มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ – รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (๔)

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ – รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (๔)
 
พวกเกวียนเป็นมิตรของคนเดินทาง
มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน
สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระเกิดขึ้นเนืองๆ
บุญที่ตนทำเอง เป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า

        ขณะที่โลกแห่งเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีการคิดค้นสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่โลกแห่งศีลธรรมกลับไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร สภาพจิตใจของผู้คนยังเต็มไปด้วยความคิดหมกมุ่นในเรื่องเบญจกามคุณ มีการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน แม้โลกแห่งวัตถุจะรุดหน้าไปมากเพียงใด หากสภาพจิตใจของมนุษย์ไม่ได้รับการยกระดับให้สูงขึ้นตามไปด้วย สังคมก็จะเต็มไปด้วยปัญหา หากทุกคนหันกลับมาให้ความสำคัญกับจิตใจ หยุดการแสวงหาภายนอกชั่วคราว กลับมาแสวงหาความสุขภายใน ด้วยการทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อหยุดใจได้ถูกส่วน ไม่ช้าจะเข้าถึงพระธรรมกาย ภายใน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความบริสุทธิ์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องไปดิ้นรนแสวงหาอามิสสุข ซึ่งเป็นความสุขจอมปลอมกันอีกต่อไป

มีพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ใน มิตตสูตร ว่า
“สตฺโถ ปสวโต มิตฺตํ      มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร
สหาโย อตฺถชาตสฺส      โหติ มิตฺตํ ปุนปฺปุน
สยํ กตานิ ปุญฺญานิ      ตํ มิตฺตํ สมฺปรายิกํ
        พวกเกวียนเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระเกิดขึ้นเนืองๆ บุญที่ตนทำเอง เป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า”

        ในสมัยก่อนการเดินทางไกลเพื่อค้าขาย ต้องอาศัยโคและเกวียนเป็นยานพาหนะ โคและเกวียนจึงเปรียบเสมือนมิตรของผู้เดินทางไกล ธรรมดามารดาผู้เลี้ยงดูบุตรธิดา ต้องคอยห่วงใย ดูแลเอาใจใส่ทุกอย่าง แม้ในยามเจ็บป่วย บุตรธิดาก็ยังอาศัยมารดาเป็นผู้ดูแลรักษา มารดาจึงเปรียบเสมือนมิตรในเรือนของบุตรธิดาเช่นเดียวกัน

        คำว่า สหาโย อตฺถชาตสฺส หมายถึง เพื่อนแท้ ผู้พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลในยามตกทุกข์ได้ยาก ทำนองมีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน ในเวลาที่เราเดือดเนื้อร้อนใจ ต้องการความช่วยเหลือ หากสหายผู้เป็นมิตรแท้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ย่อมทำให้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ คลี่คลายด้วยดี ท่านจึงกล่าวว่า สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระ

        สำหรับบุญที่เราสั่งสมไว้ดีแล้ว จะเป็นมิตรติดตามตัวไปในสัมปรายภพ บุญเป็นมิตรแท้ที่ยิ่งกว่ามิตรใดๆ ในโลกนี้ เพราะสามารถติดตามตัวเราไปได้ทุกภพทุกภูมิ เป็นเสบียงให้เราได้ใช้สร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป บุญเป็นแก้วสารพัดนึกที่จะ ดลบันดาลสมบัติทุกอย่าง ทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ รวมไปถึงอริยสมบัติ คือ การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ย่อมต้องอาศัยอานุภาพแห่งบุญ  ดังนั้นเราจึงควรรักบุญและสร้างบุญ ไว้ให้มากๆ ถ้าเราไม่ทิ้งบุญ บุญก็จะไม่ทิ้งเรา จะเป็นมิตรแท้ที่มีอุปการะต่อเราเสมอ

       *สำหรับเรื่องราวในตอนนี้เป็นเรื่องของเปรตเปลือยกาย ต่อจากตอนที่แล้ว เมื่อพระเจ้าอัมพสักขระทรงถวายผ้าเนื้อดี  ๘ คู่ แด่พระอรหันต์ด้วยจิตที่เลื่อมใส ครั้นพระเถระรับผ้าของพระราชาแล้ว ก็อนุโมทนาว่า “ขอทักษิณาทานนี้ จงสำเร็จผลแก่เปรตนั้นตามพระราชประสงค์เถิด”

        ทันใดนั้นเอง เหตุอัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้น พระราชาผู้ไม่เคย เชื่อเรื่องผลแห่งทาน ทอดพระเนตรเห็นเปรตผู้ที่พระองค์รับสั่งให้ประหารชีวิตนั้น เปลี่ยนอัตภาพจากเปรตเปลือยกาย มาเป็นเทวดาผู้นุ่งห่มผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยจันทน์แดง มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ประดับประดาด้วยสรรพอาภรณ์ ขี่ม้าอาชาไนยสีขาวงามสง่า มีบริวารห้อมล้อม สำเร็จมหิทธิฤทธิ์เหมือนเทวดา ปรากฏกายขึ้นมาให้เห็นในทันที

         ครั้นทรงเห็นประจักษ์กับตาเช่นนั้น ทรงปลื้มปีติ มีพระทัยร่าเริงเบิกบาน ที่ได้ทอดพระเนตรผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้ง ทรงลุกขึ้นยืน เสด็จเข้าไปใกล้ พลางรับสั่งกับเทวดาว่า “ท่านผู้เจริญ เราได้เห็นผลแห่งทานอย่างชัดแจ้งในวันนี้เอง ต่อจากนี้ไป เราจะให้ทานแด่สมณพราหมณ์อย่างเต็มที่เต็มกำลัง ท่านมีอุปการคุณต่อเรามาก ดูก่อนเทวดา ท่านเป็นคติ เป็น เผ่าพันธุ์ เป็นมิตร และเป็นเทพของเรา เราขอทำอัญชลีแก่ท่าน และปรารถนาที่จะได้พบเห็นท่านอีกบ่อยๆ”

      เมื่อพ้นจากอัตภาพของเปรตแล้ว เทวดากล่าวว่า “ข้าแต่มหาราช แม้พระองค์จะทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ แต่การพระราชทานนี้ ก็มิได้ไร้ผลสำหรับพระองค์ บัดนี้ แม้ข้าพระองค์เป็นเทวดาแล้ว ก็ยังคงเป็นสหายกับพระองค์ผู้เป็นจอมประชา ขอเดชะ เมื่อไรที่พระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส หรือเต็มไปด้วยความตระหนี่แล้ว เมื่อนั้นพระองค์จะไม่ได้เห็น ไม่ได้เจรจากับข้าพระองค์ หากพระองค์ยังทรงเคารพในธรรม ยินดีในการบริจาคทาน เป็นเช่นบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้ว  พระองค์ก็ยังจะได้เห็น หรือได้เจรจากับข้าพระองค์ อีกเป็นแน่ และขอให้พระองค์โปรดปล่อยหลานชายผู้ที่ถูกหลาวเสียบอยู่ ให้หลุดพ้นจากหลาวด้วยเถิด เพราะเมื่อหลานชายรอดชีวิตแล้ว จะได้กลับตัวกลับใจใหม่ ตั้งใจประพฤติธรรม จะได้พ้นทุกข์ ขอพระองค์จงเข้าไปหาพระเถระตามกาลอันควรเพื่อฟังธรรม และสั่งสมบุญเถิด” จากนั้น เทวดาได้หายวับไปในอากาศทันที

        พระราชาทรงกราบลาพระเถระ รีบเสด็จกลับราชวัง มีรับสั่งให้ราชบุรุษปล่อยหลานชายของเทวดาจากการถูกหลาวเสียบ และตรัสสั่งให้หมอหลวงรีบรักษาให้หายเป็นปกติ ตั้งแต่นั้นมา พระองค์ทรงหมั่นบำเพ็ญทานแด่สมณพราหมณ์ และหาโอกาสไปสนทนาธรรมกับพระเถระอยู่เป็นประจำ ท่านได้ตรัสถามพระเถระว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผู้ที่เคยทำบาปอกุศลอันเป็นเหตุให้ต้องไปเกิดในมหานรก ทำอย่างไรจะพึงพ้นจากบาปกรรมนั้นได้”  

        พระเถระทูลตอบว่า “มหาบพิตร ถ้าหากไม่ประสงค์จะไปอบาย ต้องไม่พอกพูนบาปอีก และให้หมั่นบำเพ็ญกุศลให้มากเข้า ก็จะพ้นจากอบายได้”

        พระเจ้าอัมพสักขรราชาธิบดีทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้ว ทรงเพิ่มพูนสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกมากยิ่งขึ้น ทรงมีพระราชศรัทธาทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์โดยเคารพ ทรงดำรงพระองค์อยู่ในสรณะและศีล ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ปฏิบัติตนอยู่ในโอวาทของพระเถระเสมอมา ในที่สุดพระองค์ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

        ส่วนหลานชายผู้ถูกหลาวเสียบ  เมื่อหายเป็นปกติดีแล้ว เกิดสลดสังเวชมาก เห็นโทษเห็นภัยในสังสารวัฏชัดเจน จึงออกบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชแล้ว เขาตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ต่อมาไม่นาน ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา

        เห็นไหมว่า บุญนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เป็นฉากหลังที่บันดาลให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นพระราชามหากษัตริย์ หรือพระเจ้าจักรพรรดิ กระทั่งได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

        ดังนั้นอย่าได้ประมาท ในการสั่งสมบุญ ไม่ว่าจะเป็นบุญเล็กบุญน้อยบุญใหญ่ เก็บให้หมด เพราะว่านั่นคือบุญของเรา เราทำเราก็ได้ ใครไม่ทำ คนนั้นก็ไม่ได้ และทำให้ได้ทุกๆ วัน อย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว เหมือนอาหารที่เรากิน เรายังกินได้ทุกวัน ดังนั้นต้องทำบุญให้ได้ทุกวัน

        ถ้าเราไม่สั่งสมบุญ บุญเก่าจะค่อยๆ หมดไป บาปอกุศลก็จะได้ช่อง และเข้ามาแทนที่ได้ หากชีวิตของเราเปรียบเสมือนเรือ บุญก็เปรียบเหมือนน้ำ บาปเปรียบเหมือนตอที่อยู่ใต้น้ำ หากเราไม่สั่งสมบุญให้มาก เมื่อน้ำลด ตอก็ผุด นาวาชีวิตของเราก็ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะตอที่อยู่ทั้งเหนือน้ำและใต้น้ำ คอยเป็นอุปสรรคกีดขวาง หากใจเราอยู่ในบุญตลอดเวลา มีบุญใหม่เติมเข้าไปเรื่อยๆ คล้ายระดับน้ำที่สูงขึ้น ตอใต้น้ำย่อมไม่สามารถ มากีดขวางนาวาชีวิตของเราได้ อีกทั้งเมื่อบุญเก่าและบุญใหม่มาบรรจบกัน กระแสบุญก็จะหลั่งไหลอย่างต่อเนื่อง ทำอะไรย่อมสำเร็จหมดทุกอย่าง จะปฏิบัติธรรมก็เข้าถึงธรรมได้ง่าย สะดวกสบาย เพราะใจเราชุ่มชื่นเบิกบานอยู่ในบุญตลอดเวลา  ดังนั้น ให้ทุกคนขวนขวายในการสั่งสมบุญ ทั้งทาน ศีล ภาวนา ทำกันให้ได้ทุกๆ วัน

*มก. อัมพสักขรเปตวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๔๕๙

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2336
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *