม่มีในโลก แก่บุคคลผู้กระทำบาปกรรมไว้
ต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ยังมีคนเห็น แต่คนพาลกลับสำคัญบาปกรรมนั้นว่าเป็นที่ลับ”

       คนพาลที่ถูกกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลงเข้าครอบงำจิตใจ มักทำบาปอกุศล เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ลับ คือ ลับหูลับตาคน แล้วคิดเพื่อให้เกิดความสบายใจ เป็นการปลอบใจตนเองว่า บาปอกุศลที่ตนได้ทำไปนั้น เป็นความลับ  สุดยอด ไม่มีใครรู้ใครเห็น เกิดความชะล่าใจ บางคนทำบาปนั้นบ่อยๆ จนเป็นอาจิณ เมื่อทำบาปเป็นอาจิณกรรม กรรมนั้นก็หนาแน่นยากที่จะแก้ไขได้ กฎแห่งการกระทำไม่ว่าจะทำในที่ลับหรือที่แจ้ง ย่อมส่งผลเป็นวิบากกรรมซึ่งทุกข์ทรมานเหมือนกัน เพียงแต่จะส่งผลเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง

     *เมื่อตอนที่แล้วพระบรมโพธิสัตว์ได้อาศัยปัญญา นำพาชีวิตให้พ้นจากมรณภัย ถึงตอนที่พระราชบิดาของพระองค์พร้อมกับพระราชเทวี ปุโรหิตและทาสชื่อปรันตปะ ได้ปลอมตัวระหกระเหินเร่ร่อนหนีเข้าไปในป่า เพราะคิดว่าราชสมบัติถูกพระเจ้าสมันตราชยึดครองไปหมดแล้ว พระราชาได้สร้างบรรณศาลาใกล้ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ด้วยผลไม้ ในทุกๆ วัน พระราชากับปุโรหิตจะออกไปหาผลไม้ เหลือไว้แต่ทาสปรันตปะให้คอยปรนนิบัติพระเทวี 
       
เนื่องจากความคุ้นเคยกันมากเกินไป  พระเทวีได้ประพฤติ นอกใจพระราชา โดยประพฤติมิจฉาจารกับทาสของตนเอง  เมื่อพระนางทำผิดแล้ว เกรงว่าพระสวามีจะจับได้ จึงแนะนำให้ทาสปลงพระชนม์พระราชา จะได้ไม่มีใครรู้เรื่อง วันรุ่งขึ้นเมื่อพระราชากำลังจะลงไปสรงสนานในแม่น้ำ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวัน ทรงให้ทาสปรันตปะถือพระขรรค์และภูษาของพระองค์ เมื่อทาสเห็นเป็นโอกาสเหมาะ คิดว่าคงไม่มีใครเห็น จึงใช้พระขรรค์เตรียมจะฟันคอพระราชา

        ขณะนั้นเอง พระราชารู้ว่าภัยกำลังจะมาถึงตัว ทรงร้องเสียงดังด้วยความกลัวตาย แต่ก็ไม่สามารถหลบพ้นเงื้อมมือมัจจุราช ที่ทาสผู้ทรยศได้หยิบยื่นให้ จึงถูกปลงพระชนม์อย่างน่าเวทนาที่ท่าน้ำนั่นเอง  ฝ่ายปุโรหิตได้ยินเสียงร้อง รู้ว่าพระราชา ถูกลอบปลงพระชนม์ จึงเขย่ากิ่งไม้ไหวไปไหวมา และรีบลงจากต้นไม้เข้าไปนั่งหลบอยู่ที่พุ่มไม้แห่งหนึ่ง ทาสปรันตปะได้ยินเสียงเขย่ากิ่งไม้ของปุโรหิต รีบตามไปดูว่ามีใครแอบเห็นการฆาตกรรมของตนเองบ้าง จะได้ฆ่าปิดปากให้หมด เมื่อไม่เห็นใครก็รีบมาฝังพระราชา แล้วรีบกลับไปรายงานพระเทวีทันที

        เมื่อทาสปรันตปะไปแล้ว ปุโรหิตจึงออกจากที่หลบซ่อน และรู้ชัดว่า พระราชาสวรรคตแล้ว ก็หวาดหวั่นว่าตนเองจะต้องถูกฆ่าเช่นกัน ด้วยความเป็นผู้ฉลาด จึงปลอมเป็นคนตาบอดมองไม่เห็น เดินโซซัดโซเซเข้าไปพักที่บรรณศาลา เมื่อทาสปรันตปะมาพบเข้า ก็ทำทีเป็นมองไม่เห็น พร้อมกับกล่าวว่า “ข้าแต่สมมติเทพ นัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์มืดบอดลง เพราะถูกอสรพิษร้ายพ่นพิษใส่ ในขณะที่ยืนอยู่ข้างจอมปลวก ในป่า จึงไม่รู้ทางกลับไปสู่ที่พำนักอาศัย ขอองค์สมมติเทพได้โปรดเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ด้วยเถิด”     

        ทาสปรันตปะคิดเอาเองว่า เขาคงไม่รู้เรื่องการลอบปลงพระชนม์ จึงปลอบใจว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านอย่าคิดอะไรไปเลย เราจะคอยปรนนิบัติรับใช้ท่านเอง” ตั้งแต่นั้นมา ทาสปรันตปะก็ตายใจ และนำผลไม้มาให้ปุโรหิตได้บริโภคอย่างสะดวกสบาย

        วันหนึ่ง พระราชเทวีได้ถามทาสปรันตปะชู้รัก ด้วยความสงสัยว่า “เมื่อเจ้าปลงพระชนม์พระราชาไม่มีใครเห็นหรือ” 

        ทาสตอบว่า “ขณะนั้นได้ยินแต่เสียงเขย่ากิ่งไม้เท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าคนหรือสัตว์เขย่ากิ่งไม้ เมื่อไปตรวจดูก็ไม่เห็นใคร เพียงแต่คิดว่า สักวันหนึ่งภัยคงจักมาถึงข้าพระองค์ เพราะการเขย่ากิ่งไม้นั้น”   

        ปุโรหิตได้ยินเรื่องราวที่ทั้งสองสนทนากันพอดี คิดหาทางกำจัดทาสผู้ชั่วร้ายให้ได้ จึงได้แต่อดทนรอโอกาสที่เหมาะ แสร้งทำเป็นพราหมณ์ตาบอดมาเป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี  ฝ่ายพระราชเทวีเมื่อประสูติพระโอรสที่เกิดจากพระราชาแล้ว ก็ตั้งใจเลี้ยงพระโอรสด้วยความทะนุถนอม จนกระทั่งเติบใหญ่

        เมื่อพระโอรสเจริญวัยขึ้นมีพระชนมายุได้ ๑๖ ชันษา พราหมณ์ปุโรหิตจึงขอร้องให้พระโอรสจับปลายไม้เท้าจูงไปที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นว่าอยู่กันลำพังเพียงสองต่อสอง จึงได้ลืมตาขึ้นสนทนากับพระราชกุมาร พราหมณ์ได้ทูลเรื่องราวความซับซ้อนของชีวิต และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๑๖ ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งชี้หลุมฝังศพของพระราชา ผู้เป็นพระบิดาบังเกิดเกล้า พระราชกุมารลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด ทรงเชื่อว่าสิ่งที่พราหมณ์พูดมาทั้งหมดนั้นเป็นความจริง เพราะที่ผ่านมา ตนเองไม่มีความรู้สึกว่าเป็นลูกของทาสปรันตปะเลย แต่ไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่านั้น  เมื่อรู้ความจริง จึงคิดแก้แค้นแทนพระบิดา

      วันหนึ่ง  เมื่อพระกุมารเห็นเป็นโอกาสเหมาะ ที่จะกำจัดทาสผู้ทรยศต่อพระบิดา จึงชักชวนทาสปรันตปะไปที่ท่าน้ำ ซึ่งเคย เป็นท่าที่ทาสเคยลอบปลงพระชนม์พระบิดามาก่อน ขณะทาสปรันตปะกำลังลงอาบน้ำ โดยไม่ทันเฉลียวใจและไม่ได้ระวังตัว พระกุมารได้ใช้พระขรรค์ฆ่าทาสผู้ทรยศทันที แล้วกลับไปหาพราหมณ์ปุโรหิต พระกุมารได้ตำหนิการกระทำอันไม่งามของพระมารดา ผู้ประพฤตินอกใจพระบิดา แต่ด้วยความรักในฐานะเป็นพระชนนีจึงยกโทษให้ จากนั้นก็ชวนกันกลับไปกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงประทานตำแหน่งอุปราชให้พระอนุชา ทรงช่วยกันบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง อีกทั้งทรงบำเพ็ญบุญกุศลทุกอย่าง เมื่อละโลกแล้ว ได้ไปบังเกิดในสวรรค์

       พระบรมศาสดาทรงประชุมชาดกว่า อุปราชผู้รู้สรรพสำเนียงของสัตว์และวิธีการเอาชีวิตรอด ได้มาเป็นพระตถาคต พราหมณ์ปุโรหิตผู้ฉลาดเอาตัวรอดได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนพระราชาผู้เป็นพระบิดาได้มาเป็นพระเทวทัต ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องย่อๆ เกี่ยวกับอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ความซับซ้อนของชีวิตในสังสารวัฏเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า
ไม่ควรทำบาปทุกอย่างทั้งในที่ลับและเปิดเผย
เพราะไม่ว่าจะเป็นที่มืดหรือสว่าง ที่ลับหรือแจ้งก็มีวิบากเหมือนกัน
จะมีใครรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ผู้ที่รู้ดีที่สุด คือตัวของบุคคลผู้ทำบาปนั่นเอง

      นอกจากนั้นยังมีพวกกายละเอียด เทวดา หรือผู้รู้ผู้มีญาณทั้งหลาย ท่านรู้ท่านเห็นทั้งนั้น เพียงแต่จะนำมาพูด หรือไม่พูดเท่านั้น บุญที่เราทำ กรรมที่เราสร้างไว้นั้น จะติดแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย และตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ บาปอกุศลบางอย่างติดแน่นไปจนถึงภพชาติสุดท้ายทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ทุกท่านทำแต่บุญกุศล ทำแต่ความดีล้วนๆ ทำใจใสๆ ให้ธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ของเรา เป็นศูนย์รวมแห่งความบริสุทธิ์และความดีงามทั้งหลาย ให้ทำความดีจนเป็นอาจิณกรรม ติดแน่นที่ศูนย์กลางกายของเราไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม

*มก. ปรันตชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๔๔๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2429
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *