คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์

คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์

พลังใจของมนุษย์เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ และความใฝ่ฝันอันสูงส่ง จึงทำให้อยากลงมือทำ เพื่อให้ภาพที่มีอยู่ในใจนั้นเป็นจริงขึ้นมา แม้สิ่งนั้นจะยากลำบากเพียงใด แต่ด้วยความเพียรพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า แม้บางครั้งอาจล้มเหลวบ้าง แต่ในที่สุดก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ทำให้โลกมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นมากมาย ส่วนความปรารถนาให้โลกเกิดสันติภาพนั้น นับเป็นแรงบันดาลใจและความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกัน ต้องทำกันไปเป็นทีม ต้องใช้เวลาและพลังใจที่ประกอบด้วยมหากรุณา พวกเราทุกคนคือส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพโลก โดยเริ่มต้นด้วยการทำตัวเราให้เป็นผู้มีกาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ มีศีลมีธรรม และหมั่นทำใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสมํ่าเสมอ สักวันหนึ่งโลกในอุดมคติย่อมจะบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน จริยาปิฎก ว่า
“ไม่ใช่ว่าลูกทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเรา ไม่ใช่ว่ามัทรี ไม่เป็นที่รักของเรา พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า เราจึงได้ให้บุตร ธิดา ภรรยา อันเป็นที่รักของเราเป็นทาน”

ความหมายนัยหนึ่งของความรัก คือ การให้ การเสียสละแบ่งปัน ขอบเขตความรักของแต่ละคนมีมากน้อยต่างกัน บางคนรักแต่ตนเอง จนกลายเป็นความเห็นแก่ตัว ไม่สนใจคนรอบข้างว่าจะเป็นอย่างไร บางคนรักพ่อรักแม่ รักทุกคนในครอบครัว รวมไปถึงหมู่ญาติ บางท่านใจกว้างมากไปกว่านั้น รักคนทั้งประเทศทั้งโลกเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีความปรารถนาให้ทุกคนมีความสุขเหมือนๆ กัน

ส่วนพระบรมโพธิสัตว์ท่านมีปัญญามาก มีมหากรุณาไม่มีที่เปรียบ นอกจากรักครอบครัว รักบุตรธิดาหรือภรรยาแล้ว ท่านยังรักสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีความปรารถนาจะให้สรรพสัตว์ ได้พ้นทุกข์ มีดวงตาเห็นธรรม เพราะผู้ที่ประพฤติพลาดพลั้ง ถูกอกุศลเข้าสิงจิต จึงกระทำความผิด ได้พลัดหลงไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน  ท่านอยากให้สรรพสัตว์เหล่านั้นได้พ้นจากความทุกข์ทรมาน อีกทั้งอยากให้ผู้ที่กำลังเสวยบุญในเทวโลกและพรหมโลกทั้งหมด ได้พบความสุขอันเป็นอมตะ คือ พระนิพพาน ไม่อยากให้เสียเวลาในการสร้างบารมีอีกต่อไป

ด้วยความรักและเมตตาอันไม่มีประมาณ ทำให้ท่านต้องฝึกฝนตนอย่างยิ่งยวด จนได้รับการกล่าวขานว่า ท่านเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ผู้สร้างบารมีเพื่อหวังจะได้ตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต  แม้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะรักบุตรภรรยาหรือมารดาบิดา แต่ท่านรักโพธิญาณมากกว่า เพราะตระหนักดีว่า หากภพชาติใดที่ท่านได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านย่อมสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับหมู่ญาติทั้งหลาย รวมทั้งสั่งสอนมนุษย์และเทวดาให้พบกับอมฤตธรรม ตามปกติท่านจะมีคุณสมบัติที่พิเศษ ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเอกบุรุษ ที่เราควรมาศึกษากัน

คุณสมบัติ ๑๐ ประการของพระโพธิสัตว์เจ้า คือ
๑. เป็นผู้ไม่ติดในของรักของชอบของคนอื่น ใจจะติดในการสร้างบารมีเพื่อมุ่งไปสู่อายตนนิพพานเพียงอย่างเดียว
๒. ท่านเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในสิ่งของภายนอก ยินดีที่จะมุ่งสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น
๓. เป็นผู้ยินดีในความเสียสละ คือ ยินดีในการให้ มากกว่าการเป็นผู้รับจากคน
อื่น ท่านเป็นยอดนักเสียสละ นักสังคมสงเคราะห์ที่แท้จริง
๔. สามารถปล่อยวางได้ง่าย ไม่ผูกโกรธ ไม่ถือสาหาความ ไม่เอาเรื่องใคร มีแต่จะเอาบุญอย่างเดียว
๕. เป็นคนจริง ไม่มีความคิดกลับกลอก คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น
๖. เป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทเลินเล่อ จนเสียการเสียงาน ท่านจะทำงานทุกอย่าง ไม่ว่างานนั้นจะเป็นของท่านเองหรือทำให้คนอื่น จะทำอย่างพิถีพิถัน ไม่มีความลำเอียงในใจ
๗. เป็นผู้ที่คิดใหญ่ ใจกว้าง ประดุจท้องมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล
๘. เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปรู้ตามได้ยาก เพราะท่านมีความคิดเหนือวิสัยของปุถุชนทั่วไป คือ มีจิตใจสูงส่ง คิดจะช่วยเหลือคนอื่นให้หลุดพ้นจากทุกข์ ส่วนคนทั่วไปคิดเพียงว่า ทำอย่างไรตัวเองจึงจะได้ประโยชน์มากที่สุด
๙. ทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก สามารถทำของยากให้ง่าย ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก เพราะเรื่องใหญ่มีเพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้น และช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากความเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร

ประการสุดท้าย คือ ท่านเป็นผู้ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้นำในการสร้างบารมี มีความคิด คำพูดและการกระทำที่ประเสริฐเหนือกว่าคนอื่น มักแสดงออกในลักษณะของความเป็นผู้นำตลอดเวลา จะสังเกตเห็นว่า ประวัติการสร้างบารมีที่เราศึกษาในชาดก ไม่ว่าท่านจะถือกำเนิดเป็นอะไร จะมีลักษณะของความเป็นผู้นำมาโดยตลอด จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด

ในเรื่องการบำเพ็ญเพียร เพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามพระนาคเสนเถระว่า “พระโพธิสัตว์ได้ทำทุกรกิริยาเหมือนกันทั้งหมด หรือทำเฉพาะพระโคดมโพธิสัตว์เท่านั้น”  พระเถระตอบว่า ไม่เหมือนกันหมด ทำเฉพาะบางพระองค์เท่านั้น  ส่วนพระโคดมโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญภาวนา ถึงขั้นต้องทำทุกรกิริยา เพราะท่านได้ประพฤติผิดทางวจีกรรมไว้ ในสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า ได้กล่าวจ้วงจาบพระพุทธองค์ว่า “การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ที่ไหน เพราะการตรัสรู้ธรรม เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง” ด้วยวิบากกรรมนั้น ท่านจึงได้เสวยทุกข์ในการทำความเพียร โดยต้องใช้เวลาในการแสวงหาโมกขธรรม นานถึง ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้ธรรม

พระเจ้ามิลินท์ยังมีความสงสัย จึงถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าเช่นนั้น ก็ไม่ตรงกับคุณลักษณะของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย”  พระเถระตอบว่า “พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย มีความแตกต่างกัน ๔ อย่าง คือ ต่างกันด้วยตระกูล เวลาที่สร้างบารมี พระชนมายุและประมาณของพระสรีรกาย แต่พระพุทธเจ้าทั้งปวงไม่ต่างกันด้วยพระรูปลักษณะ ตบะ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะกับเวสารัชญาณ ๔ ทศพลญาณ ๑๐ พุทธญาณ ๑๔ พุทธธรรม ๑๕”

สรุปว่า พระพุทธเจ้าทั้งปวงเสมอกันด้วยพุทธธรรม เพราะผลแห่งการฝึกฝนอบรมตนอย่างยิ่งยวดของพระบรมโพธิสัตว์นั่นเอง แม้จะมีความแตกต่างกันในส่วนที่เป็นโลกียะ แต่กำลังบุญบารมีที่ได้สั่งสมมา บางพระองค์สร้างบารมีมา ๒๐ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป บางพระองค์ ๔๐ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป  บางพระองค์เป็นนักสร้างบารมีประเภทวิริยาธิกะที่รักเพื่อนมนุษย์มาก หวังจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงใช้เวลาสร้างบารมียาวนานถึง ๘๐ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป  เพราะฉะนั้น ตระกูลของท่าน การบำเพ็ญทุกรกิริยา พระชนมายุ และประมาณของพระสรีรกายจึงแตกต่างกันตามกำลังบารมี

สำหรับโลกุตตรสมบัติอันประเสริฐของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา เวสารัชญาณหรือทศพลญาณ เป็นต้น จะไม่มีความแตกต่างกัน ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้เป็นผลที่เกิดจากความเพียร ความรักและความเมตตาปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง

พระเดชพระคุณหลวงปู่ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มีมโนปณิธานยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือ ท่านจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพานให้หมด ท่านมุ่งจะทำวิชชาปราบมาร เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ปณิธานของท่านยิ่งใหญ่ชนิดที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน การที่ท่านพูดเช่นนี้ แสดงว่าท่านมีความรักต่อสรรพสัตว์ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และบารมีธรรมของท่านต้องมากมายมหาศาล จึงจะทำงานใหญ่ที่แท้จริงนี้ได้ พวกเราทั้งหลายเป็นศิษยานุศิษย์ ได้ชื่อว่า เป็นผู้นำบุญยอดนักสร้างบารมี ต้องดำเนินตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของมหาปูชนียาจารย์  ดังนั้น ต้องทุ่มเทสร้างบุญบารมีให้เต็มที่กันทุกคน

*มิลินทปัญหา (ฉบับปุ้ย แสงฉาย)   หน้า ๓๕๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/9206
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระพุทธคุณ

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

1 thought on “คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์”

  1. ✨น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *