รัตนะภายใน

รัตนะภายใน

     ความปรารถนาของมวลมนุษยชาติ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ล้วนปรารถนาให้โลกบังเกิดสันติสุขที่แท้จริง แต่ทว่าไม่มีใครทราบว่า สันติสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า การที่จะทำให้เกิดสันติสุขที่แท้จริงนั้น มนุษย์ทุกคนจะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงสันติสุขภายใน คือเข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขที่แท้จริง และเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของทุกๆ คน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ หากได้ลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธีแล้ว จะสามารถเข้าถึงพระธรรมกายได้ด้วยกันหมดทั้งสิ้น

* มีวาระพระบาลีกล่าวไว้ใน อัตถสันทัสสกเถราปทาน ว่า  
“ธมฺมกายญฺจ ทีเปนฺติ    เกวลํ รตนากรํ
 วิโกเปตุํ น สกฺโกนฺติ    โก ทิสฺวา นปฺปสีทติ

ชนทั้งหลายย่อมแสดงธรรมกาย และไม่อาจทำบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้นให้กำเริบได้ ใครได้เห็นแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า”

     ธรรมกายเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เป็นหลักของโลก เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะอันประเสริฐ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะว่าได้ตรัสรู้กายธรรมอรหัต เป็นธรรมกายที่มีความสว่างไสวอยู่ในตัว เป็นกายที่เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา คงความเป็นอมตะ จึงไม่มีอะไรที่จะมาทำลายให้เสื่อมสลายไปได้ เมื่อใครได้เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอย่างนี้แล้ว จะมีความปลาบปลื้มปีติยินดีทีเดียว

     คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันไปว่า พระรัตนตรัยหมายเอาเฉพาะพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ และพระสงฆ์คือพระสาวกและสมมติสงฆ์ ผู้ตั้งใจฝึกตนเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะตามพระองค์ไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงรัตนะภายนอก ยังมีรัตนะภายในอีก ได้แก่พุทธรัตนะ คือธรรมกายที่เราได้เข้าถึงแล้ว ธรรมรัตนะคือดวงธรรมที่รักษาพุทธรัตนะเอาไว้ และสังฆรัตนะคือธรรมกายละเอียดที่อยู่ในกลางธรรมรัตนะ ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นพระรัตนตรัยภายใน ที่พึ่งที่ระลึกของพวกเราทุกคน

     ดังนั้นพระรัตนตรัยที่แท้จริงนั้น ความหมายในระดับลึกคือธรรมกายนั่นเอง แต่การที่จะเข้าถึงกายธรรมซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งหลายนั้น จะต้องผ่านกายต่างๆ เข้าไปเป็นลำดับชั้น ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือตามเห็นกายในกายให้ได้เสียก่อน จะได้เปรียบเทียบระหว่างกายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ กับกายที่พ้นจากไตรลักษณ์ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

     กายภายใน กายแรกคือกายมนุษย์ เป็นกายไปเกิดมาเกิดหรือกายฝัน กายที่เรานอนหลับแล้วฝันไป ออกไปทำหน้าที่ฝัน พอตื่นขึ้นมาแล้วเราไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่จากการปฏิบัติธรรมพบว่า อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์หยาบของเรา เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดได้ เราจะมีความรู้สึกแตกต่างจากกายมนุษย์หยาบทีเดียว

     เราจะเข้าใจและซาบซึ้งในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า กายภายนอกนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัย อาศัยขอยืมมาชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ช้าจะแตกดับไป มีแต่ความเสื่อมสลายไปในที่สุด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมไป เหมือนบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงกายมนุษย์ละเอียดภายใน คำสอนนั้นก็ยังไม่ซาบซึ้งเข้าไปในใจของเรา แต่ว่าเมื่อเข้าไปถึงแล้ว เราจะซาบซึ้งขึ้นมาทันทีเลย เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ กายภายนอกเหมือนเสื้อผ้า เหมือนบ้านเรือนที่อาศัยชั่วคราว เป็นของยืมมาแล้วก็มีเวลาใช้อย่างจำกัด ระยะเวลาใช้ก็ไม่เท่ากัน เห็นแล้วก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

     ความยึดมั่นถือมั่นในกายหยาบจะลดน้อยถอยลงไป เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัยว่าจะอาศัยชั่วคราวสำหรับสร้างบารมี ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จะอาศัยกายนี้เป็นทางผ่านของใจให้เข้าถึงธรรมกาย เพราะฉะนั้นกายภายในเป็นทางผ่านของใจ ใจเราก็ผ่านไปเรื่อย ในกายมนุษย์ละเอียดก็มีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ สวยงามกว่า ละเอียดกว่า เรียกว่ากายทิพย์ เป็นกายของสุคติภูมิ ถ้าเราละโลกไปแล้วยังไม่ไปนิพพาน กำลังบุญจะส่งให้เข้าถึงกายทิพย์ ซึ่งเป็นกายมาตรฐานของชาวสวรรค์ อยู่ในกลางตัวของเรานี่แหละ เป็นกายของเราเอง แต่ว่าเราจะเข้ามาสวมกายอันนี้ได้ต้องมีกำลังบุญ ต้องมีหิริโอตตัปปะ มีเทวธรรม มีกำลังบุญที่เกิดจากการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จึงจะเข้าสวมกายนี้ได้

     ในกลางกายทิพย์ก็ยังมีกายอื่นซ้อนกันเข้าไปอีก คือกายรูปพรหมซ้อนอยู่ภายใน เกิดขึ้นจากพรหมวิหารธรรม หรือทำรูปฌาน ๔ ให้เกิดขึ้น และในกลางนั้นก็มีอีกกายซ้อนอยู่ คือกายอรูปพรหมเกิดขึ้นจากอรูปฌานสมาบัติ พอสุดกลางกายอรูปพรหม ในกลางก็มีอีกกายซ้อนอยู่ เรียกว่ากายธรรมโคตรภู เมื่อเข้าถึงแล้วเปลี่ยนแปลงเราให้เป็นโคตรภูบุคคล

     พุทธรัตนะ รัตนะแปลว่าแก้ว ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ที่ใสเป็นแก้ว ได้แก่ธรรมกายนั่นเอง ธรรมรัตนะ คำสอนของท่าน  หรือดวงธรรมที่รองรับท่านอยู่ในกลางนั้น สังฆรัตนะ ที่ทรงจำรักษาคำสอนเอาไว้อยู่ในกลางของธรรมรัตนะ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ แม้เรียกกันคนละชื่อแต่ว่ารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนเพชร มีเนื้อ มีแวว มีสี  ถ้ารวมแล้วก็เรียกว่า เพชร  เนื้อเพชร แววเพชร สีเพชร  เนื้อเพชรก็ได้แก่ธรรมกาย แววเพชรก็ได้แก่ธรรมรัตนะ สีของเพชรก็ได้แก่สังฆรัตนะ รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกออกจากกันไม่ได้  นี่คือรัตนะภายในที่ใครได้เข้าถึงแล้ว จะมีความรู้สึกปลื้มอกปลื้มใจ

     เมื่อเข้าถึงธรรมกายที่ชัดใสสว่างอยู่ภายในแล้ว เราจะเข้าใจเลยว่า ภพภูมิที่มารองรับกายธรรมต่างๆ เหล่านี้ ก็คืออายตนนิพพานนั่นเอง เหมือนกายทิพย์มีสวรรค์หรือเทวโลกมารองรับ กายรูปพรหมมีรูปภพมารองรับ กายอรูปพรหมมีอรูปภพมารองรับ ส่วนกายธรรมหรือธรรมกายก็มีภพภูมิมารองรับเหมือนกัน แต่ท่านไม่เรียกว่าโลก ไม่เรียกว่าภพ เพราะเป็นธรรมธาตุที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ท่านเรียกว่าอายตนนิพพานนั่นเอง

     ในอายตนนิพพานไม่มีอะไรกำบัง ไม่มีโบสถ์ ไม่มีวิหาร ไม่มีศาลาการเปรียญ ไม่มีหอระฆัง บางท่านเข้าใจผิดว่ามีอย่างนั้น ที่จริงมีแต่ธรรมกายปรากฏอยู่ในธรรมธาตุที่สว่างโล่งไปหมด และธรรมกายของพระพุทธเจ้าท่านนั่งสงบนิ่ง เข้านิโรธสมาบัติสงบนิ่งอยู่ในอายตนนิพพาน สว่างด้วยธรรมรังสีของพระพุทธเจ้า  ดังนั้น ท่านั่งเข้านิโรธคือท่าปกติของผู้ที่มีใจเป็นปกติ ส่วนอิริยาบถอื่น ยืน เดิน นอน วิ่ง เคลื่อนไหวต่างๆ แสดงว่าเป็นผู้ที่มีภารกิจที่ยังต้องทำอยู่ แต่ว่าผู้ที่หมดกิเลสแล้ว  เสร็จกิจแล้ว ไม่มีกิจอย่างอื่นจะต้องทำอีก ภพชาติสิ้นแล้ว ท่านเข้านิโรธสมาบัติทำหยุดในหยุดอยู่ในอิริยาบถของท่านั่งเพียงอย่างเดียว

     มีอยู่ตอนหนึ่งในของพระสูตร พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ ว่าอายตนนิพพานนั้นมีอยู่ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกหน้า ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาว ไม่ใช่จักรวาลไหน เป็นธรรมธาตุที่สะอาดที่ประณีต ละเอียดอ่อน ไม่มีการยืน ไม่มีการเดิน ไม่มีการนอน ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เป็นธรรมธาตุที่สะอาด บริสุทธิ์ล้วนๆ นั่งเข้านิโรธสมาบัติอย่างเดียว เป็นท่าปกติของผู้มีใจหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อเราเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายแล้ว  เราจะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการนั่งสมาธิเจริญภาวนาจึงเป็นสุดยอดของกรณียกิจที่เราต้องทำให้เป็นชีวิตจิตใจ เป็นประดุจลมหายใจที่ขาดไม่ได้ เมื่อเราทราบเช่นนี้แล้ว ควรให้ความสำคัญ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังควบคู่ไปกับภารกิจหน้าที่การงานที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ไปรู้ ไปเห็น ถึงความเป็นไปต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นได้ด้วยตัวของเรากันทุกคน

* มก. เล่ม ๕๐ หน้า ๔๑๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/18300
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *