มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ – รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (๑)

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ – รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (๑)
 
บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง
หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาทีละหยาดได้ ฉันใด
คนพาลเมื่อสั่งสมบาปทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น

        ช่วงเวลาที่สร้างบารมี บางครั้งต้องพบอุปสรรคและความยากลำบากเป็นธรรมดา อุปสรรคที่เกิดขึ้นจะหล่อหลอมให้มีจิตใจเข้มแข็ง และเป็นเครื่องทดสอบกำลังใจว่า มีหัวใจของนักสร้างบารมีเต็มเปี่ยมแค่ไหน เหมือนเรือที่ออกทะเล กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ต้องฝ่าคลื่นลูกแล้วลูกเล่า จนสามารถ ไปถึงฝั่งได้สำเร็จ การสร้างบารมีก็เช่นเดียวกัน ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานัปการไปให้ได้ เพื่อไปสู่ฝั่ง คือ ที่สุดแห่งธรรม การปฏิบัติธรรมเป็นประจำสมํ่าเสมอ จะทำให้ใจมีพลัง สามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่าง และเมื่อใดที่เข้าถึงพระธรรมกายภายในได้ เมื่อนั้นจะมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคทั้งมวล เพราะอุปสรรคทั้งหลายนั้นไม่อาจสร้างความหวั่นไหวต่อผู้มีใจหยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์แล้ว

มีพุทธศาสนสุภาษิตที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า
“มาวมญฺเญถ  ปาปสฺส         น  มตฺตํ  อาคมิสฺสติ
อุทพินฺทุนิปาเตน         อุทกุมฺโภปิ  ปูรติ
อาปูรติ  พาโล  ปาปสฺส         โถกํ  โถกํปิ  อาจินํ
บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง
หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาทีละหยาดได้ ฉันใด
คนพาลเมื่อสั่งสมบาปทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น”

        พระบรมศาสดาตรัสเตือนพุทธบริษัททั้งหลาย ไม่ให้ดูหมิ่นดูแคลนสิ่งต่อไปนี้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย คือ อย่าดูถูกพระราชาว่ายังทรงพระเยาว์ เพราะกษัตริย์บางพระองค์ แม้ยังทรงพระเยาว์ แต่ทรงมีพลานุภาพมาก เป็นมหาราชตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เช่น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นต้น เป็นมหาราชตั้งแต่อายุเพียง ๒๐ พรรษาเศษเท่านั้น ปกครองประเทศต่างๆ ไปค่อนโลก หรืออย่าดูถูกงูพิษว่าตัวเล็ก เพราะกัดแล้วก็ตายได้เช่นเดียวกัน ถึงแม้ตัวจะเล็กแต่มีพิษร้ายกาจ หรืออย่าดูถูกไฟว่าเพียงเล็กน้อย เพราะไม้ขีดเพียงก้านเดียว อาจเผาเมืองได้ทั้งเมือง และประการสุดท้าย อย่าดูถูกสมณะว่ายังหนุ่ม เพราะสมณะบางรูป แม้อายุยังน้อย แต่มีคุณธรรมสูงส่ง ในสมัยพุทธกาล สามเณรบางรูปอายุเพียง ๗ ขวบ     ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว

       สิ่งต่างๆ เหล่านี้พระพุทธองค์ตรัสว่า อย่าได้ประมาท อย่าดูหมิ่นดูแคลน ความหายนะที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนเกิดจากความประมาทในเรื่องเล็กน้อย มีจุดเริ่มต้นเพียงจุดเล็กๆ แล้วขยายใหญ่ จนไม่สามารถควบคุมได้ แม้ในเรื่องบาปอกุศลก็เช่นเดียวกัน พระองค์ตรัสเตือนไว้ว่า อย่าได้ประมาท เพราะบาปกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำไว้ ย่อมไม่ไร้ผล บางครั้งอาจส่งผลร้ายชนิดที่คาดไม่ถึง บางท่านทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย แต่ทำบ่อยๆ ด้วยคิดว่าทำแล้วไม่ส่งผลในปัจจุบัน คือ มองไม่เห็นด้วยตา ที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม จึงคุ้นกับการทำบาป ครั้นทำบ่อยเข้า ก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่คิดว่าเป็นบาป ซึ่งอันตรายมาก เพราะจะเป็นเหตุให้ไปทำบาปอย่างอื่นที่หนักขึ้น ฉะนั้นดีที่สุด อย่าทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย

       ดังเรื่องราวตัวอย่างที่นำมาเป็นอุทาหรณ์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า บางครั้งคนเราเผลอไปทำบาปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นบาป กว่าจะรู้ก็สายเกินไป เมื่อต้องไปเสวยวิบากกรรมที่เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

       *ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เจ้าลิจฉวีนามว่า อัมพสักขระ ครองราชย์ อยู่ในกรุงเวสาลี พระองค์เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ทรงเชื่อเรื่องบุญและบาป ส่วนพ่อค้าคนหนึ่งเป็นคนดีมีศีลธรรม ชอบสรรเสริญความดีของผู้อื่นเสมอ

       วันหนึ่ง พ่อค้าเห็นถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อ มีเปือกตมมาก ผู้คนสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก บางคนต้องคอยกระโดดข้าม บางคนต้องเปรอะเปื้อนโคลนตม เขาจึงได้นำกะโหลกศีรษะโคแห้ง ซึ่งมีสีขาวเหมือนหอยสังข์ มาวางทอดเป็นทาง เพื่อให้คนได้สัญจรไปมาสะดวกสบาย เมื่อพ่อค้าเห็นผู้คนเดินทางไปมาสะดวกขึ้น เขารู้สึกปลื้มใจในบุญที่ตนได้ทำ

       ต่อมา เขาได้ชักชวนเพื่อนๆ ไปอาบน้ำที่แม่น้ำ ทุกคนต่างถอดเสื้อผ้าทิ้งไว้ที่ริมฝั่ง พ่อค้าขึ้นจากน้ำก่อน เหลือบไปเห็นเสื้อผ้าของเพื่อนที่ถอดกองไว้ เกิดนึกสนุกขึ้นมา จึงนำเสื้อผ้าของเพื่อนไปซ่อนไว้เพื่อจะล้อเล่น แต่บังเอิญเกิดเหตุด่วนที่เขาจะต้องรีบกลับบ้าน ทำให้ลืมนำเสื้อผ้าของเพื่อนมาคืนที่เดิม เมื่อเพื่อนขึ้นจากน้ำ พากันเดินหาเสื้อผ้าของตน  เมื่อไม่พบทุกคนต้องเดินเปลือยกายกลับบ้าน ได้รับความอับอายมาก

        เมื่อพ่อค้าผู้มีอารมณ์ขันกลับถึงบ้าน ได้เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น คือ หลานชายไปขโมยของมีค่า นำมาซ่อนไว้ในร้านของพ่อค้า  เมื่อเจ้าของติดตามมาพบ จึงจับพ่อค้าและหลานชาย พร้อมทั้งของกลางไปให้พระราชาลงโทษ ฝ่ายพระราชายังไม่ได้ทรงไต่สวนให้ดี ได้ทรงตัดสินให้ตัดศีรษะของพ่อค้าทันที ส่วนหลานชายถูกเสียบหลาวทั้งเป็น ประจานไว้นอกเมือง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

      ครั้นพ่อค้าผู้ไม่มีความผิดถูกประหารชีวิตแล้ว ด้วยกุศลกรรมที่ทำไว้เพียงเล็กน้อย จึงไปบังเกิดเป็น เปรตผู้มีฤทธิ์ มีม้าอาชาไนยทิพย์สีขาวเป็นยานพาหนะ กลิ่นทิพย์หอมฟุ้งออกจากกาย ด้วยอานิสงส์ของการทำทางด้วยกะโหลกศีรษะโค และการกล่าวสรรเสริญคุณของผู้อื่น แต่กลับต้องเป็นผู้เปลือยกาย เพราะบาปกรรมเพียงเล็กน้อย ที่ได้นำเสื้อผ้าของเพื่อนไปซ่อนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง

       เปรตเปลือยกายได้ตรวจดูบุพกรรมของตน เกิดความสังเวชว่า ตนเองทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย ยังได้รับผลกรรมถึงเพียงนี้ ส่วนเจ้าหลานชายไปขโมยของเขา อีกทั้งไม่ได้ทำบุญอะไรไว้ หากตายไปต้องตกนรกแน่นอน เมื่อเกิดความคิดห่วงใยเช่นนี้ และเห็นหลานชายถูกเสียบหลาว ด้วยความสงสาร     จึงขึ้นม้าอาชาไนยไปเยี่ยมหลานชายที่ถูกเสียบหลาวทั้งเป็น  ทุกเที่ยงคืน เปรตได้ไปยืนใกล้ๆ พลางกล่าวว่า “เจ้าหลานรัก เจ้าจงมีชีวิตอยู่ต่อไปเถิด การมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์นี้ ดีเลิศประเสริฐนัก” เมื่อหลานชายได้รับพรแล้ว เขาสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก ด้วยอานุภาพของเวมานิกเปรต

       ขณะเดียวกัน หลังจากพระเจ้าอัมพสักขระรับสั่งให้ประหารพ่อค้าแล้ว พระองค์ได้ทรงช้างพระที่นั่งเสด็จเวียนประทักษิณพระนคร ขณะที่เวียนประทักษิณ ทรงทอดพระเนตรเห็นหญิงงามคนหนึ่ง ซึ่งยืนดูการเสด็จเวียนประทักษิณของพระองค์ เพียงทอดพระเนตรเห็นนางเท่านั้น พระองค์ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ ประหนึ่งว่าจะพลัดตกจากคอช้าง หลังจากเวียนประทักษิณ พระองค์รีบเสด็จกลับพระราชมณเฑียร รับสั่งกับราชบุรุษว่า “เจ้าจงไปสืบดูซิว่า หญิงนั้นมีสามีแล้วหรือยัง”

        เมื่อราชบุรุษกลับมากราบทูลว่า “เธอมีสามีแล้ว พระเจ้าข้า” เนื่องจากพระราชาถูกราคะครอบงำ จึงคิดอุบายที่จะแย่งนางมาเป็นของพระองค์ ทรงรับสั่งให้เรียกสามีของนางมาเข้าเฝ้า และให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการคอยรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ สามีหนุ่มรู้ว่าภัยกำลังเกิดขึ้นกับตน จึงพยายามทำงานไม่ให้ขาดตกบกพร่อง จนพระราชาหาความผิดไม่ได้

        ครั้นผ่านไปได้ ๒ – ๓ วัน พระราชาทรงออกอุบายที่จะกำจัดบุรุษนั้น ด้วยการให้ไปนำดินสีอรุณและดอกบัวแดงมาจาก สระโบกขรณีแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่นอกเมือง และต้องกลับมาให้ทันก่อนพระอาทิตย์ตกดิน มิฉะนั้น เขาจะต้องถูกตัดศีรษะ ด้วยความหวาดกลัวต่อมรณภัย บุรุษผู้เคราะห์ร้ายรีบออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ทันที

         ขณะเดียวกัน พระราชาทรงรับสั่งให้ทหารรีบปิดประตูเมืองเร็วกว่าปกติ ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ทันตกดิน ส่วนบุรุษนั้นจะได้ดินสีแดงและดอกบัวแดงจากใคร และจะมาทันเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกดินหรือไม่นั้น ขอให้ติดตามในตอนต่อไป

         จะเห็นได้ว่า บาปกรรมแม้เพียงนิดอย่าคิดทำ บุญกุศลแม้เพียงเล็กน้อยให้ค่อยๆ ทำไปเถิด บาปส่งผลเป็นโทษ  ส่วนบุญจะส่งผลเป็นประโยชน์ต่อเราในอนาคต บาปที่เราทำแม้เพียงเล็กน้อย แต่ต้องไปรับผลยาวนาน ซึ่งอาจดูเหมือนไม่ยุติธรรม แต่ในทางกลับกัน บุญที่ทำแม้น้อยนิด ย่อมส่งผลให้เราได้ไปเสวยสุขยาวนานในปรโลกหลายภพหลายชาติเช่นเดียวกัน
        
ในเรื่องของบาปอกุศลนี้ อยากให้ทุกท่านเชื่อตอนเป็น ดีกว่าไปเห็นตอนตายแล้วค่อยเชื่อ เพราะเมื่อไปอยู่ตรงจุดนั้นแล้ว จะแก้ตัวก็ไม่ได้ จะแก้ไขอะไรก็ทำได้ยาก  ส่วนเรื่องของบุญกุศล ให้ทุ่มเททำไปเถิด เพราะจะอำนวยสุขต่อตัวเราในปรโลก อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อหมู่ญาติอีกด้วย เมื่อใดที่เข้าถึงพระธรรมกาย  เมื่อนั้นจะเข้าใจเรื่องบุญบาปได้ดีขึ้น ฉะนั้นให้ทุกคนตั้งใจ ปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้กันทุกคน

 *มก. อัมพสักขรเปตวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๔๖๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2243
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *