มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ – รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (๓)

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ – รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (๓)
 
        ถ้าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ทำกรรมดีหรือกรรมชั่วไว้ สัตว์ที่ไปสู่สุคติและทุคติ หรือเป็นสัตว์ประณีตและเลว ก็จักไม่มีในมนุษยโลกนี้ แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายได้ทำกรรมดีและกรรมชั่วไว้ ฉะนั้น จึงไปสู่สุคติบ้าง ทุคติบ้าง เป็นสัตว์เลวบ้าง ประณีตบ้าง

        ความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของมนุษย์ที่นับวันจะย่ำแย่ไปตามกระแสกิเลส ทำให้ชีวิตต้องประสบกับความวุ่นวายอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่บัณฑิตผู้มีปัญญาสามารถขจัดปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยการสร้างกระแสใหม่ คือ กระแสแห่งความดี เพื่อเอาชนะปัญหาและอุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้น กระแสแห่งความดีจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มต้นที่ใจก่อน ด้วยการทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น เมื่อใจคุ้นกับความบริสุทธิ์ภายใน คุณภาพของใจจะดีขึ้น ความคิด คำพูดและการกระทำก็จะดีขึ้นตามไปด้วย กระแสแห่งความดีนี้เมื่อขยายไปยังคนรอบข้างและทุกคนในสังคม ในประเทศชาติ กระทั่งครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก  เมื่อนั้นโลกย่อมบังเกิดสันติสุขอันไพบูลย์

มีธรรมภาษิตใน อัมพสักขรเปตวัตถุ ว่า
“โน เจตฺถ กมฺมานิ กเรยฺยุํ มจฺจา        กลฺยาณปาปานิ มนุสฺสโลเก
นาเหสุํ สตฺตา สุคตา ทุคฺคตา วา        หีนา ปณีตา จ มนุสฺสโลเก ฯ
ยสฺมา จ กมฺมานิ กโรนฺติ มจฺจา        กลฺยาณปาปานิ มนุสฺสโลเก
ตสฺมา สตฺตา สุคตา ทุคฺคตา วา        หีนา ปณีตา จ มนุสฺสโลเก
        ถ้าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ทำกรรมดีหรือกรรมชั่วไว้ สัตว์ที่ไปสู่สุคติและทุคติ หรือเป็นสัตว์ประณีตและเลว ก็จักไม่มีในมนุษยโลกนี้ แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายได้ทำกรรมดีและกรรมชั่วไว้ ฉะนั้น จึงไปสู่สุคติบ้าง ทุคติบ้าง เป็นสัตว์เลวบ้าง ประณีตบ้าง”

        ภพภูมิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุคติภูมิหรือทุคติภูมิ ล้วนเป็นของกลางๆ เป็นของสากลที่มีไว้เพื่อรองรับผลแห่งการกระทำของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าทำดีก็ไปสุคติ ทำไม่ดีก็ไปทุคติ กฎแห่งการกระทำเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ไว้ เพื่อจะได้ไม่ไปทำผิดพลาด การทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด ไม่พิจารณาไตร่ตรองให้ดี เสมือนการ   รับประทานยาแก้โรคโดยไม่ดูคุณสมบัติของยา การใช้ยาผิดขนานย่อมจะนำความวิบัติมาให้ อาจถึงแก่ชีวิต พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้รู้จักใคร่ครวญให้ดีก่อนทำ โดยเฉพาะความชั่วนั้น ไม่ควรทำเลยดีกว่า

        *สำหรับตอนนี้ จะมาติดตามเรื่องราวของผู้เสวยผล  ทั้งบุญและบาปในเวลาเดียวกัน ถึงตอนที่เปรตเปลือยกาย  เล่าถึงบุพกรรมของตนว่า ได้ทำบุญและบาปอะไรไว้ จึงต้องมาเสวยสุขและทุกข์ในเวลาเดียวกัน หลังจากเล่าบุพกรรมของตนแล้ว เปรตทูลต่อไปอีกว่า “ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงเชื่อข้าพเจ้าเถิดว่า ผู้มีความเห็นผิด เป็นผู้เศร้าหมองด้วยกาย วาจา และใจ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกในสัมปรายภพโดยไม่ต้องสงสัย  ส่วนผู้ที่ปรารถนาสุคติ ยินดียิ่งในการให้ทาน เป็นต้น  เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพแน่นอน”

        แม้เปรตจะชี้แจงผลของกรรมเช่นนี้แล้ว พระราชายังไม่ทรงเชื่อง่ายๆ ทรงถามว่า “จะให้เราเชื่อได้อย่างไรว่า นี่คือผลของกรรมดีหรือกรรมชั่ว ใครจะทำให้เราเชื่อในเรื่องนี้ได้” 
    เปรตยืนยันหนักแน่นว่า “ข้าพระองค์นี่แหละ เป็นผู้ที่พระองค์ควรจะเชื่อถือ เพราะได้ประสบความสุขและทุกข์ด้วยตัวเองมาแล้ว ขอพระองค์ทรงเชื่อเถิดว่า ผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เพราะผลแห่งกรรมทั้งสองนี้ สัตว์จึงไปสู่สุคติและทุคติ ถ้าสัตว์ในโลกนี้ ไม่ทำกรรมดีหรือกรรมชั่วไว้ สัตว์ที่ไปสู่สุคติและทุคติ หรือเป็นสัตว์ประณีตและเลว ก็จักไม่มีในมนุษยโลก แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายได้ทำกรรมดีและกรรมชั่วไว้ ฉะนั้นจึงไปสู่สุคติบ้าง ทุคติบ้าง เป็นสัตว์เลวบ้าง ประณีตบ้าง เช่นเดียวกับข้าพระองค์ซึ่งได้ทำกรรมไว้ในชาติก่อน จึงเป็นเหตุให้ต้องมาเป็นเปรตเปลือยกายเช่นนี้ ยังไม่มีผู้ใดทำบุญถวาย ผ้านุ่งห่มแด่สมณพราหมณ์ แล้วอุทิศส่วนบุญมาให้ ข้าพระองค์จึงยังเป็นเปรตเปลือยกายดังที่พระองค์เห็นอยู่นี่แหละ”

         เมื่อสดับคำยืนยันเช่นนั้น พระราชารู้สึกกลัวในกาเมสุมิจฉาจารที่พระองค์กำลังจะล่วงละเมิด ทรงเริ่มเกิดความสังเวชสลดพระทัย และอยากจะช่วยเปรตให้เสวยสุข จึงตรัสถามว่า “ทำอย่างไรท่านจึงจะได้เครื่องนุ่งห่ม ขอจงบอกเราเถิด หากเราช่วยท่านได้ เราก็ยินดี และเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า ผลแห่งกรรมดีสามารถอุทิศให้ได้”    

        เปรตดีใจมากที่พระราชามีกุศลจิตอยากช่วยเหลือตน จึงทูลบอกวิธีการว่า “ในกรุงเวสาลีนี้ มีภิกษุรูปหนึ่งนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด นามว่า พระกัปปิตกเถระ เป็นผู้ได้ฌาน มีศีลบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะ มีอินทรีย์อันคุ้มครองดีแล้ว เป็นผู้สำรวมในพระปาฏิโมกข์ บรรลุผลอันสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศของโลก เป็นทักขิไณยบุคคลของเทวดาและมนุษย์ ถ้าพระองค์ปรารถนาจะช่วย ขอจงถวายผ้าคู่หนึ่งหรือ ๒ คู่ แด่พระเถระรูปนั้น แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพระองค์  เมื่อพระเถระรับไทยธรรมแล้ว พระองค์จะทรงเห็นข้าพระองค์นุ่งห่มผ้าทิพย์ในทันที พระเจ้าข้า”     

        พระราชารีบเสด็จกลับ และรับสั่งให้เตรียมผ้าเนื้อดี ๘ คู่ เพื่อถวายพระเถระ รุ่งเช้า ทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารถือผ้าเหล่านั้นติดตามพระองค์ไปพบพระอรหันต์ตามที่เปรตบอกไว้  เมื่อเสด็จไปถึง ทรงพบพระเถระที่เพิ่งกลับจากบิณฑบาต กำลังนั่งอยู่ที่โคนไม้เพื่อฉันภัตตาหาร

        พระราชาเสด็จไปนมัสการพลางตรัสว่า “ข้าแต่ท่าน   ผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์อยู่ในเมืองเวสาลีนี้ ชาวเมืองเรียกชื่อว่า พระเจ้าอัมพสักขระ ขอท่านจงรับผ้า ๘ คู่นี้ของข้าพเจ้าด้วยเถิด ถ้าพระคุณเจ้ารับผ้านี้แล้ว ข้าพเจ้าจักมีความปลื้มใจยิ่งนัก”

        พระเถระได้ยินกิตติศัพท์ของพระราชาเป็นอย่างดี จึงทูลว่า “อาตมภาพรู้ดี มหาบพิตร และยังรู้ยิ่งไปกว่านั้นด้วยว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลายต่างพากันหลีกหนีจากพระราชนิเวศน์ของมหาบพิตร เพราะในพระราชนิเวศน์ของมหาบพิตร เป็นสถานที่ต้องห้าม มีอันตราย มีภัยสำหรับสมณพราหมณ์ มหาบพิตรทรงเบียดเบียนบรรพชิต ไม่เคยพระราชทานแม้แต่น้ำมันสักหยดเดียว สมณพราหมณ์ทั้งหลายรู้ดีว่า มหาบพิตรเป็นคนตระหนี่ ไม่ยินดีในการบริจาคทาน แต่วันนี้ มหาบพิตรทรงเห็นประโยชน์อันใด จึงนำผ้าเนื้อดีถึง ๘ คู่ มาถวายแก่อาตมภาพ”     

        พระราชารู้สึกสลดพระทัยในบาปอกุศลที่ได้ทำไว้ ตรัสสารภาพบาปว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมขอสารภาพผิดที่ได้เบียดเบียนสมณะทั้งหลาย ตามที่พระคุณท่านพูดก็จริง แต่โยมมีความประสงค์จะล้อเล่นเท่านั้น ไม่ได้มีจิตประทุษร้าย แต่ถึงกระนั้นกรรมอันชั่วช้านี้ โยมก็ได้ทำไปแล้ว ขอท่านจงได้โปรดอโหสิกรรม งดความผิดทั้งหลายเหล่านั้นแก่โยมผู้ถูกอกุศล  เข้าสิงจิตด้วยเถิด”

        เมื่อสารภาพบาปแล้ว พระราชาตรัสเล่าถึงเหตุการณ์ที่เปรตแนะนำให้นำผ้ามาถวายแด่พระเถระ ทรงยกผ้าขึ้นเหนือพระเศียร ทรงสำรวมจิตนึกถึงเปรตเปลือยกายตนนั้น พลางตรัสอุทิศส่วนกุศลว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอทักษิณาทานนี้ จงสำเร็จแก่เปรตนั้นด้วยเถิด” ส่วนเปรตจะได้รับบุญที่พระราชาทรงอุทิศให้หรือไม่ และเรื่องราวจะจบลงอย่างไร คงต้องติดตาม ในตอนต่อไป

        จากเรื่องนี้ จะเห็นว่า โลกมนุษย์นี้เป็นสถานที่สั่งสมบุญบารมีอย่างแท้จริง เป็นสถานที่แสวงบุญอย่างเดียว ไม่ควรมาทำบาปกรรม ส่วนภพภูมิอื่นนั้น เป็นภพภูมิของการเสวยผลที่เกิดจากการกระทำในขณะที่เป็นมนุษย์ โดยมีบุญและบาปเป็นเหมือนรหัสผ่านที่จะนำพาไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ถ้าทำบุญ ย่อมไปเกิดในสุคติเสวยผลบุญยาวนานมาก ถ้าไปเกิดในทุคติภูมิ ย่อมจะต้องไปชดใช้วิบากกรรมที่ทุกข์ทรมานยาวนานชนิดนับวันเวลากันไม่ไหวทีเดียว

        เพราะฉะนั้น นักสร้างบารมีต้องทำแต่กรรมดี บาปกรรม แม้เพียงเล็กน้อย อย่าไปทำเด็ดขาด หากพลาดพลั้งตกไปในอบายภูมิ แม้จะมีเงินทอง ทรัพย์สมบัติมากมาย ก็ไถ่ตัวขึ้นมาไม่ได้ ประกันตัวออกมาก็ไม่ได้ เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ในโลกนี้มีไม่มาก แต่เวลาในปรโลก ยาวนานกว่ามาก ดังนั้นให้ใช้เวลาที่เหลือเพียงน้อยนิดนี้ สร้างบุญบารมีให้เต็มที่ เพราะมีแต่บุญกับบาปเท่านั้น ที่จะติดตามตัวไปในภพเบื้องหน้า ให้ตั้งใจทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ทำใจหยุดนิ่งเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย จะได้มีชีวิตที่ปลอดภัยไปทุกภพทุกชาติกันทุกคน

*มก. อัมพสักขรเปตวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๔๖๙

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2333
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *