อิทธิบาทสี่ ชี้ทางสู่นิพพาน

อิทธิบาทสี่ ชี้ทางสู่นิพพาน

     สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ แม้กระทั่งตัวของเราเอง ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ จึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ควรมุ่งไปแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริงของชีวิต แสวงหาสิ่งที่จะมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ที่คงความเป็นอมตะ เที่ยงแท้ ไม่แปรผัน คือมีลักษณะเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่สุขล้วนๆ เป็นตัวของตัวเองได้ กิเลสอาสวะเข้ามาครอบงำบังคับบัญชาไม่ได้ และการที่จะเข้าไปถึงสิ่งที่เป็นอมตะนี้ได้ ท่านให้เข้าไปทางสายกลางที่มีอยู่ภายในตัว ด้วยวิธีการทำใจให้หยุดให้นิ่ง ดังนั้น การเจริญสมาธิภาวนา จึงเป็นหนทางลัดที่จะทำให้เราได้ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงภายใน

มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา ว่า
     “ขอท่านจงตื่นขึ้นเถิด อย่าให้มัจจุราชผู้เป็นพวกพ้องของคนประมาท ชนะท่านผู้เกียจคร้านด้วยอุบายอันโกงเลย กำลังคลื่นแห่งมหาสมุทร ย่อมครอบงำบุรุษผู้ไม่อาจข้ามมหาสมุทรนั้นได้ แม้ฉันใด ชาติและชรา ย่อมครอบงำท่าน ผู้ถูกความเกียจคร้านครอบงำแล้ว ฉันนั้น ขอท่านจงทำเกาะ คืออรหัตผลแก่ตนเถิด เพราะที่พึ่งอย่างอื่นในโลกนี้และโลกหน้า ย่อมไม่มีแก่ท่าน”

     การฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งจะต้องทำไปควบคู่กับการทำธุรกิจการงานหรือการศึกษาเล่าเรียน พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย เกิดกี่ภพกี่ชาติก็มุ่งชำระกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์เรื่อยมา เป้าหมายก็เพื่อให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง เพราะท่านรู้ว่าตราบใดที่ยังมีกิเลสมาห่อหุ้มเอาไว้ ก็ต้องเวียนวนกันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป แล้วท่านก็มีใจใหญ่ คือนอกจากจะเพียรพยายามเพื่อช่วยเหลือตนเองให้หลุดพ้นแล้ว ยังมีมหากรุณาที่จะช่วยเหลือหมู่สัตว์ให้พ้นทุกข์ตามไปด้วย เมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยม ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงแนะนำเหล่าเวไนยสัตว์โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก

     ตลอดพระชนมายุของพระพุทธองค์ ทรงสอนแต่เรื่องที่จะทำให้หลุดพ้นอย่างเดียว ใครประมาทก็ทรงเตือนสติให้มีความเพียร ให้ตื่นจากความหลับใหล ลุกขึ้นต่อสู้กับกิเลสที่คอยบังคับให้คิดในสิ่งที่เป็นอกุศล ใครที่ยังข้ามไม่ถึงฝั่งนิพพานก็ทรงประคับประคองสนับสนุน ทรงหลั่งธรรมรสอันยอดเยี่ยม ให้กำลังใจ เหมือนปลาที่ขาดน้ำได้รับสายฝนเย็นฉํ่าที่หลั่งไหลมาจากท้องฟ้า การฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จึงเป็นเรื่องที่หลวงพ่อต้องพยายามปลูกฝังบ่อยๆ แม้จะใช้เวลาสอนกันมายาวนานหลายสิบปี ก็สอนอยู่กับเรื่องเดิมๆ เหล่านั้น เพื่อปลูกฝังเพื่อให้เราได้รู้จักเรื่องราวแผนผังของชีวิต รู้จักวิธีการทำใจให้หยุดให้นิ่งซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เพื่อให้เข้าไปถึงจุดที่เราจะได้รู้แจ้งเห็นแจ้งด้วยตัวของเราเอง เกิดธรรมจักขุ เกิดญาณทัสสนะ เกิดปัญญา เกิดวิชชา แล้วเกิดแสงสว่าง สิ่งเหล่านี้อยากให้เกิดขึ้นด้วยตัวของเราเองกันทุกๆ คน  

     * เหมือนอย่างหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย กว่าท่านจะได้รู้เรื่องราวของชีวิต เป้าหมายของชีวิต ก็ต้องทุ่มเทศึกษาเล่าเรียน ทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ จนเกิดผลเป็นปฏิเวธ คือได้เข้าถึงพระธรรมกาย หลวงปู่วัดปากน้ำของเรา ท่านบวชอย่างมีเป้าหมาย บวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ เมื่อบวชแล้วพอออกจากโบสถ์ รุ่งขึ้นก็มุ่งปฏิบัติกันเลย ไม่เคยขาดการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งแม้แต่วันเดียว ท่านมุ่งมั่นถึงเพียงนั้นทีเดียว ถึงได้มาเป็นบรมครูของพวกเรา เพราะท่านเป็นผู้เตือนตนเองได้ คิดอยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรใจจะหยุด ทำอย่างไรจะได้บรรลุธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุแล้ว

     หลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านเป็นผู้ที่รักการปฏิบัติธรรมมาก ในระหว่างที่ศึกษาธรรมะภาคปริยัติ ก็ยังคงปฏิบัติธรรมทุกวันมิได้ขาด วันไหนมีเวลาท่านมักไปศึกษาวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์ในสำนักต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ท่านศึกษากับท่านเจ้าคุณพระมงคลทิพมุนี วัดจักรวรรดิบ้าง พระครูฌานวิรัติ วัดเชตุพนบ้าง ถ้ามีเวลามากก็ไปต่างจังหวัด ไปกราบนมัสการขอศึกษาธรรมะ กับพระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ กาญจนบุรี หรือไม่ก็ไปเรียนกับพระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ฝั่งธนบุรี

     ในสมัยที่เรียนกับพระอาจารย์สิงห์ ท่านมีประสบการณ์ที่ดีมากๆ สามารถฝึกใจให้หยุดนิ่ง จนได้ดวงสว่างขนาดฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย พระอาจารย์สิงห์จึงมอบหมายให้ท่านเป็นอาจารย์ช่วยสอนศิษย์คนอื่นๆ แต่ท่านเห็นว่าตัวเองยังมีความรู้น้อย ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะของพระพุทธองค์ แล้วจะไปสอนคนอื่นให้รู้แจ้งได้อย่างไร ตัวเองยังเอาไม่รอด แล้วจะช่วยคนอื่นให้แจ่มแจ้งในพระสัทธรรมคำสอนนั้น คงเป็นไปได้ยาก ท่านจึงตอบปฏิเสธและขอกราบลา เพื่อไปแสวงหาครูบาอาจารย์ที่สามารถสอนธรรมะภายในที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆ บางครั้งท่านก็ออกเดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร ได้พบปะและสนทนาธรรมกับพระธุดงค์ในป่า

     กระทั่งวิชาเล่นแร่แปรธาตุ เรียนวิชาโหราศาสตร์ และวิชาต่างๆ ที่นิยมกันในสมัยนั้น หลวงพ่อท่านศึกษาและประสบความสำเร็จในวิชาเหล่านั้นด้วย ปั้นดินเป็นควายธนูให้มีฤทธิ์มีเดช ท่านก็ทำได้ เมื่อเรียนจบท่านก็เลิกเพราะเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ได้ตำหนิความรู้ของครูอาจารย์ท่านเหล่านั้นที่ได้ศึกษามา บางวันมีพระอาคันตุกะ ซึ่งได้ยินชื่อเสียงของท่าน อุตส่าห์เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาขอเรียนวิชากับท่าน ท่านก็ลองแสดงวิชาให้ดูแต่ไม่ยอมสอนให้ เพราะไม่ใช่วิชามรรคผล หลวงพ่อท่านสอนแต่เรื่องหยุดในหยุดอย่างเดียว

     โดยเฉพาะหลังจากที่ท่านเข้าถึงพระธรรมกาย ที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียงแล้ว ท่านก็มุ่งหยุดในหยุดเข้าไปเรื่อยๆ ที่สุดแห่งธรรมอยู่ตรงไหน ท่านจะไปให้สุดตรงนั้น เป็นทั้งครูเป็นทั้งนักเรียนในคนๆ เดียวกัน คือศึกษาวิชชาธรรมกายไปด้วย แนะนำพร่ำสอนศิษยานุศิษย์ควบคู่ไปด้วย ได้ไปรู้เรื่องราวของตัวเอง เมื่อเข้าใจเรื่องราวของชีวิตแล้ว ก็มุ่งหยุดอย่างเดียว ท่านถึงไม่ยอมไปแรมราตรีที่ไหนเลย มุ่งศึกษาวิชชาธรรมกาย ทำวิชชากับหมู่คณะเพื่อปราบมาร ไปดับที่ต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย เมื่อศึกษาค้นคว้ากันเข้าไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งรู้แจ้งเห็นแจ้งเพิ่มมากขึ้น เพราะวิชชาธรรมกายเป็นศูนย์รวมของศาสตร์ทั้งปวง

     พวกเราทั้งหลายเป็นลูกศิษย์ของท่าน เมื่อรู้แล้วเข้าใจแล้วควรที่จะดำเนินตามปฏิปทาของท่าน เรื่องราวของชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ถ้าหากไม่รู้เท่ากับชีวิตก็ไม่ปลอดภัย เมื่อคิดอย่างนี้บ่อยๆ จะได้เกิดฉันทะ มีความพอใจและกระหายที่จะรู้ เกิดความปรารถนาอยากจะรู้จักตัวของตัวเองอย่างแท้จริง อยากจะเรียนรู้คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากศึกษาวิชชาธรรมกาย

     และต่อจากนั้นไป วิริยะความเพียรมันก็จะเป็นไปเอง คือจะมีความขยันขึ้นมาเอง ความขยันที่เกิดขึ้นด้วยความเต็มใจสมัครใจ ที่ไม่มีข้อแม้ข้ออ้างหรือเงื่อนไขว่า ต้องให้ว่างก่อน ต้องให้พร้อมก่อน ต้องให้รวยเสียก่อน ต้องให้ลูกจบเสียก่อน ต้องให้หมดหนี้เสียก่อน อะไรอย่างนี้เป็นต้น เราจะเกิดความขยันเกิดความเพียรขึ้นมาเอง ไม่คิดถึงอุปสรรค คิดแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้รู้แจ้งเห็นจริง เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทิ้งราชสมบัติทุกอย่าง แล้วก็มุ่งแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ด้วยความสมัครใจ

     เพราะฉะนั้น ท่านจึงทำความเพียรกันอย่างเอกอุทีเดียว เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ไม่ได้ตายเถอะ หรือเหมือนอย่างหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านก็เกิดความรู้สึกกระหายอยากจะรู้เห็นธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้ธรรมอย่างไร เมื่อรู้แล้วเห็นแล้วจะเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระพุทธศาสนาได้ดีที่สุด

     เมื่อเกิดความรู้สึกฉันทะอย่างนี้ วิริยะจึงตามมา หลังจากนั้น จิตตะก็ต่อเนื่อง ทยอยกันมาเลย คือจะนึกคิดกันอย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น หลับก็ฝันว่าตัวเองปฏิบัติธรรม ตื่นมาก็จดจ่อ ตรึกทั้งวันทั้งคืนทีเดียว ตรึกที่กลางกาย ตรึกตลอดเวลาเลย พอตรึกไปแล้ว ทำด้วยวิธีการอย่างนี้แล้ว ทำไมถึงไม่ได้ผล หรือวันนี้ได้ผล ทำไมมันไม่ดีอย่างเมื่อวานนี้ ก็จะเกิดวิมังสา เกิดความสังเกตขึ้นมาว่า เราจะมาปรับปรุงวิธีการอย่างไรถึงจะถูกต้อง ที่จะให้ใจนั้น มันถูกส่วน ถูกส่วนแล้วจะได้เข้าถึงธรรมกาย

     เมื่อเข้าถึงพระธรรมกาย เดี๋ยวเราก็จะรู้เรื่องราวทั้งหมดด้วยตัวของเราเอง ความสงสัยที่มีอยู่ก็จะหมดไป เราจะปีติซาบซึ้งทีเดียว ฉะนั้นเมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ให้หมั่นประกอบความเพียร ให้เอาชนะความเกียจคร้านในตัวให้ได้ แล้วก็ทำใจของเราให้หยุดนิ่งอยู่ภายใน แล้วเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
* ประวัติพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/18461
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *