เวสารัชชธรรม ๔

เวสารัชชธรรม ๔

     ธรรมกายเป็นกายตรัสรู้ธรรมที่เป็นเป้าหมายชีวิตของทุกๆคนในโลก การที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกายได้ ต้องเริ่มจากการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เป็นประจำ เมื่อหยุดนิ่งได้ถูกส่วน ในไม่ช้าก็จะเข้าถึงธรรมกายได้ แล้วชีวิตเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น มีความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต และเรายังสามารถอาศัยธรรมกาย ขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นจากใจไปสู่อายตนนิพพานได้  

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย อปทาน ว่า
     “พระพิชิตมารผู้ถึงที่สุดโลก ทรงทำโลกทั้งหลายให้ยินดีด้วยพระรัศมี พระองค์ยังดอกปทุม คือ เวไนยสัตว์ให้บานด้วยพระดำรัส ทรงสมบูรณ์ด้วยเวสารัชชธรรม ๔ เป็นอุดมบุรุษ ละความกลัวและความยินดีได้เด็ดขาด ทรงถึงธรรมอันเกษม องอาจกล้าหาญ พระผู้เลิศในโลก ทรงปฏิญาณซึ่งฐานะของผู้องอาจและพุทธภูมิทั้งสิ้น ไม่มีใครจะทักท้วงได้ในฐานะไหนๆ เมื่อพระพุทธเจ้าผู้คงที่พระองค์นั้นบันลือสีหนาท ย่อมไม่มีเทวดา มนุษย์ หรือพรหมบันลือสีหนาทตอบได้ พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้าในบริษัท ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ ช่วยมนุษย์พร้อมทั้งเทวดาให้ข้ามวัฏสงสาร”

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงเป็นผู้เลิศกว่าใครๆในภพทั้งสาม ในวันนี้หลวงพ่อจะอธิบายคุณธรรมที่สำคัญประการหนึ่ง ที่เรียกว่า เวสารัชชธรรม ซึ่งเป็นคุณธรรมเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะเหตุที่พระบรมศาสดาทรงสมบูรณ์ด้วยเวสารัชชธรรม ๔ ประการ พระองค์จึงเป็นผู้องอาจ ไม่ครั่นคร้าม มีความแกล้วกล้า อาจหาญในท่ามกลางพุทธบริษัท เป็นที่กราบไหว้ของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

     * เวสารัชชธรรม ๔ ประการนี้ เกิดจากการที่บุตรของสุนักขัตตลิจฉวีได้กล่าวตู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพระสารีบุตรได้ยินการกล่าวตู่นั้นว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษ พอแก่ความเป็นอริยะของพระพุทธเจ้าไม่มี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ประมวลด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการคาดคิดเอาเอง แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้นไม่ได้เป็นไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ปฏิบัติตาม พระสารีบุตรจึงนำเรื่องนั้นมากราบทูลให้พระพุทธองค์ทราบ

     พระบรมศาสดาจึงตรัสกับพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร ตถาคตประกอบด้วยเวสารัชชธรรม คือธรรมที่ทำให้เกิดความแกล้วกล้า จึงปฏิญาณฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป เวสารัชชธรรมของตถาคตนี้มี ๔ ประการ สารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ที่จักทักท้วงเราว่า ท่านไม่ควรปฏิญาณตน ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว ดูก่อนสารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า”

     สรุปย่อๆก็หมายถึง พระองค์ทรงปฏิญาณว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบจริง บาลีเรียกว่า สัมมาสัมพุทธปฏิญญา ส่วนพระสาวกก็ไม่ชื่อว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ นักบวชเหล่าอื่นก็ไม่มีใครที่บรรลุพระสัพพัญญุตญาณเหมือนพระองค์ ในโลกนี้ไม่มีใครจะมายิ่งกว่า เสมอเหมือนก็ไม่มี พระองค์ทรงเป็นเยี่ยมที่สุด คือเยี่ยมด้วยโลกุตตรธรรมอันเลิศ แม้ในส่วนที่เป็นโลกิยะก็เป็นเยี่ยม

     ในสมัยที่พระมหาบุรษประสูติ หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว เทวดาในหมื่นโลกธาตุ พากันมาประชุมในมงคลจักรวาล พิณที่ขึงสาย กลองที่ขึงหนัง ไม่มีใครประโคม ก็ประโคมขึ้นเอง ป้อมและที่กักขังเป็นต้น ของพวกมนุษย์ ได้พังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย คนป่วยก็หาย คนตาบอดโดยกำเนิดก็มองเห็น คนหูหนวกโดยกำเนิดได้ยินเสียง คนพิการเดินไม่ได้ก็เดินได้ คนที่ไม่มีสติ ก็มีจิตใจตั้งมั่น เรือที่แล่นไปต่างประเทศก็ถึงท่าโดยสะดวก พวกมีเวรก็ได้มีเมตตาจิตต่อกัน ไฟในอเวจีมหานรกดับชั่วคราว แสงสว่างในโลกันตนรกก็เกิดขึ้น ไม้ดอกไม้ผลก็ออกดอกออกผล หมื่นโลกธาตุ ได้มีธงดอกไม้เป็นอันเดียวกัน นี่คืออานุภาพของพระบรมโพธิสัตว์ผู้จะมาตรัสรู้ธรรม  

     เวสารัชชธรรมข้อที่ ๒ ทรงกล่าวไว้ว่า “สารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกที่จักทักท้วงเราโดยสหธรรมในข้อว่า ท่านปฏิญาณตนว่าเป็นพระขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้นไป ดูก่อนสารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่” หมายถึงว่า พระองค์ทรงปฏิญญาความเป็นขีณาสพอรหันต์จริง ขีณาสพหมายถึงผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสอาสวะอันใดที่พระองค์จะละไม่ได้อีกต่อไป

     ในโลกนี้มีผู้ปฏิญญาว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์มากมาย หวังว่าการปฏิญญาของตัวจะเป็นทางมาแห่งลาภสักการะหรือชื่อเสียง เหมือนเจ้าลัทธิทั้ง ๖ ที่ปฏิญญาว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ แต่ครั้นเศรษฐีให้เหาะไปเอาบาตรไม้จันทน์ที่ห้อยอยู่บนยอดไม้ด้วยตัวเอง เจ้าลัทธิเหล่านั้นก็ทำไม่ได้

     นอกจากนี้ยังมีพระพาหิยะ ก่อนที่ท่านจะมาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็หลงตัวเองว่า เป็นพระอรหันต์ ได้รับการยกย่องจากพวกชาวบ้าน เพราะไม่นุ่งห่มผ้า แต่ครั้นถูกเตือนสติจากมหาพรหมผู้เคยเป็นสหายเก่า ก็เลิกทิฏฐินั้นเสีย รีบมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อฟังธรรม ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะมีพยานยืนยันการตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์กันมากมายนี่แหละ พระองค์จึงทรงปฏิญญาว่าเป็นพระขีณาสพจริง บาลีเรียกว่า ขีณาสวปฏิญญา

     เวสารัชชธรรมข้อที่ ๓ ทรงกล่าวไว้ว่า “สารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกที่จักทักท้วงเราว่า ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ข้องเสพได้จริง ดูก่อนสารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า” หมายความว่า ถ้าหากใครปฏิบัติตามธรรมที่พระองค์ตรัสสอนเอาไว้ นอกจากจะไม่เป็นอันตราย ไม่นำพาไปสู่อบายแล้ว ยังยกใจผู้ปฏิบัติให้ไปสู่สวรรค์และนิพพาน ส่วนบาปธรรมใดๆที่มีโทษ แล้วพระองค์ทรงห้าม ถ้าใครขืนไปทำก็จะได้รับทุกข์รับโทษจริง จะมีทุกข์หนักในอบาย คำปฏิญญานี้เรียกว่า อันตรายิกธรรมวาทะ

     ประการสุดท้าย พระองค์ทรงปฏิญญาว่า “สารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกที่จักทักท้วงเราว่า ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแก่คนผู้ทำตาม” หมายความว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นเป็นทางนำผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบจริง ไม่ใช่ยิ่งเพิ่มทุกข์แก่ผู้ปฏิบัติ แต่ยิ่งปฏิบัติตามหลักพุทธวิธี ผู้ที่มีทุกข์มากก็ทุกข์น้อย มีทุกข์น้อยก็หมดทุกข์ สุขน้อยก็สุขมาก ที่สุขมากอยู่แล้ว ก็สุขยิ่งๆขึ้นไป ใครมีกิเลสมาก ครั้นนำธรรมะของพระองค์ไปปฏิบัติ กิเลสอาสวะก็เบาบางลง หรือแม้ไม่ได้บรรลุธรรมอะไรในภพชาตินี้ การได้ฟังธรรมหรือได้ปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสอนนั้น ก็จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ คำสอนของพระบรมศาสดานั้น เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง ทรงยืนยันชัดเจนจึงเรียกว่า นิยยานิกธรรมเทศนา

     คุณธรรมทั้ง ๔ ประการ ที่หลวงพ่อได้นำมาอธิบายนี้ เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นได้ยากกับบุคคลทั่วไปในโลก เพราะต้องอาศัยการสร้างบารมี ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันมาหลายภพหลายชาติ และก็ต้องปรารถนาพุทธภูมิเท่านั้น เพราะฉะนั้นให้ทุกท่านได้ภาคภูมิใจที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ พระพุทธวจนะก็เป็นนิยยานิกธรรมที่จะนำเราให้หลุดพ้นจากทุกข์พบสุขแท้จริง
ฉะนั้นให้หมั่นปฏิบัติธรรม เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงธรรม ให้ขยันทำใจให้หยุดนิ่ง จะได้เป็นพยานยืนยันการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันทุกคน

* มก. เล่ม ๑๘ หน้า ๓๗  

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/18935
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *