วิเคราะห์การให้ทานของพระเวสสันดร (๒)

วิเคราะห์การให้ทานของพระเวสสันดร (๒)

เรือที่แล่นออกสู่ทะเลมหาสมุทร  เมื่อมีมรสุมต้องรีบหามุมหลบก่อน  ครั้นมรสุมสงบ จึงแล่นเรือต่อไป พวกเราก็เช่นเดียวกัน หากชีวิตกำลังประสบความทุกข์ เราต้องหลบมรสุมชีวิตก่อน คือ หามุมสงบด้วยการทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายนั่นเอง บนหนทางชีวิตอันยาวไกลที่จะไปสู่อายตนนิพพานนี้ เราจะต้องฝ่าฟันกับความทุกข์และอุปสรรคอีกมากมาย การฝึกจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต เพราะเราจะมีหลุมหลบภัย และมีกำลังใจที่จะนำพาเราก้าวล่วงความทุกข์ ไปสู่ความสุขความสำเร็จของชีวิตได้แน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เวสสันตรจริยาว่า
“เมื่อเราบริจาคชาลีกัณหาเป็นปุตตทาน และบริจาคเทวีคือพระนางมัทรี เราไม่ได้คิดเป็นอย่างอื่นเลย เรามุ่งต่อพระโพธิญาณอย่างเดียวเท่านั้น”

พระบรมโพธิสัตว์มีมโนปณิธานที่สูงส่ง หวังจะยกตนและสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ มุ่งไปสู่อายตนนิพพาน นับเป็นสุดยอดแห่งความปรารถนาทั้งหมดของผู้เป็นสัพพัญญูทั้งหลาย  เพราะฉะนั้น  เมื่อท่านตั้งใจจะทำสิ่งใด ท่านพยายามศึกษาหนทางที่จะไปสู่เป้าหมาย และลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน จะเป็นกี่ร้อยกี่พันชาติ หรือยาวนานเป็นอสงไขยกัป ก็ไม่ยอมทิ้งมโนปณิธาน แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปแต่เป้าหมายของท่านไม่เปลี่ยนแปลง หากจำเป็นต้องสละเลือดเนื้อ อวัยวะหรือชีวิต เพื่อให้ได้พระโพธิญาณอันประเสริฐ พระบรมโพธิสัตว์ก็ยินยอมพร้อมจะสละทุกสิ่งได้เสมอ

การบริจาคทานระหว่างผู้มีมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ กับผู้ที่ยังมีความตระหนี่เพราะถูกโลภมูลจิตครอบงำนั้น จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความคิดของผู้ที่ยังมีความตระหนี่ ย่อมไม่เข้าใจความคิดของผู้มีหัวใจแห่งการให้อย่างไม่มีประมาณของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย  เรามาติดตามการปุจฉาวิสัชนา ซึ่งเกี่ยวกับความสงสัยในการให้ทานของพระเวสสันดรกันต่อ

พระเจ้ามิลินท์ได้ศึกษามามาก จึงมีทั้งความเลื่อมใสและความสงสัยควบคู่กันไป ท่านได้ตรัสถามพระนาคเสนว่า “ข้าแต่พระนาคเสน การที่พระโพธิสัตว์ได้ให้บุตรอันเป็นที่รักของตน เพื่อไปเป็นทาสของพราหมณ์ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ข้าพเจ้าเลื่อมใสยิ่งนัก แต่อยากรู้ว่า พระเวสสันดรผู้มุ่งบุญ เหตุไรจึงทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ควรที่พระเวสสันดรให้ตนเองเป็นทาน จะไม่ดีกว่าหรือ”

พระเถระตอบโต้ด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมว่า ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่พระเวสสันดรได้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก จึงมีเสียงสรรเสริญทั่วหมื่นโลกธาตุ พวกเทวดา อสูร ครุฑ นาค พระอินทร์ ยักษ์ ต่างพากันสรรเสริญ แม้อยู่ในที่อยู่ของตน กลองทิพย์ก็บันลือขึ้นเอง กิตติศัพท์นั้นย่อมแสดงให้เห็นคุณของพระโพธิสัตว์เจ้า ผู้มีสติปัญญาละเอียด ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งทั้งโลกนี้และโลกหน้า

การบริจาคตนเองเป็นทานนั้น ไม่ใช่การกระทำของสัตบุรุษ คือ  เมื่อเขาขอบุตรภรรยา จะให้ตัวเองนั้น ย่อมไม่ถูก  เมื่อเขาขอสิ่งใดก็ควรให้สิ่งนั้น เหมือนบุคคลหนึ่งมาขอน้ำ ผู้ใดให้ข้าวแก่บุรุษนั้น ก็ไม่เรียกว่าเป็นกิจจการี คือ ผู้ทำตามหน้าที่  ดังนั้น เมื่อพราหมณ์ขอโอรส ธิดา และอัครมเหสี ผู้เป็นทานบดีย่อมต้องพระราชทานพระโอรสธิดาและอัครมเหสีให้แก่พราหมณ์ แต่ถ้าพราหมณ์ขอตัวของพระเวสสันดร พระองค์ก็ต้องบริจาค พระองค์ยอมตนไปเป็นทาสอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมา ท่านได้บริจาคเลือด เนื้อ และชีวิตมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว

เพราะฉะนั้น พระวรกายของพระเวสสันดรจึงเปรียบเหมือนของทั่วไปที่เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก เหมือนต้นไม้มีผลดก เป็นของทั่วไปแก่หมู่นกต่างๆ  พระเวสสันดรทรงเห็นว่า เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ จึงจะสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ไม่มีทรัพย์ เที่ยวแสวงหาทรัพย์ ย่อมเที่ยวหาไปตามทางดง ทางเกวียน ทางน้ำ ทางบก เพื่อให้ได้ทรัพย์ ฉันใด พระเวสสันดรผู้ไม่มีทรัพย์ คือ พระสัพพัญญุตญาณ ก็ได้แสวงหาพระสัพพัญญุตญาณ ด้วยการพระราชทานทรัพย์และธัญชาติ ยานพาหนะ ทาสี ทาสา ทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยา ตลอดถึงหนัง เลือด เนื้อ หัวใจ ชีวิตของพระองค์ ฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง อำมาตย์ผู้ต้องการความเจริญ ต้องการเป็นใหญ่เป็นโต ย่อมสละทรัพย์สมบัติ ข้าวของ เงินทองทั้งสิ้นของตนแก่คนอื่นๆ เพราะสมบัติเหล่านี้ จะเป็นทางผ่านให้ได้ตำแหน่งใหญ่โตในอนาคต ฉันใด พระเวสสันดรทรงสละสิ่งของภายนอก ตลอดจนถึงชีวิตของพระองค์แก่ผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ ฉันนั้น

เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่พระเวสสันดรพระราชทานโอรส ธิดา อัครมเหสีให้แก่พราหมณ์นั้น ไม่ใช่เพราะความเกลียดชัง หรือเห็นว่ามีอยู่มาก หรือเพราะไม่อาจเลี้ยงได้ หรือเพราะรำคาญ แต่ได้พระราชทานเพราะทรงมุ่งหวังพระสัพพัญญุตญาณ ทรงรักพระสัพพัญญุตญาณมากกว่าสิ่งใด

ด้วยเหตุที่พระเวสสันดรเป็นผู้มีปัญญา มองเห็นการณ์ไกลกว่าคนธรรมดาทั่วไป ท่านจึงพระราชทานพระลูกเจ้าทั้งสอง ให้แก่พราหมณ์ชูชก เพราะเห็นว่า หากลูกเล็กทั้งสองอยู่กับพระองค์ในกลางป่าเช่นนี้ ได้กินแต่หัวเผือกหัวมัน หากบริจาคให้พราหมณ์ พระเจ้าปู่จะได้ทรงไถ่รับไปเลี้ยง พระโอรสและธิดาทั้งสองของพระองค์ เป็นผู้มีบุญมากอยู่แล้ว ไม่มีผู้ใดในโลกใช้ลูกของพระองค์ให้เป็นทาสหรือทาสีได้ พระเจ้าปู่จะต้องไถ่ลูกทั้งสองไว้  เมื่อดำริเช่นนี้ จึงได้พระราชทานลูกทั้งสองไป

พระเวสสันดรได้ทรงกำชับพระชาลีกุมารว่า “ลูกเอ๋ย หากพระเจ้าปู่รู้ว่าลูกถูกพาไปเป็นข้าทาสของคนอื่น พระเจ้าปู่จะต้องตามไปไถ่เจ้าทั้งสองจากพราหมณ์อย่างแน่นอน แต่เมื่อจะทรงไถ่ถอนลูกคืน จงให้ไถ่ตัวด้วยทองคำ ๑,๐๐๐ ลิ่ม และให้ไถ่กัณหาชินา ด้วยทาส ทาสี ช้าง ม้า โค ทองคำอย่างละ ร้อย ถ้าพระเจ้าปู่จะทรงบังคับเอาเปล่า พวกเจ้าจงอย่ายินยอม แต่ให้ติดตามพราหมณ์ไป”  เมื่อทรงสอนเช่นนี้แล้ว จึงพระราชทานพระโอรสและพระธิดาให้พราหมณ์ชูชกไป

ครั้นพระเวสสันดรพระราชทานลูกทั้งสองแล้ว ได้เสด็จเข้าไปในบรรณศาลา ด้วยความรักและห่วงหาอาทรอย่างสุดซึ้ง จึงทรงพระกันแสงด้วยความรักยิ่ง ดวงหทัยได้ร้อนขึ้น  เมื่อพระนาสิกไม่พอหายใจ ทรงปล่อยลมหายใจร้อนๆ ออกมาทางพระโอษฐ์ มีนํ้าพระเนตรเจือพระโลหิตไหลนองอาบสองแก้ม ด้วยพระเวสสันดรทรงรักพระราชโอรสธิดาอย่างยิ่ง แต่ได้ทรงอดกลั้นความเศร้าโศก เพราะทรงดำริว่า อย่าให้ทานของเราเสียไปเลย

พระเจ้ามิลินท์ฟังคำวิสัชนาแล้ว ได้ให้สาธุการ และยอมรับว่า “ข้าแต่พระนาคเสน พระคุณเจ้าได้ทำลายข่ายทิฐิ ย่ำยีถ้อยคำของผู้อื่นได้แล้ว ได้แสดงเหตุผลไว้เพียงพอแล้ว ทำให้เข้าใจปัญหาข้อนี้ได้ง่ายแล้ว”

จะเห็นว่า การให้ของพระบรมโพธิสัตว์นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่อย่างเดียว ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ตัว หรือทำผิดหลักการให้โดยทั่วไป ทานครั้งนั้นเป็นทั้งอติทาน เป็นทั้งมหาทาน และเป็นหนึ่งในปัญจมหาบริจาคที่ทำได้โดยยาก การที่พระเวสสันดรทรงบริจาคลูกทั้งสอง เพื่อให้เป็นทาสของพราหมณ์นั้น ย่อมไม่เป็นบาป เพราะตามธรรมดาของคนทั่วไป ลูกจำเป็นต้องช่วยเหลือบิดามารดา แม้ชีวิตของตนก็ควรสละ ผู้สละชีวิตเพื่อบิดามารดา ได้ชื่อว่าเป็นลูกยอดกตัญญู นั่นหมายถึงท่านได้ทำดีแล้ว นอกจากไม่เป็นบาปแล้ว ยังชื่อว่าได้บุญอีกด้วย

พวกเรานับว่า เป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ ที่ได้เกิดมาเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ผู้มีนํ้าพระทัยเปี่ยมด้วยพระมหากรุณา  ดังนั้น ให้หมั่นสั่งสมบุญให้เต็มที่ ทั้งทาน ศีล ภาวนา เพราะหนทางการสร้างบารมีของพวกเรานั้น ยังอีกยาวไกล กว่าจะไปถึงเป้าหมาย คือ ที่สุดแห่งธรรม จะต้องทุ่มเทสร้างบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ ให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ โดยเฉพาะทานบารมี แม้จะเป็นเรื่องรอง แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำและขาดไม่ได้ บารมีทั้ง ๓๐ ทัศ จะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ได้ ย่อมต้องอาศัยทานบารมีเป็นเครื่องรองรับ เหมือนการสร้างบ้านให้มั่นคง ย่อมต้องอาศัยเสาเข็มที่ฝังลงลึก  ดังนั้น ให้ทุกคนทุ่มเทในการสร้างบารมี เพื่อแข่งขันกับเวลาในชีวิต ที่เหลือน้อยลงไปทุกขณะกันทุกคน

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/9261
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระพุทธคุณ

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

1 thought on “วิเคราะห์การให้ทานของพระเวสสันดร (๒)”

  1. ✨น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *