รู้จักกายที่แท้จริงของตัวเอง

รู้จักกายที่แท้จริงของตัวเอง

     สิ่งที่เป็นความปรารถนาของทุกๆ คนในการดำรงชีวิต คืออยากพบเจอแต่สิ่งที่ดีๆ มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความทะยานอยากทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนขวนขวาย เสาะแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าจะเพิ่มเติมส่วนที่บกพร่องของชีวิตให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จึงแสวงหากันร่ำไป ทั้งๆ ที่ตนเองก็ยังไม่ทราบหนทางแห่งความสุขที่แท้จริงว่าอยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร เมื่อไม่ทราบทำให้ชีวิตต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องการทำมาหากิน แสวงหากามคุณ เกียรติยศชื่อเสียงเงินทอง พระบรมศาสดาท่านทรงค้นพบว่า วิธีการทำจะทำให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากใจที่หยุดนิ่ง เพราะสุขอื่นนอกจากใจหยุดนิ่งไม่มี ใจที่สงบหยุดนิ่งจะเป็นต้นทางแห่งความสุขและความสำเร็จที่แท้จริง

* พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค ว่า
“ปฏิโสตาคามึ นิปุณํ    คมฺภีรํ ทุทฺทสํ อณุํ
 ราครตฺตา น ทกฺขนฺติ    ตโมกฺขนฺเธน อาวุตา

     สัตว์อันราคะย้อมแล้ว ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแส คือ นิพพาน”

     สรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เมื่อยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะอวิชชาคือความไม่รู้ห่อหุ้มเอาไว้ ไม่รู้จักทุกข์ เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ได้นำมาพิจารณาให้ถ่องแท้จริงๆ จังๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องเกิดอีก และก็ไม่รู้ว่าต้นเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ตรงไหน ทำอย่างไรถึงจะดับทุกข์เหล่านั้นได้ และหนทางที่จะนำไปสู่การดับทุกข์เป็นอย่างไรก็ไม่เคยรู้จัก ความไม่รู้นั่นเองเป็นภัยใหญ่หลวงของชีวิต เพราะจะทำให้หลงไปยึดติดในคน สัตว์ สิ่งของ สังขารร่างกาย ทั้งที่เป็นของตัวเองและของคนอื่น แล้วเผลอไปทำบาปอกุศล จนเป็นเหตุให้พลัดตกไปในอบายภูมิ ทำให้เวียนวนกันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป

     เนื่องจากเราไม่เคยศึกษาเรื่องของตัวของเราเอง ว่ากายที่สมบูรณ์ที่สุดที่ควรยึดถือเอาไว้ เป็นอย่างไร อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร เหล่านี้เราไม่ทราบกัน เพราะว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งใจของเราวนเวียนอยู่กับที่สิ่งภายนอก ถูกราคะความกำหนัดยินดี ครอบงำให้สนใจเรื่องของคนอื่น สนใจดูการกระทำของคนอื่น สนใจในสิ่งที่นอกตัวของเราออกไป

     เพราะฉะนั้น กายที่อยู่ภายในตัวของเราจึงไม่รู้จัก ไม่รู้จักหนทางที่จะพัฒนาใจให้ละเอียด ให้ประณีต ให้สูงขึ้น เพราะเราสนใจในเรื่องนอกตัว เพราะฉะนั้นเราควรมาศึกษาเรื่องของกายภายในตัวของเรา ถ้าเรารู้จักเรื่องในตัวของเราแล้ว เราจะได้สำรวมระวังจิตไม่ให้ท่องเที่ยวไปในที่ไกล ถ้าสำรวมระวังได้ เราจะพ้นจากบ่วงของพญามาร

     เมื่อต้องการศึกษาเรื่องภายในของตัวเอง จะต้องรู้จักว่าภายในตัวของเรามีกายต่างๆ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ไปตามลำดับของความละเอียด ความบริสุทธิ์ของใจ ใจของคนตามปกตินั้นซัดส่ายไปมา วนอยู่ในบ่วงของมาร วนอยู่ในความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่วนไปวนมาเพราะว่ามารเขาเข้าไปบังคับเอาไว้ ดึงใจของเราให้หลุดออกมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จากธรรมะ จากความดี แล้วก็เอาไปแช่หมักดองไว้ในกามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ในกาม ในภพ ในความเห็นผิดอะไรต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมด

     เขาครอบงำเอาไว้ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกำหนัดยินดี ความทะยานอยาก นี่เขาเอาเราไปแช่อยู่อย่างนั้น จนเรารู้สึกคุ้นเคยชิน ใจเราจะวนเวียนอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ วนอยู่อย่างนี้แหละ ในที่สุดเราก็จะสูญเสียคุณงามความดีที่มีอยู่ในใจของเราไป ความชั่วจะเข้ามาแทนที่ ความคิด คำพูด และการกระทำ ก็เป็นของอกุศลธรรมไปหมด นี่เขาถึงได้เรียกว่าคน คือวนอยู่ในบ่วงของมาร

     ถ้าหากเราฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง พอใจหยุดถูกส่วนก็จะพ้นจากภาวะของความเป็นคน จิตจะหลุดพ้นเข้าถึงความเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่มีใจสูง คือเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียดที่อยู่ภายในตัวของเรา  มีใจสูงกว่าเดิม ใจสูงเพราะว่ามีศีล ๕ ประจำใจ จะมีปัญญากว้างขวาง รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักคุณโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ รู้จักประโยชน์ ๓ อย่าง จะรู้จักการทำชีวิตให้มีประโยชน์ในปัจจุบัน รู้จักประโยชน์ในอนาคต ตลอดจนกระทั่งจะรู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือ พระนิพพาน จะรู้จักเมื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในกายของเรา

     เรารู้จักกายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝันกันดี เวลานอนหลับก็เห็นตัวของเราเองปรากฏอยู่ในความฝัน หน้าตาเหมือนตัวของเรานี่แหละ นั่นแหละกายมนุษย์ละเอียด ถ้าเราเข้าถึงได้ในขณะที่ตื่นอยู่ ใจเราจะสูงขึ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมนุษย์ละเอียด มนุษยธรรมก็จะเกิดขึ้น มีศีล ๕ ครบถ้วนบริบูรณ์ ถ้าเข้าถึงกายที่ละเอียดกว่านั้นลงไปอีก ที่อยู่ภายในกายของกายมนุษย์ละเอียด คือเข้าถึงกายทิพย์ จิตของเราจะยิ่งสูงขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น

     พอเข้าถึงกายทิพย์ เทวธรรมปรากฏขึ้นมาในใจของเรา เป็นผู้มีหิริ มีโอตตัปปะ มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป จะไม่ทำบาปทั้งที่ลับและที่แจ้ง พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า มนุสสเทโว เข้าถึงความเป็นเทวดาตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์ คือเข้าไปถึงกายทิพย์นั่นเอง ไม่อยากจะทำบาปแล้ว เพราะเกรงกลัวบาปจะส่งผลให้มีความทุกข์ทรมาน เหมือนยาพิษแม้เพียงเล็กน้อย มันก็เป็นอันตรายต่อชีวิตของเราได้

     เมื่อไรเราเข้าถึงได้ เราจะรู้จักว่ากายทิพย์หน้าตาเป็นอย่างนี้เอง คนที่ใจมีหิริโอตตัปปะสวยงาม กายทิพย์จะสวยละเอียดประณีตทีเดียว นอกจากนี้ภายในกายทิพย์ยังมีกายที่ละเอียดประณีตเข้าไปอีก อยู่ภายในกายทิพย์ที่อยู่ในตัวของเรา ถ้าหยุดนิ่งได้สนิทมากขึ้น จะเข้าถึงกายรูปพรหม เป็นกายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรม จิตใจสมบูรณ์ไปด้วยสมาบัติ เข้าถึงรูปฌาน ๔ เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ยิ่งขึ้น

     กายรูปพรหมนี้ เมื่อเข้าถึงแล้วจะมีภพอันวิเศษมารองรับ คือภพของพรหมโลก เพราะว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรม หมวดหมู่แห่งธรรมสี่ประการเต็มเปี่ยมหมด กายพรหมอันนี้แหละ คือกายของผู้มีความบริสุทธิ์ มีความผ่องใสที่อยู่ภายในตัวของเรา ใครเข้าถึงเมื่อไร ก็เป็นพรหมได้ในชีวิตปัจจุบัน เข้าถึงพรหมกายเป็นพรหมกาย ตัวเราก็เป็นพรหมได้ตั้งแต่เป็นมนุษย์ ถ้าใจเกาะอยู่ในกายรูปพรหมนี้ตลอด ติดแน่น ไม่หวั่นไหว เมื่อละโลกแล้ว อายตนะของพรหมโลกก็ดูดกายพรหมของเราเข้าไปเสวยสุขอยู่ที่นั่น มีสุขด้วยฌานสมาบัติ เสวยสุขเป็นกัปๆ เป็นอสงไขยกันเลยทีเดียว

     ในกลางกายของรูปพรหมยังมีอีกกายหนึ่ง ที่ละเอียดกว่า ประณีตกว่า เรียกว่ากายอรูปพรหม เป็นกายที่สมบูรณ์ไปด้วย สมาบัติ ๘ รูปฌาน ๔ กับอรูปฌาน ๔ สมบูรณ์หมด สมาบัติ ๘ เป็นทิฎฐธรรมสุขวิหารี ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขของผู้ที่เข้าถึง ปราศจากนิวรณ์ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา มีความละเอียดอ่อน จนไม่ทราบว่าจะเอามาเปรียบกับอะไรในโลก จึงใช้คำว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีความละเอียดอ่อนของดวงจิตที่ยิ่งใหญ่ไพศาล ใจของอรูปพรหมกับจักรวาลเหมือนจะกลมกลืนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ละโลกไปแล้วก็ไปสู่อรูปภพ เป็นภพที่เสวยความสุขได้ดีที่สุดในภพทั้ง ๓ นี้ ความสุขอะไรในภพทั้ง ๓ นี้ จะเกินไปกว่าความสุขของอรูปภพนั้นไม่มี

     แต่กายต่างๆ เหล่านี้ แม้จะมีความสุขความละเอียดประณีตเพียงไร ก็ยังไม่พ้นจากไตรลักษณ์ เพราะยังถูกครอบงำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง แม้ความสุขจะขยายกว้างแค่ไหนก็ตาม ก็ยังไม่เที่ยง ซึ่งถ้าเทียบกับความสุขที่เข้าถึงธรรมกายโคตรภูซึ่งเป็นกายที่หลุดพ้นจากภพสามแล้ว ความสุขของอรูปภพเปรียบเหมือนกับที่แคบเหมือนอยู่ห้องแคบๆ ส่วนความสุขที่เข้าถึงธรรมกายโคตรภู ความสุขกว้างขวางกว่า เหมือนออกมานอกห้อง พ้นจากที่แคบไปสู่ที่กว้างขวาง ธรรมกายโคตรภูนี่อยู่ในกลางกายของกายอรูปพรหม

     ลักษณะเป็นพระพุทธปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว ที่ได้ชื่อว่าโคตรภู เพราะว่าใจหยุดใจนิ่งจนกระทั่งหลุดพ้นจากภพสามไปได้ แต่ว่ายังไม่เป็นพระอริยเจ้า ในกลางของกายธรรมโคตรภู จะเข้าถึงพระอริยบุคคลผู้มีชีวิตอันประเสริฐ ตั้งแต่เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จนถึงกายธรรมพระอรหัต สังโยชน์ต่างๆ ก็หมดสิ้นไป

     จิตก็กว้างขวางใหญ่โต มีความสุขมากทีเดียว ไม่ติดอะไรทั้งสิ้นในภพทั้งสาม ติดแต่อายตนนิพพานเท่านั้น เป็นพระอริยเจ้าหรือพระอรหันต์ ผู้ห่างไกลแล้วจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย กายต่างๆ เหล่านี้มีอยู่ในตัวของพวกเราทุกๆ คน นี่ให้รู้จักกันเอาไว้ เกิดกันมาภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็เพื่อจะมาฝึกฝนอบรมใจของเราให้เข้าถึงอย่างนี้ ความรู้ในทางพระพุทธศาสนาสอนให้เราได้เข้าถึงกันอย่างนี้ ก็เหลือแต่พวกเราว่าจะทำอย่างไร จึงจะเข้าถึงกายที่อยู่ภายในต่างๆ เหล่านี้ได้ เพราะถ้าหากเข้าถึงกายธรรมเมื่อไร การที่จะไปรู้ไปเห็นเรื่องราวความลี้ลับของชีวิตทั้งหมด จนกระทั่งไปถึงอายตนนิพพานได้ ก็อยู่ในวิสัยที่พวกเราทุกคนจะไปรู้ไปเห็นได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้เราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำ จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๖ หน้า ๓๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/18470
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *