ธรรมกาย กายมาตรฐาน

ธรรมกาย กายมาตรฐาน

     พระธรรมกาย เป็นกายตรัสรู้ธรรมของมนุษย์ทุกๆ คนในโลก พระบรมศาสดาทรงรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลายทั้งปวง เพราะเข้าถึงกายธรรมอรหัตนี้เท่านั้น กายนี้เป็นกายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสติด้วยปัญญา และยังมีอานุภาพไม่มีประมาณ คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ประชุมรวมลงในธรรมกายทั้งสิ้น

     ธรรมกายนี้เป็นกายที่ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ งามกว่ามนุษย์ เทวดา พรหม  และอรูปพรหม สิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของพวกเราทุกๆ คน สมบูรณ์ทั้งวิชชาและจรณะ จะเข้าถึงธรรมกายได้ต้องอาศัยใจที่หยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“อฏฺฐีนํ นครํ กตํ        มํสโลหิตเลปนํ
          ยตฺถ ชรา จ มจฺจุ จ    มาโน มกฺโข จ โอหิโต
     สรีรยนต์นี้ ถูกกรรมปรุงแต่งทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ มานะ และมักขะ”

     สังขารร่างกายที่เราอาศัยอยู่นี้ ประกอบกันขึ้นจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก่อตัวกันเป็นรูป มีอากาศธาตุและวิญญาณธาตุ ทำให้เกิดมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรุงแต่งกันขึ้นมา รวมเรียกว่าขันธ์ ๕  พอเป็นธาตุหยาบที่เห็นด้วยตาเนื้อ ก็ประกอบไปด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน ฉาบด้วยเนื้อและเลือด แบ่งละเอียดออกไปเป็นอาการ ๓๒  ก่อเกิดขึ้นมาเป็นสรีระร่างกาย เมื่อพิจารณาร่างกายตามความเป็นจริงแล้ว จะเห็นว่า ตั้งแต่ก่อเกิดขึ้นมาเป็นรูปกาย ก็บ่ายหน้าไปสู่ความแก่ และความตายทั้งสิ้น

     พระพุทธองค์จึงสอนไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่น แต่ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทั้งที่เป็นกายของตัวเองและของคนอื่น เพราะสักวันหนึ่งก็ถึงกาลเสื่อมสลาย ท่านไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น เพียงแต่ประคับประคองรักษาสรีรยนต์นี้เอาไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการสร้างบารมี ฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง เพื่อเข้าไปพบกายภายในที่แท้จริง ซึ่งมีความเที่ยงแท้ถาวร ที่ความแก่ ความเจ็บ และความตายเข้าไปไม่ถึง ซึ่งก็คือกายธรรมภายในนั่นเอง

     กายภายในแต่ละกายนั้น มีลักษณะสวยสดงดงามไปตามลำดับ งามกว่ากายมนุษย์หยาบนี้มากมายหลายเท่านัก เป็นสิ่งที่น่ารู้และน่าศึกษา และจำเป็นต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ถ้าไม่รู้ชีวิตของเราก็ยังไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะกายธรรม ที่มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เป็นกายมาตรฐานที่สำคัญที่เราต้องรู้จักและปฏิบัติให้เข้าถึงให้ได้ ชีวิตเราจึงจะปลอดภัย มีที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง

     ถ้าเราจะดูว่าใครสวยหรือใครหล่อ ต้องนำมาเทียบกับกายมาตรฐาน ถ้านำมาเทียบกับกายธรรมแล้ว กายต่างๆ เหล่านั้นได้ชื่อว่าพิการหมด แค่พอดูได้เท่านั้นเอง ถ้าหากเราเข้าถึงกายธรรม ถึงกายมาตรฐาน เราจะเห็นว่า กายต่างๆ ในภพทั้ง ๓ ไม่ว่าจะเป็น กายอรูปพรหม กายรูปพรหม กายทิพย์ กายมนุษย์ละเอียด หรือกายมนุษย์หยาบ ความงดงามจะแตกต่างกันลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจะรู้ว่ากายงามหรือไม่งาม สวยหรือไม่สวย ต้องนำมาเทียบกับกายมาตรฐาน ที่มีอยู่ภายในตัวของเรานี้

     * เหมือนอย่างในสมัยพุทธกาล พระนันทะพุทธอนุชา กำลังจะอาวาหมงคลกับนางชนบทกัลยาณี แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของท่านว่า ท่านสร้างบารมีมาเต็มเปี่ยมพร้อมที่จะเข้าถึงธรรมอยู่แล้ว พระพุทธองค์จึงปรารถนาจะโปรดนันทกุมารให้ได้บรรลุธรรม เช้าวันนั้น พระองค์จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระราชวัง แล้วให้นันทกุมารถือบาตรเสด็จตามพระองค์ไป

     นันทกุมารกำลังจะเข้าพิธีแต่งงานอยู่แล้ว แต่เพราะความเกรงใจในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือบาตรเดินตามเสด็จไปจนถึงพระวิหารเชตวัน เมื่อพระบรมศาสดาตรัสถามอีกว่า “นันทะ  เธอจะบวชหรือ”  ด้วยความเกรงใจ นันทกุมารจึงทูลรับว่า “พระเจ้าข้า” พระองค์จึงให้บวช เมื่อบวชแล้ว ในใจก็ยังคงมีแต่นางชนบทกัลยาณี ท่านนึกถึงคำพูดของนางที่บอกว่า ให้รีบกลับมาเร็วๆ และก็นึกถึงความงามของนางที่หาใครเทียบได้ยาก ทำให้ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม พอคิดถึงนางหนักเข้าๆ ก็อยากจะลาสิกขา จึงตั้งใจว่า จะไปทูลลากับพระบรมศาสดา

     พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจับแขนพระนันทะ แล้วพาเหาะขึ้นไปบนเทวโลก ในระหว่างทาง พระองค์ได้เนรมิตนางลิงจุ่นตัวหนึ่ง หางด้วน หูขาด จมูกแหว่ง นั่งจับเจ่าอยู่บนตอไม้ที่ไฟไหม้ แล้วตรัสบอกให้พระนันทะจำนางลิงจุ่นเอาไว้ให้ดี จากนั้นก็พาขึ้นไปดูเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งกำลังมาอุปัฏฐากท้าวสักกะจอมเทพ

     บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านได้พบเทพธิดานางฟ้ามากมาย นี่ขนาดยังไม่ได้กายมาตรฐานเลย แต่ว่าสวยงามมาก ไม่มีข้อ ไม่มีปุ่ม ไม่มีปมเลย ผิวเกลี้ยงเกลา กลมกลึงไปหมด มีเครื่องประดับประดา มีรัศมี มีเสียงที่ไพเราะ มีกลิ่นหอม มีอิริยาบถที่งดงาม มีความสดชื่นอยู่ตลอดเวลา

     ขณะที่พระนันทะกำลังเพลิดเพลินกับการมองเทพธิดานางฟ้าบนสรวงสวรรค์อยู่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านว่า “นันทะ ระหว่างนางชนบทกัลยาณีกับนางอัปสร ประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ใครจะมีรูปงามกว่ากัน น่าดูกว่ากัน” พระนันทะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงจุ่น หางด้วน ที่นั่งจับเจ่าอยู่บนตอไม้เป็นเช่นไร นางชนบทกัลยาณีก็เป็นเช่นนั้น เพราะนางไม่สามารถจะเทียบกับนางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้เลย แม้เพียงเศษเสี้ยวเดียวก็เทียบไม่ได้ พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาทรงกล่าวว่า “เอาเถิดนันทะ หากเธอปรารถนานางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ ก็ให้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมเถิด” พอพระนันทะได้ยินเช่นนั้น ท่านก็ดีใจใหญ่ จึงรับปากพระพุทธองค์ว่า จะตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ให้เต็มที่ จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็นำพระนันทะกลับลงมาที่พระวิหารเชตวันเหมือนเดิม

     พวกภิกษุพอทราบว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ประพฤติพรหมจรรย์เพราะปรารถนานางอัปสร ๕๐๐ จึงพากันล้อเลียนท่าน เมื่อท่านได้ยินเพื่อนสหธรรมิกกล่าวล้อเลียนหนักเข้าๆ ก็เกิดความละอาย แล้วตั้งใจฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จนจิตเป็นเอกัคคตา คืนวันนั้น ท่านก็สามารถปฏิบัติธรรมเข้าถึงกายธรรมอรหัต ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  

     เมื่อเข้าถึงกายธรรมอรหัต ซึ่งเป็นกายมาตรฐานที่เป็นนิจจัง สุขัง อัตตาแล้ว ท่านก็หมดความอาลัย ทั้งในกายทิพย์ของเหล่าเทพอัปสร และกายของนางชนบทกัลยาณี เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว กายธรรมนั้นลํ้าเลิศประเสริฐกว่ามากมายก่ายกองนัก

     เพราะฉะนั้น กายมาตรฐานจริงๆ ก็คือ กายธรรมที่มีอยู่ในตัวของเรานี่แหละ สวยงามกว่ากายใดๆ ทั้งหมดในภพทั้ง ๓ แล้วเราจะทราบได้อย่างไร ทราบได้เมื่อเราเข้าถึง ปฏิบัติให้เข้าถึงกายต่างๆ ไปตามลำดับ ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม และกายธรรม ถ้าเข้าถึงตลอดหมดทุกกายอย่างนี้ จะเห็นความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจนทีเดียว

     ความงามก็ดี ความรู้แจ้งหรือความฉลาดก็ดี ภูมิธรรมก็ดี กายมนุษย์หยาบ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหมและกายอรูปพรหมเหล่านี้สู้กายธรรมไม่ได้เลย กายธรรมนี้จะเป็นผู้รู้ที่แท้จริง รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดหมดเลย อย่างมนุษย์นั้นกว่าจะรู้อะไรก็ต้องใช้ความคิด การอ่าน การฟังถึงจะรู้ และก็เป็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ บางทีก็ถูก บางทีก็ผิด

     เมื่อเข้าไปถึงกายธรรมแล้ว จะรู้ถูกเห็นถูกที่เรียกว่า เป็นผู้รู้ เพราะว่าท่านปรารถนานิดเดียว กระดิกจิตนิดเดียว อยากรู้อะไรก็รู้เลย รู้เพราะเห็น เห็นแจ้ง เห็นเพราะสว่าง ความสว่างบังเกิดขึ้นที่ไหน ความเห็นแจ้งก็บังเกิดขึ้นด้วยธรรมจักขุ ความรู้แจ้งด้วยญาณทัสสนะก็เกิดขึ้น รู้ได้รอบตัวเห็นได้รอบตัว แตกต่างจากการเห็นของกายมนุษย์หยาบ
     กายมนุษย์หยาบเห็นได้ทีละด้าน จะเห็นข้างหน้าก็มองไปข้างหน้า เห็นไปได้อย่างมากก็สุดสายตา และที่ไกลๆ ก็เห็นไม่ค่อยชัดเจน  

     ส่วนกายธรรมนั้นจะใกล้จะไกลแค่ไหน เห็นชัดเจนเท่ากันหมด นอกจากนั้นยังเห็นไกลไปถึงในอดีตที่ผ่านมาแล้ว จนกระทั่งไปถึงในอนาคตอีกด้วย ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดหมดเลย นี่แหละคือกายธรรม  

     เพราะฉะนั้นกายธรรมนี้จึงเป็นกายมาตรฐาน ที่เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกของพวกเราทั้งหลาย ให้ฝึกใจหมั่นฝนอบรมใจให้หยุดนิ่งกันตลอดเวลา อย่าให้ขาดในการปฏิบัติธรรม อย่าขี้เกียจนั่งธรรมะ ฝึกหยุดฝึกนิ่งกันเข้าไปเรื่อยๆ ให้เข้าถึงดวงธรรมภายใน ถึงกายภายใน ถึงพระธรรมกายภายในให้ได้ เราจะได้ไปเปรียบเทียบกายต่างๆ ด้วยตัวของเราเองว่า เป็นอย่างที่หลวงพ่อได้นำมาเล่าเอาไว้ไหม

     แล้วจะได้ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ธรรมกายนี่แหละ สมบูรณ์ที่สุด เป็นกายอันเป็นอมตะ เที่ยงแท้ไม่แปรผัน เวลาเรามีทุกข์ท่านก็ช่วยให้เราพ้นทุกข์ ถ้ามีสุขแล้ว ก็เพิ่มพูนความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ใจของเราจะเป็นประดุจภาชนะอันบริสุทธิ์ ที่กว้างใหญ่ไพศาล ที่จะรองรับความรู้อันบริสุทธิ์จากผู้รู้แจ้งภายใน ดังนั้น ให้ตั้งใจหมั่นทำใจให้หยุดนิ่ง ให้ได้เข้าถึงกายมาตรฐานคือพระธรรมกายกันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๕๗ หน้า ๑๘๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/18584
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *