คนดีที่โลกต้องการ

คนดีที่โลกต้องการ

     การเจริญสมาธิภาวนาเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะนำใจเราให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง และเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นสรณะอันเกษม วันเวลาที่มีอยู่มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตของเรา เราจึงควรใช้เวลาของชีวิตให้มีคุณค่าสูงสุด ด้วยการเจริญภาวนาทุกๆ วัน ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับพระรัตนตรัย และบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ เพื่อให้ชีวิตของเราประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ และความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

     มนุษย์ทุกคนในโลกต่างปรารถนาจะเป็นคนดี และอยากอยู่ใกล้คนดี พ่อแม่อยากให้ลูกที่เป็นคนดี เป็นอภิชาตบุตร ครูอาจารย์อยากมีลูกศิษย์ดี หัวหน้าอยากได้ลูกน้องดี ลูกน้องก็อยากได้หัวหน้าที่ดี ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนก็อยากจะได้คนดีเข้ามาบริหารประเทศ พยายามเรียกร้อง แสวงหาคนดีที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสม เช่น ต้องมีภูมิปัญญา ปฏิภาณไหวพริบดี มีความซื่อสัตย์ สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม โดยหวังว่าบุคคลนั้นๆ จะเป็นคนดีในอุดมคติ ที่สามารถนำพาประเทศชาติให้พ้นภาวะวิกฤติไปได้ ต่างก็ปรารถนากันอย่างนี้

* พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขตสูตร ว่า

     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นบัณฑิต ฉลาด เป็นสัตบุรุษ ครองตนอันไม่ขาดจากแก่นสาร ไม่ถูกประหารจากคุณธรรม เป็นผู้ไม่มีโทษ ผู้รู้ไม่ติเตียน และได้บุญมากด้วยธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นบัณฑิต”

     คำว่า “คนดี” เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ต้องการทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักคนดีเอาไว้ว่า “ผู้ที่มีความกตัญญูจึงจะเป็นคนดี” หรือ “ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา จึงจะเป็นคนดี ผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา บริสุทธิ์ กรุณา จึงจะเป็นคนดี ” บางที่ก็กล่าวว่า “สภาใดถ้าไม่มีผู้มีธรรม หรือประพฤติธรรม ที่นั้นไม่เรียกว่า สภา” ก็หมายความว่า ต้องมีคนดี มีศีลมีธรรม ไปประชุมกัน เพื่อปรึกษาหารือ ที่จะทำประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าสภา แต่ถ้าหากว่าคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรม จะไปประชุมกันที่ไหนก็ตาม ที่นั้นก็ไม่เรียกว่า สภา  

     การที่เราจะดูว่าใครเป็นคนดี มีศีลธรรม ต้องดูกันนานๆ ดังนั้น จึงเป็นการยากที่เราจะเลือกคนดีที่สมบูรณ์เข้าสภา โดยอาศัยเวลาช่วงสั้นๆ บางครั้งก็เป็นการเสี่ยงเหมือนกัน เหมือนการแทงสลากกินแบ่ง แต่เมื่อเราจะเสี่ยงแล้วก็ต้องเสี่ยงอย่างมีหลัก โดยยึดเอาบุญของเราเป็นหลัก

     ถ้าเราเป็นผู้มีบุญ สั่งสมบุญไว้มาก ถ้าประเทศชาติมีบุญ ทุกๆ คนในประเทศชาติได้สั่งสมบุญเอาไว้ กระแสแห่งบุญนั้น จะดลบันดาลให้เราพบปะแต่คนดี พบคนดีที่แท้จริง แต่ก็ดีแบบทางโลก จะให้บริสุทธิ์เหมือนสังข์ขัด คือบริสุทธิ์บริบูรณ์ มีเงาใสกระจ่างอย่างนั้นคงยาก แต่ว่ามีดีมากไม่ดีน้อย ขึ้นอยู่กับกำลังบุญของเรา

     มีวิธีเลือกคนดีอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องเสี่ยง คือ เข้าไปพบคนดีที่มีความดีเป็นชั้นๆ คนดีมีถึง ๑๘ ชั้นเข้าไปทีเดียว อยู่ในกลางกายของเรา ตั้งแต่คนดีในระดับกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัต มีความดีเป็นชั้นๆ เข้าไป

     คบคนดีที่อยู่ในตัวของเราอย่างนี้ไม่เสี่ยง เพราะเป็นคนดีที่พัฒนาความดีขึ้นไปตามลำดับ ละสังโยชน์ เครื่องผูก ขจัดโลภะ โทสะ โมหะ กิเลส ๓ ตระกูลนี้ให้บรรเทาเบาบางไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงคนดีที่แท้จริง คือกายธรรมพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา อยู่ในกลางกายของเรานี่เอง นี่คือคนดีที่แท้จริง ที่เป็นเป้าหมายชีวิตของพวกเราทุกๆ คน

     การที่จะเข้าไปถึงกายธรรมอรหัต ซึ่งเป็นสุดยอดแห่งคนดีนั้น จะต้องเอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการไปสู่อายตนนิพพาน ทำใจหยุดนิ่งให้ถูกส่วน หยุดพอดีๆ อย่าให้ตึงเกินไป แล้วก็อย่าให้หย่อนเกินไป

     ตึงเกินไปเป็นอย่างไร เมื่อเราเอาใจของเรามานึกคิดอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ นี้ ถ้าเราตั้งใจมากเกินไป เกิดอาการเกร็ง หรือตึงบริเวณศีรษะ ตึงทั้งเนื้อทั้งตัวเลย อย่างนี้เรียกว่าตึงเกินไป

     หย่อนเกินไปเป็นอย่างไร คือ เอาใจไปคิดเรื่องอื่น ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปในเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ต่างๆ อย่างนั้นเรียกว่าหย่อนเกินไป   

     พอดีเป็นอย่างไร เมื่อเอาใจของเรามาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้ว เรามีความรู้สึกว่า เรามีความพึงพอใจ ที่จะเอาใจมาหยุด มาตรึก มานึก มาคิดอยู่ที่ตรงนี้ แม้ว่ายังไม่เห็นอะไรก็ตาม ใจไม่ซัดส่าย มีความพึงพอใจกับอารมณ์ชนิดนี้ อยู่ไปนานแค่ไหนก็ตามเราก็พอใจ รักษาอารมณ์ที่หยุดนิ่งเฉยๆ อย่างนี้ให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ

     หยุด นิ่ง เฉยๆ อย่างสบายๆ อารมณ์ตอนนี้จะเป็นกลางๆ คือ จะว่าสุขก็ยังไม่สุข จะว่าเป็นความทุกข์ก็ยังไม่ทุกข์ มันอยู่ระดับเฉยๆ เป็นกลางๆ รักษาไปเรื่อยๆ  รักษาอารมณ์นี้ไปเรื่อยๆ ใจจะค่อยๆ ละเอียดไปเรื่อยๆ ละเอียดไปจนกระทั่งถึงจุดๆ หนึ่ง ใจหยุดนิ่งอย่างแท้จริง จะเกิดความรู้สึกว่าโล่ง โปร่ง เบา แล้วก็สบาย รู้สึกตัวเรากลวงๆ โปร่งๆ โล่งๆ เบาสบาย ใจจะขยาย ความรู้สึกของร่างกายของเราจะขยาย

     เราจะมีความรู้สึกว่าบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราขยายตามไปหมดเลย แล้วก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน จะพบจุดสว่างเล็กๆ เล็กเท่ากับปลายเข็ม หรือเหมือนดวงดาวในอากาศ หรือบางทีโตใหญ่กว่านั้น ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรือขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน นั่นแหละคือจุดเริ่มต้น ที่จะเข้าไปถึงคนที่มีความดีอันสูงสุด จุดเริ่มต้นนี้เรียกว่า ปฐมมรรค หนทางเบื้องต้น หรือดวงธรรมเบื้องต้น ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นดวงใสๆ ปรากฏเกิดขึ้นเองเมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน

     และเมื่อเราหยุดนิ่งต่อไปอีก หยุดในหยุดไปเรื่อยๆ ไม่ช้าดวงธรรมนี้จะขยายส่วนกว้างออกไป แล้วจะพบดวงธรรมดวงถัดไป เรียกว่า ดวงศีล ซ้อนอยู่ข้างใน ดวงที่ ๓ เรียกว่า ดวงสมาธิ ดวงที่ ๔ เรียกว่าดวงปัญญา ดวงที่ ๕ เรียกว่าดวงวิมุตติ ดวงที่ ๖ เรียกว่า ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ซ้อนกันอยู่ภายใน ซ้อนๆ กันเข้าไปภายใน พอสุดดวงวิมุตติญาณทัสสนะ จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด นี้เป็นคนดีกว่ากายมนุษย์หยาบ ซ้อนอยู่ภายใน รูปร่างเหมือนตัวเราที่เป็นเจ้าของนี่แหละ แต่น่าดูกว่า สวยงามกว่า

     เมื่อเอาใจของเราหยุดไปในกลางนั้นต่อไปอีก ถูกส่วนเข้า กายมนุษย์ละเอียดขยายส่วนกว้างออก จะเข้าถึงดวงธรรมอีกชุดหนึ่ง ๖ ดวงเหมือนกัน ซ้อนอยู่ภายใน ซ้อนเป็นชุดๆ ทีเดียว ดวงธรรมเหล่านี้จะเป็นเครื่องกลั่นกาย วาจา ใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์ถึงที่สุดก็เข้าถึง กายทิพย์ นี่เป็นคนดีชั้นถัดไปอีกแล้ว สวยงามกว่ากายมนุษย์ละเอียด โตใหญ่กว่า สวยงามหนักยิ่งขึ้น มีเครื่องประดับพร้อม

     เมื่อเอาใจหยุดเข้าไปในกลางกายทิพย์ ถูกส่วนแล้ว กายทิพย์ขยายถูกส่วน นี่ถูกส่วนเอง พอเราหยุดเฉยๆ มันขยายไปเอง ขยายกว้าง ก็เข้าถึงดวงธรรมอีกชุดหนึ่ง ๖ ดวงเหมือนกัน ซ้อนอยู่ภายใน คำว่า เข้าถึง ก็หมายถึงว่า ดวงธรรมนี้มีอยู่แล้ว ไม่ใช่เราไปทำให้มี เป็นเครื่องกลั่นใจให้บริสุทธิ์ เมื่อใจบริสุทธิ์ถึงที่สุดของดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายรูปพรหม สวยงามหนักยิ่งขึ้น เป็นคนดีที่ถัดขึ้นไปอีก ที่สวยงามกว่าเดิม บริสุทธิ์กว่าเดิมเข้าไปอีก หยุดในกลางกายรูปพรหม พอถูกส่วน กายรูปพรหมขยายกว้างออกไป เข้าถึงดวงธรรมอีกชุดหนึ่ง ๖ ดวง

     ในที่สุดก็เข้าถึงกายอรูปพรหม เมื่อเข้าถึงกายอรูปพรหม กาย วาจา ใจ ก็สะอาด บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก กายอรูปพรหมนี่แหละ เป็นคนดีกว่ากายรูปพรหมเข้าไปอีก มีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น กายสวยงามหนักขึ้นไป ใหญ่โตขึ้น เมื่อเอาใจหยุดเข้าไปในกลางกายอรูปพรหมถูกส่วน กายอรูปพรหมขยายส่วนกว้างออกไป ก็จะเข้าถึงดวงธรรมอีกชุดหนึ่ง ๖ ดวง ซึ่งเป็นเครื่องกลั่นกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์

     พอบริสุทธิ์ถึงที่สุด ก็เข้าถึงกายธรรมโคตรภู หลุดพ้นจากภาวะความเป็นปุถุชน อยู่กึ่งกลางเขตแดนของพระอริยเจ้า คือพ้นจากภาวะปุถุชน แต่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า เข้าไปชนเขตแดนของพระอริยเจ้า กายธรรมนี้หน้าตักหย่อนกว่า ๕ วานิดหน่อย สวยงามมาก ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ งามไม่มีที่ติ ลักษณะคล้ายกับพระพุทธปฏิมากรแก้วใส เกตุดอกบัวตูม นั่งขัดสมาธิ นี่เป็นคนดีที่มีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก

     เมื่อใจเราหยุดเข้าไปในกลางกายธรรมโคตรภูถูกส่วนเข้า กายธรรมนี้ขยายส่วนกว้างออกไปอีก ถูกส่วนแล้วก็ตกศูนย์เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา แต่รูปร่างก็เหมือนกับกายธรรมโคตรภู ต่างแต่ใสกว่า สว่างกว่า บริสุทธิ์กว่า เพราะใสกว่า สว่างกว่า จึงบริสุทธิ์กว่ากายธรรมโคตรภู นี่ก็เป็นคนดีถัดขึ้นไปอีก เป็นแหละเป็นชั้นๆ เข้าไปอย่างนี้ ถึงกายธรรมพระสกทาคามี กายธรรมพระอนาคามี จนกระทั่งถึงกายธรรมพระอรหัต

     กายธรรมเหล่านี้เป็นคนดี มีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ใส บริสุทธิ์ เกตุดอกบัวตูมเหมือนกัน เป็นพิมพ์เดียวกันหมด ต่างกันแต่ขนาดและความใสบริสุทธิ์ ถ้าหากบริสุทธิ์มากก็ใสมาก บริสุทธิ์น้อยก็ใสน้อย แต่รูปร่างเป็นกายธรรมเหมือนกันหมด ตั้งแต่กายธรรมโคตรภู พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหัต ใสบริสุทธิ์ งามไม่มีที่ติ

     เป้าหมายของเรา คือกายธรรมอรหัต ซึ่งเป็นที่สุดของเป้าหมายในการเกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อถึงกายธรรมอรหัตแล้วนั่นแหละ เราจึงจะรู้ว่าคนดีที่โลกต้องการที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างนี้ จะรู้อย่างนี้ได้ต้องทำใจหยุด หยุดนิ่งในกลางกายเรา เพราะฉะนั้น คนดีที่มีความดีเป็นชั้นๆ เข้าไปภายใน จึงจะเป็นคนดีที่น่าไว้วางใจ คบแล้วปลอดภัยที่สุด มีอยู่ภายในกลางกายของเรานี่แหละ เลือกเอาเลย เราจะเลือกคนดีในระดับไหน ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด จนกระทั่งถึงกายธรรม

     เพราะฉะนั้น คนดีที่ดีที่สุด คือ คนที่ใจหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์แล้ว

* มก. เล่ม ๓๔ หน้า ๑๗

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/18974
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *