วิเคราะห์การให้ทานของพระเวสสันดร (๑)

วิเคราะห์การให้ทานของพระเวสสันดร (๑)

ปัจจุบันมนุษย์ต้องประสบกับปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ค่าครองชีพที่สูงขึ้น มลพิษของสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่ต้องประสบและต้องอดทนตลอดเวลา หากใครไม่สามารถรักษาความสมดุลของใจได้ มัวกลัดกลุ้มในเรื่องเหล่านี้ ความสมดุลในชีวิตย่อมจะขาดหายไป  เมื่อชีวิตขาดสมดุล การดำเนินชีวิตย่อมยากที่จะประสบความสุขและความสำเร็จ สมดุลของชีวิตจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากการฝึกทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  เมื่อใจหยุดได้สนิทเป็นหนึ่งเดียว ความสมดุลของชีวิตย่อมเกิดขึ้น จะเข้าถึงกระแสแห่งความสุข ความบริสุทธิ์ภายใน ที่จะปรับใจให้มีสภาพที่เข้มแข็ง เต็มเปี่ยมด้วยพลัง แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย ย่อมสามารถฝ่าฟันจนถึงเป้าหมายได้ในที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เวสสันตรจริยา ว่า
“เมื่อเราสละพ่อชาลี แม่กัณหาชินาผู้เป็นธิดา และพระนางมัทรี ผู้ที่จงรักต่อสามี ไม่เคยคิดถึงอีกเลย เพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั่นเอง บุตรทั้งสองของเรา เราก็ไม่เกลียด พระนางมัทรีเราก็ไม่เกลียด แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า  เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้บุตรและภริยาอันเป็นที่รักของเราไป”

ก่อนจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมโพธิสัตว์ทุกพระองค์จะต้องบำเพ็ญปัญจมหาบริจาค คือ บริจาคอวัยวะ บริจาคทรัพย์ บริจาคบุตร บริจาคภรรยาและบริจาคชีวิต การบริจาคทานของท่านนั้น เป็นที่น่าอนุโมทนาและเป็นแบบอย่างให้แก่บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายสืบต่อกันมา แต่ผู้ไม่รู้บางคน ซึ่งยังมีความตระหนี่ฝังแน่นอยู่ในใจ กลับวิจารณ์ด้วยความไม่เข้าใจว่า การบริจาคบุตรหรือภรรยาเป็นทานนั้น น่าจะผิดหลักของการให้ทาน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุตรและภรรยา ทำให้ชาวพุทธบางท่านเกิดความสับสน

ดังนั้น  จะนำตัวอย่างที่  พระเจ้ามิลินท์   ได้ถามปัญหาต่อ  พระนาค เสนเถระ   มาให้ได้ศึกษากัน

* พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามพระเถระว่า “ข้าแต่พระนาคเสนเถระ พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงย่อมให้บุตรภรรยาเป็นทานเหมือนกันหมด หรือให้เฉพาะพระเวสสันดรเท่านั้น”

พระเถระตอบว่า “ขอถวายพระพร เหมือนกันหมด ไม่เฉพาะแต่พระเวสสันดร”

“ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระโพธิสัตว์ทั้งปวงให้บุตรภรรยาเป็นทานเหมือนกันหมด ขอถามว่า ให้ด้วยความยินยอมของบุตรภรรยาเหล่านั้นหรือไม่”

พระเถระตอบว่า “ขอถวายพระพร สำหรับภรรยายินยอม แต่บุตรนั้น เนื่องจากยังเป็นเด็กอยู่ จึงร้องไห้เพราะความคิดถึงบิดามารดา ไม่อยากจากไปเป็นธรรมดา แต่ก็ยินดีในการบริจาคทานของพระบิดา”

คำว่า  ยินยอม หมายความว่า ลูกน้อยทั้งสอง คือ กัณหาและชาลีที่แอบหลบซ่อนอยู่ในกอบัวกลางหนองนํ้า  ครั้นได้ฟังปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระเวสสันดรที่มุ่งจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพาน เห็นว่าตนจะเป็นสะพาน คือ มีส่วนในการที่จะทำให้ปณิธานของบิดาสำเร็จ จึงตัดสินใจเด็ดเดี่ยว เดินขึ้นจากหนองนํ้า เพื่อให้เป็นปุตตทานของบิดา แสดงว่ากัณหาชาลีไม่ได้ถูกบิดาจับมัด หรือบังคับให้ไปเป็นข้าทาสของคนอื่น ท่านไปด้วยความสมัครใจและเต็มใจ ไม่ใช่ถูกบังคับจิตใจ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจไว้ด้วย

พระเจ้ามิลินท์ยังไม่คลายความสงสัย ตรัสถามต่อว่า “ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลเหล่าใด ทำผู้อื่นให้เป็นทุกข์ด้วยการให้ทาน ทานของบุคคลเหล่านั้น จะให้ผลเป็นสุข จะทำให้ไปเกิดในสวรรค์ได้ มีอยู่หรือ”

“มีอยู่ มหาบพิตร”

“ข้าแต่พระนาคเสน ขอจงแสดงเหตุการณ์เปรียบเทียบด้วยเถิด”

“ขอถวายพระพร ถ้ามีสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีศีลมีธรรมอันดี เป็นโรค มีร่างกายตายไปแถบหนึ่ง หรือเป็นโรคง่อยเปลี้ย หรือเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง เดินไม่ได้ มีผู้อยากได้บุญคนหนึ่ง ยกสมณพราหมณ์นั้นขึ้นสู่ยานพาหนะ นำไปส่งโรงพยาบาล ในขณะที่นำไปส่งนั้น คนป่วยได้รับความบอบชํ้า จนไม่อยากจะไป บุคคลผู้นั้นจะได้ผลเป็นสุข และได้ไปเกิดในสวรรค์หรือไม่”

พระเจ้ามิลินท์ตอบรับทันทีว่า “ได้สิ พระคุณเจ้า อย่าว่าแต่ยานทิพย์เลย ถึงผู้นั้นจะเกิดในที่ใด ย่อมได้ยานพาหนะสมควรแก่ที่นั้นๆ  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมได้ยานพาหนะที่อำนวยความสะดวก  เมื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมได้ราชรถทิพย์ ชาติสุดท้ายเขาย่อมได้ขึ้นยานแห่งธรรมไปถึงพระนิพพานเป็นแน่”

“ขอถวายพระพร ถ้าเช่นนั้น ทานที่ให้ด้วยการทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่น ย่อมมีผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ พระเวสสันดรทำให้พระลูกเจ้าทั้งสองต้องเป็นทุกข์ ด้วยการถูกผูกมัดด้วยเถาวัลย์ของชูชก แต่ย่อมจะได้เสวยสุขแน่นอน ขอมหาบพิตรจงทรงสดับเหตุให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก เพื่อให้เห็นว่า การให้ทานด้วยการทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ก็มีผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ คือ  พระราชาทรงให้เก็บพลีกรรมโดยชอบธรรม และนำมาบริจาคทานตามพระราชอำนาจที่มีอยู่  พระราชานั้นจะได้ความสุขอันเกิดจากการให้ทานนั้นบ้างหรือ ทานนั้นจักทำให้ไปเกิดในสวรรค์ได้หรือไม่หนอ”

พระเจ้ามิลินท์ตอบว่า “ได้สิ พระคุณเจ้า  พระราชานั้นจักต้องได้รับผลแห่งทานหลายแสนเท่า จักได้เกิดเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา จักได้เกิดเป็นเทวดายิ่งกว่าเทวดา เกิดเป็นพระอรหันต์ที่ยิ่งกว่าพระอรหันต์เป็นแน่”

“ขอถวายพระพร ถ้าเป็นเช่นนั้น ทานที่ให้ด้วยการทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ ย่อมต้องมีผลเป็นสุข และต้องเกิดในสวรรค์ได้ เพราะพระราชาที่ทรงเก็บภาษีประชาชนมาให้ทานยังได้เสวยยศและสุขอย่างนั้นได้”

“ข้าแต่พระนาคเสน โยมรู้สึกว่าทานที่พระเวสสันดรทรงทำเป็นอติทาน เพราะบริจาคมเหสีของตนเป็นทานก็ดี ทรงให้ลูกทั้งสองเป็นทานก็ดี เป็นสิ่งที่ทำเกินเลย ทำเกินดี เป็นสิ่งที่น่าตำหนิ เปรียบเหมือนเกวียนที่บรรทุกสิ่งของหนักเกินไป เพลาเกวียนก็หัก เรือที่บรรทุกหนักเกินไปก็จม กินอาหารมากเกินไปก็ไม่ย่อย พูดมากเกินไปก็พลาด ข้าแต่พระนาคเสน พระเวสสันดรให้ทานเกินไป ทำเกินความพอดี ทานนั้นก็ไม่น่าจะมีผล”

พระเถระผู้เปี่ยมด้วยปัญญาและปฏิภาณเป็นเยี่ยม ได้โต้ตอบกลับไปว่า “ขอถวายพระพร อติทาน คือ ทานอันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เป็นการให้เกินตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ทั้งหลายในโลกต่างพากันสรรเสริญ ใครให้ทานเช่นนั้นได้ ย่อมได้รับความสรรเสริญในโลก นักมวยปลํ้าย่อมทำให้คู่ต่อสู้ล้มลง เพราะมีกำลังมากกว่า แผ่นดินสามารถรองรับคน สัตว์และสิ่งของทุกชนิดได้ เพราะแผ่นดินยิ่งใหญ่กว่า มหาสมุทรไม่รู้จักเต็ม เพราะกว้างใหญ่กว่ามหานทีทุกสาย อากาศไม่มีที่สุด เพราะอากาศกว้างใหญ่ยิ่ง มนุษย์และเทวดาย่อมหมอบกราบพระภิกษุ เพราะมีศีลยิ่งกว่า พระพุทธเจ้าไม่มีผู้เปรียบเทียบ เพราะเป็นผู้วิเศษยิ่ง

ดังนั้น มหาทานของพระเวสสันดรเป็นอติทาน มีผลยิ่งใหญ่ไพศาล เป็นที่สรรเสริญของผู้รู้ทั้งหลาย อติทานนี้ได้ส่งผลให้ท่านได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ เพราะความเป็นทานอันยิ่งใหญ่ พระเวสสันดรจึงได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศที่สุด เป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย”

นี่เป็นวิสัชนาของพระอรหันต์ผู้เรืองปัญญา ที่สามารถคลายความสงสัยให้หมดสิ้นไปได้ ส่วนพระเจ้ามิลินท์จะหมดความสงสัยหรือไม่ จะได้ศึกษาในตอนต่อไป ให้ทุกคนหมั่นสั่งสมบุญ และสร้างมหาทานให้เต็มที่ แม้พวกเราเป็นคนธรรมดา แต่เป้าหมายการสร้างบารมีของเรานั้น ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คนธรรมดาจะหยั่งถึงปณิธานของเราได้
หลวงปู่วัดปากนํ้า  ภาษีเจริญ ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพานทั้งหมด หมายถึงจะต้องสร้างบารมีเพื่อรื้อวัฏฏะ รื้อผังแห่งบาปอกุศลทั้งหลายที่พญามารทำขึ้นมา จำเป็นต้องใช้กำลังบุญ ที่ยิ่งใหญ่ไพศาล ต้องสร้างมหาทานที่ทำซํ้าแล้วซํ้าอีก และต้องทำให้ยิ่งๆขึ้นไปทุกภพทุกชาติ  เมื่อมีกำลังบุญมากพอ เราจึงจะสามารถทำงานรื้อวัฏฏะได้สำเร็จ  ดังนั้น ให้มุ่งมั่นสร้างบารมีต่อไป และหมั่นทำใจหยุดใจนิ่ง ควบคู่กันไปจนกว่าจะเข้าถึงพระรัตนตรัยให้ได้กันทุกคน

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/9247
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระพุทธคุณ

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *